สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยทอง

วัยทอง เดิมผู้คนทั่วไปมักมีความคิดว่าเป็นวัยเปลี่ยนที่เริ่มมีการเสื่อมของ อวัยวะต่างๆ ในร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในปัจจุบันเราได้รับการปลูกฝังใหม่ว่า วัยทองเปรียบเสมือนช่วงจังหวะหนึ่งในชีวิตที่จะแสดงออกถึงความงดงามตามวัย และเป็นโอกาสหนึ่งของชีวิตที่ผู้สูงอายุจะได้แสดงศักยภาพของตนเอง สำหรับสตรีวัยทอง มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่ทุกคนควรทราบและนำไปปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้คือ การที่กระดูกของสตรีในวัยทอง (โดยเฉพาะในช่วงหลังหมดประจำเดือน 5 ปี) จะมีความหนาแน่นของกระดูกลดลงอย่างรวดเร็ว กระดูกมนุษย์ที่เราเห็นเป็นท่อนนี้ มิได้อยู่นิ่งในสภาพเดิมอย่างท่อนซีเมนต์ แต่จะมีการสร้างและทำลายตลอดเวลา กล่าวคือเซลล์สลายกระดูกจะทำงานโดยทำให้เกิดรูเล็กๆ ที่พื้นผิวกระดูก และเซลล์สร้างกระดูก ก็จะเข้ามาทำงานโดยสร้างกระดูกขึ้นใหม่ในรูเล็กๆ เหล่านั้น สลับวนเวียนอยู่เรื่อยๆ ความรู้นี้ได้จากการให้คนกินแคลเซียมกัมมันตรังสี (radioactive calcium) และตรวจวัดว่าแคลเซียมเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหนบ้าง ซึ่งพบว่าแคลเซียมจะไปอยู่ที่กระดูก ระยะหนึ่งและต่อมาก็จะถูกขับถ่ายออกมาจากร่างกาย นั่นคือแคลเซียมในร่างกาย และกระดูกมีการหมุนเวียนถ่ายเทตลอดเวลา   ในบุคคลทั่วไปการสร้างจะเกิดมากกว่าการทำลาย ทำให้กระดูกใหญ่ ยาวและหนาตัวได้จนถึงระดับที่ความหนาแน่นของกระดูกสูงสุด (peak bone mass) ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 30 ปี จากนั้น ค่า peak bone mass จะลดลงเรื่อยๆ ปีละ 0.5 – 1% ทั้งเพศชายและหญิง ยกเว้นหญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีอัตราการสูญเสียมวลกระดูก 3 – 5% ต่อปี นาน 5 ปี หลัง 5 ปีจะมีอัตราการสูญเสียเท่าเดิม

โรคกระดูกพรุน หมายถึง โรคที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลงเรื่อยๆ รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของกระดูก ทำให้ไม่สามารถรับนํ้าหนัก หรือแรงกดดันได้ตามปกติ ทำให้เกิดกระดูกหักตามมา การหักของกระดูกที่พบบ่อยและ มีความสำคัญในสตรีวัยทองคือ การหักของข้อกระดูกสันหลัง ข้อสะโพกและข้อมือ การหักที่อาจทำให้เสียชีวิตได้คือ การหักของข้อสะโพกเพราะมีภาวะแทรกซ้อน เลือดตกใน หากไม่เสียชีวิตก็มักทำให้พิการไม่สามารถลุกเดินได้ ต้องพึ่งพาผู้อื่น ในการกระทำกิจวัตรประจำวัน และส่งผลกระทบต่อสภาพจิต อารมณ์ของผู้สูงอายุในระยะยาว นอกเหนือจากทุกขภาระของญาติในการดูแล ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคมแล้ว

เนื่องจากสาเหตุโรคกระดูกพรุน คือ มวลกระดูกที่ลดลง การตรวจคัดกรอง โรคกระดูกพรุนจึงใช้วิธีการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก (ตรวจวัด BMD.Bone mineral density) ที่ข้อกระดูกสันหลัง หลักการคือใช้ลำแสงที่สามารถทะลุผ่านกระดูกไปตกบนตัวรับแสงและวัดเป็นค่าตัวเลขกระดูกที่มีความหนาแน่นมากจะดูดซับพลังงานทำให้แสงผ่านน้อย เทคนิคของหลักการนี้ที่ใช้โดยทั่วไปคือ การทำ DEXA ย่อมาจาก Dual – energy X – ray absorptionmetry ข้อเสียของ DEXA คือ เครื่องใหญ่ราคาค่อนข้างแพง วิธีการวัดอีกวิธีหนึ่งที่นิยมคือ การใช้คลื่นเสียงความถี่สูงแทนลำแสง เรียกว่า Ultrasound Transmission Volocity มีข้อดีคือเครื่องมีขนาดเล็ก เคลื่อนที่ไปยังบ้านหรือชุมชนได้ เครื่องเล็กนี้นอกจากวัดความหนาแน่นของกระดูกแล้ว ยังตรวจดูโครงสร้างทางจุลภาคที่มีผลต่อการกำหนดความแข็งแรงของกระดูกถึงร้อยละ 20 ได้อีกด้วย แนวทางปฎิบัติในการตรวจคัดกรองคือ ผู้สูงอายุเพศหญิงที่อายุเท่ากับหรือมากกว่า 65 ปี ควรได้รับการตรวจความหนาแน่นทุกคน ผลการตรวจจะเทียบกับค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของกระดูกในประชากรเพศหญิง ในแต่ละประเทศ ถ้าค่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 1 ช่วงเบี่ยงเป็นมาตรฐานแสดงว่า มวลกระดูกบางต้องตรวจซ้ำทุก 1 – 2 ปี ถ้ามีค่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 2 ช่วงเบี่ยงเบน มาตรฐานแสดงว่าเป็นโรคกระดูกพรุนต้องได้รับการรักษา ถ้าค่าอยู่ระหว่างกลางของ ค่ามวลกระดูกบางกับโรคกระดูกพรุน ต้องพิจารณาปัจจัยเสี่ยงอื่นร่วมกัน การมีมวลกระดูกบาง เช่น อายุ สายตา การทรงตัว เพราะถ้าปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น อายุมาก สายตาไม่ดี อยู่ในบ้านที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เข่น พื้นลื่น ก็ควรได้รับการรักษาเหมือนเป็นกระดูกพรุน ประเด็นสำคัญนอกเหนือจากการรักษาและป้องกันการเกิดกระดูกหัก ก็คือ การป้องกันนั่นคือการให้ข้อมูลกับคนในสังคมที่อยู่ในวัย ผู้ใหญ่ให้ตื่นตัวในการเลือกรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย

อรพินท์  หลักแหลม

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า