สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคจิตเภท

ในบรรดาผู้ป่วยโรคจิตที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่งทั่วประเทศไทย  จิตเภทเป็นโรคที่พบได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับโรคจิตประเภทอื่น ๆ และผู้ป่วยจิตเภทแสดงอาการของโรค ให้ผู้ใกล้ชิดสังเกตเห็นได้ชัดเจนกว่า  จึงสมควรที่ประชาชนจะได้ทราบลักษณะอาการและวิธีการช่วยเหลือ  เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว

ไม่ว่าโรคจิตหรือโรคประสาทชนิดใด ๆ ระยะเวลาและผลของการรักษาขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่อาการของโรคดำเนินมา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ยิ่งมาหาแพทย์เร็วเท่าใด อาการก็ทุเลาได้เร็วและทุเลาได้มากเท่านั้น ผู้ป่วยที่มีอาการมานาน โรคย่อมเรื้อรังรักษาหายได้ยาก หรือในบางรายไม่อาจรักษาให้หายเป็นปกติได้เลย ญาติหรือผู้ใกล้ชิดจึงควรรีบพาผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์โดยเร็วที่สุด

จิตเภทเป็นโรคจิตชนิดหนึ่ง  แปลจากชื่อโรคในภาษาอังกฤษว่า “Schizophrenia” ผู้ป่วยส่วนมากมักเกิดอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป

อาการ

ผู้ป่วยจะแสดงความผิดปกติหลาย ๆ ด้านร่วมกัน คือมีความผิดปกติของความนึกคิด พฤติกรรม และอารมณ์ มักจะเสียความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง เช่น เฉยเมย ไม่ยินดียินร้าย ไม่สนใจและไม่แสดงปฏิกิริยาทางอารมณ์หรือท่าที ไม่ว่าญาติหรือเพื่อนฝูงจะเป็นอย่างไรหรือแสดงต่อเขาอย่างไร ขาดความสนใจและความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ไม่สนใจโลกภายนอก มักแยกตัวอยู่คนเดียวไม่เข้ากลุ่ม เช่น เคยรับประทานอาหารที่โต๊ะพร้อมหน้าบิดามารดา ก็แยกไปรับประทานคนเดียวในห้องนอน ชอบอยู่แต่ในห้องไม่ออกมาสังสรรค์กับครอบครัว เคยไปงานสังคมต่าง ๆ เช่น งานเลี้ยง งานศพ ก็ไม่ไปโดยไม่มีเหตุผล ความประพฤติมักเสื่อมถอยกลับไปคล้ายผู้ที่อยู่ในวัยอ่อนกว่า หรือบางรายอาจคล้ายทารกไปเลย เช่นผู้ป่วยอายุ ๓๐ ปี  อาจแสดงกริยาวาจาหรือแต่งกายคล้ายเด็กอายุ ๑๐ ขวบ  บางรายไม่ชอบสวมเสื้อผ้า มิใช่เพื่อโอ้อวดร่างกายส่วนที่ควรปกปิด  หรือเพราะเกิดอารมณ์ทางเพศอย่างที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิด แต่เป็นเพราะสภาพของจิตใจที่เสื่อถอยกลับไปสู่วัยเด็กหรือทารกดังกล่าวแล้วนั่นเอง  ผู้ป่วยจิตเภทบางรายหัวเราะคิกคักอย่างไม่มีเหตุผล  พูดคนเดียวหรือพูดกับสิ่งที่ไม่มีตัวตน

