สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ความสัมพันธ์ของโรคกระดูกกับผู้สูงอายุ

บางท่านมักจะกล่าวว่าไม่เคยไปหาหมอเลย  อายุตั้ง ๖๐,๗๐ แล้ว ไม่เคยทานยาสักเม็ด เกือบจะไม่เห็นความจำเป็นของหมอ  ผมขอเรียนให้ทราบว่า  นับว่าเป็นโชคดีของท่านผู้นั้นจนถึงวันที่กล่าวคำพูดนั้นออกมา (ไม่แน่ว่าท่านจะโชคร้ายเข้าวันใด)

ปัจจุบันนี้การแพทย์ได้เจริญขึ้นมากกว่าแต่ก่อน  สามารถจะตรวจดูสภาพปกติด้วยการเจาะเลือดตรวจหาหยาธิสภาพของแต่ละท่านที่ยังมิได้มีอาการอะไรแสดงออกมา  ท่านอาจจะไม่ทราบว่าตัวของท่านมีน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง อันจะค่อย ๆ ไปทำให้เส้นเลือดของหัวใจหรือสมองมีอาการเปราะ เป็นลมตายเพราะหัวใจวายง่าย ๆ ตายเสียเลยนั้นไม่ทรมาน แต่มันจะเป็นอัมพาตครึ่งซีกไปอีกหลาย ๆ เดือน กว่าจะตาย เช่นนี้ท่านคงไม่ชอบ

เช่นเดียวกับผู้สูงอายุทุกท่าน กำลังอยู่ในสภาพแห่งความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ หูชักจะตึง ๆ ตาต้องใส่แว่นหรือมีต้อต่าง ๆ เกิดขึ้น อันเป็นสัญญลักษณ์แห่งความเสื่อมมาเยี่ยมเยือนท่าน

กระดูกและข้อกระดูก ก็เช่นเดียวกัน  ความเปราะของกระดูกจะเกิดขึ้น  กระดูกจะหักง่ายเข้าและติดยาก  ตามข้อต่าง ๆ เช่น ตะโพก ข้อเท้า นั้นจะงอกและบวมโต บางท่านยิ่งอ้วนสมบูรณ์มาก หลงมัวเมาในอาหาร นึกว่าเกิดมาชาติหนึ่งพอมีอายุก็มีเงินพอที่จะซื้ออาหารดี ๆ บริโภคได้  ก็รับประทานเสียเพลิดเพลิน  จนน้ำหนักเพิ่มไปอีก ๒๐-๒๕ กิโลกรัม นั่งยอง ๆ ไม่ได้ เข่างอไม่ลง หรืออ้วนพุงปลิ้น ยืนตรงแล้วก้มมองไม่เห็นหัวแม่เท้าของตัวเอง มีชีวิตด้วยความอึดอัด ขอให้ท่านคิดเสมอว่าการทานอาหารก็เหมือนทานยา เมื่อท่านรับประทานยา ๒ เม็ดก็ได้ประโยชน์ แต่ถ้ารับเข้าไป ๑๐-๒๐ เม็ด ท่านคงจะต้องตายเพราะทานยาเกินขนาด เช่นเดียวกันถ้าท่านรับประทานเกินขนาด ทุกมื้อ ทุกวัน หรือเป็นนิสัยแล้ว อาหารก็คือยาพิษของท่านนั่นเอง อาหารที่แปลงเป็นกำลังงานที่คิดเป็นแคลอรี่เกินไปนั้น  จะทำให้ร่างกายอ้วน เส้นเลือดของอวัยวะต่าง ๆ จะเปราะไปด้วยแคลเซียมไปเกาะ  ในปัจจุบันนี้พวกเราคงรู้จักกันดีแล้ว

เมื่อร่างกายอ้วนเพิ่มน้ำหนักขึ้น  น้ำหนักของร่างกายนั้นจะเพิ่มไป ๆ ข้อกระดูกที่จำต้องพลอยลำบากรับน้ำหนักคือ

๑.  ข้อกระดูกสันหลังและเชิงกราน

๒.  ข้อตะโพกทั้ง ๒ ข้าง

๓.  ข้อเข่าทั้ง ๒ ข้าง

๔.  ข้อเท้า

๕.  กระดูกส้นเท้า

กระดูกทั้ง ๕ จุดดังกล่าวจะเป็นต้นเหตุทำให้มีอาการปวด เริ่มตั้งแต่อายุแห่งความเสื่อมคือ ๔๐ ปีเศษขึ้นไป แม้แต่ผู้เขียนเองเมื่ออายุเพียง ๔๐-๔๑ ปี นั่งทำงานรู้สึกเมื่อยหน้าแข้ง ปวดรำคาญ ๆ ต่อมาลองฝึกนั่งยอง ๆ แล้วลุกขึ้น ๒๐ ครั้ง เพื่อให้กล้ามเนื้อขาได้ออกกำลังทุกเวลาเช้า เวลาล่วงมา ๑๐ ปีเศษ ผู้เขียนไม่เคยมีอาการปวดเมื่อยอะไรเกิดขึ้นอีก

