สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคระบบประสาท

 

ในปัจจุบันนี้  ความก้าวหน้าทางการแพทย์ได้แสดงชัดว่าสมองเป็นแหล่งหรือศูนย์กลางของจิตใจ  ดังนั้นโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา  ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการศึกษาทางวิชาจิตเวชศาสตร์จึงได้ขยายงานในด้านต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง  เพื่อบริการประชาชนทั้งในด้านจิตเวชศาสตร์ โรคประสาท และโรคระบบประสาท  ซึ่งได้แก่ประสาทศัลยศาสตร์และประสาทวิทยา

แผนกโรคระบบประสาทได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒ โดยได้เปิดรับทำการรักษาผู้ป่วย  และทำงานทางด้านค้นคว้าโรคต่าง ๆ ของสมองและไขสันหลังได้เป็นผลดี จนเป็นที่รู้จักในวงการแพทย์ทางระบบประสาท  ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ในระยะเวลา ๑๓ ปีที่ผ่านมา แผนกโรคระบบประสาทของโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ได้บริการและให้การรักษาแก่ประชาชน ผู้เจ็บป่วยทางด้านประสาทวิทยาและประสาทศัลยศาสตร์ เป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ  ในขณะนี้แผนกโรคระบบประสาทได้มีเครื่องมือสำหรับช่วยในการตรวจวิเคราะห์โรคทางระบบประสาทที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย งานแขนงนี้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น  โดยแผนการโคลัมโบ  ให้เครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องผ่าตัดสมองต่าง ๆ อีกทั้งเมื่อวันที่  ๒๘ ตุลาคม ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องผ่าตัดสมองส่วนลึก โดยใช้ความเย็นให้กับแผนกอีกด้วย

ก่อนที่จะบรรยายโรคต่าง ๆ ของสมองและไขสันหลัง ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่าโรคระบบประสาทนั้น จะขอบรรยายแยกโรค ๓ ประเภท ออกจากกันเสียก่อน คือ โรคจิต โรคประสาท และโรคระบบประสาท ชื่อโรคทั้ง ๓ ประเภทนี้มักจะนำมาเรียกหรือใช้กันผิด ๆ อยู่เสมอ  ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว โรคทั้ง ๓ ประเภทนี้มีความแตกต่างกันอยู่เป็นอันมาก  กล่าวคือ

      โรคจิต  คือ โรคที่มีความผิดปกติทางจิตเวช ที่แสดงอาการให้เห็นได้ชัดเจน โดยมีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพ มีความนึกคิดผิดปกติ หรือมีพฤติกรรมแปลกผิดปกติ เช่น เคยเป็นคนสะอาดและสุภาพก็กลับเป็นคนสกปรก หยาบคาย อาจมีประสาทหลอน หูแว่ว หรือทำอะไรแปลก ๆ เช่น ร้องรำทำเพลงกลางถนน หรือพูดมากเพ้อเจ้อไม่ได้เรื่องได้ราว หรือหัวเราะในเรื่องที่ควรร้องไห้ ฯลฯ โรคจิตนี้ผู้พบเห็นโดยมากเรียกกันง่าย ๆ ว่า “เป็นบ้า” ผู้ป่วยโรคจิตเหล่านี้ส่วนมากไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคจิต จึงมักไม่ยอมไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

      โรคประสาท  คือโรคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และจิตใจ  สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความวิตกกังวล ความบีบคั้นทางสังคม ทางการเงิน ความผิดหวังอย่างรุนแรง ความไม่เสมอภาคในความเป็นอยู่ ความขัดแย้งในครอบครัว ทำให้เกิดอาการได้ต่าง ๆ กันไป อาทิเช่น ใจสั่น จนบางคนเข้าใจว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ เหนื่อยง่าย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร เหนื่อยหน่ายท้อถอยต่อการงาน กลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว ย้ำคิดและย้ำทำ ซึมเศร้า ฯลฯ โรคประสาททุกชนิดไม่มีพยาธิสภาพ หรือการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายให้ตรวจพบได้ เช่น ไม่มีโรคหัวใจที่แท้จริง ไม่มีการอักเสบของประสาท  และไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสมองส่วนใดส่วนหนึ่งเลย  การตรวจร่างกายและการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการในผู้ป่วยโรคประสาท จะไม่แสดงความผิดปกติแต่อย่างใดเลย ผู้ป่วยที่เป็นโรคประสาทส่วนมากรู้ตัวและต้องการที่จะรักษา  จึงมักขวนขวายมาหาแพทย์ด้วยตัวเอง

ทั้งโรคจิตและโรคประสาทดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ต้องการการรักษาทางอารมณ์และจิตใจโดยจิตแพทย์

