สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย

โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคหลอดเลือดโคโรนารี เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงลดลงหรือชะงักไป มีอยู่ 2 ลักษณะคือ

1. โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ(angina pectoris)
2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย(Myocardial infarction, MI)

สาเหตุ
เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจมีการตีบตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงไม่พอ เนื่องจากมีไขมันเกาะไปเกาะทำให้หลอดเลือดแดงแข็ง หรือที่เรียกว่า อะเทอโรสเคลอโรซิส(atherosclerosis) อาจเป็นผลมาจากร่างกายที่เสื่อมไปตามวัย และอาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น สูบบุหรี่จัด ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น

อาการ
อาการของผู้ที่หัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วขณะ จะทำให้รู้สึกเหมือนมีอะไรกดทับจุกแน่นที่หน้าอกหรือยอดอก และร้าวมาที่ไหล่ซ้าย แขนซ้ายด้านใน อาจมีอาการร้าวมาที่คอ ขากรรไกร หลังและแขนขวาในบางราย

บางรายอาจมีอาการคล้ายอาหารไม่ย่อย จุกแน่นที่ใต้ลิ้นปี่ ท้องอืดเฟ้อ เมื่อออกแรงมากๆ ตื่นเต้น ตกใจ เสียใจ โกรธ ขณะร่วมเพศ เมื่ออิ่มจัด หรือเมื่ออากาศเย็นมักจะทำให้อาการกำเริบขึ้น อาการที่เกิดขึ้นร่วมด้วยในผู้ป่วยคือ ใจสั่น เหนื่อยหอบ เหงื่อออก เวียนศีรษะ คลื่นไส้

ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกลักษณะเดียวกับโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย แต่จะเป็นรุนแรงและนานกว่า อาการจะไม่ทุเลาลงแม้ได้นอนพัก ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลีย ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน จะมีอาการหายใจหอบเหนื่อยถ้าเป็นรุนแรง เพราะมีภาวะหัวใจวาย ภาวะช็อก หรือชีพพรเต้นไม่สม่ำเสมอ และผู้ป่วยอาจเป็นลม หมดสติ และตายในทันทีก็ได้

ผู้ป่วยจะมีชีวิตยืนยาวได้เกือบเท่าคนปกติทั่วไป หากปฏิบัติตัวดังนี้
1. เลิกสูบบุหรี่

2. ควรลดน้ำหนัก ถ้าอ้วนเกินไป

3. ใช้น้ำมันจากพืชปรุงอาหาร ไม่กินอาหารที่มีไขมันสัตว์สูง

4. ออกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ หากต้องการออกกำลังกายมากๆ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เสียก่อน

5. หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ เช่น
-ไม่ทำงานหักโหมเกินไป
-ไม่กินจนอิ่มเกินไป
-กินผักผลไม้ และดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันอาการท้องผูก เมื่อท้องผูกก็ควรกินยาระบาย
-งดเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
-ทำจิตใจให้เบิกบานอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงที่ทำให้เกิดความเครียด ตื่นเต้น ตกใจ หรือการกระทบกระเทือนทางจิตใจ

การป้องกัน
การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ระวังไม่ให้อ้วน ผ่อนคลายความตึงเครียด ไม่สูบบุหรี่ ไม่กินอาหารที่มีไขมันสูง ควบคุมความดันโลหิตและภาวะไขมันในเลือด รวมทั้งเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอย่างต่อเนื่อง จะช่วยป้องกันโรคนี้ได้

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

หัวใจของคนเราปกติจะเต้นประมาณ 72 -80 ครั้ง/นาที ทุกครั้งจะแรงเท่ากันและมีจังหวะที่สม่ำเสมอ

สาเหตุ
หัวใจเต้นช้า คือ เต้นช้ากว่า 60 ครั้ง/นาที ในนักกีฬาหรือผู้ที่ฟิตร่างกายถือว่าเป็นภาวะปกติ แต่ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดหรือเกิดจากพิษของยา ถือเป็นภาวะที่ผิดปกติ

ส่วนในคนที่เป็นโรคหัวใจรูมาติก โรคหัวใจขาดเลือด คอพอกเป็นพิษ หัวใจจะเต้นเร็วกว่า 140 ครั้ง/นาที ในแต่ละครั้งของการเต้นก็จะมีจังหวะที่ไม่เสมอกันและแรงไม่เท่ากันทุกครั้ง