      สำหรับการป้องกันอาการเมื่อยที่จะเกิดขึ้น คือ

๑.  อย่ามัวเมารับประทานอาหารมากเกินไป  ให้รู้จักบังคับใจ  หัดอดอาหารเอาชนะใจตัวเองเสียบ้าง  การชั่งน้ำหนักบ่อย ๆ (ควรมีเครื่องชั่งไว้ประจำบ้าน) จะเป็นการเตือนสติมิให้หลงระเริงในเรื่องรับประทานอาหาร  เลือกสภาพอาหารโดยให้เปลี่ยนเป็นอาหารผักมากขึ้น น้ำมัน น้ำตาล ข้าว ผลไม้ สี่อย่างนี้จะเป็นตัวทำให้อ้วนได้ง่าย  คนไข้บางคนบอกว่าอาหารข้าวปลาดิฉันกินน้อยมากทำไมจึงอ้วนได้ ไม่น่าแปลกใจเลยเพราะขณะดูโทรทัศน์เธอนั่งปอกเงาะหรือผลไม้อื่น ๆ เข้าปากเป็นกิโล ๆ

๒.  หาเวลาออกกำลังกายให้เป็นนิสัย  เวลาเช้าอย่างน้อย ๓๐ นาทีทุกวัน  ควรออกกายบริหารท่ามือเปล่า ดังนี้

ก.  นั่งยอง ๆ เขย่งแล้วลุกขึ้น ๒๐ ครั้ง ท่านี้ออกกำลังกล้ามเนื้อขาทั้ง ๒ ข้าง มิให้ปวดเข่า ตะโพกข้อเท้า

ข.  นอนหงายบนเตียง แล้วยกขา เข่าเหยียด ๒ ข้าง ขึ้นสูงเลยศีรษะ ๒๐ ครั้ง เป็นท่าออกกำลังกายของกล้ามเนื้อสันในและกระดูกส่วนล่าง

ค.  นอนหงายมือกอดอก ยกตัวนั่ง ๒๐ ครั้ง ท่านี้จะลดขนาดของพุงไม่ให้โต  เป็นการบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง

๓.  ตั้งแต่ตื่นนอนตลอดทั้งวันควรจะดื่มน้ำไม่ต่ำกว่า ๘-๑๐ แก้ว ยิ่งมากยิ่งดี  ไม่ต้องกลัวอ้วน  เพราะน้ำนี้ไม่ให้กำลังงานร่างกายจะดูดน้ำเหล่านี้เข้าไปเป็นพาหะให้นำของเสียที่ร่างกายไม่ต้องการให้กลั่นออกมาทางปัสสาวะและเหงื่อ ของเหล่านี้ เช่น กรดยูริคที่เป็นตัวทำให้ร่างกายเมื่อยขัดเมื่อมีกรดนี้สะสมอยู่ในร่างกายมาก หรืออาจจะทำให้เป็นนิ่ว เป็นก้อน ๆ ไปอุดตามท่อไต และระบบทางเดินปัสสาวะอื่น ๆ ได้

๔.  ในคนที่สูงอายุ ควรจะป้องกันการหกล้มในขณะที่เดินด้วยการใช้ไม้เท้าช่วยยัน เพราะถาเหยียบของลื่น มือที่ถือไม้เท้าจะช่วยยับยั้งมิให้ตะโพกกระแทกดิน  ซึ่งจะทำให้ตะโพกหักได้ ขอให้นึกเสมอว่ากระดูกของผู้สูงอายุจะเปราะง่าย ฉะนั้นการที่กระดูกต่าง ๆ ในร่างกายได้ออกกำลังกายบริหารอยู่ทุกวันแล้วกระดูกจะแข็งแรงแกร่งอยู่เสมอ ผิดกับกระดูกที่ถูกทอดทิ้งขาดการบริหาร คนมีอายุส่วนมากมักจะไปนึกว่า ตัวเราอายุมากแล้ว “ช่างมันเถิด” นั่นเป็นความเข้าใจผิด การออกกำลังกายนั้นบางท่านอาจจะนึกอับอายลูกหลาน อย่าไปนึกเช่นนั้นเลย  ในประเทศที่เจริญแล้ว ยิ่งมีอายุมาก ๆ ๗๐-๘๐ ปีก็ตาม เขาจะหาเวลา เช้า-เย็น ออกกำลังกายด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ว่ายน้ำ เล่นกอล์ฟ บริหารท่ามือเปล่า ดังตัวอย่างที่ข้าพเจ้าแลเห็น มีผู้สูงอายุผู้หนึ่งประมาณ ๗๕ ปี ทุก ๆ วันท่านออกกำลังกายด้วยการวิดน้ำพื้น ๒๐-๓๐ ครั้ง ยกและหมุนแขน ๓๐ ครั้ง นั่งยอง ๆ ลุกขึ้น ๓๐ ครั้ง วันหนึ่งท่านพลาดตกบันไดสูง ๓ ชั้น ไหล่ข้างขวาฟาดกับพื้นมีอาการเจ็บมาก ครั้งแรกข้าพเจ้านึกว่าแขนหักเพราะความที่อายุมากแล้ว และแขนข้างนั้นขยับเขยื้อนไม่ได้  แต่ปรากฎผลภายหลังจากเอ็กซเรย์ในตอนเช้ากระดูกไม่หัก และกระดูกมีลักษณะแข็งแรงผิดกับคนรุ่นเดียวกัน

