สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคหัวใจ

 ก่อนที่จะใช้ยาเกี่ยวกับโรคหัวใจ ควรจะรู้ว่าที่คนจำนวนมากคิดหรือทึกทักว่าตนเป็นโรคหัวใจนั้น อันที่จริงแล้ว จะไม่ใช่โรคหัวใจเลย หรือ อาการที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ (แม้ว่าจะมีโรคหัวใจอยู่) แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากจิตใจ หรือสิ่งอื่น

ดังนั้น ควรจะรู้เรื่องโรคหัวใจเสียก่อนเเล้วจึงค่อยใช้ยาที่เกี่ยวกับโรคหัวใจ โรคหัวใจที่พบกันทั่วไป มี

1. ‘โรคหัวใจอ่อน” หรือบางคนอาจจะเรียกว่า ‘โรคประสาทหัวใจ” หรือบางครั้งก็อาจจะมีชื่อแปลกๆ ออกไป ทำให้คิดว่าเป็นโรคอื่น เช่น ‘โรคความดันโลหิตต่ำ“ “โรคเลือดน้อย” เป็นต้น อาจจะกล่าวได้ว่าในเวชปฏิบัติ เราจะพบโรคนี้ หรือ ภาวะนี้บ่อยที่สุดในบรรดาโรคหัวไจทั้งหลาย ทั้งที่หัวใจของคนที่เป็น “โรคหัวใจอ่อน” นี้ปกติดีทุกอย่าง

สมุฏฐาน : สมุฏฐานของโรคนี้ เกิดขึ้นจากความกังวล ความเคร่งเครียดและขาดการพักผ่อน อันอาจจะสืบเนื่องมาจากการงาน ภาวะทางเศรษฐกิจสังคม ความยุ่งยากในครอบครัว ความโลภ-โกรธ เกลียด-หลง ที่สะสมไว้นานๆ หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ

อาการ: ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เวียนศีรษะง่าย รู้สึกคล้ายจะเป็นลมอยู่เสมอ (แต่ไม่เคยหมดสติ หรือชัก) ใจเต้นใจสั่น ใจหวิว อาจจะรู้สึกว่าหัวใจเบาๆ ลอยๆ หรือรู้สึกว่าหัวใจหนักและเปลี้ยไปหมด ทำงานอะไรสักนิดหรืออยู่เฉยๆ ก็เหนื่อย หายใจขัด หายใจไม่ออก หายใจเข้าได้ไม่เต็มที่ หายใจไม่อิ่ม หงุดหงิดง่าย โมโหง่าย เจ็บแปลบปลาบตามหน้าอก อาจมีอาการแน่นท้อง ท้องขึ้น จนต้องเรอและผายลมร่วมด้วย อาจนอนไม่ค่อยหลับ หรือหลับแล้วฝันบ่อยๆ โดยเฉพาะฝันร้ายๆ เสียด้วย

ผู้ที่มีอาการต่างๆ ดังกล่าวจะเกิดความกังวลมากขึ้น และมักจะเปลี่ยนแพทย์คนแล้วคนเล่า เพราะรู้สึกไม่ดีขึ้นหลังจากโดนฉีดยาและกินยาแล้วหลายขนาน ทั้งนี้เพราะยาฉีดและยากินส่วนใหญ่ไม่สามารถจะช่วยแก้ไขสมุฎฐานดั้งเดิม คือ ความยุ่งยากในครอบครัว ความลำบากในภาวะทางเศรษฐกิจสังคม และความโลภ-โกรธ-เกลียด-หลง อันเกินขอบเขตในจิตใจของตน

การรักษา : วิธีรักษาที่ดีที่สุดสำหรับโรคนี้ คือ การออกกำลังกายและการทำจิตให้ว่าง ให้ปราศจากเสียซึ่งความอยากได้ในสิ่งของเงินทองและลาภยศต่างๆ ให้แผ่เมตตาและให้อภัยแก่คนที่โกรธ เกลียด เพราะชีวิตนี้สั้นนักและจะสั้นยิ่งขึ้น ถ้าปล่อยให้ความขุ่นมัวหม่นหมองเข้าครอบงำจิตใจไว้

การออกไปช่วยทำงานให้แก่สาธารณะสถาน การให้สิ่งของเงินทองแก่ผู้ขัดสนและยากไร้ การทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น จะทำให้รู้สึกว่าชีวิตของตนมีคุณค่ามากขึ้น และจะลดความอยาก (อยากได้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของตน) ลง ทำให้ความกังวลและความเคร่งเครียดลดลง ทำให้โรคนี้หายไปได้ โดยไมุต้องใช้ยากินยาฉีดอะไรทั้งสิ้น

