สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ปัญหาทางโภชนาการในผู้สูงอายุ

ปัญหาทางโภชนาการในผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดมาจาก การเปลี่ยนแปลงภาวะโภชนาการของผู้สูงอายุมีผลทำให้ผู้สูงอายุได้รับอาหาร ไม่ครบถ้วนหรือไม่เพียงพอ ก่อให้เกิดปัญหาทางโภชนาการในผู้สูงอายุได้ การเปลี่ยนแปลงภาวะโภชนาการของผู้สูงอายุ ได้แก่ ความอยากอาหารลดลงจากการทำงานของระบบประสาทเกี่ยวกับการรับรส กลิ่นและสัมผัสเสื่อมลง ความสามารถในการทำงานของระบบทางเดินอาหารลดลง เช่น การไม่ค่อยมีฟันเหลืออยู่ การทำงานของต่อมนํ้าลายลดลง ปากและลิ้นแห้ง ทำให้เกิดเป็นแผลติดเชื้อได้ง่าย ความสามารถในการบดเคี้ยวและการกลืนลดลงทำให้เกิดการเบื่ออาหาร การดูดซึมสารอาหารลดลง การทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลงทำให้เกิดอาการท้องอืดหรือท้องผูกได้ง่าย การเผาผลาญของร่างกายที่ลดลงทำให้ร่างกายต้องการพลังงานลดลงเนื่องจากระดับการออกกำลังกายหรือการทำงานที่ลดลง ประกอบกับปัญหาทางด้านจิตใจ เช่น ผู้สูงอายุที่มีความว้าเหว่และหดหู่จากการที่บุตรหลานไม่ค่อยได้เอาใจใส่ หรือถูกทอดทิ้งทำให้มีโอกาสได้รับอาหารน้อยลง นอกจากนี้ความเสื่อมของร่างกาย ความแข็งแรงที่ลดลงหรือมีความเจ็บป่วยพิการทำให้ความสามารถในการจัดหาอาหารมารับประทานเองไม่ได้ หรือไม่ เหมาะสมและครบถ้วน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้เกิดปัญหาทางโภชนาการในผู้สูงอายุได้ ดังนี้

1.  การได้รับอาหารน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย

2.  การได้รับอาหารไม่ครบส่วน ที่พบได้บ่อยได้แก่

2.1  การรับอาหารที่มีกากไม่เพียงพอ อาหารที่มีกาก เช่น เส้นไย ของผักผลไม้ต่างๆ จะช่วยให้ระบบการขับถ่ายเป็นปกติ ถ้าได้รับไม่เพียงพอจะทำให้ผู้สูงอายุเกิดอาการท้องผูกได้ง่าย และจะนำไปสู่อาการอึดอัดและเบื่ออาหารในที่สุด

2.2  การขาดแคลเซียม ผู้สูงอาจะขาดแคลเซียมได้ง่ายกว่าคนในวัยอื่นๆ เนื่องจากมีการสลายของแคลเซียมออกจากกระดูกมาก ทำให้กระดูกเปราะ กระดูกเสื่อมและกระดูกหักได้ง่าย อาจจะมีอาการเป็นตะคริวหรือชาที่มือและเท้า บางรายมีกล้ามเนื้อที่หน้ากระตุก หลอดลมหดเกร็งและกล้ามเนื้อหน้าท้องเกร็งทำให้ปวดท้องมากด้วย นอกจากนี้การขาดแคลเซียมอาจเกิดจากการได้รับอาหารที่มีแคลเซียมน้อยลง อาหารที่มีแคลเซียมมาก เช่น นม ผักคะน้า ปูทะเล ปูม้า ผักขึ้นฉ่าย ปลาซาดีนกระป๋อง ปลาแห้ง กระดูกปลาป่น กุ้งแห้ง เป็นต้น

