สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคหัวใจ

โรคหัวใจ  เป็นโรคที่อาจจะพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย  ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาคือเป็นมาแต่กำเนิด  ตลอดไปจนถึงในวัยหนุ่มสาวและจนถึงวัยชรา สมัยก่อน เมื่อท่านผู้เฒ่าผู้แก่ถึงแก่กรรมในทันทีทันใด  เรามักจะพูดกันว่าเป็นโรคชราตาย มาบัดนี้ เราอาจได้อ่านพบหรือได้ยินอยู่เสมอว่า  มากรายที่ถึงแก่กรรมทันทีทันใดนั้นเนื่องจากโรคหัวใจ  ซึ่งได้แสดงอาการมาก่อนนานแล้ว หรือเพิ่งจะแสดงอาการในครั้งนั้นเป็นครั้งแรก หลายท่านคงจะได้ยินถึงการผ่าตัดหัวใจ ซึ่งในบ้านเราได้ทำสำเร็จเป็นผลดีในโรงพยาบาลใหญ่บางแห่ง  เรื่องที่จะกล่าวถึงนี้เป็นเรื่องกว้าง ๆ ของโรคหัวใจที่คนทั่วไปควรจะรู้และเข้าใจโดยถูกต้อง จึงหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ตามสมควร

      รูปร่างและหน้าที่  ก่อนที่จะเข้าใจถึงโรคหัวใจจำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงรูปร่างและหน้าที่โดยปกติของหัวใจเสียก่อน หัวใจของมนุษย์เป็นอวัยวะที่มี ๔ ห้อง มีผนังกั้นระหว่างห้องซ้ายและขวา  ไม่มีทางติดต่อกัน ช่องซ้ายและขวานี้ถูกแบ่งออกอีกโดยลิ้นหรือประตู เป็นห้องบนและล่าง จุดประสงค์ของลิ้นมีไว้เพื่อให้โลหิตไหลไปทางเดียว

ร่างกายของมนุษย์และสัตว์ทั้งปวง ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ส่วนเล็กที่สุดนี้เรียกว่า “เซลล์” เซลล์ที่คล้ายกันรวมกันเป็นกลุ่ม ประกอบขึ้นเป็นอวัยวะหนึ่ง เช่น กล้ามเนื้อ ปอด ไต สมอง ตับ เป็นต้น  เมื่อร่างกายยังมีชีวิตอยู่ เซลล์เหล่านี้ต้องทำงาน การที่จะทำงานได้ก็ต้องมีอาหาร อาหารจะไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ได้ก็โดยโลหิต  ซึ่งหัวใจสูบฉีดให้ไหลไปตามหลอดโลหิต  ถ้าอวัยวะต้องทำงานมาก เช่น วิ่ง หัวใจก็สูบฉีดโลหิตไปมาก ถ้าอวัยวะทำงานน้อย เช่น ขณะพักผ่อน นอน หัวใจก็สูบฉีดโลหิตไปน้อย เป็นต้น หัวใจจะฉีดโลหิตซึ่งมีทั้งอาหารและออกซิเจน(ได้จากอากาศซึ่งเราหายใจเข้าไป) ไปยังเซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ และส่งไปยังไตเพื่อให้ขับถ่ายของเสียทิ้ง ขับเลือดซึ่งไหลผ่านอวัยวะต่าง ๆมาแล้วฉีดส่งไป “ฟอก” ออกซิเจนใหม่จากปอด โลหิตดีหรือโลหิตแดงจากปอดก็มีทางไหลกลับหัวใจใหม่วนเวียนกันเช่นนี้ เพื่อเข้าใจง่ายขอได้โปรดดูรูป โดยสังเขปต่อไปนี้

หัวใจห้องซ้ายบนได้รับโลหิตดี เรียกว่า โลหิตแดง เพราะได้รับออกซิเจนมาใหม่ ๆ จากปอด  หัวใจห้องซ้ายบนหดตัวส่งโลหิตผ่านลิ้น ก.ลงมายังห้องซ้ายล่าง ห้องซ้ายล่างหดตัวต่อไปไล่โลหิตนั้นผ่านลิ้น ข.ออกไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายรวมทั้งไปสู่ไตเพื่อขับของเสียทิ้งด้วย ขณะเมื่อลิ้น ข.เปิด ลิ้น ก.จะปิด กันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับขึ้นไปสู่ห้องซ้ายข้างบนอีก ดังนั้นโลหิตจึงไหลไปได้ทางเดียว

เมื่อโลหิตแดงไปสู่อวัยวะต่าง ๆ นำเอาอาหาร ออกซิเจนไปให้แล้ว ขากลับสู่หัวใจโลหิตก็จะมีสีดำคล้ำลงเรียกว่า โลหิตดำ  เพราะมีออกซิเจนน้อยลง โลหิตดำจะไหลกลับไปสู่ห้องขวาบน  ซึ่งหดตัวไล่โลหิตดำนั้นผ่านลิ้น ค.ลงสู่ห้องขวาล่าง ห้องขวาล่างหดตัวต่อไปไล่โลหิตผ่านลิ้น ง.ไปสู่ปอดเพื่อรับออกซิเจน ใหม่ แล้วก็ไหลไปสู่ห้องซ้ายบนต่อไป เป็นอันครบวงจรรอบหนึ่งเมื่อลิ้น ง.เปิด ลิ้น ค. ก็จะปิด กันไม่ให้โลหิตไหลย้อนกลับ  ตามธรรมดาหัวใจห้องขวาและซ้ายบนหดตัวพร้อมกันในระยะถัดไป