      โรคระบบประสาท คือ โรคที่มีการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาท  ซึ่งได้แก่ตัวสมองและไขสันหลังรวมทั้งแขนงเส้นประสาททั่วร่างกาย  ซึ่งมีพยาธิสภาพที่แสดงให้เห็นได้  โดยการตรวจร่างกายหรือโดยการทดสอบทางห้องปฏิบัติการต่าง ๆ เช่น การตรวจน้ำไขสันหลัง การเอ๊กซเรย์กระโหลกศีรษะ หรือการตรวจคลื่นสมอง เป็นต้น  สาเหตุของโรคระบบประสาทไม่ได้เกิดจากอารมณ์หรือจิตใจ แต่เกิดจากพยาธิสภาพของอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบประสาทเอง  โรคระบบประสาทนี้ต้องการการรักษาด้วยาหรือด้วยการผ่าตัด  โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางประสาทวิทยา หรือประสาทศัลยศาสตร์

สาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือพยาธิสภาพของสมองและไขสันหลัง ที่เรียกว่า โรคระบบประสาทนั้น มีมากมายหลายประการ คือ

๑.  เกิดจากการกระทบกระเทือนของศีรษะและไขสันหลัง

ปัจจุบันนี้มีความเจริญทางวัตถุของประเทศไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีเพิ่มมากขึ้น  ถนนและยวดยานพาหนะก็มีเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ สถิติของอุปัทวเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้นทุกปี ความกระทบกระเทือนทางศีรษะในอุปัทวเหตุบนท้องถนน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนต้องเสียชีวิต การกระทบกระเทือนของศีรษะทำให้เนื้อสมองที่อยู่ในกระโหลกศีรษะ ได้รับความกระทบกระเทือนมีการช้ำหรือมีการทำลายของเนื้อสมอง หรืออาจมีเลือดตกค้างเป็นก้อนอยู่ในกระโหลกศีรษะกดให้เนื้องสมองทำงานไม่ได้ตามปกติ ผู้ป่วยเหล่านี้  ควรได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ทางโรคระบบประสาทโดยทันที  เพื่อการดูแลรักษาที่ถูกต้อง หวังผลที่จะไม่ให้มีหรือให้มีอาการแทรกซ้อนหรืออาการตามหลัง  อันจะก่อให้เกิดความพิการของร่างกาย น้อยที่สุด

๒.  เนื้องอกหรือมะเร็งของสมองและไขสันหลัง

เนื้อสมองและไขสันหลังก็เหมือนกับอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงกายเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งขึ้นได้โดยไม่ทราบสาเหตุ  ในรายเช่นนี้ผู้ป่วยจะมีอาการสำคัญ คือ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ตามัว ค่อย ๆ ซึมลงจนถึงขั้นหมดสติได้ ผู้ป่วยเหล่านี้ควรจะได้รับการตรวจและวิเคราะห์โดยรวดเร็วทันท่วงที เนื้องอกหรือมะเร็งของสมองบางชนิด ถ้าได้รับการตรวจพบในระยะแรกก็อาจจะรักษาให้หายขาดได้ หรืออย่างน้อยอาจจะช่วยต่อชีวิตของผู้นั้นให้ยืนยาวกลับไปปฏิบัติงาน บำเพ็ญประโยชน์ต่อครอบครัวและประเทศชาติอีกได้เป็นระยะเวลานาน

๓.  โรคติดเชื้อของสมอง

ในสมัยที่ยังไม่มียาปฏิชีวนะ โรคติดเชื้อของสมองนับว่าเป็นโรคที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้  แต่ในสมัยปัจจุบันซึ่งการแพทย์ก้าวหน้าไปเป็นอย่างมากแล้วนี้  โรคติดเชื้อของสมองซึ่งทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองหรือเนื้อสมองอักเสบและฝีในสมองได้  หากได้รับการรักษาทันท่วงทีก็มีโอกาสที่จะหายขาดได้  โรคติดเชื้ออีกโรคหนึ่งซึ่งพบได้ค่อนข้างบ่อยในประเทศไทย คือ วัณโรคของสมอง  โรคนี้หากได้รับการวิเคราะห์ในระยะแรกของโรคก็อาจจะทำการรักษาให้หายขาดได้  โดยไม่ก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนหรือเกิดความพิการแก่สมอง

พยาธิบางชนิด เช่น ตัวอ่อนของพยาธิตัวแบน ตัวจิ๊ดก็สามารถจะไปอาศัยอยู่หรือเคลื่อนไหวผ่านไปในเนื้อสมอง และทำให้เกิดพยาธิสภาพของสมองได้ โรคนี้เกิดจากการบริโภคหมูดิบหรือปลาที่มีตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้อยู่  ผู้ที่มีตัวอ่อนของพยาธิตัวแบนในเนื้อสมอง  อาจมีอาการของลมบ้าหมูหรือมีอาการเสื่อมของสมองก่อนวัยได้ การป้องกันโรคทั้งสองนี้คือ จะต้องบริโภคหมูหรือปลาซึ่งได้รับการปรุงจนสุกแล้วทุกครั้ง

