สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคพยาธิใบไม้ปอด (Paragonimiasis)

ประวัติ

โรคพยาธิใบไม้ปอดเป็นพยาธิใน genus Paragonimus มีประมาณ 30 ชนิด ( species ) ได้บรรยายลักษณะครั้งแรกจากตัวพยาธิได้จากประเทศบราซิลโดยพบตัวพยาธิจากตัวนาก (Lutra braziliense ) ในปี ค.ศ. 1850 ชนิดที่สำคัญที่สุดที่พบในคน คือ P.westermani ซึ่งแยกโดย Kerbert ในปี 1878 โดยได้ตัวพยาธิจากเสือสองตัว จากสวนสัตว์เมืองแฮมเบิร์กและแอมสเตอร์ดัม พยาธิใบไม้ปอดพบในคนครั้งแรกจากไต้หวัน ในปี พ.ศ.1879 โดย Ringer และ Manson (Manson 1881) การติดต่อมายังคนพบโดย Nakagawa ในปี 1915 ( Nakagawa 1916) นักปาราสิตที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับพยาธิใบไม้ปอดไว้มากเป็นชาวญี่ปุ่น ชื่อ Yokogawa ( Yokogawa, 1955 และ 1969 )

โรคพยาธิใบไม้ปอดในคนเรียกได้อีกสองชื่อ คือ pulmonary distomiasis หรือ endemic haemoptysis

วงจรชีวิต

พยาธิตัวแก่ของ Paragonimus จะฝังตัวอยู่ ในเนื้อปอดของคนหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น เสือ พังพอน และมีถุงหุ้มตัว ส่วนมากตัวแก่จะอยู่ด้วยกันเป็นคู่ โดยหันทางด้านท้อง (ventral) เข้าหากัน ไข่จะแตกออกจากถุงหุ้มออกมากับเสมหะ หรือโฮสต์กลืนไข่ลงไปในทางเดินอาหารจึงทำให้ตรวจพบไข่ในอุจจาระได้ด้วย เมื่อไข่มีโอกาสลงน้ำแล้วประมาณ 3 สัปดาห์ ภายใต้อุณหภูมิพอเหมาะไข่จะเจริญเป็นไมราซิเดียมแล้วไชเข้าหอย ซึ่งเป็นโฮสต์กึ่งกลางตัวแรก ไมราซิเดียมจะเจริญเป็นสปอร์ โรซีสต์ เรเดีย และเซอร์คาเรียตามลำดับ จากไมราซิเดียมจะมีการเพิ่มจำนวนได้เซอร์คาเรียออกมาจำนวนมาก แล้วเซอร์คาเรียจะออกจากหอยตั้งแต่ไมราซิเดียมไชเข้าหอยจนถึงให้เซอร์คาเรียออกมาใช้เวลาประมาณ 13 สัปดาห์ เซอร์คาเรียจะว่ายอยู่ในน้ำได้นาน 24-48 ชั่วโมง ก็จะตาย แต่ถ้าเซอร์คาเรียพบปูหรือกุ้งน้ำจืด

เซอร์คาเรียจะสร้างซีสต์กลายเป็นเมตาเซอร์คาเรียอยู่ที่เหงือก ขา กล้ามเนื้อและอวัยวะภายในของปูและกุ้งน้ำจืด นอกจากนั้นปูอาจจะได้รับเชื้อได้โดยกินหอยที่มีการติดเชื้ออยู่แล้วก็ได้ เมื่อคนหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกินปูหรือกุ้งที่มีเมตาเซอร์คาเรีย

ดิบๆ หรือดิบๆ สุกๆ เช่น ปูยำ กุ้งพล่า เมตาเซอร์คาเรียที่ถูกกินเข้าไปถึงลำไส้เล็ก ส่วนดูโอดินัมจะถูกย่อยออกจากซิสต์ไชผ่านผนังลำไส้ ส่วนดูโอดินัมเข้าไปในช่องท้อง พยาธิใบไม้ปอด (Paragonimus ) จะยังไม่เป็นตัวแก่ แต่พยาธิจะเดินทางผ่านกระบังลมเข้าไปในช่องปอด และเข้าไปในเนื้อปอดกลายเป็นตัวแก่ในเวลา 5-6 สัปดาห์ ระหว่างที่หนอนพยาธินี้เดินทางอาจหลงเข้าไปในตับหรืออวัยวะอื่นๆ เช่น ไปติดอยู่ใต้ผิวหนัง ในสมอง และลูกตา พยาธิที่อยู่ที่ชั้นผิวหนังหรือใต้ผิวหนังอาจพบได้ทั่วตัว รวมทั้งที่ผนังหน้าท้อง ที่คอและตะโพก (Yamaguchi, 1981)