หัวใจเป็นอวัยวะอยู่ในถุง ซึ่งธรรมดามีน้ำเหลืองอยู่เล็กน้อย หัวใจประกอบด้วยเนื้อ ๓ ชั้น คือ ด้านนอก เป็นเยื่อหุ้มหัวใจ่บาง ๆ ตรงกลางเป็นส่วนหนา คือกล้ามเนื้อ ซึ่งหดและขยายตัวสูบฉีดโลหิตอยู่เป็นจังหวะ ด้านในเป็นเนื้อเยื่อบุหัวใจบาง ๆ คาดภายในโดยตลอดรวมทั้งสิ้นด้วย การผิดปกติหรือโรคอาจเกิดขึ้นได้ที่ขั้นใดขั้นหนึ่งหรือทั้งสามขั้น

เมื่อได้เข้าใจถึงรูปร่างและหน้าที่ของหัวใจ โดยสังเขปแล้วต่อไปนี้ จะกล่าวถึงโรคของหัวใจที่พบบ่อย ๆ ในประเทศเรา

      ๑.  โรคหัวใจรูห์มาติค

      ต้นเหตุ  โรคหัวใจชนิดนี้เกิดขึ้นจากไข้รูห์มาติค  ต้นเหตุของไข้รูห์มาติคเรายังไม่ทราบแน่นอน  ทฤษฏีขณะนี้เข้าใจว่า เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อสารบางชนิดของเชื้อโรค ฮีโมลัยติคสเตร๊ปโตค็อคไค ไข้รูห์มาติคมักจะเกิดตามหลังการอักเสบของคอหรือทอนซิล จากเชื้อดังกล่าว

      อาการ มี ปวดบวมตามข้อต่าง ๆ อาการปวดและอักเสบของข้อนี้มักจะเคลื่อนที่ไปทีละแห่ง ทิ้งไว้หายไปได้เอง แต่ชอบเป็นใหม่อีก มีการชักกระตุกของกล้ามเนื้อ  ซึ่งพบมากในเด็ก ผิวหนังอาจมีผื่นแดง หรือมีตุ่มเกิดขึ้นใต้ผิวหนัง

อาการที่สำคัญคือ มีการอักเสบและการตายที่เนื้อเยื่อซึ่งยึดเซลล์ของกล้ามเนื้อของหัวใจไว้ด้วยกัน  นอกจากที่กล้ามเนื้อก็มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นที่เยื่อบุหัวใจ อาการที่เกิดจากการอักเสบของหัวใจก็มีเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ การอักเสบนี้ถ้าเป็นไม่มากก็จะสงบลงเอง แม้จะไม่ได้รักษา เหลือแผลเป็นไว้ที่หัวใจ (ถ้าเป็นมาก ผู้ป่วยอาจตายได้ แต่จำพวกนี้พบน้อย) ดังได้กล่าวแล้ว ไข้รูห์มาติคชอบเป็นแล้วเป็นอีก เป็นคราวหนึ่งเมื่อหายแล้วก็ทิ้งแผลเป็นไว้ในหัวใจครั้งหนึ่ง ยิ่งเป็นมากครั้งความพิการก็ยิ่งมากขึ้น

เมื่อมีการอักเสบของเยื่อบุหัวใจ  ซึ่งคาดคลุมไปที่ลิ้นหัวใจด้วย จะทำให้ลิ้นหัวใจซึ่งธรรมดามีผิวเรียบและชิดกันสนิท เกิดความพิการมีผิวขรุขระเป็นตะปุ่มตะป่ำ เมื่อปิดจึงปิดไม่สนิททำให้เลือดไหลย้อนกลับได้ จึงเรียกว่า “หัวใจรั่ว” ความจริงนั้นคือ “ลิ้นหัวใจรั่ว” เป็นการรั่วของโลหิตจากห้องหนึ่งไปสู่อีกห้องหนึ่ง ไม่ใช่โลหิตรั่วออกมาข้างนอกหัวใจ ตัวอย่างดังในรูป ถ้าลิ้น ก.มีการอักเสบ มีผิวขรุขระ เมื่อห้องซ้ายล่างหดตัวลิ้น ก. ปิดไม่สนิท โลหิตก็ไหลย้อนกลับขึ้นไปสู่ห้องซ้ายบนได้ สภาพเช่นนี้เรียกว่า ลิ้น ก. ของหัวใจรั่ว