๔.  พยาธิสภาพของสมองที่ผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด

ภาวะนี้ประกอบด้วยโรคหลายชนิดด้วยกัน อาทิ เช่น สมองไม่เติบโตขณะที่อยู่ในครรภ์  ทำให้เด็กเกิดมามีสมองและศีรษะเล็ก ปัญญาอ่อน ในทางตรงกันข้าม  เด็กบางคนเกิดมาปกติแต่มีลักษณะของศีรษะโตขึ้นอย่างเร็ว บางรายการเติบโตของสมองบางส่วนผิดปกติแทนที่จะมีเนื้อสมองกลับกลายเป็นถุงน้ำอยู่แทนที่ หรือมีถุงน้ำอยู่บริเวณหน้าผากหรือท้ายทอย เป็นต้น ความผิดปกติของการเติบโตของเนื้อสมองนี้ไม่สามารถจะป้องกันได้ แต่ภาวะบางอย่างก็สามารถจะแก้ไขหรือรักษาได้

๕.  ความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง

หลอดเลือดสมองเป็นส่วนที่จะนำโลหิตไปหล่อเลี้ยงเนื้อสมอง เพื่อให้การทำงานเป็นไปโดยปกติ  ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองมีได้หลายแบบ เช่น เส้นเลือดโป่งพองในขนาดต่าง ๆ เส้นเลือดแตกแขนงออกมากมายผิดไปจากปกติ  ความผิดปกติเหล่านี้ อาจทำให้เนื้อสมองบางส่วนทำงานผิดจากหน้าที่เดิมไป  อาจทำให้มีเลือดออกในสมองหรือใต้เยื่อหุ้มสมองอันอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้  บางรายเป็นสาเหตุของโรคลมชัก  ด้วยความเจริญก้าวหน้าของประสาทศัลยศาสตร์ในปัจจุบัน  ความผิดปกติของเส้นเลือดสมองเหล่านี้ส่วนใหญ่สามารถทำการรักษาโดยการผ่าตัดได้

๖.  ภาวะการเสื่อมสลายของเนื้อสมอง

ซึ่งอาจเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปตามอายุขัยหรืออาจเกิดขึ้นเร็วก่อนกำหนด ภาวะนี้ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเสื่อมสมรรถภาพ เริ่มด้วยความคิดและการดำเนินงานในธุรกิจประจำวันลดถอยลง ความจำเสื่อมลง และมีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพ ภาวะนี้บางรายสามารถตรวจวิเคราะห์ให้ทราบสาเหตุและรักษาได้  อย่างน้อยประสาทแพทย์ก็อาจจะช่วยชลอหรือหยุดอาการเสื่อมดังกล่าวได้ในบางราย

๗.  โรคทางกายทั่วไปบางชนิดก็อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือพยาธิสภาพของสมองได้ ยกตัวอย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคขาดไวตามิน บี, โรคความดันโลหิตสูง, โรคตับ,โรคไต และโรคหัวใจ เป็นต้น  ภาวะหลอดเลือดในสมองแตกหรือหลอดเลือดสมองอุดตัน เป็นพยาธิสภาพของสมอง  ซึ่งพบได้บ่อยร่วมกับโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง  สภาพดังกล่าวนี้ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเป็นอัมพาต หรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิต  ในกรณีเช่นนี้การป้องกันมีคุณประโยชน์มากกว่าการรักษาและการป้องกันดังกล่าวนี้ได้แก่การรักษาโรคปฐมเหตุ คือ โรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงเสียแต่ในระยะเริ่มแรก

๘.  โรคระบบประสาทอีกชนิดหนึ่งซึ่งพบได้ไม่น้อย  และไม่ทราบสาเหตุแน่นอน คือโรคสันนิบาติชนิดต่าง ๆ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอาการสั่น หรือมีการเคลื่อนไหวของแขนขาผิดปกติ กลุ่มอาการเหล่านี้สามารถจะทำการรักษาได้ที่แผนกโรคระบบประสาทของโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา  โดยใช้เครื่องมือผ่าตัดพิเศษที่เรียกว่าเครื่องผ่าตัดสมองส่วนลึกด้วยความเย็น  ทางแผนกได้ทำการผ่าตัดรักษาโรคเหล่านี้ได้ผลดีไปแล้วเป็นจำนวนมาก

ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ เป็นการบรรยายเพียงย่อ ๆ เพื่อให้เข้าใจถึงโรคระบบประสาท และแยกออกจากโรคจิต และโรคประสาท อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางราย เป็นการยากที่จะตัดสินจากอาการของผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว เพื่อจะแยกโรคทั้ง ๓ นี้ จำเป็นที่จะต้องใช้การตรวจวิเคราะห์ เช่น การตรวจน้ำไขสันหลัง การตรวจคลื่นสมอง การตรวจโดยใช้สารกัมมันตภาพรังสีพิเศษ การตรวจทางรังสีวิทยาธรรมดาและรังสีวิทยาพิเศษ  เป็นเครื่องประกอบการวินิจฉัยโรค  ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้อง

        โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งทางโรคจิต ดรคประสาท และโรคระบบประสาท อยู่โดยพร้อมเพรียง โดยเฉพาะแผนกโรคระบบประสาทนั้นมีประสาทแพทย์ ประสาทศัลยแพทย์ และเครื่องมือเครื่องใช้พร้อมที่จะให้คำแนะนำ ตรวจและรักษา แก่ประชาชนผู้เจ็บป่วยและทนทุกข์ทรมานด้วยโรคเหล่านี้ทุกท่าน


โดย น.พ.สุรพงศ์  อำพันวงษ์

, ,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า