ระบาดวิทยาและนิเวศน์วิทยา

สถานภาพในคนและสัตว์ พยาธิใบไม้ปอดพบได้ในประเทศแถบภูมิภาคเขตร้อนในทวีปเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี อินโดนีเซีย และไทย ในทวีปอาฟริกา และในทวีปอเมริกาใต้ ในคาเมอรูนพบ P. africanus ซึ่งมีลักษณะคล้าย P.westermani (Vogel and Crewe, 1963) ในประเทศจีนพบ P. skryabini (ตัวเดียวกับ P. szechuanertsis) ซึ่งเป็นตัวแก่อยู่ในปอด ไม่ค่อยพบรายงานอยู่ในชั้นใต้ผิวหนัง ( Wang et al., 1964 ) ในทวีปอเมริกาใต้ ประเทศอีควาดอ เปรู และฮอนดูราสยังไม่สามารถแยกชนิดได้ ในปานามาพบ Paragomimus ในปอดของสัตว์ที่คาดว่าเป็น P. mexicanus เหมือนกับพยาธิที่พบในเม็กซิโก (Miyazaki and. Ishii 1968)

สำหรับประเทศไทยพบพยาธิใบไม้ปอดชนิดต่างๆ ดังแสดงในตารางที่ 30.1 และได้มีรายงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2471 โดย เฉลิม พรมมาศ ซึ่งตรวจพบตัวพยาธิใบไม้ปอด P. westermani จากปอดของผู้ที่เสียชีวิตที่มาจากจังหวัดเพชรบูรณ์

อำเภอหล่มสัก ต่อมาปี พ.ศ. 2499 ตระหนักจิต หะริณสุต และคณะ ได้ตรวจพบไข่ Paragonimus spp. ในเสมหะของผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งมีอาการไอเรื้อรังมีเสมหะสีสนิมเหล็กเนื่องจากมีเลือดเก่าๆ ปนออกมาด้วย ผู้ป่วยมาจากอำเภอวิหารแดง จังหวัด สระบุรี ในปี 2500 บรรลุ ศิริพานิช และประไพศรี สุวรรณิน ได้รายงานผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ปอดจากอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี และในปีเดียวกันนี้ สุวัชร วัชรเสถียร และคณะ (2500) ได้พบแหล่งระบาดของโรคพยาธิใบไม้ปอด ที่อำเภอวิหารแดง หรืออำเภอหนองหมูเดิม จังหวัดสระบุรี โดยตรวจอุจจาระพบไข่พยาธิ Paragonimus spp. 38 ราย Harinasuta, C. และ Vajrastbira (2509)ได้ทำการทดสอบทางผิวหนังหาอัตราการติดโรคพยาธิใบไม้ปอดในหมู่บ้านของตำบลหนองหมู จังหวัดสระบุรี และบริเวณใกล้เคียงโดยใช้แอนติเจนที่ได้จากห้องปฏิบัติการของ Yokogawa จากประเทศญี่ปุ่นพบว่า คนอายุ 5-55 ปี ให้ผลบวก 15.5% (85คนจาก 537 คน) จากตำบลวิหารแดงพบ 13.8% จากบ้านใหม่พบ 31.3% เฉลี่ย 21.8% และจากตำบลอื่นพบ 0 – 10% ในผู้ชายให้ผลบวกมากกว่าผู้หญิง 4 :3 อายุที่ให้ผลบวกทางผิวหนังสูงสุด (19%) ในกลุ่มอายุ 30-89 ปี จากคนไข้ที่ให้ผลบวก 69 คน การตรวจอุจจาระพบไข่ 17.4% (12 ราย) การตรวจเสมหะพบไข่ 15.9% ( 11 ราย) แต่การตรวจด้วยการเอ็กซเรย์พบ 84.3% (43 ราย)