อาจเป็นภาวะปกติของบางคนที่มีหัวใจเต้นเร็ว จังหวะการเต้นรัวหรือวูบหายไป แต่ลักษณะเช่นนี้ก็พบได้ด้วยในผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจรูมาติก หรือเกิดจากการสูบบุหรี่ การดื่มชา กาแฟ หรือพิษของยาบางชนิด

อาการ
บางรายอาจไม่มีอาการอะไรเลย หรืออาจแค่รู้สึกใจสั่น ใจหายวูบเป็นบางคราว แต่ยังใช้ชีวิตและทำงานได้ตามปกติ

แต่ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น เจ็บหน้าอก หน้ามืด วิงเวียน ถ้ามีสาเหตุจากโรคหัวใจ คอพอกเป็นพิษ หรือสาเหตุร้ายแรงอื่นๆ

หัวใจวาย/หัวใจล้มเหลว
เป็นภาวะที่เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ เนื่องจากหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่เต็มที่ ทำให้ในปอด ตับ แขน ขา และอวัยวะต่างๆ อาจมีเลือดคั่งอยู่ได้

สาเหตุ
มักเกิดจากสาเหตุแทรกซ้อนของโรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหัวใจรูมาติก โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากโรคเอสแอลอี โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ โรคเบาหวาน การดื่มสุราจัด หรืออาจเกิดจากโรคความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง ภาวะไตวายเรื้อรัง คอพอกเป็นพิษ ภาวะโลหิตจางแบบรุนแรง โรคเหน็บชาที่หัวใจมีความผิดปกติร่วมด้วย การให้เลือดหรือน้ำเกลือเร็วเกินไป

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการหอบเหนื่อยเมื่อออกแรงมากหรือทำงานหนักในระยะแรกๆ หลังจากเข้านอนในช่วงดึกอาจมีอาการไอและหายใจได้ลำบาก จนต้องลุกขึ้นมานั่งเพื่อให้หายใจได้สะดวกขึ้น บางรายอาจต้องลุกไปสูดอากาศหายใจที่หน้าต่างเนื่องจากมีอาการหอบคล้ายเป็นหืด หรืออาจมีอาการจุกแน่นอึดอัดในท้องหรือลิ้นปี่ ปวดชายโครงด้านขวา ข้อเท้าบวม และจะมีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้นเมื่อเป็นรุนแรงขึ้น จะรู้สึกหายใจลำบาก อ่อนเพลีย นอนราบไม่ได้ แม้ออกแรงทำงานเพียงเล็กน้อย หรือแม้แต่อยู่เฉยๆ ต้องนั่งพิงหรือนอนหมอนสูง ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน หรือปัสสาวะออกน้อย เท้าบวม ท้องบวม แต่ที่หน้าหรือหนังตามักจะไม่บวมเหมือนผู้ป่วยโรคไต อาจมีอาการไอรุนแรงเมื่อเป็นรุนแรงขึ้น เสมหะอาจมีฟองสีแดงเรื่อๆ ตัวเขียว ริมฝีปากเขียว ใจสั่น กระสับกระส่าย และอาจถึงตายได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

โลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก
การสร้างเม็ดเลือดแดง มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ร่างกายจะสร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อยกว่าที่ร่างกายต้องการหากขาดธาตุเหล็ก ทำให้เกิดโรคภาวะเลือดจางขึ้น หรือที่เรียกว่า โลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก

สาเหตุ
เนื่องจากบริโภคเนื้อสัตว์ ตับ นม ไข่ ผักใบเขียวน้อยเกินไป จึงทำให้ได้รับสารอาหารที่เป็นธาตุเหล็กน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ผู้ที่อาจได้รับธาตุเหล็กน้อยเกินไปอาจเป็นผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคอื่นแล้วเกิดอาการเบื่ออาหาร หรือผู้สูงอายุที่กินอาหารได้ไม่ครบส่วน หรือรับประทานอาหารได้น้อย

การตกเลือดแท้งบุตร การคลอดบุตร ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร โรคริดสีดวงทวาร โรคพยาธิปากขอ เหล่านี้ก็ทำให้เสียธาตุเหล็กออกไปได้เช่นกัน

อาการ
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักจะมีอาการหน้ามืด วิงเวียน มึนงง ใจสั่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร จะส่งผลให้ขาดธาตุเหล็กมากยิ่งขึ้น และทำให้ภาวะโลหิตจางยิ่งรุนแรงขึ้น อาจทำให้หัวใจวายได้ในที่สุด

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า