สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคพาร์กินสัน(Parkinson’s disease)

เป็นความผิดปกติของสมองที่ค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างช้าๆ พบได้ในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เมื่ออายุเพิ่มขึ้นก็จะพบโรคนี้ได้มากขึ้นและพบได้บ่อยเมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป โรคนี้มีโอกาสเป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ผู้ป่วยมักมีอาการสั่น แขนขาเกร็ง เคลื่อนไหวช้า หรือที่โบราณเรียกกันว่า โรคสั่นสันนิบาตพาร์กินสัน

สาเหตุ
เกิดจากความชราภาพของสมอง ซึ่งเซลล์สมองส่วนที่สร้างสารโดพามีน หรือที่เรียกว่า เซลล์ประสาทสีดำ ที่อยู่ในส่วนลึกของก้านสมองลดจำนวนลง เมื่อสมองพร่องสารโดพามีนที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดอาการสั่น เกร็ง และเคลื่อนไหวช้า

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์สมองส่วนนี้ และยังไม่แน่นอนว่าผู้สูงอายุรายใดจะกลายเป็นโรคนี้ หรืออาจพบสาเหตุที่แน่ชัดได้น้อย เช่น อาจพบในผู้ใช้ยาทางจิตประสารทฟีโนไทอาซีน หรือฮาโลเพอริดอล หรือยาลดความดันโลหิตกลุ่มรีเซอร์พีน หรือเมทิลโดพา ที่ขัดขวางการทำงานของสารโดพามีน หรือการใช้สารเสพติดเอมพีทีพีซึ่งเป็นอนุพันธ์ของฝิ่นชนิดหนึ่งที่อยู่ในเฮโรอีนสังเคราะห์มีฤทธิ์ทำลายเซลล์ประสาทสีดำ หรือเซลล์สมองเสื่อมจากการถูกสารพิษ เช่น แมงกานีส ไซยาไนด์ เมทานอน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ หรืออาจเกิดจากภาวะหลอดเลือดสมองตีบ สมองขาดออกซิเจนในผู้ป่วยจมน้ำ ถูกบีบคอ มีภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจจากเสมหะหรืออาหาร ศีรษะได้รับบาดเจ็บ หรือได้รับการกระทบกระเทือน สมองอักเสบ เนื้องอกสมอง เป็นต้น

อาการ
จะเกิดอาการสั่น เกร็ง เคลื่อนไหวช้าและจะค่อยๆ รุนแรงขึ้นทีละน้อยกินเวลาเป็นปี อาการสั่นมักเป็นอาการเริ่มต้นของโรคโดยจะสั่นมากเวลาอยู่นิ่งๆ และจะสั่นน้อยลงเมื่อมีการเคลื่อนไหว อาการสั่นอาจเกิดขึ้นที่มือ แขน ขา คาง ศีรษะหรือลำตัวข้างใดข้างหนึ่งก่อนในระยะแรก และจะเกิดอาการดังกล่าวทั้ง 2 ข้างในระยะต่อมา ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเมื่อยจากอาการเกร็งของกล้ามเนื้อแขนขาและลำตัวโดยที่ไม่ได้เคลื่อนไหวหรือทำงานหนัก จนทำให้ต้องพึ่งยาแก้ปวดเมื่อยชนิดต่างๆ การบีบนวด หรือไปปรึกษาแพทย์โรคกระดูกและข้อ ในระยะแรกผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตัวเองเคลื่อนไหวช้ากว่าเดิมมาก เช่น ลุกจากเก้าอี้ลำบาก พลิกตัวบนที่นอนลำบาก ก้าวเดิน หันตัว หรือหยุดเดินลำบาก เดินช้า งุ่มง่าม หากเป็นมากจนทรงตัวไม่อยู่อาจหกล้มกระดูกต้นแขนขาหัก ศีรษะแตก และอาจต้องใช้ไม้เท้าหรือมีคนคอยพยุงเพราะเดินเองไม่ได้ในเวลาต่อมา อาจมีอาการพูดเสียงเบาฟังไม่ชัด เสียงเครือๆ พูดแล้วเสียงค่อยๆ หายไปในลำคอ พูดเสียงราบเรียบในระดับเดียวกัน เขียนหนังสือได้ลำบาก เมื่อเขียนตัวหนังสือจะค่อยๆ เล็กลงจนอ่านไม่ได้ อาจมีน้ำลายสอที่มุมปากและอาการกลืนลำบากด้วยในบางราย