2.3  การขาดนํ้า ปกติร่างกายต้องการนํ้าประมาณวันละ 2 ลิตร เพื่อทำให้ร่างกายคงสภาพการทำงานได้ตามปกติ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีปัญหา ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อยครั้ง บางคนแก้ปัญหาโดยการจำกัดการดื่มนํ้าลง จากสาเหตุเหล่านี้จะมีผลให้ร่างกายขาดนํ้า อ่อนเพลีย เกิดภาวะเป็นกรดในเลือด และยังเป็นสาเหตุทำให้ท้องผูกอีกด้วย สภาพของร่างกายที่ขาดนํ้า จะพบว่าปัสสาวะจะมีสีเหลืองจัด มีกลิ่นฉุน ปัสสาวะมีปริมาณน้อยลง ลมหายใจมีกลิ่นผิดปกติ ปากแห้ง คอแห้ง ไม่ค่อยมีนํ้าลาย เป็นต้น

2.4  การขาดธาตุเหล็ก สาเหตุมักเกิดจากการได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็กน้อย เช่น อาหารประเภทเนี้อสัตว์ ตับ ไต ไข่ เมล็ดพืช ถั่ว เป็นต้น และถ้ามีการเป็นแผลและเสียเลือดทำให้ร่างกายต้องการธาตุเหล็กทดแทนมากขึ้น ในผู้สูงอายุ อาจจะเสียเลือดจากการเป็นริดสีดวงทวารเพราะเวลาถ่ายอุจจาระด้วย ผลจากการขาดธาตุเหล็กจะทำให้เป็นโรคเลือดจาง ร่างกายมีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนและอาการจะรุนแรงมากเมื่อเลือดจางมากขึ้น

2.5  การขาดวิตามีนซี มักเกิดจากการได้รับไม่เพียงพอ ได้แก่ ผลไม้รสเปรี้ยวและผัก เป็นต้น การขาดวิตามินซีทำให้เกิดโรคเลือดจางได้ เพราะ วิตามินซีช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้     และยังทำให้เกิดโรคเลือดออก

ตามไรฟันหรอผิวหนัง ทำให้ภูมิต้านทานโรคตํ่า และเป็นหวัดได้ง่ายด้วย

3.  หากได้รับอาหารปริมาณมากเกินไป   โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีฐานะทาง เศรษฐกิจดี มีการอยู่ดีกินดี ทำให้รับประทานอาหารปริมาณมาก อาจจะทำให้มีนํ้าหนักมากเกินไป หรือเป็นโรคอ้วนได้ ประกอบกับการใช้กำลังงานที่ลดลง ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย นอกจากนี้ร่างกายของผู้สูงอายุไม่สามารถใช้อาหาร พวกคาร์โบไฮเดรท เช่น พวกแป้งและนํ้าตาล จึงมีโอกาสเกิดโรคเบาหวานได้ง่าย ผู้สูงอายุที่มีนํ้าหนักเกินทำให้หัวใจต้องทำงานมากขึ้นมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดได้ และเมื่อนํ้าหนักมากจะทำให้ข้อต่างๆ ต้องรับนํ้าหนักมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะข้อสะโพกและข้อเข่า จึงมีโอกาสเกิดอาการปวดหลัง ปวดเข่า ปวดข้อต่างๆ และเกิดข้ออักเสบได้อีกด้วย

4.  การได้รับอาหารบางชนิดมากเกินไป  ส่วนใหญ่ได้แก่ อาหารประเภท ไขมันสูง ในผู้สูงอายุมักจะมีไขมันตกตะกอนตามผนังของหลอดเลือดทำให้เกิดหลอดเลือดแข็งตัว โดยเฉพาะหลอดเลือดที่หัวใจหรือสมอง ซึ่งจะทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนนั้นไม่เพียงพอ ทำให้เกิดหัวใจวายหรือสมองขาดเลือดไปเลี้ยงได้ ถ้าเป็นหลอดเลือดที่ไตจะทำให้ไตทำงานไม่ปกติ เกิดการคั่งของของเสียในร่างกาย และเกิด ภาวะไตวายได้

การเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาทางโภชนาการในผู้สูงอายุจะช่วยให้เราสามารถจัดอาหารหรือดูแลให้ผู้สูงอายุได้รับอาหารอย่างครบถ้วน ถูกต้องและเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

วชิราภรณ์  สุมนวงศ์

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า