สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ซิฟิลิส (Syphilis)

เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยรองจากหนองในและหนองในเทียม โรคนี้สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้หลายระบบและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้มากกว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นๆ มีระยะแฝงตัวของโรคค่อนข้างยาวนาน และสามารถแพร่เชื้อไปสู่คู่สมรสหรือทารกในครรภ์ได้

สาเหตุ
ติดต่อโดยการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อซิฟิลิสซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เทรโพนีมาพัลลิดัม(Treponema pallidum) ซึ่งเชื้อมักจะเข้าทางรอยถลอกหรือบาดแผลเล็กน้อย หรืออาจไชเข้าเยื่อบุผิวของท่อปัสสาวะ ทวารหนัก ช่องคลอดหรือช่องปาก รวมทั้งการแพร่เชื้อจากมารดาไปสู่ทารกในครรภ์ได้

อาการ
อาการของโรคนี้แบ่งเป็นได้ 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 เป็นแผล ผู้ป่วยมักจะมีตุ่มเล็กๆ เท่าหัวเข็มหมุดที่บริเวณอวัยวะเพศ หรือตรงตำแหน่งอื่นที่เชื้อเข้าไป เช่น หัวหน่าว ขาหนีบ ทวารหนัก หรือริมฝีปาก หลังจากติดเชื้อประมาณ 10-90 วัน และต่อมาตุ่มนั้นจะแตกแล้วกลายเป็นแผลกว้าง ขอบแผลเรียบและแข็ง เรียกว่า แผลริมแข็ง รูปกลมหรือวงไข่ มักมีแผลเดียวหรืออาจมี 2 แผลชนติดกัน ไม่มีอาการเจ็บหรือคัน พื้นแผลแดงดูสะอาด และจะพบว่ามีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตทั้ง 2 ข้างเมื่อประมาณ 1 สัปดาห์หลังจากมีตุ่มขึ้น มีลักษณะแข็งแยกจากกัน แต่ไม่เจ็บ สีผิวหนังบริเวณต่อมน้ำเหลืองมีสีปกติ ไม่คล้ำ แผลในระยะนี้อาจหายได้เองภายใน 3-10 วันแม้ไม่ได้รับการรักษา แต่ยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกาย และหลังจากมีแผล 1-2 สัปดาห์มักจะพบเลือดบวกเมื่อเจาะเลือดหาวีดีอาร์แอล

ระยะที่ 2 เข้าข้อ ออกดอก ระยะนี้เชื้อจะเข้าต่อมน้ำเหลืองและอยู่ในเลือดกระจายไปทั่วร่างกาย มีผื่นขึ้นทั้งตัวรวมทั้งที่ฝ่ามือฝ่าเท้าด้วย ผื่นนี้จะไม่คัน ที่เรียกกันว่า ออกดอก มักพบอาการนี้หลังระยะแรกประมาณ 4-8 สัปดาห์

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วมด้วยได้ เช่น มีไข้ต่ำๆ เป็นบางคราว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เจ็บคอ เสียงแหบ ปวดหลัง ปวดตามกระดูก ต่อมน้ำเหลืองโต แผลที่เยื่อบุในช่องปากหรือที่อวัยวะเพศมีลักษณะเป็นแผลตื่นๆ มีเยื่อสีขาวปนเทาคลุม หงอนไก่ขึ้นอยู่รอบๆ อวัยวะเพศหรือทวารหนัก มีผมร่วมเป็นหย่อมๆ หรือทั้งศีรษะ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หน่วยไตอักเสบ โรคโตเนโฟรติก ตับอักเสบ ม่านตาอักเสบ เป็นต้น ในระยะนี้จะพบเลือดบวกถ้าตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอล

แม้ไม่ได้รับการรักษาผื่นและอาการต่างๆ ก็มักจะหายไปได้เอง แต่เชื้อจะแฝงตัวอยู่ได้นานเป็นปีๆ และอาจจะนานถึง 5 หรือ 10 ปี หรือที่เรียกว่า ซิฟิลิสแฝง แล้วจึงเข้าสู่ระยะที่ 3