ในรายที่มีสมุฎฐานมาจากโรคเรื้อรัง นอกจากจะต้องให้แพทย์รักษาโรคเรื้อรังนั้นๆ แล้ว ก็ควรทำจิตใจให้ว่างเช่นเดียวกัน คือ ไม่กังวลไม่เคร่งเครียดในความเจ็บป่วยของตน เพราะการเจ็บไข้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเรามักหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีใครหรอกที่อยากจะเจ็บป่วยถ้าเขาเลือกได้ การจะไปกังวลเพิ่มเติมอีก มีแต่จะทำให้โรคที่เป็นอยู่ทรุดลง และมีโรคอื่นแทรกได้ง่าย

2. “โรคหัวใจรูห์มาติค หรือโรคหัวใจที่เกิดร่วมกับ หรือเป็นผลจากการมีไข้เจ็บคอ-ปวดข้อในเด็กหรือในวัยหนุ่มสาว

สมุฏฐาน : สมุฏฐานของโรคนี้เข้าใจว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากเชื้อโรคชนิดหนึ่งไปทำให้เกิดการอักเสบในลำคอ และต่อมทอนซิล รวมทั้งในข้อต่างๆ และในหัวใจ และบางครั้งในระบบประสาทด้วย

อาการ : ผู้ที่เป็นโรคนี้ นอกจากจะมีอาการไข้ เจ็บคอ และ/หรือ ปวดข้อบ่อยๆ แล้ว ในระยะหลัง การอักเสบที่หัวใจจะทำให้ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ทำให้หัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่หัวใจจึงต้องพยายามทำงานให้มากขึ้น เกิดภาวะหัวใจโต และเมื่อหัวใจต้องทำงานมากๆ อยู่นานๆ ในที่สุดมันก็จะทำงานไม่ไหว เกิดภาวะหัวใจล้ม (ล้มเหลว) ทำให้เลือดคั่งในที่ต่างๆ ถ้าเลือดคั่งมากในปอด ก็จะเกิดการเหนื่อย หอบ อ่อนเพลีย ริมฝีปากและเล็บอาจจะดูเขียวคล้ำ ถ้าเลือดคั่งนอกปอด ก็จะเกิดอาการบวม ระยะแรก มักจะบวมเท้าก่อน ต่อมาจะบวมขาแล้วก็ลามมาที่ท้อง และในที่สุดก็บวมทั้งตัวได้

โรคหัวใจนี้จะป้องกันได้ เมื่อเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ชอบมีไข้-เจ็บคอ-ปวดข้อ ได้รับยาป้องกันไม่ให้เชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคนี้เข้าไปทำให้เกิดโรคนี้ในร่างกายของตน อาจจะใช้วิธีกินยาทุกวัน หรือใช้ยาฉีดเพียงเดือนละครั้งก็ได้ และในขณะที่มีอาการ ไข้-เจ็บคอ-ปวดข้อ จะต้องได้รับยาอย่างอื่นด้วย เพื่อรักษาอาการต่างๆ ให้หายโดยเร็วที่สุดที่จะเร็วได้ เพื่อป้องกันไม่ให้การอักเสบนั้นทำอันตรายแก่หัวใจได้

ถ้าไม่ป้องกันและรักษาอาการไข้-เจ็บคอ-ปวดข้อ ให้ดีต่อไปก็จะเกิดโรคหัวใจรูห์มาติคแบบลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ทำให้การรักษายุ่งยากขึ้นมาก และอาจจะต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดหัวใจเพื่อให้ลิ้นหัวใจนั้นกลับทำงานได้ใหม่

3. “โรคหัวใจขาดเลือด” หรือ โรคขาดเลือดเลี้ยงหัวใจ เป็นโรคหัวใจที่พบมากขึ้นๆ ตามความเจริญทางวัตถุ

สมุฏฐาน : สมุฏฐานของโรคนี้ ส่วนมากเกิดขึ้นจากเลือดไม่สามารถวิ่งผ่านไปตามหลอดเลือดที่เข้าเลี้ยงหัวใจ ส่วนน้อยเกิดขึ้นจากความผิดปกติที่กล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง

สาเหตุที่ทำให้เลือดไม่สามารถวิ่งผ่านไปตามหลอดเลือดที่เข้าเลี้ยงหัวใจ ก็มีหลายอย่างแต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดและมากที่สุดก็คือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ก็เกิดได้จากสาเหตหลายอย่างเช่นเดียวกัน แต่ที่พบบ่อยที่สุดเกิดขึ้นจากภาวะหลอดเลือดแข็ง