ความพิการของลิ้นหัวใจนี้ ผ่านจากการอักเสบรุนแรงเป็นการอักเสบเรื้อรัง และสงบลงโดยมีเยื่อพังผืดเป็นแผลเป็น เกิดขึ้นแทน เยื่อนี้อาจโยงยึดใบลิ้นเข้าด้วยกัน เริ่มต้นจากส่วนที่ใกล้กันก่อนคือที่ขอบลิ้น เช่นนี้ ลิ้นหัวใจนั้นก็เปิดไม่ได้เต็มที่ จึงเรียกว่า “ลิ้นหัวใจตีบ”

โรคไข้รูห์มาติคเป็นได้แก่คนทุกอายุ  โดยมากเริ่มเป็นในเด็กอายุเลย ๕-๖ ปีขึ้นไป  ถ้าอาการปวด ไข้ มีไม่มาก เด็กอาจไม่บอกและพ่อแม่ไม่ได้สังเกต นานไปเมื่อเข้ารุ่นหนุ่มสาวหรือกลางคน จึงได้ปรากฎอาการของโรคหัวใจรูห์มาติคขึ้นภายหลัง

หัวใจตามธรรมดาไม่ได้ทำงานหมดตัวเลยทีเดียว มีกำลังสำรองเหลืออยู่ เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือมีแผลเป็น อันเป็นผลจากการอักเสบหรือลิ้นหัวใจตีบ  แต่เซลล์ของร่างกายต้องการโลหิตและออกซิเจนเท่าเดิม หัวใจที่เป็นโรคเช่นนี้จะฉีดเลือดไปสนองความต้องการของร่างกายได้โดยเอากำลังสำรองมาใช้ หัวใจโตขึ้น เพื่อจะได้ฉีดโลหิตให้มากขึ้น เมื่อกำลังสำรองยังมีเพียงพอและโรคเป็นไม่มาก หัวใจอันนั้นก็ยังทำงานให้ร่างกายได้เรียกว่าหัวใจยังไม่วาย ครั้นโรคเป็นมากขึ้น คนอายุมากขึ้นกำลังสำรองที่สำรองเอาไว้ก็ลดน้อยลงทุกทีจนหมด ไม่อาจสูบฉีดโลหิตสนองความต้องการของร่างกายได้เพียงพอ ภาวะเช่นนี้เรียกว่าหัวใจวาย อาการหัวใจวายที่สำคัญ คือเหนื่อยง่ายเมื่อทำงานที่เคยทำ หอบ บวม โดยมากปรากฎบวมที่ขาก่อนต่อมาจึงบวมทั้งตัว มีการคั่งของโลหิตในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ปอด เป็นต้น

ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจจึงมีอาการแตกต่างกันได้มาก ตั้งแต่สามารถทำงานได้เหมือนคนธรรมดาไปจนถึงหอบ เหนือย บวม ต้องนอนอยู่กับเตียง เหล่านี้เป็นหลักโดยทั่วไปไม่เฉพาะแต่โรคหัวใจรูห์มาติคเท่านั้น แต่กับโรคหัวใจอื่น ๆ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปด้วย

การป้องกัน  ไข้รูห์มาติคเราพอจะป้องกันได้  โดยรับประทานยาที่ฆ่าเชื้อโรค  หรือห้ามการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของคอหรือต่อมทอนซิล ที่เรียกว่าฮีโมลัยติคสเตร๊ปโตค๊อคคัส  แพทย์จะป็นผู้แนะนำให้

เป็นไข้รูห์มาติคคราวหนึ่ง หัวใจก็พิการมากขึ้นไปอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นถ้ากันไม่ให้ไข้รูห์มาติคเกิดอีก หัวใจก็จะไม่พิการมาก กำลังสำรองก็จะยังคงมีเหลืออยู่มาก

      การรักษา  หลักใหญ่ในรายที่เป็นโรคหัวใจรูห์มาติคที่ยังไม่วาย  คือป้องกันไม่ให้เป็นไข้รูห์มาติคอีก  ถ้าหัวใจวาย ต้องใช้ยาที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหดตัวได้แรงขึ้น สำหรับการตีบของลิ้นหัวใจนั้น เดี๋ยวนี้ในประเทศเราผ่าตัดแก้การตีบของลิ้นหัวใจได้แล้วเป็นการผ่าตัดที่ให้ผลดีมากต่อผู้ป่วย