ผู้ป่วยจิตเภทอาจมีพฤติกรรมแปลกประหลาด เช่น ลุกขึ้นอาบน้ำเวลาตีสามในขณะอากาศหนาว  ลงไปแช่ในตุ่มน้ำที่เก็บไว้สำหรับบริโภค  แต่งกายพิกลผิดผู้อื่นและผิดไปจากบุคลิกภาพเดิมของตนอย่างมาก หัวเราะสลับกับร้องไห้ จุดธูปสวดมนต์ทั้งวัน ฯลฯ บางรายอาจเอะอะ อาละวาด หยาบคาย ก้าวร้าวหรือพูดจาเลอะเทอะไม่ได้ความ  หรือบางรายอาจไม่พูดเลยคล้ายเป็นใบ้ ไม่ยอมรับประทานอาหาร ไม่ยอมเคลื่อนไหว นอกจากนี้ผู้ป่วยจิตเภทบางรายอาจมีความคิดผิดปกติ ซึ่งไม่เป็นความจริง เช่น หลงผิดว่าภรรยาเป็นชู้กับชายเพื่อนบ้าน หลงผิดว่าคู่สมรสหรือเพื่อนของตนมีความรุ่งร้ายจะเอาชีวิตตน  หลงผิดว่าตนเป็นมหาเศรษฐีมีเงินหลายล้านบาท  บางรายมีประสาทหลอน เช่น หูแว่วได้ยินเสียงเพื่อนด่า ได้ยินเสียงบิดาสั่งให้ตัดนิ้วตนเองทิ้งเสีย หรือมีประสาทหลอนทางตา เห็นเป็นภาพหลอนว่าภรรยากำลังถือมีดตรงเข้ามาจะทำร้ายตน เป็นเหตุให้ผู้ป่วยหวาดกลังมากจนอาจหาทางป้องกันตัวโดยรีบคว้าปืนยิงภรรยาเสียก่อน  ทำให้เกิดคดีฆาตกรรม  ซึ่งเป็นเรื่องชวนสลดใจที่ไม่น่าเกิดขึ้น  เพราะเป็นสิ่งที่ป้องกันได้

จากการศึกษาผู้ป่วยคดีในโรงพยาบาลจิตเวช  พบว่ามีหลายรายที่การฆาตกรรมนั้นเกิดจากอาการทางจิต   คือเกิดจากความหลงผิดเชิงระแวงหรือประสาทหลอน  และอาการผิดปกติเหล่านี้ญาติผู้ใกล้ชิดก็สังเกตเห็นมาก่อน  แต่ไม่รีบพาไปรักษา ด้วยความนิ่งนอนใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงปรากฎข่าวสะเทือนขวัญ ในหน้าหนังสือพิมพ์บ่อย ๆ ในทำนองพ่อใช้หวานฟันคอลูกในเปล สามีแทงภรรยาที่กำลังหันหลังทำกับข้าว เป้นต้น

ผู้ป่วยจิตเภทไม่จำเป็นต้องมีอาการดังกล่าวหลายอย่างร่วมกัน  บางคนอาจแสดงอาการผิดปกติให้เห็นเพียงอย่างเดียวหรือสองอย่างก็ได้ เช่น อาจมีเพียงความหลงผิดแบบระแวงร่วมกับหูแว่ว  โดยยังคงประกอบกิจวัตรประจำวันได้เช่นปกติและพูดคุยได้เรื่องราวดี  บางคนอาจเพียงแต่แยกตัวเอง เฉื่อยเฉยไม่ทำการงาน ไม่ยินดียินร้าย แต่ก็ไม่เอะอะอาละวาดวุ่นวาย และไม่มีประสาทหลอนหลงผิดแต่อย่างใด

ตำราแพทย์จึงแบ่งการวินิจฉัยโรคจิตเภทออกเป็นประเภทย่อย ๆ อีกหลายประเภท  ซึ่งจิตแพทย์ใช้ประกอบการพิจารณาทางวิชาการเพื่อให้การรักษาและพยากรณ์โรค

อาการต่าง ๆ ที่บรรยายมาข้างต้น ล้วนเป็นอาการซึ่งผู้ใกล้ชิดจะสังเกตเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน ไม่จำเป็นต้องมีพื้นความรู้ทางจิตเวชศาสตร์  ก็พอทราบได้ว่าบุคคลนั้นเริ่มป่วยเป็นโรคจิตแล้ว จึงไม่ควรรีรอหรือลังเลที่จะพาไปหาจิตแพทย์เลย

ประชาชนจำนวนไม่น้อยมีความเข้าใจผิดและเชื่ออย่างผิด ๆว่า โรคจิตเป็นโรคที่เกิดจากการกระทำของภูตผีปีศาจและเป็นโรคที่รักษาไม่หาย  จึงไม่พาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล  แต่กลับพาไปรดน้ำมนต์ เข้าทรง หรือปล่อยให้อยู่กับบ้านไปตามบุญตามกรรม บางรายในชนบทถึงกับล่ามโซ่ผู้ป่วยไว้กับเสาเรือนก็มี