สิ่งที่มีชีวิตทุกชนิด เมื่อสูงอายุขึ้นส่วนต่างๆ ของตนจะค่อยๆ เสื่อมลง หลอดเลือดในร่างกายของเราก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะหลอดเลือดแดงที่นำเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ผนังของมันที่เคยอ่อนนุ่มและยืดหยุ่นง่ายจะค่อยๆ หนาขึ้น และแข็งกระด้างขึ้น เพราะมีไขมันและหินปูนไปจับมากขึ้นๆ ทำให้หลอดเลือดนั้นตีบเข้าๆ จนกระทั่งอุดตันเหมือนกับท่อประปาที่มีสนิมและขี้ดินทับถมกันอยู่มากๆ เนื่องจากความเสื่อมนี้เกิดขึ้นตามอายุจึงไม่เป็นที่แปลกใจที่พบโรคนี้ในคนอายุ มากบ่อยกว่าในคนอายุน้อย

สิ่งที่ช่วยให้เกิดโรคหัวใจนี้ได้เร็วและ/หรือรุนแรงขึ้น คือ

1. กรรมพันธุ์ โรคทางกรรมพันธุ์บางชนิดจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งได้ง่าย เช่น โรคไขมันในเลือดสูงมาแต่กำเนิดบางชนิด โรคเบาหวาน เป็นต้น

2. เพศ เพศชายเป็นมากกว่าเพศหญิงและเป็นในอายุน้อยๆ ได้บ่อยกว่าในเพศหญิงแต่อัตราการเป็นโรคในทั้ง 2 เพศจะเท่ากันเมื่อ อายุมากกว่า 80 ปี

3. อายุ  อายุมากจะเป็นมาก

4. ความดันเลือดสูง  เพศชายและเพศหญิงที่มีความดันเลือดสูง จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนที่ไม่มีความดันสูง ประมาณ 2 และ 6 เท่าตามลำดับ คนที่มีความดันสูงยิ่งสูงมากเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้นเท่านั้น

5. โรคเก๊าท์ ผู้ป่วยที่ปวดข้อจากการคั่งของกรดยูริค ก็เป็นโรคนี้ได้ง่าย

6. ความอ้วนและภาวะที่มีไขมันบางชนิดในเลือดสูง ก็จะทำให้เป็นโรคนี้ได้ง่าย

7. การสูบบุหรี่และดื่มกาแฟเกินควร ก็จะทำให้เกิดโรคนี้ได้ง่าย และถ้าเป็นแล้วยังสูบบุหรี่อีก ก็จะทำให้อัตราตายสูง

8. การออกกำลังกาย ผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะเป็นโรคนี้ได้ง่าย

9. ภาวะทางจิตใจ ผู้ที่มีจิตใจที่ตึงเครียดอยู่เสมอ ผู้ที่มีความทะเยอทะยาน มีความกังวลใจมาก มีการชิงดีชิงเด่นมาก มีการผิดหวังบ่อย และไม่รู้จักพักผ่อนด้านจิตใจ จะเป็นโรคนี้ได้ง่าย

อาการ : ผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด จะมีอาการเจ็บหรือแน่นหรือจุกที่หน้าอก ยอดอกหรือลิ้นปี่ ที่คอหรือที่ขากรรไกร ที่แขนหรือที่ข้อศอก หรือเกิดอาการเมื่อยล้าที่แขนและขากรรไกร โดยหาสาเหตุอื่นไม่ได้ นอกจากนั้น อาจจะมีอาการเหนื่อย หอบ ใจเต้นๆ หยุดๆ หรือเต้นแรงเป็นบางตุบ หรืออาจเป็นลมหมดสติทันทีก็ได้

ผู้ที่มีอาการต่างๆ ดังกล่าว ควรจะพบแพทย์ โดยทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่นอนว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดหรือไม่ ทั้งนี้อาจจะต้องใช้การตรวจพิเศษในรายที่จำเป็น เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ขณะพักและขณะออกกำลังกาย การสวนหัวใจ เป็นต้น

การรักษา : การรักษาโรคนี้ ทางฝ่ายแพทย์นั้นไม่ค่อยยากเย็นนัก เพราะยาและวิธีรักษาอื่นๆ จะช่วยลดอาการและบรรเทาความทุกข์ทรมานให้ได้ แต่การช่วยตนเองของผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีความสำคัญมากกว่ายาเสียอีก เช่น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสัตว์สูง โดยใช้ไขมันจากพืชแทน ยกเว้นน้ำมันมะพร้าว เลิกสูบบุหรี่และงดดื่มชากาแฟ พักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายตามคำแนะนำแพทย์ ระวังอย่าให้ท้องผูก หรือออกกำลังกายเกินควร (หลีกเลี่ยงภาวะที่จะทำให้เกิดการฉุกละหุก หรือคับขัน) และทำจิตใจให้ว่าง ปราศจากความเคร่งเครียด