ระยะที่ 3 ระยะทำลาย เป็นระยะร้ายแรงของโรคที่เชื้ออาจเข้าสู่สมองและไขสันหลังทำให้เป็นอัมพาต บ้านหมุน เดินเซ ชัก ความจำเสื่อม ตามัว ตาบอด หูตึง หูหนวก บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงและอาจเสียสติได้ ซึ่งอาจจะเป็นเหตุมาจากการที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกวิธีโดยการซื้อยามากินเองจนทำให้โรคลุกลามขึ้น หรืออาจทำให้เกิดโรคลิ้นหัวใจเออร์ติกรั่ว หลอดเลือดแดงใหญ่อักเสบ หรือหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองจากการที่เชื้อเข้าสู่หัวใจ

ในผู้ป่วยซิฟิลิสบางรายอาจไม่มีแผลในระยะที่ 1 หรือเข้าข้อออกดอกในระยะที่ 2 ให้เห็นแต่จะเข้าไปแฝงตัวอยู่ในร่างกายและเข้าสู่ระยะที่ 3 เลยก็ได้

เชื้อนี้อาจถ่ายทอดไปยังทารกในครรภ์โดยผ่านเข้าทางรกทำให้ทารกตายในครรภ์หรือตายหลังคลอด หรืออาจเกิดความพิการไปตลอดชีวิตเนื่องจากการติดเชื้อของมารดาในขณะตั้งครรภ์แล้วไม่ได้รับการรักษา ซิฟิลิสที่เกิดกับทารกในลักษณะนี้มักเรียกว่า ซิฟิลิสแต่กำเนิด โดยที่เด็กจะมีอาการเป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกเป็นหนองหรือช้ำเลือดช้ำหนอง มีผื่นขึ้น หนังลอกน่าเกลียด ซีด เหลือง บวม ตับโต ม้ามโต ซึ่งอาการแสดงนี้จะเกิดขึ้นภายหลังจากคลอดได้ 6 สัปดาห์ และเด็กจะมีความพิการเกิดขึ้นถ้าไม่ได้รับการรักษา เช่น จมูกบี้หรือยุบ เพดานโหว่ กระจกตาอักเสบ หูหนวก ฟันพิการ หน้าตาพิการ เป็นต้น

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรคควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอล ตรวจเชื้อจากน้ำเหลืองที่แผล หรือตรวจพิเศษอื่นๆ
การรักษา

1. สำหรับซิฟิลิสในระยะที่ 1 และ 2 ให้ฉีดเบนซาทีนเพนิซิลลิน ขนาด 2.4 ล้านยูนิตเข้ากล้ามเนื้อเพียงครั้งเดียว หรือถ้าแพ้ยานี้อาจให้เตตราไซคลีน ขนาด 500 มก. วันละ 4 ครั้ง หรือดอกซีไซคลีน ขนาด 100 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 15 วัน แต่ถ้ากินเตตราไซคลีนไม่ได้ให้ใช้อีริโทรไมซินในขนาดเดียวกัน นาน 15 วันแทน

2. สำหรับซิฟิลิสในระยะแฝง หรือเป็นระยะที่มีแผลเรื้อรัง หรือซิฟิลิสเข้าระบบหัวใจและหลอดเลือด ให้ฉีดเบนซาทีนเพนิซิลลิน เข้ากล้ามครั้งละ 2.4 ล้านยูนิต จำนวน 3 ครั้ง ระยะเวลาห่างกัน 1 สัปดาห์ ถ้าผู้ป่วยแพ้ยาชนิดนี้ให้ใช้เตตราไซคลีน ดอกซีไซคลีน หรืออีริโทรไมซินในขนาดดังกล่าวข้างต้นนาน 30 วัน

3. ในรายที่เป็นซิฟิลิสเข้าระบบประสาท ทุก 4 ชั่วโมงให้รักษาด้วยการฉีดเพนิซิลลินจีเข้าหลอดเลือดดำ 2.4 ล้านยูนิต โดยให้ยานาน 14 วัน ถ้าผู้ป่วยแพ้ยานี้ให้ใช้ ดอกซีไซคลีน ขนาด 300 มก. กินวันละครั้ง นาน 30 วัน

4. สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ให้รักษาตามระยะของโรคเหมือนผู้ป่วยทั่วไป ถ้าแพ้ยาเพนิซิลลิน ก็ให้อีริโทรไมซิน ขนาด 500 มก. กินวันละ 4 ครั้ง นาน 30 วัน

5. ซิฟิลิสแต่กำเนิด ให้ฉีดเพนิซิลลินจี 50,000 ยูนิต/กก./วัน โดยแบ่งให้ 2 ครั้ง นาน 10 วัน

ข้อแนะนำ
1. ภายใน 2 ปีแรกหลังการรักษา ควรตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอล เดือนละครั้งใน 3 เดือนแรก และครั้งต่อไปให้ตรวจทุก 3 เดือน จนครบ 9 เดือน ต่อจากนั้นให้ตรวจทุก 6 เดือน จนครบ 1 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าโรคหายขาดสำหรับซิฟิลิสระยะที่ 1 และ 2 รวมทั้งระยะแฝง ซึ่งโดยทั่วไปผลเลือดมักจะเป็นปกติได้ภายใน 2 ปี

แต่ควรตรวจวีดีอาร์แอลทุก 3 เดือน จนครบปีที่ 1 ต่อไปทุก 6 เดือนจนครบปีที่ 2 และต่อไปปีละครั้งตลอดชีวิต สำหรับผู้ป่วยซิฟิลิสระยะแฝงเกิน 2 ปี ซิฟิลิสเข้าระบบหัวใจและหลอดเลือด และซิฟิลิสที่เข้าระบบประสาท

2. ต้องอาศัยการตรวจวีดีอาร์แอลเป็นสำคัญในการวินิจฉัยซิฟิลิส จะดูจากอาการเพียงอย่างเดียวไม่ได้ จึงควรตรวจเลือดทุกรายในผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ว่าชนิดใดก็ตามเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นซิฟิลิส หรือถ้าเป็นก็จะได้ให้การรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจตามมาได้

3. ผู้หญิงบางคนอาจติดเชื้อซิฟิลิสจากสามีโดยไม่แสดงอาการให้เห็น แต่อาจแพร่เชื้อไปสู่ทารกในครรภ์ได้เช่นเดียวกับเชื้อเอชไอวี ดังนั้นจึงควรเจาะเลือดเพื่อตรวจหาวีดีอาร์แอลและเชื้อเอชไอวีพร้อมกันไปด้วยทุกรายเมื่อมีการฝากครรภ์ เพื่อป้องกันมิให้แพร่เชื้อไปสู่ทารกในครรภ์เมื่อมีเลือดบวก

การป้องกัน
1. ไม่ควรสำส่อนทางเพศ หรือเพื่อป้องกันการเกิดโรคควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และอาจช่วยลดการติดเชื้อลงได้บ้างเมื่อดื่มน้ำก่อนร่วมเพศหรือถ่ายปัสสาวะทันที หรือการฟอกล้างสบู่ทันที หลังร่วมเพศ แต่ก็อาจไม่ได้ผลทุกราย

ส่วนการกิน “ยาล้างลำกล้อง” ซึ่งเป็นยาระงับเชื้อไม่ใช่ทำลายเชื้อ มักไม่ได้ผลในการป้องกัน ยานี้มักทำให้ปัสสาวะมีสีแปลกๆ เมื่อกินเข้าไป เช่น สีแดง หรือสีเขียว

การป้องกันโรคภายหลังร่วมเพศโดยการกินยาปฏิชีวนะอาจจะได้ผลบ้าง แต่ต้องใช้ยาชนิดและขนาดเดียวกับที่ใช้รักษาซึ่งดูแล้วไม่คุ้ม ควรรอให้มีอาการแสดงแล้วค่อยรักษา และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นก็ไม่สามารถป้องกันด้วยยานี้ได้

2. ควรได้รับการรักษาแบบซิฟิลิสระยะที่ 1 ในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยซิฟิลิสในระยะ 3 เดือนแรก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า