สิ่งตรวจพบ
มักพบอาการมือสั่น ขาสั่น หรือมีอาการหัวสั่น ปากสั่น คางสั่น ร่วมด้วย โดยสั่นประมาณ 4-8 ครั้งต่อวินาที อาจมีอาการสั่นของมือแบบลักษณะปั้นลูกกลอน กล้ามเนื้อแขนขาเกร็ง ในรายที่มีอาการสั่นเมื่อจับมือหรือแขนผู้ป่วยโยกเข้าออกหรือขึ้นลงตามข้อมือหรือข้อศอกจะสะดุดเป็นจังหวะๆ คล้ายฟันเฟือง ในช่วงแรกๆ ผู้ป่วยจะก้าวแบบซอยเท้าสั้นๆ และจะก้าวยาวขึ้นเรื่อยๆ จนหยุดทันทีทันใดไม่ได้ในเวลาต่อมา อาจทำให้หกล้มอันตรายได้ มักจะเดินแบบหลังค่อม แขนไม่แกว่ง มือแนบชิดลำตัว เดินแข็งคล้ายหุ่นยนต์ ผู้ป่วยจะไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะ เฉยเมยไม่มีอารมณ์ มุมปากขยับเล็กน้อยเวลาพูด การกลอกลูกตาทำได้เชื่องช้าและลำบาก ตามักไม่ค่อยกระพริบ ลูกตาจะเคลื่อนไหวแบบกระตุก มักตรวจพบว่ากล้ามเนื้อแข็งแรงปกติและไม่มีอาการชายังรับรู้ถึงความรู้สึกได้

ภาวะแทรกซ้อน
โดยเฉพาะเวลานอนหรือช่วงกลางคืนอาจมีอาการปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ขา หรือหลัง จนนอนไม่หลับ อาจพบมีอาการซึมเศร้า ความดันตกในท่ายืน ท้องผูก ภาวะความจำเสื่อม กินอาหารและดื่มน้ำได้น้อยลง น้ำหนักลดในบางราย อาจหกล้มกระดูกหักหรือศีรษะแตกได้ในบางราย หรืออาจเป็นแผลกดทับจากการนอนได้ในรายที่เป็นมาก อาจมีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้ง่าย ถ่ายปัสสาวะลำบาก ผู้ป่วยโรคนี้หากไม่ได้รับการรักษาจนเกิดอาการรุนแรงซึ่งกินเวลาประมาณ 3-10 ปี มักเสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อนจากโรคปอดอักเสบ หรือการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ

การรักษา
ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางประสาทวิทยาหากไม่แน่ใจว่าเกิดโรค แพทย์มักวินิจฉัยโรคนี้จากอาการแสดงที่สำคัญ เช่น การเคลื่อนไหวช้า เกร็ง และสั่น ส่วนการตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วยวิธีต่างๆ มักพบว่าเป็นปกติจึงไม่มีส่วนช่วยในการวินิจฉันโรคนี้ เช่น การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจคลื่นสมอง เป็นต้น

หลักการรักษาโรคพาร์กินสัน
1. การรักษาทางยา จะไม่ใช่ยาที่ทำให้เซลล์สมองที่ตายไปแล้วฟื้นตัวกลับมาหรืองอกขึ้นมาใหม่ได้แต่จะเป็นยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตเป็นปกติสุขหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น ยาที่ใช้ได้แก่