ถ้าได้ระวังรักษาตนเองตามสมควรและตามคำแนะนำแพทย์  ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีชีวิตยืนยาวได้เท่าหรือเกือบเท่าคนปกติ และจะสามารถทำงาน เที่ยว เล่น และอื่นๆ ได้เท่าเทียมกับเมื่อก่อนป่วยหรืออาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ ถ้าได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้อง

4. “โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด” หรือ โรคหัวใจไม่สมประกอบมาแต่กำเนิด

สมุฏฐาน: สมุฏฐานของโรคนี้ มีอยู่หลายอย่างเช่นเดียวกัน เช่น กรรมพันธุ์ มารดาเกิดโรคติดเชื้อในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในระยะ 3 เดือนแรก มารดาสูงอายุในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะครรภ์แรก เป็นต้น

อาการ: ผู้ที่เป็นโรคนี้ อาจจะตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ตายขณะคลอด ตายหลังคลอด หรืออาจจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และแก่ตายไปตามธรรมชาติโดยไม่ปรากฎอาการเลยก็ได้

ถ้าโรคนี้มาปรากฎอาการในผู้ใหญ่ ส่วนมากแล้วจะเป็นอาการของภาวะหัวใจล้ม เช่น เหนื่อย หอบ บวม เป็นต้น

การรักษา : ผู้ที่มีอาการดังกล่าว ควรจะได้พบแพทย์แต่เนิ่นๆ จะ ได้รีบรักษาให้ถูกต้องตั้งแต่อายุน้อยๆ เผื่อจะสามารถเจริญเติบโตเป็นปกติ เพราะโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดจำนวนมากสามารถจะทำการผ่าตัดให้หายขาดได้หรือบรรเทาอาการได้

5. “โรคหัวใจจากแรงดันเลือดสูง” อันที่จริงแล้ว โรคนี้ไม่ได้พิการที่ตัวหัวใจเองโดยตรง แต่เป็นการพิการที่หลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย จากสาเหตุต่างๆ กัน

สมุฏฐาน : ผนังของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกายที่เคยยืดหยุ่นง่าย จะเกิดแข็งกระด้างขึ้น ที่เราเรียกว่าภาวะหลอดเลือดแข็ง นอกจากภาวะหลอดเลือดแข็งที่เกิดขึ้นจากการเสื่อมตามธรรมชาติแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ไปช่วยให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งได้ง่ายและเร็วขึ้น

นอกจากนั้น แรงดันโลหิตสูงๆ ไม่ว่าจะจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม เช่น โรคไต, เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต, การตั้งครรภ์เป็นพิษ, เป็นต้น จะทำให้ เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งได้ จึงเกิดเป็นวงจรไม่รู้จบขึ้น คือ แรงดันเลือด สูง ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง ภาวะหลอดเลือดแข็งทำให้แรงดัน เลือดสูงขึ้น แรงดันเลือดสูงขึ้นทำให้หลอดเลือดแข็งมากขึ้น หลอดเลือดแข็งมากขึ้นทำให้แรงดันเลือดยิ่งสูงขึ้นไปอีกต่อกันไปเรื่อยๆ เช่นนี้

อาการ : เมื่อแรงดันเลือดสูงขึ้น หัวใจจะต้องทำงานมากขึ้น ทำให้หัวใจโต มีกล้ามเนื้อหนาขึ้น เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้นมากๆ และต้องทำงานหนักขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจก็จะได้รับเลือดและอาหารไปเลี้ยงไม่พอ และสมรรถภาพในการทำงานจะเสื่อมลง ในที่สุดก็จะเกิดภาวะหัวใจล้ม คือ เหนื่อยง่าย หอบ บวมเท้า ฯลฯ

การรักษา : การรักษาโรคหัวใจชนิดนี้ คือ การลดแรงดันเลือดให้ต่ำลง ถ้ามีภาวะหัวใจล้มร่วมด้วยก็อาจจะต้องใช้ยาบำรุงหัวใจ ยาขับปัสสาวะ และอย่างอื่นๆ เข้าช่วย

การรักษาตัวเองในโรคหัวใจแบบนี้ คล้ายคลึงกับในโรคหัวใจขาดเลือด

(นอกจากแรงดันเลือดสูงจะทำให้เกิดอาการทางระบบหัวใจแล้ว มันยังอาจจะทำให้เกิดอาการทางสมองและทางไตอีกด้วย เช่น เส้นเลือดในสมองแตกหรือตับ ไตพิการ เป็นต้น)