นี่เป็นตัวอย่างที่ดีว่า ผู้ที่บริหารท่ามือเปล่าทุก ๆ วันจะป้องกันมิให้กระดูกบางผุเหมือนผู้ที่สูงอายุแล้วปล่อยปละละเลยในตัวเอง

ขอวกมาพูดถึงข้อกระดูกของผู้สูงอายุ ที่พบว่ามีโรคาพยาธิบ่อย ๆ

หัวไหล่  ไม่ว่าข้างซ้ายหรือข้างขวา  ถ้าผู้สูงอายุไม่ได้หมั่นออกกำลังกาย เช่น ไม่เคยหมุนแขน หรือยกแขนทุก ๆ วันแล้ว เมื่อเข้าวัยชรา อาการปวดไหล่ ไหล่ยึด ยกแขนขึ้นไม่เต็มที่ หรือแม้แต่เป็นแผลที่มือหรือใส่เฝือกไว้นาน ลืมยกแขน จะทำให้ไหล่ข้างนั้นยึดได้  นั่นคือความเสื่อมมาเยี่ยม มาทรมานท่านแล้ว  และท่านเชื่อไหม ถ้าท่านออกกำลังทุกเช้า ตามที่แนะนำดังกล่าว อาการปวดแขนเช่นนั้นจะไม่เกิดแก่ท่านเลย  ถ้าท่านออกกำลังกายแล้วยังเป็นหรือมีอาการเช่นนั้นอีก ขอให้ท่านไปหาแพทย์ผู้ชำนาญ ตรวจได้แล้ว ท่านอาจจะมีอาการอื่นแทรก เช่น เนื้องอกหรือเนื้อร้ายของกระดูกที่ชอบเกิดในคนสูงอายุได้บ่อย ๆ

อาการเมื่อยหลังหรือปวดแถวกระแบนเหน็บ บางรายการปวดร้าวมาถึงน่องหรือข้อเท้า พบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่ไปยกของหนักโดยไม่นึกถึงวัยของตน  นึกว่าเมื่อหนุ่ม ๆ เคยยกได้ พอยกของหนัก ๆ กระดูกหลังจะดังลั่นดังกรุ๊บ ที่มีเสียงดังอาจจะเกิดจากเอ็นเหนียวที่รองระหว่างข้อกระดูกสันหลังมันเสื่อม  เมื่อไปยกของหนัก ๆ เข้า เอ็นเหนียวนั้นมันจะแตกไปกดเส้นประสาทใหญ่และไขสันหลัง อาการปวดหลังจะเกิดขึ้นทันที นอกจากนั้นการก้มหลังเลือกของหยิบของที่อยู่ต่ำกว่า เช่น ท่าเลือกซื้อผลไม้ของผู้หญิง ใช้เวลานาน ๔-๕ นาที ก็เป็นท่าที่ทำให้เกิดเป็นโรคปวดหลังเรื้อรังได้  ฉะนั้นผู้สูงอายุจะต้องหลีกเลี่ยงจากเหตุดังกล่าว คือไม่ให้ยกของหนักที่ตัวเองไม่ได้ยกมานาน ไม่ให้ยืนก้มหลังนาน ถ้าจะยืนเช่นนั้น ก็ให้นั่งยอง ๆ หรือนั่งบนเก้าอี้เลือกตามสบาย พยายามอย่าให้ลงพุงหรือเพิ่มน้ำหนักเมื่อมีอายุมากขึ้น เพราะน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้จะไปทำให้กระดูกสันหลัง ส่วนเอวรับน้ำหนักมากขึ้น

