สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคของสตรีที่พบบ่อยในปัจจุบัน

ปีกมดลูกอักเสบ(Salpingitis) /เยื่อบุมดลูกอักเสบ(Endometritis)
เกิดจากท่อรังไข่และเยื่อบุมดลูกอักเสบ มักพบในสตรีวัย 15-45 ปี มีสาเหตุจากการติดเชื้อในช่องคลอด เช่น การติดเชื้อหลังคลอด การทำแท้งที่ไม่สะอาด หรือติดเชื้อจากสามีที่ชอบเที่ยวสำส่อน

ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)
จะมีอาการปวดท้องในขณะที่มีประจำเดือน มักพบได้ในสตรีวัย 15-25 ปี ประมาณร้อยละ 70 มีสาเหตุมาจากรังไข่หรือมดลูกผิดปกติ ฮอร์โมนเพศหลั่ง Prostagradin ผิดปกติ ส่วนสาเหตุที่มาจากมดลูกผิดปกติ เช่น ปีกมดลูกอักเสบ หรือเป็นเนื้องอก มักพบในหญิงวัยกลางคน หรือมีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป

ประจำเดือนขาด(Amenorrhea)
เป็นอาการของประจำเดือนที่ขาดไปหลังจากที่เคยมาอยู่แล้วเป็นปกติ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากหลายประการ เช่น การตั้งครรภ์ ความกังวล ปัญหาทางจิต เนื้องอกของรังไข่ ความผิดปกติของต่อมหมวกไต ความผิดปกติของต่อมใต้สมอง

ดียูบี (Dysfunction uterine bleeding)
เป็นภาวะเลือดออกจากโพรงมดลูก พบได้ในสตรีทุกวัย โดยเฉพาะในวัยที่ใกล้หมดประจำเดือน แต่จะไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ หรือเนื้องอก จะทำให้มีอาการเลือดออกมาก หรือออกกะปริดกะปรอย จากสาเหตุที่มีภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนมากกว่าปกติ

เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri)
เป็นก้อนเนื้อหรือเนื้องอกในมดลูกชนิดที่ไม่ร้ายแรง มักพบในสตรีอายุ 35-45 ปี ประมาณร้อยละ 25 ทำให้การบีบและหดตัวของมดลูกมีปัญหา เนื่องจากมีก้อนเนื้องอกมาขวางอยู่ ขณะมีประจำเดือนจะทำให้มีเลือดออกมาก และปวดมาก ทำให้แท้งบุตรง่าย หากไม่แท้งก็จะทำให้คลอดยาก

เยื่อบุมดลูกงอกผิดที่ (Endometriosis)
เป็นภาวะที่เยื่อบุมดลูกหนาตัวขึ้นตามผลของฮอร์โมน เมื่อมดลูกลอกตัวก็จะมีเลือดออกมาทางช่องคลอดเป็นประจำเดือน ซึ่งโดยปกติจะอยู่ภายในมดลูกเท่านั้น แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอการบีบตัวของท่อรังไข่จะทำให้เศษเนื้อเยื่อหลุดไปเกาะตามที่ต่างๆ เช่น รังไข่ ลำไส้ หรือที่อื่นๆ โดยที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดออกไปได้หากมีภูมิคุ้มกันไม่ดี ทำให้ยิ่งมีการขยายตัวและหลุดลอกเหมือนการมีประจำเดือน และขณะมีประจำเดือนจะทำให้ปวดท้องมาก

การแพ้ท้อง (Morning sickness)
พบในสตรีที่ตั้งครรภ์ ประมาณ ¾ คน ในช่วงสัปดาห์ที่ 5-6 จนถึงสัปดาห์ที่ 14-16 ของการตั้งครรภ์จะพบได้มาก มักทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีอาการรุนแรงได้ในบางราย

ครรภ์เป็นพิษ(Toxemia of pregnancy)
พบในสตรีตั้งครรภ์ประมาณร้อยละ5 อาการที่พบคือ บวม ความดันโลหิตสูง ในปัสสาวะตรวจพบสารไข่ขาว มักทำให้ปวดศีรษะ ตามัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดบริเวณลิ้นปี่ เท้าบวม หน้าบวม ความดันโลหิตสูง และอาจชักหมดสติได้

แท้งบุตร(Abortion)
เป็นภาวะที่สิ้นสุดการตั้งครรภ์ก่อนที่จะครบ 28 สัปดาห์ โดยเด็กในครรภ์จะถูกขับออกมา มักเกิดในช่วง 4-20 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ พบได้ประมาณร้อยละ 10-15 เกิดได้จากสาเหตุต่างๆ เช่น การถูกกระทบกระเทือน ความผิดปกติของมดลูก มีเนื้องอกในมดลูก มีความผิดปกติของเด็ก มารดามีโรคประจำตัว

ท้องนอกมดลูก(Ectopic pregnancy)
เป็นภาวะที่ตัวอ่อนมีการฝังตัวอยู่นอกมดลูก พบได้ 1 ใน 200 ของหญิงตั้งครรภ์ เช่น ตัวอ่อนอาจฝังตัวอยู่ในช่องท้อง แต่ที่พบมากที่สุดก็คือที่ท่อรังไข่ ทำให้ท่อรังไข่แตกและมีเลือดออกมากเมื่อเด็กโตขึ้น ซึ่งอาจทำให้อาการช็อกและเป็นอันตรายถึงตายได้ ผู้ป่วยมักมีอาการของประจำเดือนขาด มีเลือดออกกะปริดกะปรอย ต่อมาจะทำให้มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ซีด กระสับกระส่าย ช็อก และหมดสติ

ครรภ์ไข่ปลาอุก(Molar pregnancy)
เป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรงที่กลายมาจากความผิดปกติของรก มักพบในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 40 ปี มักทำให้เกิดอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง ท้องโต เลือดออกกะปริดกะปรอยคล้ายอาการแท้งบุตร ลักษณะของเนื้องอกชนิดนี้จะคล้ายกับไข่ปลาอุก อาจทำให้เกิดการเสียเลือดมากและครรภ์เป็นพิษร่วมด้วย

รกเกาะต่ำ(Placenta previa)
พบในสตรี 1 ใน 200 ราย มักเกิดกับผู้ที่มีการตั้งครรภ์หลายครั้ง ในมดลูกมีเนื้องอก ทำให้ไม่มีที่เกาะที่เหมาะสมในมดลูก ครรภ์แฝด ผู้ที่เคยผ่าตัดมดลูก มักทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดเป็นพักๆ เมื่อตั้งครรภ์ได้ 7 เดือนขึ้นไป และจะยิ่งทำให้เสียเลือดมากถ้ารกเกาะต่ำมากๆ

รกลอกตัวก่อนกำหนด (Abruptio placenta)
เป็นภาวะร้ายแรงที่เกิดจากการลอกตัวของรกก่อนที่จะถึงกำหนดคลอด อาจมีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บ ครรภ์เป็นพิษ มีเนื้องอก ความดันโลหิตสูง ภาวะขาดอาหาร มักทำให้มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ท้องแข็ง ความดันตก ช็อก

เกี่ยวกับการคลอดนั้น ปัจจุบันสามารถดูแลสตรีได้ครอบคลุมกว่าในอดีต เนื่องจากมีการฝากครรภ์และตรวจครรภ์อยู่เสมอ เมื่อเกิดภาวะผิดปกติก็สามารถแก้ไขได้ทันเวลา ซึ่งในแผนไทยก็คงมีบทบาทในด้านช่วยเสริมเรื่องการดูแลสุขภาพของมารดาทั้งก่อนและหลังคลอด และการรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นต้น

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า