6. “โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือพิการ”

สมุฏฐาน :โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดขึ้นจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรค, เกิดจากสารพิษในอาหารและเครื่องดื่ม เกิดจากยาบางชนิด เกิดจากการแพ้ยาหรือสารบางอย่าง และในบางครั้งก็เกิดขึ้นโดยเราไม่ทราบสาเหตุ

ส่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการนั้นมีสาเหตุสำคัญๆ เช่น การขาดไวตามินบีหนึ่ง การดื่มสุราเรื้อรัง การดื่มเบียร์บางชนิดที่มีสารเป็นพิษเจือปน เป็นต้น แต่โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการที่เรายังไม่ทราบสาเหตุก็ยังมีอยู่มาก

อาการ : อาการของโรคหัวใจทั้งสองประเภทนี้ มักจะเป็นอาการของภาวะหัวใจล้ม แต่อาจมีอาการอื่นๆ ซึ่งเป็นอาการของสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจทั้งสองประเภทนี้ เช่น

ถ้าเกิดจากเชื้อโรค ก็มักจะมีอาการไข้ มีแผล มีหนอง หรือมีการอักเสบตรงส่วนที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

ถ้าเกิดจากพิษหรือยา ก็มักจะมีอาการเป็นพิษอื่นๆ ร่วมด้วย

ถ้าเกิดจากการแพ้ ก็มักจะมีผื่น มีการผิดปกติ ในเม็ดเลือด และอื่นๆ ร่วมด้วย

ถ้าเกิดจากโรคสุราเรื้อรัง ก็มักจะมีอาการอื่นๆ ของโรคสุราเรื้อรังร่วมด้วย

ถ้าเกิดจากการขาดไวตามินบีหนึ่ง ก็อาจจะมีอาการชามือชาเท้า หรือกล้ามเนื้อน่องแข็งตึงและเจ็บร่วมด้วย

การรักษา : โรคหัวใจทั้งสองประเภทนี้ ถ้าแพทย์ทราบสาเหตุและกำจัดสาเหตุได้ โรคก็จะหาย อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ทราบสาเหตุ การใช้ยาเพื่อบรรเทาการอักเสบและเพื่อช่วยกำลังของกล้ามเนื้อหัวใจ ก็จะช่วยให้โรคนี้บรรเทาลงได้มากๆ

การรักษาตัวในโรคนี้ คือการหลีกเลี่ยงสาเหตุต่างๆ เท่าที่จะหลีกได้ เช่น หลีกเลี่ยงการติดโรคที่เข้าหัวใจได้ง่าย หลีกเลี่ยงยาและสารเป็นพิษ รวมทั้งสุราและเบียร์ กินอาหารที่มีไวตามินบีหนึ่งสูง เช่น ข้าวซ้อมมือ เนื้อสัตว์ เป็นต้น

7. “โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบหรือเป็นหนองหรือมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ”

สมุฏฐาน: ส่วนใหญ่ของโรคหัวใจชนิดนี้ เกิดจากการติดเชื้อ จะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อพยาธิ หรือเชื้อราก็ตาม ส่วนน้อยเกิดจากการ คั่งของของเสียบางชนิด เช่น ในภาวะไตล้ม หรือเกิดจากพยาธิสภาพอื่นๆ ที่เรายังไม่เข้าใจแจ่มชัด เช่น โรคภูมิแพ้บางอย่าง

อาการ : ผู้ที่เป็นโรคนี้ อาจมีอาการเจ็บหรือแน่นในหน้าอกได้มากๆ และมักจะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และอาการอื่นๆ ตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้

ถ้าเกิดน้ำเหลืองหนองขึ้นในช่องเยื่อหุ้มหัวใจมากๆ น้ำหรือหนองเหล่านี้ก็จะไปกดหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานไม่ได้ เกิดภาวะหัวใจล้ม มีอาการเหนื่อย หอบ บวม ฯลฯ

การรักษา : การรักษาคือการกำจัดสาเหตุ และบรรเทาการบีบรัดหัวใจด้วยน้ำหรือหนองในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ ทั้งนี้โดยใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาอื่นๆ ที่เหมาะสม ถ้ามีน้ำหรือหนองอยู่มากพอจะเจาะออกได้ ก็จำเป็นที่จะต้องเจาะออก หรือถ้าเจาะไม่ได้ ก็จำเป็นที่จะต้องผ่าตัดเอาน้ำหรือหนองหรือเยื่อหุ้มหัวใจออกเพื่อไม่ให้หัวใจถูกบีบรัดได้

