สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคพยาธิเข็มหมุด (Enterobiasis)

โรคพยาธิเข็มหมุดพบได้บ่อยมากในเด็กวัยเรียน เด็กในสถานเลี้ยงเด็ก และในครอบครัวที่อยู่กันแออัด พยาธิตัวแก่อาศัยอยู่ที่ลำไส้ใหญ่ส่วน cecum ตัวเมียเดินทางออกมาทางรูทวารหนักตอนกลางคืน และวางไข่ที่ผิวหนังรอบทวารหนัก ไข่กลายเป็นระยะติดต่อ ภายใน 2-3 ชั่วโมงต่อมาคนเป็นโรคนี้ได้โดยกินไข่พยาธิระยะติดต่อเข้าไปจากนิ้วมือ เปื้อนไข่พยาธิ หรือกินไข่พยาธิที่ปนเปื้อนอาหารเข้าไป ในเด็กที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว เด็กเกาก้นแล้วกินไข่พยาธิที่ติดนิ้วมือเข้าไป ทำให้เป็นโรคนี้อยู่นานและมีพยาธิอยู่เป็นจำนวนมากได้

อาการโรค
อาการที่พบบ่อยที่สุดในโรคพยาธิเข็มหมุดคือ คันก้น เกาจนมีผื่นที่ก้น นอกจากนี้อาจพบว่ามีอาการคันช่องคลอด มีตกขาว นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย เบื่ออาหาร ปวดท้อง และปัสสาวะรดที่นอน

การวินิจฉัย
เนื่องจากพยาธินี้ไม่ได้ออกไข่ในลำไส้ การตรวจอุจจาระจึงได้ผลน้อย การเช็ดหรือแตะผิวหนังบริเวณรอบรูทวารหนักมาตรวจหาไข่พยาธิได้ผลดีกว่า วิธีการนี้ทำได้ โดยใช้ scotch tape แยกก้นให้เห็นรูทวารหนัก แล้วเอาด้านเหนียวของแผ่นเทปกดลงไปกับรูทวารหนักและผิวหนังรอบๆ หลายๆ ครั้ง แล้วนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ วิธีนี้สอนให้พ่อแม่ทำให้ลูกเอง หรือให้ผู้ป่วยทำเอง โดยทำตั้งแต่ผู้ป่วยตื่นนอนก่อนไปห้องน้ำ

การรักษา
ยาที่ใช้รักษาโรคพยาธิเข็มหมุดได้ผลดีมีอยู่หลายชนิด ได้แก่

1. Mebendazole เป็นยาที่ควรเลือกใช้เป็นอันดันแรก เนื่องจากใช้ยา เพียง 100 มก.ครั้งเดียว โดยไม่ต้องคิดตามน้ำหนักตัว

2. Pyrantel pamoate ใช้ยาขนาด 10 มก./กก.ครั้งเดียว

3. Albendazole ใช้ยาขนาด 100 มก.ให้ครั้งเดียวทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ 4. Piperazine เป็นยาที่ใช้ได้ผลดีเช่นกัน แต่การให้ยาไม่สะดวก เนื่อง
จากต้องให้ยาติดต่อกันนาน 7 วัน โดยให้ยาวันละ 75 มก./กก.

เมื่อมีคนหนึ่งในครอบครัวเป็นโรคพยาธิเข็มหมุด คนอื่นๆ จะติดต่อโรคได้ง่าย จึงมีข้อแนะนำว่าเมื่อมีคนหนึ่งเป็นโรคนี้ ควรให้ยารักษาแก่ทุกคนในครอบครัวไปพร้อมๆ กัน หรืออาจรักษาเฉพาะคนที่เป็นโรคไปก่อน ถ้าคนนั้นเกิดเป็นโรคซ้ำอีกในระยะเวลาสั้นๆ ก็ควรให้การรักษาทั้งครอบครัว โดยให้ยาทุก 2 สัปดาห์ ทั้งหมด 3 ครั้ง

นอกเหนือจากการรักษาโรคแล้ว ก็ควรกำจัดไข่พยาธิในสิ่งแวดล้อมไปด้วย โดยการเปลี่ยนผ้าปูที่นอนบ่อยๆ เปลี่ยนชุดชั้นในทุกวัน อาบน้ำทุกวัน ตัดเล็บและขัดเล็บ ให้สะอาด เป็นต้น

ที่มา:พรรณทิพย์  ฉายากุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า