การบริหารร่างกายที่จะช่วยทำให้การปวดหลัง ไม่เกิดขึ้นที่สำคัญคือ

๑.  นอนหงายแล้วยกเท้าทั้ง ๒ ข้าง ขึ้นสูงสุด ๒๐ ครั้ง

๒.  นอนหงายแล้วยกตัวขึ้นจากท่านอนเป็นนั่ง ๒๐ ครั้ง

๓.  ลุกขึ้นยืนแล้วก้มหลังให้มือแตะพื้นได้ยิ่งดี แล้วก็แอ่นไปทางหลังมากเท่าที่จะทำได้สัก ๑๐ ครั้ง

การบริหารต่าง ๆ เหล่านี้ จะต้องทำทุกเช้าจนเป็นนิสัย ไม่มีการยกเว้น ท่านจะสมความปรารถนาจนตลอดอายุขัยของท่าน แต่ถ้าท่านบริหารตามข้อแนะนำเหล่านี้แล้วยังมีอาการปวดหลังขึ้นมาอีก ขอให้ท่านไปให้แพทย์ตรวจโดยละเอียด  เพราะโรคอื่น ๆ ยังอาจจะเกิดขึ้นตามกรรมของแต่ละท่าน เช่น มะเร็งของกระดูก วัณโรคของกระดูกสันหลังและ อื่น ๆ

จำไว้ให้ดีว่า ไปหาแพทย์ที่ได้ศึกษาวิชาแพทย์ ขออย่าได้หลงผิด ในการไปใช้น้ำมันมนต์ทา หรือยาจีนพอกปิดกอเอี๊ยะ จะเป็นเหตุทำให้อาการของโรคร้ายแรงยิ่งขึ้น

จงฝากชีวิตไว้กับแพทย์ที่ได้เรียนมาโดยถูกต้อง

ข้อเข่า เข่าทั้ง ๒ ข้าง จะทำงานได้ปกติ คือ พับ (นั่งยอง ๆ) เหยียดได้ตรง เพื่อให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้ตามความต้องการ  ในผู้สูงอายุที่ไม่เคยได้ออกกำลังกายเลยและปล่อยให้น้ำหนักตัวเพิ่มคืออ้วนเอา ๆ เข่าทั้ง ๒ ข้างจะรับน้ำหนักส่วนเกิน อาจจะเพิ่มถึง ๒๐- ๓๐ กิโลกรัม (ตั้งแต่อายุ ๒๕ ปี เป็นอายุที่ร่างกายหยุดเจริญแล้ว จนถึง ๕๐ ปี  ซึ่งอยู่ในวัยเสื่อม) แต่ที่น้ำหนักเพิ่มมาได้ก็เพราะว่า อาหารที่กินมากเกินไปจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันเริ่มพอกตามตัวในที่ต่าง ๆ เช่น ใต้ผิวหนังทั่วไป ใต้คาง พุง หน้าอก โดยที่ความโตของกระดูกหยุดโตตั้งแต่อายุ ๒๕ ปี ข้อเข่ามันจะสึกหรอไป ๆแต่เมื่อน้ำหนักมากขึ้น ขอบ ๆเข่า มันจะมีกระดูกงอกออกมาตามเยื่อเหนียวหุ้มข้อเข่า  และมีกระดูกอ่อนหุ้ม บางรายอาจจะงอกหนาถึง ๑-๑.๕ เซนติเมตร

ฉะนั้นในผู้สูงอายุที่อ้วนมาก และปราศจากการออกกำลังกาย  จะเริ่มปวดเข่า เมื่อยขา เมื่ออายุเริ่ม ๔๐-๕๐ ปี เข่าจะบวมโต และอาจจะมีน้ำที่เกิดจากความระคายเคืองเพิ่มจำนวนขึ้นในข้อ  ยิ่งจะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น  เข่าจะงอเข้าได้น้อยลง คนไข้จะนั่งยอง ๆ ไม่ได้ ยิ่งทิ้งไว้ ๆ เพียง ๒-๓ ปี เข่าจะเกือบเหยียดตรง งอไม่ได้เลย และเข่าทั้ง ๒ ข้างจะลึกโค้งออกเวลาเดินจะเห็นเข่าโค้ง กระย่องกระแย่ง

        อาการเหล่านี้ถ้าท่านได้ควบคุมน้ำหนักไว้  และได้บริหารท่านั่งยอง ๆ และลุกขึ้นอยู่เสมอทุกวัน ตามคำแนะนำของแพทย์แล้ว ท่านจะไม่มีอาการปวดวเข่า ปวดตะโพก มีชีวิตอยู่ชมโลกด้วความสุขสวัสดี

น.พ. ประเสริฐ  นุตกุล

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า