จึงขอให้ท่านผู้ฟังโปรดเข้าใจ และเมื่อมีโอกาสก็ขอให้โปรดบอกกล่าวต่อ ๆ กันไปด้วยว่า โรคจิตนั้นส่วนมากรักษาให้หายได้เช่นเดียวกับโรคทางกาย  ถ้าหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องเสียแต่เนิ่น ๆ อย่างไรก็ตาม โรคจิตก็เช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ บางรายอาจหายขาด บางรายเพียงแต่ทุเลา บางรายก็อาจเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ประเภทหรือลักษณะของโรคนั้น ๆ ความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นมา

สาเหตุ

จากการศึกษาและงานวิจัยต่าง ๆ ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แท้จริงของโรคจิตเภทได้ อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่าโรคจิตเภทมิได้เกิดจากความผิดปกติทางชีวเคมีของร่ากาย หรือพันธุกรรมโดยตรง  เชื่อกันว่าสิ่งแวดล้อมทางจิตใจและสังคมซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ในวัยทารกมีอิทธิพลมากกว่า  ในอันที่จะช่วยเสริมหรือสนับสนุนให้เกิดอาการของโรค สิ่งแวดล้อมนี้มีความหมายกว้าง นับตั้งแต่บุคลิกภาพและท่าทีของบิดามารดาที่มีต่อผู้ป่วย ความมั่นคงและความสัมพันธ์ในครอบครัว ความสัมพันธ์และท่าทีของผู้อื่น ซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและการสร้างบุคลิกภาพของผู้ป่วย เช่น ญาติ ครู เพื่อน ผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงาน ฯลฯ แต่อิทธิพลที่สำคัญที่สุดคือ  ความสัมพันธ์และท่าทีของมารดาต่อผู้ป่วยตั้งแต่ในวัยทารก  มารดาได้ให้ความรัก ความเข้าใจ และความอบอุ่น อย่างถูกต้องและพอเพียงหรือไม่? เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูจากมารดาที่กระด้างชาเย็น เจ้าอารมณ์ ดุร้าย ทารุณ หรือตรงกันข้าม ปกป้องฟูมฟักบุตรจนเกินควร ย่อมมีโอกาสที่จะเป็นโรคจิตเภทได้มากกว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูจากมารดา ที่ให้ความอบอุ่น อารมณ์คงเส้นคงวา และรู้จักอบรมเด็ก

อุบัติการและระบาดวิทยา

จิตเภทเป็นโรคจิตที่พบมากที่สุดในบรรดาโรคจิตทั้งหลายเกิดขึ้นได้แก่บุคคลทุกเพศ ทุกเชื้อชาติ ทุกระดับการศึกษา อาชีพ และเศรษฐฐานะ มีหลักฐานที่แสดงว่าประชาชนในระดับเศรษฐกิจและสังคมต่ำ เป็นโรคจิตเภทมากกว่าพวกระดับเศรษฐกิจสังคมสูง

จากสถิติผู้ป่วยภายในของโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ปีพ.ศ.๒๕๑๔  มีผู้ป่วยโรคจิตที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาล ๒,๕๐๖ ราย เป็นโรคจิตเภทเสีย ๑,๕๑๑ ราย หรือ ๕๘.๖๕℅ของผู้ป่วยโรคจิตทั้งหมด  จึงเห็นได้ว่า จิตเภทเป็นโรคจิตที่พบได้มากที่สุด สถิติที่ได้นี้ใกล้เคียงกับสถิติของโรงพยาบาลจิตเวชในต่างประเทศ

ผู้ป่วยโรคจิตเภทที่มารับบริการของโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยามีทั้งที่เป็นนักศึกษา ครู อาจารย์ แพทย์ ข้าราชการ ทหารและพลเรือน พ่อค้า ชาวนา ชาวสวน กรรมกร ฯลฯ และมาจากจังหวัดต่าง ๆ ทุกภาคของประเทศ

โรคนี้พบมากในเกณฑ์อายุ ๑๕-๔๕ ปี  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บุคคลต้องเผชิญกับปัญหาการปรับตัวกับเหตุการณ์ และความตึงเครียดของชีวิตหลาย ๆ ด้าน เช่น ปัญหาการศึกษา อาชีพ การสมรส การสร้างฐานะและครอบครัว เป็นต้น  ในเด็กและผู้ชราก็อาจพบโรคนี้ได้บ้าง