ต่อมาปี พ.ศ. 2506 พรชัย ศิริสัมพันธ์ ได้พบผู้ป่วยมาจากจังหวัดนครนายก มารักษาที่โรงพยาบาลศิริราชหนึ่งราย โดยรายงานว่าเป็น P. westermam หลังจากนั้น อีกหนึ่งปี สวัสดิ์ แดงสว่าง และคณะ ได้ตรวจพบ P. westermani จากปอดเสือดาว (leopard) 2 ตัวที่ตายที่สวนสัตว์ดุสิต เสือนี้จับมาจากจังหจัดชุมพร ในปี 2508 Miyazaki และ Wykoff ได้พบ P. siamensis ในแมวที่จับได้จากจังหวัดอุดรธานี และได้พบเมตาเซอร์คาเรียของ P. siamensis นี้ในปูนาชนิด Parathe!phusa germaini ในปี เดียวกันนี้ สุวัชร วัชรเสถียร และคณะ ได้สำรวจพบแหล่งระบาดใหม่ของพยาธิใบไม้ปอดชนิดเดียวกันนี้จากแมวสี่ตัวจับจากจังหวัดสกลนคร และได้สำรวจหนูจากนครนายก อยุธยา และราชบุรี พบ P. siamensis จาก Ratms raltus, R. berdmorei, Bandicota indica และ B. bengalensis ( Vajrasthira et al., 1966 a ) และในบ 2508-2509 ได้พบปูหิน Potamon (Potamon) smithianus เป็นตัวกลางนำ P. heterotremus จากนํ้าตกสาริกา อำเภอเมือง จงหวัดนครนายก ปูนี้อยู่ใต้ดินในลำธารบริเวณภูเขา โดยเมตาเซอร์คาเรียจะติดอยู่ที่เหงือก ตับ และเนื้อของปูหินนี้ ซึ่งต่อมาได้พบว่ามี P. heterotremus หนึ่งราย ในบริเวณที่สำรวจพบปูหินเป็นตัวกลางนำโรค 2% (ปูหิน 173 ตัวจากการตรวจปู 8,543 ตัว) และที่ตำบลบ้านปากช้าง จะพบปูมีอัตราการติดโรค 5.6% (150 ตัวจากการตรวจ 2,676 ตัว) สูงกว่าแหล่งที่มีผู้ป่วย (Vajrasthira et al, 1966 b) และเมตาเซอร์คาเรียจากบริเวณน้ำตกสาริกา พบพยาธิตัวแก่ของ P. heterotremus ได้ในสุนัข แมวและลิง ( Macaca irus) แต่ไม่พบตัวแก่ในหนูพุก (Bandicota indica ) และหนูขาวแรท

ในปี พ.ศ. 2510 (1966) Miyazaki และ Harinasuta ได้รายงานพบ P. heterotremus จากเด็กชายอายุ 13 ปี จากจังหวัดนครนายก ปีต่อมา Miyazaki และ Vajrasthira (1967)ได้พบ P. bangkokensis เป็นพยาธิใบไม้ปอดชนิดที่สี่ในประเทศไทย โดยได้เมตาเซอร์คาเรียจากตับ และกล้ามเนื้อของปูหิน (ปูน้ำตก) Potamon (Potamon) smithianus จากบริเวณลำธารใกล้น้ำตกสาริกา นำมาป้อนให้แมวและหนูพุก ( Bandicoata indica ) แล้วได้ตัวแก่ นอกจากนั้นตรวจพบตัวแก่จากพังพอน ( Herpestes javamicus) และในบริเวณเดียวกันนี้ได้ปูนํ้าตก P. smithianus ซึ่งมีเมตาเซอร์คาเรีย เมื่อนำไปให้หนูแรทและหนูพุกกินได้พยาธิใบไม้ปอดตัวแก่ชนิดใหม่เป็นชนิดที่ห้าของประเทศไทยชื่อ P. macrorchis ในปี พ.ศ 2511 Ichiro Miyazaki และ Vajrasthira ได้พบพยาธิใบไม้ชนิดใหม่เป็นชนิดที่หกได้ตั้งชื่อว่า P. harinasutai โดยได้เมตาเซอร์คาเรียจากตับและเหงือกของปูน้ำตก P. smithianus จากบริเวณลำธารใกล้นํ้าตกสาริกา จังหวัดนครนายก เมื่อนำเมตาเซอร์คาเรียมาป้อนให้แก่แมวและสุนัขจะได้พยาธิตัวแก่ใน 38 วัน นอกจากนี้ จิรศักดิ์ คำบุญเรือง และคณะได้รายงานพยาธิใบไม้ปอด Paragonimus ในปีพ.ศ. 2520 จากผู้ป่วยที่เป็นพระจากอำเภอแม่จัน จังหวดเชียงราย ผู้รายงานได้ติดตามไปสำรวจในหมู่บ้านที่พระภิกษุรูปนี้อาศัยอยู่ได้พบไข่ของพยาธิใบไม้ปอดจากการตรวจเสมหะ 2% (12 รายจากการตรวจ 600 คน) ในปีเดียวกันนี้ นันทา มาระเนตร ได้รายงานผู้ป่วยหนึ่งรายรับไว้ในโรงพยาบาลศิริราช ผู้ป่วยมีภูมิลำเนาจากจังหวัดพิษณุโลก

