สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โภชนบำบัด

โภชนบำบัด (Therapeutic Nutrition หรือ Diet Therapy) หมายถึงการใช้อาหาร และความรู้ด้านโภชนศาสตร์รักษาโรคของผู้ป่วย โดยดัดแปลงอาหารธรรมดาให้เหมาะกับโรคหรือความต้องการของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปตามสรีรวิทยาขณะเจ็บป่วย

จุดประสงค์ของโภชนบำบัด
1. ขจัดการขาดสารอาหารต่างๆ ให้หมดไป และป้องกันการขาดสารอาหารในโอกาสต่อไปด้วย
2. ให้อวัยวะที่พิการได้พักการทำงานชั่วคราว
3. เพื่อช่วยเหลืออวัยวะที่พิการให้สามารถรับเอาอาหารพอกับกำลังที่จะเผาผลาญได้
4. เพื่อดำรง เพิ่มหรือลดน้ำหนักของผู้ป่วยให้อยู่ในระดับมาตรฐาน
5. ให้ร่างกายของผู้ป่วยทนต่อโรคได้ดีโดยไม่ทรุดโทรม
6. เพื่อดำรงและส่งเสริมภาวะโภชนาการ
7. งดอาหารที่ผู้ป่วยเคยแพ้
8. ดัดแปลงอาหารให้เหมาะกับการที่ร่างกายของผู้ป่วยจะนำไปใช้ประโยชน์ได้

ชนิดของอาหารสำหรับผู้ป่วย
1. อาหารธรรมดา (Normal Diet) สำหรับผู้ป่วยที่การย่อยเป็นปรกติ เป็นอาหารธรรมดาครบมาตรฐาน คนป่วยธรรมดาทั่วไปรับประทาน เช่น ข้าวสวย แกงเผ็ด แกงจืด แกงคั่ว แกงส้ม ต้มยำต่างๆ แกงเลียง ผัด ผักต่างๆ สลัดและยำต่างๆ เนื้อสัตว์ทอด อบ ย่าง สตูร์ หรือปิ้งไข่ที่ปรุงทุกแบบ เครื่องหลนทุกชนิด ผลไม้ทุกชนิด ของหวานทุกชนิด

2. อาหารเบาหรืออาหารสำหรับผู้ป่วยพักฟื้น (Light Diet หรือ Convalescent Diet) เป็นอาหารสำหรับให้รับประทานช่วงเวลาหนึ่งแล้วค่อยเปลี่ยนเป็นอาหารชนิดอื่นต่อไป อาหารชนิดนี้ควรงดพวกมีมันมาก มีกากมากและย่อยยาก อาหารเบา เช่น นมสด นมเปรี้ยว ครีม เครื่องดื่มที่ใส่นมผง ไข่ที่ปรุงทุกแบบ ยกเว้นไข่เจียว เนื้อสัตว์ต่างๆ ที่บด อบ ย่าง ต้ม นึ่ง ข้าวตุ๋น แกงจืด ซุบ แกงเลียง เครื่องหลนที่ไม่เผ็ด สลัดและยำที่รสไม่จัด ผักสด ผักต้มหรือนึ่งที่มีกากน้อย ผลไม้สดที่มีกากน้อย น้ำผลไม้คั้น ขนมหวานที่มีไขมันน้อย ไม่มีถั่วลิสง หรือนัต ขนมเค็ก สังขยาที่ใช้นมแทนกะทิ เครื่องดื่มทุกประเภท ถ้าให้ดีควรใส่นมผงด้วย เนื้อหมูห้ามใช้เด็ดขาด

3. อาหารอ่อน (Soft Diet) สำหรับผู้ป่วยที่อวัยวะการย่อยผิดปรกติ มีลักษณะอ่อน กลืนง่ายไม่ต้องเคี้ยวและไม่มีกาก หรือถึงมีก็น้อยมาก อาหารพวกนี้ได้แก่ ข้าวต้มหรือข้าวตุ๋นเปื่อย แกงจืดผักบด เนื้อบด หมูบด ไก่บด ปลานึ่ง ย่าง หรือต้ม ผัดผักบดกับน้ำซุบ ไอสครีม ตะโก้ต่างๆ น้ำผลไม้คั้น