การรักษา

การรักษาโรคทางจิตเวชทุกชนิดได้วิวัฒนาการไปมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อน เช่น เมื่อ ๘๒ ปีมาแล้ว ในยุคที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเพิ่งเปิดรับผู้ป่วยโรคจิต  ในครั้งกระนั้นโรงพยาบาลยังไม่มีแพทย์ศึกษาอบรมทางจิตเวชศาสตร์โดยตรง  และนักวิทยาศาสตร์ ไม่พบยาสงบประสาทที่ให้ผลดีเยี่ยมเช่นในปัจจุบันนี้ การดูแลผู้ป่วยโรคจิตจึงเป็นไปอย่างล้าสมัยเช่นเดียวกับในประเทศตะวันตกที่ร่วมยุคเดียวกัน ทำให้ประชาชนมีอคติต่อโรงพยาบาลโรคจิต ไม่อยากพาญาติมารักษา

แต่ในปัจจุบันเรากล้ากล่าวได้ว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคจิตของโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เป็นการดูแลรักษาที่ทันสมัยเทียบเท่าอารยประเทศทั้งหลาย  โรงพยาบาลมีหอผู้ป่วยและเครื่องอำนวยความสะดวกเช่นเดียวกับโรงพยาบาลฝ่ายกายทั่วไป  มิได้กักขังหรือผูกมัดผู้ป่วยไว้ในห้องลูกกรงเหล็กเช่นที่ประชาชนบางคนเข้าใจผิด

ผู้ร่วมงานฝ่ายรักษาประกอบด้วยจิตแพทย์  พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา

อนึ่ง  ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภท มิได้หมายความว่าจะจำเป็นต้องเข้าอยู่ในโรงพยาบาลทุกรายไป มีผู้ป่วยจำนวนมากที่อาจได้รับผลดีจากการรักษาแบบผู้ป่วยนอก คือ ยังอยู่ที่บ้านได้  แต่มาพบแพทย์สม่ำเสมอตามกำหนดนัด  เช่น สัปดาห์ละครั้ง  ญาติผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดว่า เมื่อผู้ป่วยเกิดอาการทางจิต  แพทย์จะต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลเสมอไป  บางคนเมื่ออ้อนวอนให้รับไว้ แต่แพทย์แนะนำให้รักษาแบบผู้ป่วยนอกก็โกรธ  โดยเข้าใจผิดว่าโรงพยาบาลปฏิเสธไม่ให้บริการแก่ผู้ป่วย  ปัจจุบันนี้ยังไม่มีโรงพยาบาลใดในโลกจะสามารถรับผู้ป่วยที่มาขอรับการรักษาไว้เป็นผู้ป่วยภายในได้ทุกราย เพราะนอกจากปัญหาใหญ่เรื่องจำนวนเตียงไม่พอ  บางรายรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ผลดีกว่าด้วยซ้ำไป เช่นในกรณีผู้ป่วยโรคจิตเภท  ผู้ที่เพิ่งเริ่มมีอาการ อาการไม่รุนแรง ควบคุมตนเองได้ ญาติช่วยดูแลได้ หรือยังพอประกอบอาชีพได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าอยู่ในโรงพยาบาล

การพิจารณาว่าผู้ป่วยสมควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือไม่?  จึงควรเป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้ตรวจเท่านั้น

วิธีการรักษาส่วนใหญ่ใช้ยาสงบประสาทเป็นหลัก ยาสงบประสาทมีหลายชนิด แพทย์จะเลือกสั่งให้เหมาะสมกับอาการของโรค ญาติจึงไม่บังควรซื้อยาตามร้านขายยาให้ผู้ป่วยรับประทานเอง เพราะนอกจากจะไม่ถูกกับอาการของโรคแล้วยังอาจเกิดอันตรายได้อีกด้วย

ผู้ป่วยที่รับไว้ในโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยายังมีวิธีการรักษาแบบอื่นร่วมด้วย  ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเลือกวิธีการร่วมเป็นราย ๆ ไป เช่น

