สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคประสาทแบบ depersonalization

 (Depersonalization Syndrome)

โรคประสาทแบบ depersonalization เป็นโรคประสาทที่ผู้ป่วยมีความรู้สึกว่าส่วนของร่างกาย หรือเอกลักษณ์ของตนเปลี่ยนแปลงไป

ระบาดวิทยา

ไม่ทราบแน่นอน

สาเหตุและกลไกของการเกิดอาการ

หลักฐานทางจิตวิทยาพบว่า บุคคลที่เป็นโรคนี้มักมีบุคลิกภาพแบบฮีสทีเรีย และกลไกของการเกิดอาการเหมือนโรคประสาทแบบฮีสทีเรีย

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดโรคนี้ คือ ความอ่อนเพลีย การเพิ่งฟื้นจากสภาวะเป็นพิษจากสารต่างๆ การถูกสะกดจิต การได้รับยาบางอย่าง การเจ็บปวด ความกังวล ความเศร้า และความกดดันอย่างรุนแรง เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ การต่อสู้ในสงคราม ฯลฯ ลักษณะทางคลีนิค

ความผิดปกตินี้มักเริ่มในวัยรุ่น พบน้อยมากที่อาการจะเริ่มหลังอายุ ๔๐ ปี

อาการของโรคประสาทแบบ depersonalization เกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ความรู้สึก หรือประสบการณ์ของตัวเอง ทำให้เกิดความรู้สึกว่าความเป็นจริงเกี่ยวกับตนสูญหายหรือเปลี่ยนแปลงไปชั่วคราว โดยจะรู้สึกว่าส่วนของร่างกายมีขนาดหรือรูปร่างเปลี่ยนแปลงไป รู้สึกเหมือนว่าตนอยู่ห่างไกลออกไป ตัวเองเป็นเครื่องจักร หรือกำลังอยู่ในความฝัน อาจรู้สึกชาแบบต่างๆ และรู้สึกเหมือนจะควบคุมการกระทำของตนไม่ได้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับคำพูดพบได้บ่อย ความรู้สึกเหล่านี้เป็นสิ่งที่ ego ไม่ยอมรับ แต่บุคคลเหล่านี้ยังเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

ผู้ป่วยมักมีความรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมแปลกไปด้วย ที่พบบ่อยคือ รู้สึกว่าวัตถุมีขนาด หรือรูปร่างเปลี่ยนไป อาจรู้สึกว่าคนอื่นตายไปแล้วหรือเป็นเครื่องจักร

อาการอื่นที่พบร่วมด้วยบ่อย คือ อาการวิงเวียน ซึมเศร้า มีความคิดซ้ำๆ วิตกกังวล กลัวตนจะเป็นบ้า และความรู้สึกเกี่ยวกับเวลาผิดปกติไป มักจะรู้สึกว่าตนนึกอะไรได้ช้าหรือนึกไม่ค่อยออก การดำเนินของโรค

การเริ่มต้นฃองโรคมักจะรวดเร็ว แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักจะเรื้อรังและหายช้า อาการมักเกิดแล้วเกิดอีก โดยเฉพาะเกิดภายหลังจากมีความวิตกกังวลหรือซึมเศร้าเพียงเล็กน้อย

การวินิจฉัย

หลักเกณฑ์การวินิจฉัยโรคโดยทั่วไป อาศัยลักษณะทางคลีนิคและการดำเนินของโรคเป็นสำคัญ และโรคต้องไม่เกิดร่วมกับความผิดปกติอย่างอื่น เช่น โรคจิตเภท โรคจิตทางอารมณ์ โรคจิตที่เกิดจากสภาวะทางร่างกาย โรคประสาทแบบอื่นๆ เช่น แบบวิตกกังวล แบบหวาดกลัว และแบบย้ำคิดย้ำทำ หรือโรคลมชัก

การวินิจฉัยแยกโรค ต้องแยกจาก

๑. โรคจิตเภท

๒. โรคจิตทางอารมณ์

๓. โรคจิตที่เกิดจากสภาวะทางร่างกาย โดยเฉพาะสภาวะเป็นพิษ หรือสภาวะขาดยา หรือสารเสพติด

๔. โรคประสาทแบบอื่นๆ เช่น แบบวิตกกังวล แบบหวาดกลัว และแบบย้ำคิดย้ำทำ

๕. บุคลิกภาพแปรปรวน

๖. โรคลมชัก

การรักษา

เหมือนโรคประสาทแบบฮีสทีเรียชนิด Associative

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า