สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรควิตกกังวล(Anxiety disorders)

โรควิตกกังวล(Anxiety disorders)
โรคกังวลทั่วไป(Generalized anxiety disorder/GAD)

โรควิตกกังวล เป็นภาวะวิตกกังวลหรือมีความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดอาการทางกายและใจ กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โรคกลุ่มนี้ยังแบ่งเป็นชนิดย่อยได้ดังนี้โรควิตกกังวล

1. โรคกังวลทั่วไป ผู้ป่วยมีความรู้สึกกังวลมากเกินกว่าเหตุในหลายๆเรื่องพร้อมกัน ร่วมกับอาการผิดปกติทางกายอย่างเรื้อรังโดยไม่มีสาเหตุจากการเจ็บป่วย การใช้ยา หรือสารเสพติด และไม่พบว่าเกิดจากสาเหตุจำเพาะอันใด

2. โรคแพนิก ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรง โดยไม่มีเหตุกระตุ้นชัดเจน มีอาการเพียงช่วงสั้นๆ แต่กำเริบได้บ่อย

3. โรคกลัว ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกกลัวต่อสิ่งหรือสถานการณ์ต่างๆ มากเกินกว่าเหตุ ไม่กล้าเผชิญกับสิ่งหรือสถานการณ์นั้นๆ จนกระทบต่อการดำเนินชีวิต อาจกลัวต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างจำเพาะ เช่น กลัวสัตว์ต่างๆ กลัวที่สูง ที่แคบ ความมืด เชื้อโรค การโดยสารเครื่องบิน การเห็นเลือด การทำฟัน การเข้าสังคม หรือกลัวการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่หลบออกได้ยากหรือรู้สึกลำบากใจเมื่อเกิดอาการแพนิก เช่น ในฝูงชน ที่ชุมนุม ห้องประชุม เป็นต้น มักมีอาการอยู่อย่างน้อย 6 เดือน มักเกิดอาการนี้ครั้งแรกในวัยรุ่น ควรให้ยารักษาทางจิตประสาทร่วมกับการทำจิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด โดยให้ผู้ป่วยเผชิญกับสิ่งหรือสถานการณ์ที่กลัว

4. โรคย้ำคิดย้ำทำ ผู้ป่วยจะมีอาการคิดหรือทำอะไรซ้ำๆ โดยไม่มีเหตุผล จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เรื่องที่เกิดขึ้นมักเป็นเรื่องไร้สาระ น่ากลัว น่ารังเกียจ เช่น ความสกปรก ความรุนแรง การทำร้ายผู้อื่น อุบัติเหตุ เรื่องเพศ ลืมปิดประตู ลืมปิดไฟ เป็นต้น ส่วนอาการย้ำทำจะมีลักษณะทำอะไรซ้ำๆ เช่น ล้างมือ จัดสิ่งของให้เป็นระเบียบ นับสิ่งของ นับจังหวะการก้าวเดิน ตรวจเช็คกลอนประตูหน้าต่าง สวิตช์ไฟหรือเตาแก๊ส เป็นต้น มักมีอาการอยู่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ มักเกิดโรคนี้ขึ้นครั้งแรกในวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ให้การรักษาเช่นเดียวกับโรคกลัว

5. โรควิตกกังวลหลังเผชิญเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น สงคราม ภัยธรรมชาติ ถูกทำร้ายหรือข่มขืน อุบัติเหตุร้ายแรง เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการหวาดผวารุนแรง รู้สึกสิ้นหวัง คิดและฝันซ้ำๆ รวมทั้งลืมเหตุการณ์นั้นๆ ผู้ป่วยมักนอนไม่หลับ ตื่นเต้นตกใจง่าย อารมณ์แปรปรวน ขาดสมาธิ ความจำแย่ลง อาจมีประสาทหลอนร่วมด้วยในบางราย ถ้าอาการเกิดขึ้นหลังเผชิญเหตุการณ์ 4 สัปดาห์ และมีอาการอยู่ไม่เกิน 1 เดือน แล้วทุเลาไปเอง เรียกว่า “Acute stress disorder” ซึ่งเป็นภาวะที่เป็นเพียงชั่วคราว แต่ถ้ามีอาการเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน เรียกว่า “Post-traumatic stress disorder” ซึ่งอาจเกิดอาการหลังเหตุการณ์ 1 สัปดาห์หรือหลายปีต่อมา อาการมักเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง เมื่อถูกกระตุ้นให้คิดถึงเหตุการณ์นั้นผู้ป่วยมักมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเห็นหรือคิดถึงเหตุการณ์นั้น ให้การรักษาเช่นเดียวกับโรคกลัว