4. อาหารเหลว (Liquid Diet) เป็นอาหารย่อยง่ายมีกากน้อย สำหรับให้ผู้ป่วยหนัก มีไข้สูง หรือหลังจากผ่าตัด 24 ชั่วโมง อาหารเหลวมี 2 ชนิด คือ อาหารเหลวใส เช่น น้ำข้าวใส น้ำผลไม้คั้น และอาหารเหลวข้น เช่น น้ำข้าวข้น เครื่องดื่มผสมนม ไข่

ตัวอย่างอาหารเหลว คือ น้ำข้าว น้ำเนื้อตุ๋น น้ำผลไม้คั้น ซุบไก่ น้ำชา กาแฟ โกโก้ น้ำขิง น้ำผลไม้ขวดต่างๆ นมสด แป้งท้าวยายม่อมเปียกใส ๆ น้ำข้าวตังปิ้ง น้ำผลไม้แห้งต่มผสมกับน้ำตาล

5. อาหารเฉพาะโรค (Special Diet)
(1) อาหารโปรตีนสูง (High Protein Diet) อาหารชนิดนี้มีจำนวนโปรตีนสูงกว่ามาตรฐานเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ทำการผ่าตัด ไฟลวก โลหิตออก (hemorrhage) แผลในที่หนึ่งที่ใดจะเรียกเนื้อให้ตื้นขึ้นโดยเร็ว บวม โรคไต (nephrosis) หญิงมีครรภ์ และแม่ลูกอ่อน

(2) อาหารโปรตีนต่ำ (Low Protein Diet) จำกัดอาหารโปรตีน สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง

(3) อาหารคาร์โบไฮเดรทสูง (High Carbohydrate Diet) เพิ่มปริมาณคาร์โบไฮเดรทสูงสำหรับคนเป็นโรคดีซ่าน acidosis ครรภ์เป็นพิษ (toxemia of pregnancy) และโรคที่เกี่ยวกับลำไส้

(4) อาหารคาร์โบไฮเดรทต่ำ (Low Carbohydrate Diet) เป็นอาหารที่แป้งและน้ำตาลถูกลดจำนวนลง ใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคลมบ้าหมู (epilepsy) ข้ออักเสบ (arthritis) และโรคช่องท้อง (celiac disease)

(5) อาหารไขมันสูง (High Fat Diet) ใช้เมื่อต้องการความร้อนหรือแคลอรีสูงกว่าธรรมดาเพื่อต้องการให้น้ำหนักขึ้น โรคท้องผูกเรื้อรัง ลมบ้าหมู กรวยไตอักเสบ (pyelitis) แผลในกระเพาะและลำไส้ (peptic ulcer)

(6) อาหารไขมันต่ำ (Low Fat Diet) จะตัดจำนวนไขมันลงเพื่อรักษาโรคไต ท้องเดิน โรคช่องท้อง โรคดีซ่าน และโรคอ้วน

(7) อาหารโซเดียมต่ำ (Low Sodium Diet) ต้องลดจำนวนเกลือในการประกอบอาหาร เพราะตามปรกติ เกลือเป็นส่วนประกอบอาหารแทบทุกชนิด มากบ้างน้อยบ้าง สำหรับรักษาโรคบวมทุกชนิด โรคไตเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ กรดมากในกระเพาะอาหาร

(8) Purin Free Diet อาหารชนิดนี้จำกัดพูรีน (purin) ซึ่งมีอยู่ในเนื้อสัตว์โดยมากในเนื้อวัว ปลา และเครื่องในของสัตว์ ธัญพืชบางชนิด ชาและกาแฟ ใช้สำหรับโรคไตเรื้อรัง ข้ออักเสบและโรคเก๊าท์ (gout)