การรักษาตัวเองในโรคหัวใจประเภทนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุและคำแนะนำของแพทย์สำหรับผู้ป่วยแต่ละคนโดยเฉพาะ

8. “โรคหัวใจชรา”

สมุฏฐาน : อวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเรา เมื่อเกิดแล้วจะเจริญเติบโตรับใช้เราอยู่ชั่วระยะหนึ่ง หลังจากนั้นการเจริญเติบโตก็ยุติ เพื่อให้อวัยวะต่างๆ เหล่านั้นได้แก่ตัว และปรับตัวให้เหมาะสมต่อกันและกันและต่อสิ่งแวดล้อม หัวใจของเราก็เช่นเดียวกัน หัวใจของเราเริ่มทำงานตั้งแต่เราอยู่ในครรภ์มารดา มีการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ แรกจนกระทั่งเราเกิดและเข้าสู่วัยหนุ่มสาว หลังจากนั้น หัวใจของเราจะเริ่มแก่ตัวเพื่อปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและสิ่งแวดล้อม ถัดจากระยะนี้หัวใจของเราจะชราลง

ถ้าเรามองดูและสัมผัสผิวหนังของเด็กอ่อน เด็กโต หนุ่มสาว และคนสูงอายุ เราจะเห็นการเจริญเติบโต การแก่ตัว และการชราลงของผิวหนัง จากผิวที่เคยละเอียดอ่อนและหอมละมุนของเด็กอ่อนมาเป็นผิวที่หยาบขึ้นและไม่มีกลิ่นหอมของเด็กโตมาเป็นผิวที่หยาบกร้านและมีกลิ่นสาบของหนุ่มสาว มาเป็นผิวที่เหี่ยวย่นและเต็มไปด้วยไฝฝ้าของคนชรา

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่เป็นไปตลอดเวลาจนเราไม่รู้สึกตัว หัวใจของเราก็เช่นเดียวกัน แต่เราไม่สามารถเห็นการชราลงของหัวใจได้ ทั้งที่เกือบจะถือกันได้ว่าหัวใจนั้นเป็นอวัยวะเดียวในร่างกายที่ทำงานให้เรารู้สึกได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน เวลาดีใจหรือเสียใจ ตั้งแต่เราอยู่ในครรภ์มารดา จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต หัวใจจึงเป็นอวัยวะที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาอย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง

ในปัจจุบัน การแพทย์ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมากมาย แต่เราก็ยังไม่เข้าใจโรคหัวใจชรานี้อย่างถ่องแท้เช่นเดียวกับที่เรายังไม่เข้าใจว่าทำไมชีวิตจึงต้องเกิดแก่ และเจ็บตาย โรคหัวใจชราจึงยังเป็นหัวข้อเรื่องที่ต้องการการศึกษาค้นคว้าอีกมาก ทั้งในทางโลกธรรมและทางธรรม

อาการ : ส่วนต่างๆ ของหัวใจที่ชราลงที่เราทราบกันบ้างในปัจจุบัน คือส่วนที่สืบเนื่องมาจากความชราลงของหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคหัวใจต่างๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจจากแรงดันเลือดสูง นอกจาก นั้นก็ยังมีพวกโรคหลอดเลือดพิการต่างๆ เช่น เส้นเลือดขดหรือขอด จากความพิการของหลอดเลือดดำ ทำให้ขาและเท้าบวม และ/หรือปวด หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงขาเกิดตีบตันจากภาวะหลอดเลือดแข็ง ทำให้ปวดขาเวลาเดินและมีอาการเป็นตะคริวง่าย หลอดเลือดแดงใหญ่ในอกหรือในท้องโป่งพอง ทำให้เกิดอาการเจ็บรุนแรง หรือเกิดอาการตกเลือดรุนแรงได้ เป็นต้น

การรักษา: การรักษาโรคหัวใจชรานี้ แพทย์จะสามารถให้การรักษาได้ตามอาการ และตามชนิดของโรค แต่เรายังไม่มียาและวิธีรักษาใดๆ ที่จะสามารถทำให้ส่วนที่เสียไป กลับคืนเป็นปกติ เช่นเดียวกับที่เรายังไม่มียาหรือวิธีรักษาใดๆ ที่จะทำให้คนชรากลับเป็นคนหนุ่มสาวอย่างสมบูรณ์ได้อีก

การระวังรักษาตัวเอง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะชลอการชราลงของร่างกายและหัวใจของเรา ตัวอย่างของการรักษาตัวเองในเรื่องนี้ เช่น