6. โรควิตกกังวลจากการพลัดพรากจากพ่อแม่หรือคนรัก มักพบในเด็กอายุ 7-8 ปี ที่ต้องแยกจากพ่อแม่หรือคนที่รักและผูกพันหรือคิดไปล่วงหน้าถึงเรื่องนี้ ทำให้เกิดภาวะวิตกกังวลอย่างรุนแรง ขัดขวางพัฒนาการของเด็กในการเรียนรู้ การเข้าสังคม หน้าที่การงาน ผู้ป่วยจะมีอาการกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อพ่อแม่ เช่น อุบัติเหตุ ถูกทำร้าย ถูกลักพาตัวไป ไม่ยอมแยกจากพ่อแม่เวลาเข้านอนหรือไปโรงเรียน อาจมีฝันร้ายเกี่ยวกับการพลัดพราก เมื่อต้องแยกจากพ่อแม่หรือคิดไปก่อนล่วงหน้าว่าจะต้องแยกกันเด็กอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง เด็กที่เป็นโรคนี้อาจมีโรควิตกกังวลชนิดอื่น เช่น โรคกลัวร่วมด้วย ให้การรักษาเช่นเดียวกับโรคกลัว

7. โรควิตกกังวลจากโรคทางกาย เช่น ศีรษะได้รับบาดเจ็บ โรคติดเชื้อของสมอง เนื้องอกสมอง โรคของหูชั้นใน โรคหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงเกินไป ภาวะโลหิตจาง เป็นต้น

8. โรควิตกกังวลจากแอลกอฮอล์ สารเสพติด และยา เช่น กาเฟอีน แอมเฟตามีน โคเคน เอฟีดรีน ทีโอฟิลลีน ยาลดน้ำหนักบางชนิด ยาแก้ซึมเศร้าบางชนิด และจากการถอนยากล่อมประสาท

9. โรควิตกกังวลจากความเครียดหรือปัญหาชีวิต เช่น ปัญหาครอบครัว การหย่าร้าง ปัญหาการเงิน ภาวะหนี้สิน ปัญหาการทำงาน หรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น ปัญหาสุขภาพหรือการเจ็บป่วย เป็นต้น อาจทำให้เกิดอาการวิตกกังวล ซึ่งจะทุเลาลงเมื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ การรักษา ควรค้นหาสาเหตุและแก้ไข อาจให้ยากล่อมประสาทเพื่อควบคุมอาการ

โรคกังวลทั่วไป จัดเป็นโรควิตกกังวลที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะวิตกกังวลมากเกินกว่าเหตุกับปัญหาหรือเหตุการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวันพร้อมกันหลายเรื่อง โดยไม่มีสาเหตุจากการเจ็บป่วยอื่นๆ หรือจากการใช้ยาหรือสารเสพติด หรือสาเหตุจำเพาะใดๆ มักมีอาการเรื้อรังนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันมีผลกระทบ โรคนี้สามารถพบได้ในคนทุกวัย มักเกิดในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นเป็นครั้งแรก โรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

สาเหตุ
สาเหตุของโรคนี้สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านชีวภาพร่วมกับปัจจัยด้านจิตใจและสังคม สาเหตุที่ชัดเจนยังไม่มี

ปัจจัยทางชีวภาพ เกี่ยวกับสารเคมีในสมอง ที่เรียกว่า สารส่งผ่านประสาทหลายชนิด เช่น ซีโรโทนิน กรดแกมมาอะมิโนบูไทริก มีความผิดปกติ และยังพบว่าเด็กที่มีพ่อแม่เป็นโรคนี้มักมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าเด็กทั่วไปซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์

ปัจจัยด้านจิตและสังคม เช่น การเผชิญกับความเครียดหรือเหตุการณ์ร้ายแรง การมองโลกในแง่ร้าย ประเมินความสามารถของตนเองต่ำเกินไป มีพ่อแม่เป็นโรควิตกกังวล หรือการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่คาดหวังในความสำเร็จของลูกสูงเกินไป เป็นต้น

อาการ
ในแทบทุกวันผู้ป่วยจะมีความรู้สึกวิตกกังวลมากตลอดเวลาที่เป็นอาการสำคัญ มักมีอาการติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน จะวิตกกังวลในปัญหาและเหตุการณ์ทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวันพร้อมกันหลายเรื่องอย่างไม่มีเหตุผล และยากเกินจะควบคุมได้ เช่น กลัวว่าจะทำงานได้ไม่ดี กลัวตนเองจะเจ็บป่วย กลัวคนในบ้านได้รับอุบัติเหตุ ห่วงการเรียนของลูก กลัวสามีถูกทำร้าย เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่ปัญหาร้ายแรงที่ต้องทำให้คิดมากโดยเฉพาะ

ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อตึงเครียดทำให้ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา เจ็บหน้าอก ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดเมื่อยตามตัว มีอาการมือสั่น หรือสั่นทั้งตัว นอนหลับยาก นอนกระสับกระส่าย อ่อนเพลียเหนื่อยล้าง่าย ตื่นเต้น อยู่ไม่สุข หงุดหงิด ขาดสมาธิ รู้สึกสมองว่างเปล่า คิดไม่ออก หรืออาจมีอาการใจสั่น ท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้ ท้องเดิน ปากแป้ง เวียนศีรษะ เหงื่อออกง่าย มือเย็น รู้สึกมีก้อนจุกคอ หายใจไม่อิ่มร่วมด้วย อาการมักเป็นๆ หายๆ หากมีความเครียดจะมีความรุนแรงขึ้น