      ๒.  โรคหัวใจเนื่องจากแรงดันโลหิตสูง

ต้นเหตุ  คือแรงดันโลหิตสูง ซึ่งอาจเนื่องจากสาเหตุหลายประการ คือ

ก.  โรคไต เช่น ไตอักเสบเรื้อรัง มีการผิดปกติของไตมาแต่กำเนิด

ข.  โรคสมอง  เช่น มีเนื้องอกในสมอง

ค.  โรคของระบบโลหิตไหลเวียน เช่น หลอดโลหิตใหญ่ตีบ

ง.  โรคของต่อมไม่มีท่อ เช่น เนื้องอกของต่อมหมวกไต

จ.  ไม่รู้สาเหตุ

พวกที่ไม่รู้สาเหตุนี้ประกอบขึ้นเป็นพวกใหญ่ ถึงร้อยละ ๙๐-๙๕ ของผู้ป่วย รองลงไปก็เนื่องจากโรคไต ชนิดที่ไม่รู้สาเหตุแน่นอนนั้นพบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยมาก  ผู้ป่วยที่มีแรงดันโลหิตสูง ไม่จำเป็นจะต้องเป็นโรคหัวใจเสมอไปประมาณ ๒/๓ ของผู้ป่วยเท่านั้นที่มีหัวใจโตกว่าปกติ  เหตุที่หัวใจโตขึ้นก็เพราะแรงดันของโลหิตสูงขึ้น หัวใจเปรียบได้กับเครื่องสูบฉีดน้ำไปตามท่อต่าง ๆ ซึ่งเป็นเสมือนหลอดโลหิต เมื่อความต้านทานในท่อสูงขึ้น เช่น ท่อเล็กลงเนื่องจากการหดตัว  เครื่องสูบฉีดน้ำก็จำเป็นที่จะต้องฉีดให้แรงขึ้นเพื่อให้น้ำไหลไปได้ปริมาณเท่าเดิม  การที่จะฉีดให้แรงขึ้นได้  กล้ามเนื้อของหัวใจก็ต้องหนาและใหญ่ขึ้น

      อาการ  ผู้ป่วยมากรายไม่มีอาการอะไรเลย บางทีแพทย์พบโรคหัวใจเข้าโดยบังเอิญ เช่น เจ็บป่วยเป็นโรคอื่นแล้วแพทย์ตรวจพบเข้า หรือพบโดยการตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น

อาการที่พบได้เช่น อาการทางระบบประสาท มีการปวดศีรษะ อารมณ์ไหวง่าย ฉุนเฉียว มีเสียงดังในหู เวียนศีรษะ มีอัมพาตส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เนื่องจากเส้นโลหิตในสมองแตก หรืออุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุของการตายหรือทุพพลภาพของผู้ป่วยที่พบมากอย่างหนึ่ง

      อาการทางหัวใจ เช่น การเจ็บหน้าอก เนื่องมาจากหัวใจได้รับโลหิตไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ ใจสั่นหรือเต้นไม่เป็นจังหวะ เมื่อเป็นมากขึ้นจนถึงขั้นหัวใจวาย ก็จะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ตอนแรกก็เป็นเฉพาะเมื่อมีการออกแรง ต่อไปแม้อยู่เฉย ๆ ก็เหนื่อย บางคราวมีอาการเหนื่อยหอบในเวลากลางคืน หลังจากเข้านอนไปแล้ว ลุกขึ้นอึดอัด หอบคล้ายคนเป็นหืด

อาการทางไต  แรงดันโลหิตทำให้มีพยาธิสภาพขึ้นที่ไต เมื่อหน้าที่ของไตเสื่อมลง ของเสียที่ร่างกายไม่ต้องการก็คั่งค้างอยู่ในกระแสโลหิต  ทำให้เกิดอาการของโลหิตเป็นพิษ เช่น มึนซึม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน อุจจาระเป็นเลือด หรืออาเจียนเป็นเลือด ปัสสาวะอาจมากในตอนต้น ผลที่สุดน้อย มีอาการชักและถึงกับหมดสติ หายใจหอบลึก

การรักษาและการป้องกัน เมื่อยังไม่รู้สาเหตุแน่ เราจึงยังไม่อาจป้องกันได้ ส่วนชนิดที่เราทราบสาเหตุซึ่งมีเพียงร้อยละ ๕ เช่นเป็นเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต เมื่อแพทย์ผ่าตัดเอาเนื้องอกนั้นออกผู้ป่วยก็หายขาดจากแรงดันโลหิตสูงได้ ถ้าเป็นชนิดที่ไม่รู้สาเหตุ นอกจากจะระวังในเรื่องสุขภาพโดยทั่วไปแล้ว ควรจะอยู่ในความดูแลของแพทย์  ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด คือ มีเกลือมาก นอกจากการรักษาทางยาแล้ว การผ่าตัดก็อาจช่วยผู้ป่วยได้ในบางกรณี แม้ว่าขณะนี้จะไม่นิยมรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว

๓.  โรคหัวใจเนื่องจากหลอดโลหิต ที่ไปเลี้ยงหัวใจมีความพิการ (โรคหัวใจโคโรนารี่)