(9) อาหารแคลอรีสูง (High Calorie Diet) ต้องเพิ่มแคลอรีสูงกว่าอาหารมาตรฐาน เพื่อทดแทนความร้อน ซึ่งหมดไปโดยการเผาผลาญอย่างรวดเร็ว จะเพิ่มสารอาหาร (nutrient) ได้ทุกชนิดสำหรับรักษาไข้ต่างๆ ซึ่งมีระยะนานวัน โรคผอมแห้งแรงน้อย วัณโรค หลังจากเสีย เลือดเป็นจำนวนมาก อาหารที่เพิ่มขึ้น คือ นมและไข่

(10) อาหารมีกาก (Roughage Diet) อาหารชนิดนี้ประกอบด้วยผลไม้สดและแห้ง ผักสดชนิดต่างๆ ทั้งใบและฝัก และอาหารอื่นที่มีกากหยาบๆ ใช้ในการรักษาโรคท้องผูกเรื้อรัง โรคอ้วน โรคเบาหวาน

(11) อาหารมีกากน้อย (Low Residue Diet) ประกอบด้วยอาหารที่ย่อยง่ายไม่มีกาก สามารถดูดซึมได้ง่าย ไม่รบกวนต่อประสาทและเยื่ออ่อนของอวัยวะภายใน ใช้ในการรักษาโรคท้องเดินเรื้อรัง แผลในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยที่มีไข้ ก่อนและหลังการผ่าตัดเพื่อไม่ต้องการให้ ลำไส้ขยับเขยื้อนมาก

(12) อาหารอุดมด้วยเกลือแร่ (Diet Rich in Mineral Salt) อาหารชนิดนี้เพิ่มปริมาณธาตุปูนและธาตุเหล็กมากกว่าธรรมดา จะหาได้จากจำพวกนม ไข่ ผักใบเขียว ผลไม้ จำพวกธัญพืชต่างๆ เนื้อสัตว์ ถั่วแห้งต่างๆ ผลไม้ตากแห้ง

(13) อาหารอุดมด้วยธาตุเหล็ก (iron rich Diet) ใช้ในการรักษาโรคโลหิตจาง (anemia) ทุกชนิด และในผู้ที่มี Secondary anemia เช่นในทารกที่เกิดใหม่ และหญิงมีครรภ์ โรคขาดอาหารหลังจากมีโลหิตออก (hemorrhage) ท้องเดินเรื้อรังและอาเจียน มาเลเรีย พยาธิลำไส้

(14) อาหารอุดมด้วยแคลเซียม (Calcium Rich Diet) ใช้ในการรักษาวัณโรค โรคกระดูกอ่อน (osteomalacia) ชัก ฟันผุ และกระดูกหัก

(15) อาหารนม (Milk Diet) อาหารชนิดนี้ประกอบด้วยนมทั้งหมด หรือ นมกับครีม มักใช้ในการรักษาโรคเกี่ยวแก่กระเพาะอาหาร

เป็นโรคแต่ละอย่างควรกินอาหารชนิดใด
เมื่อเป็นโรคบางอย่างควรสังวรในเรื่องอาหารการกินไว้ด้วย เพราะจำเป็นสำหรับการหายอย่างรวดเร็วและหายอย่างดี คือไม่มีโรคแทรกซ้อน โรคที่ควรกล่าวถึง คือ

1. โรคตับ ควรกินอาหารอ่อน ย่อยง่าย อาหารที่ควรกินมาก คือ พวกคาร์โบไฮเดรท สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่อาหารพวกไขมัน เพราะท้องจะอืด แน่น ไม่สบายเนื่องจากการย่อย เป็นไปไม่ได้ดี

2. โรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคหัวใจ เนื่องจากสาเหตุ 6 ประการ
(1) โคเลสเตลรอลในเลือดสูง
(2) แรงดันโลหิตสูง เนื่องจากมีโคเลสเตอรอลในเลือดสูง หลอดเลือดหนาและตีบ
(3) ความเครียด
(4) สูบบุหรี่จัด