สิ่งตรวจพบ
มักไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจนเมื่อตรวจร่างกาย อาจพบอาการชีพจรเต้นเร็ว มือสั่น กล้ามเนื้อตึงเครียด เหงื่อออก มือเย็นในบางราย

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้ความสามารถในการเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์กับผู้อื่นลดลงหากมีภาวะวิตกกังวลเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจมีโรคทางจิตประสาทอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายร่วมด้วย เช่น โรคแพนิก โรคกลัว โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการติดยา แอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดได้ หรืออาจพบโรคทางกายแทรกซ้อน เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง โรคลำไส้แปรปรวน เป็นต้น ความเครียดยังอาจมีผลต่อภูมิคุ้มกันและการเกิดโรคทางกายได้ด้วย

การรักษา
1. หากมีเกณฑ์เข้าข่ายโรคนี้ที่ไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่นและไม่มีโรคทางกาย อาจต้องลดอาการวิตกกังวลและอาการต่างๆ ด้วยการรักษาด้วยยากล่อมประสาท เช่น ไดอะซีแพม ขนาด 5-15 มก./วัน ให้ต่อเนื่องนาน 6-12 เดือน ถ้ามีอาการใจสั่น มือสั่น ควรให้โพรพราโนลอล ขนาด 60-80 มก./วัน แล้วค่อยๆ เพิ่มจนถึงขนาด 240 มก./วัน แบ่งให้วันละ 2-4 ครั้ง ผลข้างเคียงจากยานี้อาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้า ชีพจรเต้นช้า หรือคลื่นไส้ได้ หากมีภาวะซึมเศร้าหรือโรแพนิกก็ให้รักษาแบบโรคดังกล่าว

2. ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น
-สงสัยมีโรคทางกายที่ต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม
-อาการไม่ดีขึ้นแม้ให้ยาแล้ว 2-4 สัปดาห์
-มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย หรือมีโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรงร่วมด้วย

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดเพื่อปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมในการรักษา หรืออาจรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ฝึกการผ่อนคลาย พฤติกรรมบำบัด การทำจิตบำบัด ครอบครัวบำบัด เป็นต้น ผลการรักษาจะได้ผลดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่การรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมและการกินยาอย่างต่อเนื่อง 6-12 เดือนเป็นอย่างน้อย หรืออาจนานกว่านั้น โรคนี้อาจมีอาการกำเริบซ้ำได้อีกหลังจากหยุดยา

ข้อแนะนำ
1. ควรซักถามประวัติและตรวจดูอาการอย่างละเอียดเมื่อพบผู้ป่วยมีภาวะวิตกกังวลเพื่อค้นหาสาเหตุ ซึ่งบางครั้งอาจเกิดจากโรคทางกาย สารเสพติด แอลกอฮอล์ ยา ปัญหาชีวิต หรือความเครียด โรคจิตประสาทอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคแพนิก โรคกลัว โรคย้ำคิดย้ำทำร่วมด้วยซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปในการดูแลรักษา

2. มักมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรังในผู้ป่วยโรคกังวลทั่วไป ดังนั้นควรให้ยารักษาอย่างต่อเนื่องนาน 6-12 เดือนเป็นอย่างน้อย และควรให้คำแนะนำผู้ป่วยดังนี้
-ให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยว่า โรคนี้สามารถควบคุมอาการด้วยยาที่ใช้รักษาจนสามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติสุขได้ไม่มีอันตรายร้ายแรงใดๆ ควรให้กำลังใจผู้ป่วยว่าโรคนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองไม่ใช่เกิดจากความผิดของผู้ป่วยแต่อย่างใด
-ให้กินยาอย่างต่อเนื่อง พบแพทย์ตามนัดเป็นประจำ ไม่ปรับยาหรือหยุดยาเอง
-ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การทำสมาธิ หรือฝึกโยคะ
-หลีกเลี่ยงสารเสพติด แอลกอฮอล์ กาเฟอีน สารกระตุ้นที่อาจทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิมได้
-ควรหาทางพูดคุยระบายความรู้สึกกับญาติหรือเพื่อนสนิทเมื่อมีภาวะเครียด

3. ควรตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่เกิดจากสาเหตุโรคทางกายอื่นๆ ก่อนจะวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้มักมาพบแพทย์ด้วยอาการทางกาย เช่น ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอกหรือปวดหลังเรื้อรัง เวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม มีก้อนจุกที่คอ ปวดท้อง ท้องเดิน เป็นต้น และควรซักถามถึงอาการของโรคกังวลทั่วไปในกรณีที่พบว่าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวไม่ทุเลาลงแม้จะรักษาตามอาการมาระยะหนึ่งแล้ว

4. ผู้ป่วยอาจเข้าใจผิดหรือเพิ่มความวิตกกังวลยิ่งขึ้นถ้าบอกผู้ป่วยอย่างผิดๆ ว่าเป็นโรคหัวใจ โรคหัวใจอ่อน โรคประสาท โรคประสาทอ่อน โรคประสาทกระเพาะ โรคประสาทหัวใจ โรคความดันต่ำ เลือดน้อย เป็นต้น ควรแนะนำให้ผู้ป่วยหาทางดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องจริงจังและอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจธรรมชาติของโรคนี้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า