๑.  การทำจิตบำบัด  คือ การทำให้ผู้ป่วยสบายใจขึ้น โดยพูดถึงปัญหาของผู้ป่วยด้วยการสร้างความสัมพันธ์กับแพทย์ผู้รักษา

๒.  การทำช็อคไฟฟ้า  ปัจจุบันใช้เฉพาะในบางรายเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากการใช้ยาสงบประสาทให้ผลดีและสะดวกกว่า

๓.  อาชีวบำบัด คือ การรักษาแบบให้ผู้ป่วยทำงาน เช่น งานหัตถกรรมประดิษฐ์ต่าง ๆ งานเย็บสาน จัก ทอ เพื่อมิให้ผู้ป่วยมีเวลาว่าง และคิดฟุ้งซ่าน ขณะเดียวกันก็ให้ประโยชน์ทางการรักษาด้วย เพราะกรรมวิธีของงานบางอย่างเป็นหนทางให้ผู้ป่วยได้ระบายอารมณ์หรือความรู้สึกภายในด้วย เช่นการใช้ฆ้อนย้ำทุบเปลือกมะพร้าวแรง ๆ เพื่อนำไปทำพรมเช็ดเท้า  เป็นทางระบายอารมณ์โกรธ  หรือความรู้สึกอยากทำร้ายผู้อื่น  นอกจากนี้เมื่อผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลไป  อาจนำความรู้ความชำนาญที่ได้รับไปประกอบอาชีพได้

๔. สันทนาการบำบัดและการฟื้นฟูบุคลิกภาพ  คือการหย่อนใจ การกีฬา ศิลป และการรื่นเริงต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะให้ประโยชน์ในทางระบายอารมณ์และช่วยฟื้นฟูบุคลิกภาพของผู้ป่วยแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยโรคจิตเภทซึ่งมักเสียความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นหรือแยกตัวจากสังคม ได้ฝึกปรับตัวเข้าสังคมและสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นด้วย  อันเป็นการกรุยทางให้เขาได้กลับเข้าสู่สังคมและชุมชน  อย่างที่สังคมและชุมชนเต็มใจต้อนรับเขา ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการรักษาผู้ป่วยจิตเภท

โรคจิตเภทส่วนมากมักเป็น ๆ หาย ๆ แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมในครอบครัวและในสังคมของเขาเหมาะสม เช่น ครอบครัวอบอุ่น มีความเข้าใจ เห็นใจ และยอมรับผู้ป่วย เต็มใจรับผู้ป่วยที่จำหน่ายออกจากโรงพยาบาลกลับคืนสู่ครอบครัวอย่างจริงใจ สังคมและชุมชนไม่แสดงความรังเกียจผู้ป่วย และผู้ป่วยเลือกดำเนินชีวิตอย่างไม่ต้องพบความตึงเครียดมากนัก ผู้ป่วยเองติดตามผลการรักษากับแพทย์สม่ำเสมอ อาการมักไม่กำเริบกลับอีก ในทางตรงกันข้าม  หากสภาพครอบครัวและชุมชนของผู้ป่วยไม่เอื้ออำนวยหรือผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและพอเพียง ก็อาจมีอาการกำเริบบ่อยครั้ง  หรืออาจเป็นเรื้อรังจนบุคลิกภาพเสื่อมอย่างกลับคืนสู่สภาพปกติไม่ได้ตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม การรักษาที่ดีที่สุดคือการป้องกัน ซึ่งได้แก่การให้การศึกษาสุขภาพจิตแก่ประชาชนนั่นเอง  เพื่อให้ประชาชนเข้าใจความสำคัญของสภาพแวดล้อม และอบรมเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างถูกต้องตามหลักสุขภาพจิต อันจะยังผลให้เยาวชนเจริญเติบโตอย่างมีสุขภาพจิตดี  ซึ่งนอกจากจะเป็นการป้องกันโรคจิตแล้ว ยังเป็นการป้องกันโรคจิตโรคประสาทอื่น ๆ และบุคลิกภาพแปรปรวนต่าง ๆ อีกด้วย

        โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยายินดีให้คำแนะนำและความรู้ด้านสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์ขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนผู้สนใจทุกท่าน

พ.ญ.สุพัฒนา  บุญญานิตย์

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า