1. ให้มีน้ำหนักพอดี อย่าให้ผอมเกินไปโดยการรับประทานอาหารให้พอเพียงและเหมาะสม อย่าให้อ้วนหรือมีนํ้าหนักเกินขนาด ด้วยการลดอาหารลง โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้งและอาหารไขมัน พยายามรับประทานผักให้มากขึ้น ถ้าจะใช้น้ำมัน หรือไขมันให้ใช้น้ำมันพืช (ยกเว้นน้ำมันมะพร้าว) อาหารพวกเครื่องในสัตว์ก็ควรรับประทานแต่น้อย

2. เลิกสูบบุหรี่ และดื่มสุรา ชา กาแฟ แต่พอสมควร

3. พักผ่อนให้เต็มที่ โดยเฉพาะการนอนหลับที่สนิทและเพียงพอ และการหลีกเลี่ยงหรือผ่อนคลายภาวะเครียดทางจิตใจ เช่น ความกังวล ความโศรกเศร้า ความดีใจและอารมณ์อื่นๆ อันเกินขอบเขต

4. การออกกำลังกายตามความเหมาะสม และโดยสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงจากคนที่เป็นโรคที่ติดต่อ หรือจากสถานที่ที่เพาะพันธุ์ของเชื้อโรค เป็นต้น

5. รักษาโรคที่เป็นอยู่ให้หายโดยเร็ว หรือให้ดีที่สุดที่จะดีได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคเก๊าท์ โรคไขมันในเลือดสูงมาแต่กำเนิด เป็นต้น

6. ฝึกฝนตนเองให้มีความสงบและสันโดษ ให้มีความสุขและความพอใจในชีวิต และรู้จักระบาย และผ่อนคลายอารมณ์อันเป็นภัย เป็นต้น        

9.  “โรคหัวใจที่มีผลสืบเนื่องมาจากความผิดปกติที่ส่วนอื่นของร่างกาย

เช่น ภาวะคอพอกเป็นพิษ ภาวะทุพโภชนาการ ภาวะเลือดจางมากๆ ภาวะน้ำคั่งจากโรคต่างๆ เป็นต้น

อาการ : อาการของโรคหัวใจประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นอาการของภาวะหัวใจล้ม โดยเฉพาะอาการเหนื่อย หอบ และบวม และจะมีอาการต่างๆ ของสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจประเภทนี้ด้วย

การรักษา : การรักษาโรคหัวใจประเภทนี้ แพทย์จะมุ่งรักษาสาเหตุเป็นประการสำคัญ แต่การรักษาอาการ เช่น การรักษาภาวะหัวใจล้ม จะช่วยให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกสบายขึ้นอย่างรวดเร็ว และ อาจจะกลับไปประกอบอาชีพได้ตามปกติ แม้ว่าสาเหตุนั้นยังไม่หาย หรือเป็นสาเหตุที่ยังไม่มีทางรักษาได้

การรักษาตัวในโรคหัวใจประเภทนี้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจนี้และแพทย์ผู้รักษาจะได้แนะนำการรักษาตัวเองสำหรับผู้ป่วยตามสาเหตุที่เกิดขึ้นเป็นรายๆ ไป

10. โรคหัวใจอื่นๆ  เช่นโรคหัวใจที่เรายังไม่ทราบพยาธิสภาพและการดำเนินโรคที่แจ้งชัด โรคเนื้องอกหรือมะเร็งในหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดปกติโดยไม่มีสาเหตุ เป็นต้น

ยาลดไขมันในเลือด

ในปัจจุบันยาลดไขมันในเลือดเป็นยาที่ใช้กันทั่วไป โดยความเชื่อที่ว่า ไขมันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลอดเลือดแดงตีบตัน ทำให้เป็นโรคหัวใจ หรือโรคเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตันเป็นต้น ซึ่งความเชื่อดังกล่าวยังไม่ได้รับการพิสูจน์ให้ชัดเจน และสาเหตุของโรคทั้งหลายนี้ยังมีองค์ประกอบอย่างอื่นอีกมาก ความจริงการควบคุมอาหาร ละเว้น จากการกินอาหารที่มีมันจัด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นการลดไขมันในเลือดได้อย่างดีโดยไม่ต้องใช้ยาลดไขมันเลย สิ่งที่ควรทราบอีกประการหนึ่งคือไขมันโดยเฉพาะโคเลสเตอรอล (Choles­terol) ในเลือด จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามช่วงต่างๆ ของวัน ตามฤดูกาล ตามความตึงเครียดทางกายหรือทางใจหรืออื่นๆ ดังนั้นการที่ จะเจาะเลือดเพียงครั้งเดียวแล้วพบว่ามีไขมันสูง โดยไม่มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย จึงไม่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาด้วยยาลดไขมันในเลือดแต่อย่างใด