-เลโวโดพา(levodopa) ตัวยาจะเปลี่ยนเป็นสารโดพามีนเข้าสู่สมองโดยตรงเพื่อทดแทนสารโดพามีนที่พร่องไป ซึ่งนิยมใช้กันมากในปัจจุบัน และมักใช้ร่วมกับยากลุ่มอื่นเพื่อลดผลข้างเคียง เช่น ไซเนเมต เป็นยาผสมระหว่างเลโวโดพากับคาร์มิโดพา มาโดพาร์ เป็นยาผสมระหว่างเวโวโดพากับเบนเซอราไซด์ ขนาดของยาเลโวโดพาที่ใช้วันละ 300-800 มก. แบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง สรรพคุณและผลข้างเคียงของยาทั้ง 2 ชนิดมีเท่าๆ กัน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก ต้อหิน หัวใจเต้นผิดปกติ อาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ สับสน เกิดภาพหลอน หากใช้ในขนาดสูงเป็นเวลานานๆ อาจทำให้แขนขาเคลื่อนไหวผิดปกติได้

-เบนซ์โทรพีน ชื่อการค้าคือ โคเจนทิน ให้ขนาดวันละ 2-6 มก. หรือไตเฮกซีเฟนิดิล ชื่อการค้าคือ อาร์เทน ให้ขนาดวันละ 6-15 มก. แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง ยากลุ่มนี้ใช้เสริมกับยาเลโวโดพาเพื่อควบคุมอาการสั่น หรือใช้รักษาผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากยาเลโวโดพา หรือผู้ป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อย ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้ป่วยอายุเกิน 70 ปี ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง ตามัว ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก ความจำเสื่อม เป็นต้น

-กลุ่มยากระตุ้นโดพามีน เช่น โบรโมคริปทีน ชื่อการค้าคือ พาร์โลเดล เริ่มใช้วันละ 1.25 มก. แล้วค่อยๆ ปรับขึ้นจนถึงประมาณวันละ 10-40 มก. แบ่งให้วันละ 2-3 ครั้ง ยานี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือใช้ร่วมกับยาเลโวโดพา ผลข้างเคียงของยา ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน สับสน ประสาทหลอน

-กลุ่มยาต้านโมโนเอมีนออกซิเดส เช่น เซเลจิลีน ชื่อการค้าคือ จูเมกซ์ ใช้ขนาด 5 มก. วันละ 2 ครั้ง เหมาะสำหรับผู้ป่วยในระยะเริ่มแรก ผลข้างเคียงของยา ได้แก่ ปากแห้ง นอนไม่หลับ

2. การรักษาทางกายภาพบำบัด ช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวถูกต้อง สมส่วน และมีการทรงตัวที่ดี สามารถแก้ไขภาวะแทรกซ้อน เช่น ปวดขา ปวดเอว ปวดหลัง ปวดคอ ไหล่ติด หลังโก่ง เป็นต้น
วิธีการง่ายๆ ที่ผู้ป่วยสามารถทำได้เอง เช่น

-การเดิน ก่อนออกเดินให้ยืนตัวตรงก่อน อย่าก้าวเท้าให้สั้นเกินไปควรให้ยาวพอควร อย่าใช้ปลายเท้าเดินให้เอาส้นเท้าลงให้เต็มฝ่าเท้า ควรแกว่งแขนไปด้วยขณะเดินเพื่อให้การทรงตัวดีขึ้น ไม่หมุนตัวหรือกลับตัวเร็วๆ หรือเดินหันรีหันขวาง เดินไขว้ขา หรืออาจจำเป็นต้องใช้ไม้เท้าช่วยในบางราย