(5) ขาดการออกกำลังกาย
(6) อ้วน

การป้องกันโรคนี้ก็ด้วยการคอยระวังมิให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงเกิน 220 มก. % ด้วยการออกกำลังกาย เลิกสูบบุหรี่ ลดความอ้วน และโดยเฉพาะคือให้ปฏิรูปในเรื่องการกินเสียใหม่ ดังที่สภาวิจัยแห่งชาติอเมริกันได้ตั้งคำขวัญเพื่อเตือนประชาชนไว้ว่า “จงกินเพื่อช่วยหัวใจของท่าน (Eating to Save your Heart)” โดยให้ลดการกินไขมันสัตว์ ลดการกินไข่แดง และให้กินน้ำมันพืชมากขึ้นแทน ควรงดอาหารพวกเค็มจัด

ผู้ป่วยที่ได้รับยารักษาโรคความดันโลหิตสูงบางอย่างต้องห้ามอาหารพวกเนยแข็ง เบียร์ กล้วยหอม เพราะของเหล่านี้มีทัยรามีน และเซอโรโทนิน ซึ่งจะทำให้ความดันโลหิตขึ้นสูงกว่าปรกติทันที อาจตายได้

3. โรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ต้องหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด (เปรี้ยว เค็ม เผ็ด) ของเย็นจัด น้ำอัดลม ของหมักดอง เครื่องดื่มที่ผสมด้วยแอลกอฮอล์ น้ำชา และกาแฟ แล้วรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย ให้อาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง ค่อยๆ เพิ่มอาหารขึ้นเป็นลำดับ อย่าปล่อยให้หิว

4. โรคหืดและลมพิษ ควรหลีกเลี่ยงอาหารทะเล เช่น หอยแครง ปลาเค็มและปลาหมึก เป็นต้น

5. โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและผู้มีอาการเจ็บคันในคอ ไม่ควรกินอาหารรสจัดหรือของทอดน้ำมัน

6. โรคไต ต้องลดอาหารเค็มๆ คนไข้ที่ได้รับยาขับปัสสาวะบางอย่าง ควรกินส้ม หรือมะเขือเทศเพื่อป้องกันการขาดโปแตสเซียม

7. โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus เป็นภาษากรีก Diabetes แปลว่า ไหลผ่าน Mellitus แปลว่า น้ำผึ้ง) โรคนี้มักเป็นกับคนที่มีอายุตั้งแต่ 40ปีขึ้นไป และมักเป็นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2 ต่อ 1

สาเหตุของการเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งเนื่องจากตับผลิตอินซูลินน้อย ทำให้การเผาผลาญน้ำตาลให้เป็นพลังงานได้น้อยกว่าปรกติ จึงเป็นเหตุให้มีน้ำตาลสูงในเลือดและขับปัสสาวะหวาน คือ
(1) กรรมพันธุ์ คือพ่อหรือแม่เป็นโรคเบาหวาน ลูกก็จะเป็นด้วย
(2) แรกคลอดออกมาหนักเกิน 4,500 กรัม
(3) ชนชาติที่กินอาหารพวกแป้งหรือข้าวจำนวนมาก
(4) คนที่ทำงานเบามักเป็นมากกว่าคนที่ทำงานหนัก
(5) คนที่อ้วน จากการศึกษาพบว่า ร้อยละ 77 ของโรคเบาหวานพบในคนอ้วนร้อยละ15 พบในคนปรกติ และร้อยละ 8 พบในคนผอม

การรักษาเบาหวาน
(1) ควบคุมอาหาร
(2) ออกกำลังกาย
(3) การใช้ยา

โดยเฉพาะเรื่องอาหารนั้น ต้องให้ผู้ป่วยได้รับอาหารที่มีคุณภาพดี และมีปริมาณที่เหมาะแก่พลังงานที่ใช้ในวันหนึ่งๆ ตามขนาดความสูงและอายุ โดยลดคาร์โบไฮเดรทลงครึ่งหนึ่ง เช่นพวกแป้งหรือข้าวควรได้รับประทาน 160-200 กรัม ต่อวัน หรือประมาณ 5 ถ้วยตวง (1 ถ้วยตวงให้แป้ง 40 กรัม ห้ามกินของหวานเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แล้วกินโปรตีนกับพืชผักต่างๆ ให้มากขึ้นเพื่อชดเชย ส่วนไขมันนั้นคงกินเท่าเดิม แต่ควรเป็นน้ำมันพืช (ยกเว้นน้ำมันมะพร้าว) เป็นส่วนใหญ่ ขอให้จำไว้ง่ายๆ ว่า ในการรักษาโรคเบาหวานด้วยการควบคุมอาหารนั้น “จำกัดอาหารแป้ง (น้ำตาล) ลดอาหารไขมันแต่รับประทานเนื้อสัตว์และผักมากๆ ”