อาการ

คนไข้ที่เป็นพยาธิใบไม้ปอดในระยะเริ่มแรก จะมีอาการไอเล็กน้อย ไม่มีเสมหะ เมื่อมีอาการมากขึ้นจะมีอาการไอมากขึ้น เสมหะจะเหนียว อาจมีเลือดเก่าๆ ปนทำให้เสมหะมีสีคล้ายสนิมเหล็กมีอาการไอเรื้อรัง และจะไอมากตอนเช้า บางครั้ง จะไอออกมามีเลือดสด และบางรายมีตัวพยาธิออกมากับเสมหะ อาการจะมากขึ้นในรายที่ทำงานหนัก คนไข้จะรู้สึกเจ็บหน้าอก อาการคล้ายคนเป็นวัณโรคปอด แต่จะไม่มีไข้และไม่ผอมลง บางรายตัวพยาธิมาอยู่บริเวณใต้ผิวหนัง ทำให้มีอาการบวม เคลื่อนที่ ใต้ผิวหนัง พยาธิอาจหลงเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของร่างกายหรือเข้าไปอยู่ในสมอง ทำให้เกิดอาการชักแบบลมบ้าหมู และสายตาจะเห็นผิดปกติไป อาการทั่วๆ ไปเมื่อพยาธิเข้าไปในสมองจะคล้ายกับคนเป็นเนื้องอกในสมอง (Bosikawa et al., 1957 และ Shih et al., 1 958 ) ในเกาหลีมีคนไข้ที่ป่วยเนื่องจากพยาธิใบไม้ปอดขึ้นสมองประมาณบละ 5,000 ราย (oh, 1967 และ Oh, 1968 ) ซึ่งอาการทางคลินิคอาจคล้ายกับโรคที่เกิดจาก Schistosoma japonicum, Gnathosioma Spinigerum และ Angiostrongylus cantonensis แต่ถ้าพยาธิตัวแก่ไปอยู่ในชั้นผิวหนังหรือใต้ผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคคล้ายกับโรคที่เกิดจากพยาธิตัวจี๊ด และสปาร์กาโนซิส

การวินิจฉัย

1. ตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ปอดในเสมหะ ในรายที่เป็นมานานจะมีเลือดเก่าๆ ปนทำให้เสมหะมีสีคล้ายสนิมเหล็ก หรืออาจจะตรวจอุจจาระพบไข่พยาธิใบไม้ปอด เนื่องจากคนไข้กลืนเสมหะ แต่การตรวจอุจจาระนั้นมีโอกาสพบไข่พยาธิได้น้อยกว่าการตรวจเสมหะ

2. การตรวจโดยเอ็กซเรย์ เห็นเป็นเงาทึบ เห็นขอบไม่ชัด ในระยะที่พยาธิเข้าไปในปอดใหม่ๆ แต่ถ้าได้รับพยาธิมานานแล้วจะเห็นวงขอบตำแหน่งที่ตัวพยาธิอยู่ได้ชัดเจน อาจจะเห็นตัวพยาธิสองตัวประกบกันอยู่โดยเอาด้านล่าง (ventral) หัน เข้าหากัน ขนาด 9-15 มิลลิเมตร และจะเห็นเป็นรูปกลมถ้ามีพยาธิอยู่เดี่ยวๆ แต่ในรายที่มีหินปูนมาจับเมื่อได้รับการรักษาหรือพยาธิตายเองหลังจากอยู่ในปอดมา 5-6 ปี จะให้ภาพบนฟิล์มเอ็กซเรย์ ซึ่งเห็นเป็นเงาขาวกว่า