ความพิการของหลอดโลหิตที่พบมากก็คือ หลอดโลหิตตีบตัวแข็งกว่าปกติ หรือถูกอุดตันด้วยก้อนเลือดซึ่งเกิดแข็งตัวขึ้นภายในหลอด  ดังนั้นกล้ามเนื้อของหัวใจซึ่งได้รับเลือดไปเลี้ยงจากหลอดโลหิตนั้นจะขาดเลือด  หากการขาดเลือดนี้มีมากหรือนานก็จะทำให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นตาย  ถ้าบริเวณที่กล้ามเนื้อหัวใจตายมีมากหัวใจจะวาย ผู้ป่วยก็ถึงแก่กรรม หรือการตายของกล้ามเนื้อทำให้เกิดการเต้นของหัวใจไม่เป็นจังหวะ บางชนิดก็อาจทำให้ถึงแก่กรรมได้ทันทีทันใด จะเป็นได้ว่าสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยพิการหรือถึงแก่กรรมนั้นอยู่ที่กล้ามเนื้อหัวใจซึ่งทำหน้าที่สูบฉีดโลหิต  มากกว่าจะอยู่ที่สภาพของหลอดโลหิตโดยตรง  เพราะบางคราวมีกล้ามเนื้อหัวใจตายโดยหาหลอดโลหิตที่อุดตันไม่พบ แม้จะทำการหาโดยละเอียดอย่างใดก็ตาม และในทางกลับกันหลอดโลหิตอาจตีบหรืออุดตันได้โดยไม่พบกล้ามเนื้อหัวใจตาย  ทั้งนี้ถ้ามีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อส่วนนั้นจากหลอดโลหิตใกล้เคียงอื่น ๆ พอเพียง

ต้นเหตุของการตีบตัวของหลอดโลหิต  ซึ่งทำให้โลหิตไหลไปได้น้อยนี้ พบว่าเป็นเพราะมีไขมันบางชนิด คือ โคเลสเตอรอล ไปเกาะที่ผนังชั้นในของหลอดโลหิต  นานไปอาจมีหินปูนไปเกาะเพิ่มเติม  ทำให้หลอดโลหิตตรงนั้นเปราะ และอาจกระเทาะออกเป็นแผลขึ้น เป็นเหตุให้โลหิตไปรวมตัวและแข็งอุดหลอดโลหิตตรงนั้น กล้ามเนื้อบริเวณนั้นเมื่อไม่ได้โลหิตไปเลี้ยงก็ตาย

เหตุใดสารประกอบจำพวกโคเลสเตอรอลจึงไปเกาะที่ผนังของหลอดโลหิต ยังไม่เป็นที่ทราบกันแน่นอน แม้จะมีการวิจัยกันอย่างมากมาย ขณะนี้เชื่อกันว่าเพราะมีการผิดปกติในการเผาผลาญของอาหารจำพวกไขมัน

โรคหัวใจชนิดนี้พบมากกว่าชนิดอื่น ๆ ในยุโรปและอเมริกา ส่วนประเทศไทยแต่ก่อนพบน้อยแต่เดี๋ยวนี้พบมากขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ คุณพระอัพภันตราพาธพิศาล  ได้รายงานผู้ป่วยโรคหัวใจ ๕๓๐ คน  ซึ่งรับไว้รักษาที่โรงพยาบาลศิริราช  พบผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจเนื่องจากหลอดโลหิตที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบหรือแข็ง(อาเธอริโอสเคลอโรติค) ๔.๕℅ ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ คือ ๓๐ ปีต่อมานายแพทย์กมล  สินธวานนท์และแพทย์ผู้ร่วมงาน ได้ศึกษาผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ ๔,๓๗๐ คน ซึ่งรับไว้รักษาในโรงพยาบาลหญิง เด็ก ศิริราช เลิดสิน พบว่าโรคหัวใจชนิดนี้เพิ่มขึ้นเป็น ๑๔.๙๒℅ อาจเป็นเพราะประชาชนมีอายุยืนยาวกว่าแต่ก่อน โอกาสที่จะเป็นโรคนี้มากขึ้น  โดยมากพบในคนที่มีอายุเลยกลางคนไปแล้ว  อย่างไรก็ตามอาจพบในคนที่มีอายุน้อยในวัยหนุ่มสาวก็ได้  โรคนี้ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิงและมีอาการรุนแรงกว่า กรรมพันธุ์ก็เป็นสาเหตุประกอบอันหนึ่งนอกจากสาเหตุอื่น ๆ

อาการ ที่สำคัญมีเจ็บหน้าอก โดยมากเจ็บบริเวณกลางอกส่วนบน มักเป็นหลังจากออกแรง อาจร้าวไปที่แขน คาง อาการอาจมีอยู่เป็นนาทีหรือชั่วโมง ยิ่งนานมากก็ยิ่งมีอันตรายจากการตายของกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้น