ส่วนการออกกำลังกาย มีความสำคัญต่อผู้ป่วยเบาหวานมาก แต่ต้องทำสม่ำเสมอและเป็นเวลาด้วย เพราะ

ก. ช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจเจริญแข็งแรงขึ้น ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
ข. ช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว และอวัยวะต่างๆ ได้รับเลือดหล่อเลี้ยงมากขึ้น
ค. ช่วยให้มีการเผาผลาญน้ำตาลได้มากขึ้น โดยที่พบว่าน้ำตาลสามารถออกจากหลอดเลือดเข้าสู่เซลล์ได้เหมือนคนปรกติ เข้าใจกันว่า การออกกำลังกายทำให้เกิดสารที่คล้าย อินซูลินขึ้นในกล้ามเนื้อ
ง. ช่วยให้คลายความเครียดต่างๆ ทำให้ร่างกายสดชื่น สมองแจ่มใส
จ. ช่วยให้การย่อยดีขึ้น ท้องไม่ผูก และนอนหลับสบาย
ฉ. ช่วยลดความอ้วน และทำให้รูปทรงสวย
8. โรคเก๊าท์ คือโรคปวดตามข้อ ควรลดอาหารจำพวกเครื่องในสัตว์ต่างๆ

9. โรคระบบหายใจ เช่น วัณโรค ควรบำรุงร่างกายด้วยอาหารที่มีประโยชน์ พร้อมด้วยวิตะมิน เอ และวิตะมิน ดี โรคหวัดจะหายเร็วขึ้นเมื่อให้วิตะมินซี

10. ผู้ที่มีอาการท้องเดินและอาเจียน ควรกินของเค็มๆ ช่วย ถ้าเป็นรุนแรงอาจต้องงดอาหารชั่วคราวแล้วให้อาหารทางหลอดเลือดดำแทน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า อาหารกับโรคมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและเป็นปัญหาสำคัญต่อชีวิตของเราทุกคนแต่บางคราวเรื่องนี้กลับถูกมองข้ามไป ทั้งๆ ที่ความรู้เรื่องการกินให้เป็น หรือกินให้ถูกต้องเป็นที่ทราบดีกันอยู่แล้ว จากการได้ร่ำเรียนมาจากชั้นประถม และมัธยม ซึ่งหากรู้จักกินแต่อาหารที่ดีมีคุณค่าก็จะทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ดังคำขวัญขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2517 ว่า “ผลิตอาหารพอ บริโภคดีทวีสุขภาพ-Better food for a healthier World”

เพื่อป้องกันธาตุพิการ ช่วยให้ร่างกายทำการย่อยอาหารตามปรกติ และส่งเสริมให้มีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ ท่านควร
1. รับประทานอาหารให้พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป
2. รับประทานอาหารให้เป็นเวลา ไม่รับประทานพร่ำเพรื่อจุบจิบ
3. รับประทานอาหารที่ไม่บูดเสีย หรืออาหารที่มีกลิ่นหรือลักษณะที่แสดงว่าจะบูดเสีย
4. ไม่รับประทานอาหารรสจัดจนเกินไป เช่น เผ็ดจัด เค็มจัด และไม่ควรรับประทานอาหารหมักดองให้บ่อยครั้ง
5. เคี้ยวอาหารให้ละเอียด อย่ารีบเคี้ยวและกลืนอาหารเร็วเกินไป
6. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ และพักผ่อนตามสมควร
7. ระวังอย่าให้ร่างกายเหนื่อยมากเกินไป และอย่าให้มีอารมณเศร้าหมอง หดหู่ กังวลใจ หรือตื่นตกใจ ก่อนหรือหลังเวลารับประทานอาหาร

ที่มา:ค้วน  ขาวหนู
วท.บ.(สุขศึกษา).ค.ม.

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า