3. ในการศึกษาทางระบาดวิทยา อาจทำการทดสอบทางผิวหนัง ซึ่งจะใช้ช่วยในการแยกคนไข้มาชั้นหนึ่งก่อนแล้วจึงนำอุจจาระหรือเสมหะ หรือเอ็กซเรย์เพื่อหาคนป่วยที่แน่นอนอีกครั้งหนึ่ง (Harinasuta, C. และ Vajrasthira, 1961 ) หรืออาจใช้การทดสอบทางนํ้าเหลืองวิทยา เช่น complement fixation test โดยนำเอาตัวแก่พยาธิใบไม้ปอดมาทำเป็นแอนติเจน (Yokogawa et al., 1962 a และ 1962 b) แล้วทำการตรวจอุจจาระและเสมหะคนที่ให้ผลบวกจากน้ำเหลืองอีกที ซึ่งวิธีทดสอบทางผิวหนังและ complement fixation test นี้ใช้วินิจฉัยคนไข้ที่มีพยาธิใบไม้ปอดที่ผิวหนัง สมอง และอวัยวะอื่นๆ ด้วย

4. สำหรับการวินิจฉัยแต่ละประเทศซึ่งมีโรคนี้ระบาดเป็นจุดๆ ดังนั้นแหล่งที่มาของคนไข้ และประวัติการกินอาหารดิบๆ สุกๆ พวก กุ้ง ปูนา ปูนํ้าตก ปูลำห้วย จะช่วยในการวินิจฉัยง่ายและเร็วขึ้น เมื่อนำมารวมกับอาการของคนไข้ที่มีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะเหนียวสีสนิมเหล็ก แต่ไม่พบไข่พยาธิ แต่สุขภาพของคนไข้ ไม่ทรุดโทรม ซึ่งจะต่างกับคนไข้วัณโรคที่มีอาการไอและน้ำหนักลด ก็ใช้ข้อมูลดังกล่าว สรุปผลการวินิจฉัยได้ว่าคนไข้อาจมีพยาธิใบไม้ในปอด

การรักษา

ยาที่ได้ผลดีในการรักษาโรคพยาธิ ใบไม้ปอด คือ

1. Bithionol หรือ bitin (2 – 3 – thiobis 46-dichlorophenol) ขนาดที่ใช้ได้ผลดี 30-40 มิลลิกรมต่อนํ้าหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมให้วันเว้นวันเป็นจำนวน 10 – 15 ครั้ง ( Yokogawa et al., 1963 ) และ Vajrasthira และคณะ (1464) ได้ให้การรักษาคนไข้ในคนด้วยขนาดยา 40 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมและอีก 1 คนให้ 20 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมให้ยาวันเวันวันเป็นเวลา 10 วัน ในกลุ่มแรกคนไข้จะมีอาการดีขึ้นหลังจากให้ยา 3-4 ครั้ง ไข่ในเสมหะและอุจจาระจะลดลงอย่างรวดเร็วและในที่สุดจะหายเป็นปกติส่วนขนาดยา 20 มิลลิกรัม จะไม่ค่อยได้ผล

2. Birins bis ( 2 hydroxy 3,5-dichlorophenol ) ขนาดยานี้ใช้ 10-20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ให้วันเว้นวันเป็นจำนวน 10-15 ครั้ง

3. Praziquantel เป็นยาที่ใช้รักษาโรคพยาธิใบไม้และพยาธิตัวตืดได้ผลดี รวมทั้งการขับพยาธิใบไม้ปอด แต่ขนาดยายังไม่ทราบแน่นอน อย่างไรก็ตาม Benjapong et al. (1984) ได้ศึกษาโดยใช้ พราซิแควนเตล ขนาด 25 มก. ต่อ นน. ตัว 1 กก. 3 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 2 วัน พบว่าให้ cure rate 90 เปอร์เซ็นต์ สำหรับคนไข้ที่มารักษาที่โรงพยาบาลพระพุทธบาท สระบุรี