การหายใจลำบาก เมื่อหัวใจเริ่มวาย การเหนือยหอบและหายใจลำบากจะเกิดขึ้นเห็นได้ชัด

โดยทั่วไป ผู้ป่วยมีอาการแตกต่างกันได้มาก เช่น ในภาวะที่ประกอบการงานตากปกติจะไม่มีอาการอะไรเลย แต่เมื่อทำการงานเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องออกแรงเพิ่มขึ้น เช่น ขึ้นบันได รีบเดิน เดินขึ้นที่ชัน จะเกิดอาการเจ็บหน้าอก เมื่อหยุดออกแรงอาการนี้จะหายไป ถ้าเมื่อใดออกแรงหรือรีบถึงขนาดเกินกำหนดหนึ่ง ก็จะมีอาการอีก อาการเหล่านี้จะมีอยู่ได้เป็นปี ๆ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาและปฏิบัติตัวถูกต้อง ประเภที่สองผู้ป่วยสบายดีเรื่อยมาแล้วอยู่ดี ๆ มีการเจ็บหน้าอกอย่างมาก แม้จะไม่ได้กำลังออกแรงและถึงแก่กรรมทันทีทันใด  ซึ่งโดยทั่วไปมักจะพูดกันว่าช็อคหรือเป็นลมตาย ประเภทที่อยู่ระหว่างกลาง ๆ ของทั้งสองประเภทที่กล่าวแล้วก็มี เช่น ไม่เคยมีอาการปวดเจ็บหน้าอกเลย อยู่ ๆ ก็ทำการงานได้น้อยลง เหนื่อยง่ายขึ้น มีอาการหัวใจวาย คือเหนื่อยหอบเป็นพัก ๆ และบวม บางรายก็อาจเจ็บปวดหน้าอกมาก กล้ามเนื้อของหัวใจตาย แต่ผู้ป่วยไม่ถึงกับถึงแก่กรรมในทันทีทันใด  ด้วยการรักษาที่ถูกต้องประกอบกับกล้ามเนื้อดีที่เหลืออยู่มีมากพอที่จะทำการสูบฉีดโลหิตต่อไปได้  ผู้ป่วยก็อาจจะฟื้นหายกลับมาประกอบการงานได้

      การรักษา  ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ หลักในการรักษาคือ แพทย์พยายามให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่ได้รับเลือดน้อยให้พอเพียง กันไม่ให้เป็นกล้ามเนื้อตาย จะโดยยาหรือการผ่าตัดก็ตาม  และบำบัดอาการเจ็บหน้าอกซึ่งทำให้ผู้ป่วยทนทุกข์ทรมาน ส่วนกล้ามเนื้อหัวใจที่ตายแล้วก็หายได้โดยเป็นแผลเป็น  ถ้ากล้ามเนื้อที่ดีมีเหลืออยู่น้อย ไม่พอเพียงที่จะสูบฉีดโลหิตสนองความต้องการของร่างกายได้  ก็จะเกิดอาการหัวใจวายขึ้นศัลยแพทย์จึงคิด และได้เปลี่ยนหัวใจที่ปกติมาแทนหัวใจเก่าที่เป็นโรคทั้งอัน  ปัญหาทางด้านเทคนิคของการผ่าตัดนั้นไม่มี เพราะได้ทำสำเร็จแล้ว  แต่ปัญหาที่สำคัญคือ  ร่างกายหรือเนื้อของผู้ป่วยจะยอมรับเนื้อของผู้อื่นหรือไม่ (ปฏิกิริยาแอนติบอดี้) ขณะนี้เวลายังสั้นเกินไปที่จะลงความเห็นได้แน่ชัด แต่การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจก็เป็นการเปิดยุคใหม่ของการรักษา  แต่ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาเช่นปัญหาทางสังคมและกฎหมาย หัวใจที่จะเปลี่ยนใหม่ที่เหมาะสมที่สุดในอนาคต อาจจะเป็นหัวใจเทียม โดยแท้ ไม่ได้เอาจากมนุษย์  ทำจากวัตถุพิเศษและมีเครื่องกลไกให้สูบฉีดโลหิตได้

      ๔.  โรคหัวใจพิการมาแต่กำเนิด

ต้นเหตุ  แต่เดิมหัวใจเกิดจากท่อโลหิตท่อเดียว และโดยการหมุนตัว มีผนังมีลิ้นหัวใจเกิดขึ้น จึงกลายมาเป็น ๔ ห้อง การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปตามจังหวะและละเอียดซับซ้อน ถ้ามีเหตุใดทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้ผิดออกไปจากแนวเดิม ผลที่ได้ก็คือหัวใจจะผิดปกติมาแต่กำเนิด เรายังไม่รู้แน่ว่าเหตุนั้นคืออะไร ที่พอรู้บ้างก็คือ เมื่อแม่เป็นโรคหัดเยอรมัน (ซึ่งเป็นโรคเกิดจากไวรัสชนิดหนึ่ง) ในขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ ไม่เกิน ๘ สัปดาห์ ลูกที่เกิดมาจะมีโอกาสมีความพิการของหัวใจได้มาก

โรคหัวใจพิการมาแต่กำเนิดมีมากมายหลายชนิด  อาจพบร่วมกับความพิการของร่างกายส่วนอื่น ๆ ได้ด้วย  อาการก็แตกต่างกันออกไป เช่น ชนิดตัวเขียวและไม่เขียว อาการเขียวเนื่องจากโลหิตดำมีทางปนกับโลหิตแดง มองเห็นได้ชัดที่ริมฝีปาก เล็บมือ เล็บเท้า รูปร่างโดยทั่วไปเด็กอาจมีการเจริญเติบโตน้อยกว่าธรรมดา มีการติดเชื้อของระบบหายใจง่าย เช่นเป็นหวัดบ่อย ปอดบวม หลอดลมอักเสบ อาการของหัวใจวายมักเข้ามาผสมและเป็นต้นเหตุให้ตายได้ บางทีตายเสียแต่เล็ก ๆ อายุยังไม่ถึงขวบ เพราะมักผิดปกติมาก หรือมีการติดเชื้อ หัวใจวายบางชนิดก็อาจมีชีวิตอยู่ได้นานเท่า ๆกับคนธรรมดา เช่น พวกที่หัวใจอยู่ทางขวา เป็นต้น