ยาลดไขมันในเลือดที่นิยมใช้กันอยู่คือ ยาประเภท คลอไฟเบรท (Clofibrate) หรือที่มีจำหน่ายในชื่อการค้าต่างๆ เช่น อะโทรมิด-เอส (Atromid-S) โคลีนาล (Cholenal) คลอฟ (Clof) คลลไฟพรอนท์ (Clofipront) ฮัยคลอเรท (Hycloraie) ไลปาเตน (Lipaten) และ ไลปรีนาล (Liprenal)

ไม่ควรใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายในเด็ก และในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ หรือไต

ฤทธิ์และอาการที่ไม่พึงประสงค์

ที่พบได้บ่อย คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ท้องอืด ท้องเฟ้อ และกระเพาะอาหารอักเสบ ยาอาจมีผลทำให้เกิดตับอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ เกิดนิ่วในถุงน้ำดี หรือตับอ่อนอักเสบ นอกจากนี้ยังมีพิษต่อไต หัวใจ ประสาทและกล้ามเนื้ออาจทำให้ข้ออักเสบ เป็นผื่นคันตามผิวหนัง ในผู้ป่วยชายอาจเป็นผลทำให้เกิดนมแตกพาน (Gynecomastia) เเละเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้

ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยานี้ ควรตรวจเลือด ปัสสาวะ หน้าที่ของไตและไขมันในเลือดก่อนให้ยาและหลังให้ยาเป็นระยะๆ ถ้าเริ่มตรวจพบความผิดปกติใดๆ ให้หยุดยา หรือถ้าใช้ยานี้ไป 3 เดือนแล้ว ไขมันในเลือดไม่ลดลงก็ควรให้หยุดยาเสีย และในกรณีที่ไขมันในเลือดสูงขึ้นหลังให้ยาจะต้องหยุดยาทันที

เนื่องจากประโยชน์ในการรักษาไม่แน่นอน และยามีอันตรายสูง จึงขอแนะนำให้เลือกใช้ในกรณีที่เหมาะสมและจำเป็นจริงๆ เป็นรายๆ เท่านั้น อย่าใช้โดยไม่จำเป็น

ยาอดเหล้า

ยาอดเหล้าที่มีอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นยาที่มีชื่อว่า แอนทาบิวส์ (Antabuse) หรือ ไดซัลฟิแรม (Disulfirafn) ยาอดเหล้านี้เมื่อใช้อยู่แล้วถ้าผู้ใช้ไปดื่มเหล้าเข้า ก็จะเกิดอาการไม่สบายกาย โดยมีอาการหน้าและคอแดง ตาแดง หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะ หายใจไม่ใคร่ออก มึนงง เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้อาเจียน อาการดังกล่าวจะเกิดในทุกครั้งถ้าผู้ใช้ยาไปดื่มเหล้าเข้าในที่สุดก็จะทำให้ผู้นั้นเข็ดขยาดต่อการดื่มเหล้าไปเอง อาการดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากตัวยา แอนทา-บิวส์ ไปขัดขวางต่อการละลายตัวและการขับถ่ายของสารเคมีที่เปลี่ยนมาจากเหล้าที่เรียกกันว่า อะเซตาลดีไฮด์(Acetaldehyde) และการคั่งของสารในร่างกายก็ให้เกิดอาการดังกล่าว

การรักษาผู้ป่วยติดเหล้านี้มักนิยมเริ่มหลังจากให้ผู้ป่วยงดดื่มเหล้ามาประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วให้ยาแอนทาบิวส์ ขนาด 0.5 กรัม-1.0 กรัมต่อวัน ทั้งนี้แล้วแต่สภาพของผู้ป่วยแต่ละราย และให้ไปนานจนกว่าผู้ป่วยจะหายอยากดื่มเหล้าเนื่องจากยานี้อาจเป็นพิษต่อผู้ติดสุราธรรมดาและเป็นพิษภัยร้ายแรงกับผู้ป่วยที่มีโรคทางกายอย่างอื่นแทรกซ้อนอยู่เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคเบาหวาน ฯลฯ การใช้ยาอดเหล้านี้ควรจะอยู่ภายในการแนะนำและดูแลจากแพทย์ ส่วนผลของการรักษาจะได้ผลในการอดเหล้าจริงจังหรือไม่นั้นอยู่ที่ความร่วมมือของผู้ป่วยในการที่จะกินยาอย่างสม่ำเสมอ และส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีปัญหาทางจิตใจอยู่ด้วย ซึ่งถ้าไม่แก้ปัญหาเหล่านั้นเสียก่อน แล้วผู้ติดเหล้าก็อาจกลับมาติดเหล้าได้ใหม่อีก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า