ยาทั้งหมดนี้อาจจะทำให้มีอาการแทรกซ้อนเพียงเล็กน้อย เช่น อาจมีอาการท้องเดิน ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แต่ไม่ร้ายแรงถึงขั้นที่ต้องหยุดยา

การป้องกันและควบคุม

1. คนไม่ควรรับประทานอาหารที่ปรุงด้วยปูนา ปูหิน ( บู่น้ำตก) และปูลำห้วยดิบๆ หรือ ดิบๆ สุกๆ ซึ่งรวมทั้งกุ้งน้ำจืดด้วย โดยเฉพาะในแหล่งที่มีโรคนี้ระบาดควรงดโดยสิ้นเชิง

2. การระบาดของโรคเป็นหย่อมๆ ดังนั้นถ้าจำกัดสาเหตุที่เป็น คือ ให้ยาถ่ายพยาธิแก่คนที่เป็นและสัตว์เลี้ยงพวก แมว และสุนัขทั้งหมดจะช่วยลดการแพร่กระจายของโรคได้มาก แต่สัตว์ป่าที่เป็นแหล่งกักตุนโรคยังเป็นแหล่งแพร่กระจายโรค สู่แหล่งนํ้าซึ่งมีหอยและปูชุกชุม

3. ให้สุขศึกษาแก่ประชาชนให้ทราบถึงวิธีการติดต่อของโรค การป้องกัน และควบคุม วิธีการทำลายเสมหะให้ถูกหลักสุขาภิบาล อธิบายให้คนไข้ไม่บ้วนเสมหะ ลงบนที่ๆ จะไปยังแหล่งน้ำได้ รวมทั้งกำจัดอุจจาระให้ถ่ายลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ

4. กำจัดหอยที่อาจเป็นตัวกลางนำโรคตัวที่หนึ่งได้

5. กำจัด ปูนา ปูหิน ปูลำห้วย และไม่นำมาทำอาหารดิบๆ หรือดิบๆ สุกๆ

6. กำจัดสัตว์ที่เป็นแหล่งกักตุนโรค เช่น หนู หนูพุก พังพอน เป็นต้น

ปัญหาและแนวโน้ม

1. ปัญหาสำคัญที่เห็นได้ชัดสำหรับโรคพยาธิใบไม้ปอด ได้แก่การสำรวจหาแหล่งที่โรคนี้ระบาดในบ้านเรายังทำไม่เพียงพอ

2. วงจรชีวิตที่แน่นอนยังไม่พบ ที่พบแล้ว ได้แก่ ตัวกลางนำโรคตัวที่สอง และสัตว์ที่กักตุนโรคแต่หอยซึ่งเป็นตัวกลางนำโรคตัวที่หนึ่งยังไม่พบ

3. โรคนี้ส่วนมากพบสัตว์ป่า เป็นสัตว์กักตุนโรค การจะทำลายยากที่จะให้หมดไปได้ ไม่เหมือนสัตว์เลี้ยงและพยาธินี้ไม่ทำให้สัตว์ตาย ดังนั้น โอกาสที่โรคจะแพร่กระจายจะยังมีได้เป็นเวลานาน

4. ไข่ของพยาธิใบไม้ปอดถูกทำลายได้จากการใช้ความร้อน ดังนั้นในการตรวจผู้ป่วยซึ่งมีอาการคล้ายวัณโรค ถ้าแพทย์ไม่ได้มีความตระหนักว่าจะเป็นโรค พยาธิใบไม้ปอด เมื่อทำการตรวจโดยการย้อมเสมหะด้วยวิธีหาวัณโรค (ziehl-Nielson staining technique) ไข่จะถูกทำลายไปด้วยทำให้การวินิจฉัยไม่พบ และการตรวจอุจจาระจะพบไข่เพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โอกาสผิดพลาดจึงมีมากทั้งการตรวจเสมหะ และอุจจาระในกรณีนี้

5. การวินิจฉัยควรจะได้ดัดแปลงวิธีใหม่ๆ ในการตรวจไข่ของพยาธิใบไม้ปอด และควรมีวิธีตรวจโดยใช้ซีรัมวิทยาที่ดีมาช่วยเพื่อให้แยกให้ได้จากพยาธิใบไม้อื่นๆ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า