แต่เดิมผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจชนิดนี้  ไม่มีทางพิเคราะห์ได้แน่นอนว่าพิการตรงไหนขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ จนเกือบ ๒๐ ปีเศษมานี้ แพทย์มีวิธีพิเศษใช้ในการพิเคราะห์ เช่นการสวนหัวใจ รวมทั้งวัดแรงดันในห้องต่าง ๆ  การฉีดสีซึ่งทึบรังสีเอ๊กซ์เข้าไปในหลอดโลหิตและหัวใจ  ทำให้เห็นภาพของความพิการได้ เป็นต้น

      การรักษา ควรจะอยู่ในความดูแลของแพทย์เป็นระยะ ๆ เมื่อเด็กยังอ่อน ต้องระวังในการติดเชื้อ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดบวม เมื่อเด็กเติบโตขึ้นขนาดอายุเข้าโรงเรียนได้  ควรปล่อยให้เป็นไปตามความสามารถของเด็ก เช่น วิ่งเล่น ออกกำลังบ้างตามสมควร ถ้าเด็กสามารถทำได้  ถ้าพ่อแม่คอยห้ามเสียตลอดเวลา เด็กอาจเกิดความผิดปกติทางจิตใจในภายหลังได้  ซึ่งอาจทำความลำบากให้มากกว่าโรคหัวใจ  เพราะดังได้กล่าวแล้ว เด็กพวกนี้บางพวกอาจมีชีวิตได้เช่นคนปกติ

เมื่อแพทย์ทำการพิเคราะห์ได้แน่นอน การักษาผ่าตัดก็ตามมา บางชนิดผ่าแล้วก็หายขาด บางชนิดก็ทุเลาขึ้นมาก ประเทศเราขณะนี้เริ่มมีการใช้ปอดและหัวใจเทียม  ซึ่งทำให้การผ่าตัดเพื่อแก้ความพิการเป็นไปอย่างประณีต  นับว่าเป็นความหวังที่แจ่มใส่สำหรับผู้ป่วยประเภทนี้

๕.  โรคเพลียของระบบประสาทของหัวใจ และหลอดโลหิต

เป็นโรคที่พบมากอย่างหนึ่ง หรืออาจพบมากที่สุด ในบรรดาโรคหัวใจพวกที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด โรคนี้ไม่พบสิ่งปกติในรูปร่างที่หัวใจเลย ไม่ว่าจะโดยการตรวจเมื่อมีชีวิตอยู่หรือโดยการตรวจศพก็ตามมีแต่เพียงอาการแสดงเท่านั้น  จึงเป็นโรคกึ่งระบบประสาทมากกว่า บางทีเรียกว่า “โรคประสาทอันเกิดจากความกังวล” หรือ “โรคหัวใจทหาร” เพราะพบมากในขณะสงคราม แพทย์ผู้รายงานและอธิบายถึงโรคนี้คนแรก  ก็ได้จากการสังเกตอาการในทหาร

      ต้นเหตุ  ยังไม่ทราบแน่นอน  อาจเป็นการผิดปกติของระบบประสาทซึ่งเราควบคุมไม่ได้ (ระบบประสาทออโตโนมิค) หรือมีการผิดปกติของการเผาผลาญของอาหารจำพวกแป้ง (คาร์โบฮัยเดรต)

      อาการ  ผู้ป่วยด้วย โรคนี้มักเป็นผู้ที่มีระบบประสาท ไวกว่าธรรมดา เมื่อมีการเคร่งเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ จึงเกิดอาการได้ง่ายกว่าคนธรรมดาทั่วไป ในคนธรรมดาก็มีอาการได้เป็นครั้งคราว  เมื่อมีการเคร่งเครียดทางจิตใจหรือเมื่อสุขภาพไม่สมบูรณ์ เช่นในระยะพักฟื้นหลังจากนอนเจ็บอยู่นาน ๆ หรือต้องตรากตรำทำงานหนักมากอยู่นาน อาการที่พบได้มีมากมาย ที่สำคัญคือ เหนื่อย หายใจลำบากคล้ายถอนหายใจ ใจสั่น เจ็บบริเวณหัวใจ วิงเวียน ปวดหัว มือสั่น เหงื่อออกมาก เหล่านี้ เป็นต้น