-การจัดท่าของร่างกาย แก้ไขท่าที่ไม่ถูกต้องด้วยการส่องกระจกดูตัวเอง เช่น คอเอียง ไหล่เอียง หลังโก่ง เป็นต้น บริหารกล้ามเนื้อหลังโดยแอ่นท้องในท่านอนหงายราบกับพื้นแข็งวันละ 30 นาที ฝึกยืนยืดตัวเต็มที่โดยการยืนเชิดหน้าเชยคาง หลังชิดผนังห้อง ขา 2 ข้างห่างกันเล็กน้อยปลายส้นเท้าห่างจากผนังประมาณ 4 นิ้วจากนั้นยกไหล่ หลังและหัว แตะกำแพง

-การทรงตัว ควรบริหารข้อทุกข้อสม่ำเสมอทุกวัน ไม่ใส่รองเท้าส้นสูง ไม่ใช้รองเท้าที่ทำด้วยยางหรือวัสดุที่เหนียวติดพื้นง่าย

-การนอน เตียงนอนไม่ควรสูงเกินไป ให้นั่งที่ขอบเตียงก่อนแล้วค่อยๆ เอนตัวลงนอนตะแคงข้างโดยยันด้วยข้อศอก ยกเท้าขึ้นขอบเตียงแล้วเอนตัวหงายบนเตียง เพื่อช่วยป้องกันอาการปวดเอว ปวดหลัง ก่อนลุกไปเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนควรเปิดไฟให้สว่างก่อนเดิน

3. การรักษาด้วยการผ่าตัด วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอายุน้อยและมีอาการไม่มากนัก แพทย์จะผ่าตัดสมองโดยนำเนื้อเยื่อจากต่อมหมวกไต หรือปมประสาทบริเวณคอ หรือเซลล์สมองของทารกที่เสียชีวิตในครรภ์ไปปลูกถ่ายในสมองเพื่อให้เนื้อเยื่อสร้างสารโดพามีนขึ้นมาใหม่ ซึ่งวิธีนี้สามารถทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องกินยาหรือลดขนาดยาลงได้ หรืออาจทำการผ่าตัดฝังสายกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้า ซึ่งสามารถแก้ไขอาการยุกยิก แข็งเกร็งและสั่นในผู้ป่วยได้

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้หากปล่อยไว้ไม่รักษาจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ภายใน 3-10 ปี ผู้ป่วยควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอเพราะในปัจจุบันยาที่ใช้รักษาสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตกลับสู่ปกติหรือชะลอความรุนแรงลงได้

2. โรคนี้ไม่สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ และไม่ใช่โรคติดต่อ จึงควรเอาใจใส่ผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ให้กำลังใจแสดงความเห็นอกเห็นใจและช่วยแก้ไขอาการผิดปกติจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ท้องผูก ก็ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ และกินผักผลไม้ให้มากๆ ช่วยผู้ป่วยในการออกกำลังกาย หรือให้ยาระบาย ช่วยบีบนวดประคบด้วยน้ำอุ่น หรือให้กินยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย ควรเตรียมอาหารที่ถูกปากผู้ป่วยเพื่อกระตุ้นให้เจริญอาหารให้กรณีกินอาหารได้น้อย เป็นต้น

3. ผู้ป่วยควรเคลื่อนไหวร่างกายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ควรนอนหรือนั่งนิ่งๆ ควรหมั่นฝึกเดิน บริหารข้อต่างๆ เพื่อให้ร่างกายสมส่วน แต่ต้องระวังอย่าให้เกิดการหกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุขึ้น

4. โรคพาร์กินสันแม้จะมีอาการแขนขาเกร็ง เคลื่อนไหวช้าคล้ายอัมพาต แต่สามารถแยกออกจากกันได้โดยที่ผู้ป่วยพาร์กินสันจะตรวจพบว่ากล้ามเนื้อมีเรี่ยวแรงเป็นปกติทุกส่วนซึ่งต่างกับโรคอัมพาตครึ่งซีก และมักจะเกิดจากสาเหตุอื่นมากกว่าโรคพาร์กินสันหากผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งอ่อนแรง หรือแขนขามีอาการชาไม่มีความรู้สึก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า