ผู้ป่วยควรจะเข้าใจว่า ในแง่รูปร่างนั้นไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ หัวใจคงบีบตัวได้ดีเช่นกับก่อนมีอาการ แรงดันโลหิตก็ไม่ถึงกับผิดปกติ และยังไม่เคยปรากฎว่า ผู้ป่วยด้วยโรคนี้อย่างเดียวเท่านั้นจะมีอาการหัวใจหยุดเต้นถึงแก่กรรมทันทีทันใด  ทั้ง ๆ ที่ผู้ป่วยมากรายรู้สึกว่าคล้ายจะเป็นเช่นนั้น  ความจริงเป็นความรู้สึกมากกว่า เป็นความรู้สึกที่ไม่สบายจริง ๆ และเป็นจริง ๆ ไม่ใช่แกล้งทำ เมื่อเรามีความเคร่งเครียด เช่นมีความกังวล จะเป็นด้วยเรื่องครอบครัว การงาน อาจเกิดมีอาการแสดงออกทางกายได้ต่าง ๆ กัน เช่น ในคนที่ระบบประสาทซึ่งควบคุมกระเพาะอาหารลำไส้ไวกว่าส่วนอื่น ก็เกิดอาการท้องอืดเฟ้อ ท้องเดิน ปวดท้อง เป็นต้น บางคนคงเคยกลุ้มใจ ตื่นเต้นในเรื่องหนึ่งเรื่องใดจนกินข้าวไม่ลงมาแล้ว บางคนที่ประสาทซึ่งควบคุมมดลูกไวก็จะมีอาการปวดถ่วงท้องน้อย เสียว เจ็บ เป็นต้น  และถ้าประสาทที่ควบคุมหัวใจไวกว่าที่อื่น  ก็จะเกิดอาการเจ็บบริเวณหัวใจ เหนื่อย ใจสั่น และอื่น ๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว  เหตุใดบางคนจึงมีอาการทางกระเพาะ บางคนทางมดลูก บางคนทางหัวใจ นี่คงเพราะสังขารของแต่ละคนไม่เหมือนกัน  ประสาทที่ไปควบคุมอวัยวะใดไวกว่าหรืออวัยวะใดแสดงปฏิกิริยาตอบความกังวลได้ไวกว่า  ก็มีอาการเกี่ยวเนื่องกับอวัยวะนั้น  อาจเป็นสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ในอดีตเป็นเครื่องช่วยให้เป็นก็ได้  เช่น พ่อถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจ โดยมีอาการทรมานมานานปี  ผู้ป่วยเป็นบุตรอยู่ใกล้ชิดมีความเอาใจใส่ คิดถึงหัวใจอยู่เป็นพิเศษ เมื่อมีความเคร่งเครียด หัวใจจึงถูกกระทบกระเทือนไปมากกว่าอวัยวะอื่น คนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างประเทศย่อมถือว่าหัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดของร่างกาย คำว่า “หัวใจ” และ “ใจ” นั้นมีผู้ใช้ปะปนกันและเราก็เข้าใจดีว่าอะไรเป็นอะไรในภาษาที่ใช้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันและแม้ในวรรณคดี เช่น มีคำที่แสดงถึงอารมณ์ลักษณะของบุคคลใจดำ ใจแข็ง ใจสิงห์ คิดถึงใจจะขาด เป็นต้น ความสัมพันธุ์ระหว่างหัวใจและระบบประสาทจึงมีอยู่อย่างใกล้ชิด ทั้งในทางสรีรวิทยาและสามัญสำนึกของคนทั่วไป  คำอธิบายเหล่านี้คือสิ่งที่เรายึดเป็นหลักขณะนี้  การค้นคว้าทดลองยังก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ เพื่อหาต้นเหตุที่แน่นอน

      การรักษา  ถ้ารู้สาเหตุแห่งความกังวลหรือที่ทำให้เกิดอาการนี้แล้ว เอาสาเหตุออกได้ก็จะหายได้ หรือเอาเหตุนั้นออกได้บ้าง อาการก็จะน้อยลง การร่วมมือกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเป็นของสำคัญ ต้องให้เข้าใจสภาพที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร อย่างน้อยก็จะสามารถขจัดความกลัวออกไปได้บ้างไม่มากก็น้อย

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องโรคหัวใจที่พบได้บ่อย ๆ ต้นเหตุอื่น ๆก็มีอีกมาก เช่น โลหิตจาง คอพอกเป็นพิษ ต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ  ขาดวิตามินบีหนึ่ง เนื้องอก การติดเชื้อ เช่น โรคซิฟิลิส โรคคอตีบ และเชื้อโรคอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการอักเสบของเยื่อบุหัวใจ เป็นต้น

        ที่สุดนี้  ใคร่จะกล่าวว่าโรคหัวใจบางชนิดอาจ รักษาให้หายขาดได้  บางทีก็ต้องใช้วิธีผ่าตัด และอีกมากชนิดรักษาให้หายขาดไม่ได้  กระนั้นก็ตามถ้าได้มีการปฏิบัติตนให้ถูกต้อง ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจก็อาจดำเนินชีวิต ทำคุณประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้ดีชื่นบานกับชีวิตพอสมควร ไม่ถึงกับทุพพลภาพเสียทีเดียว

น.พ.กมล  สินธวานนท์

 

 

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า