สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การดำเนินชีวิตแบบแม็คโครไบโอติคส์

เป็นวิธีการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา ที่ให้ความเคารพต่อระเบียบทางฟิสิกส์ ชีวะ อารมณ์ ความคิด นิเวศน์และจิตวิญญาณ ทฤษฎีนี้เริ่มต้นด้วยการตระหนักว่า มีระเบียบตามธรรมชาติอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง การกินอาหารและดำเนินชีวิตภายในระเบียบธรรมชาตินี้มันคือการใช้ศิลปะของความสมดุลกับทุกแง่มุมของชีวิตเพื่อนำไปสู่ความสุข สุขภาพ และความซาบซึ้งกับสิ่งเรียบง่ายในชีวิต

คำว่า แม็คโครไบโอติกส์ มาจากคำว่า “แม็คโคร” ในภาษากรีก ซึ่งแปลว่า “ใหญ่หรือยิ่งใหญ่” ส่วนคำว่า ไบโอส์(bios) หมายถึง “ชีวิต” แม็คโครไบโอติกส์เป็นลักษณะของวิธีการเฉพาะบุคคลมากกว่า มิใช่โปรแกรมทางโภชนาการที่กำหนดให้รับประทานอาหารในแบบเฉพาะหรือให้ยึดอยู่กับกฎเรื่องการรับประทานอาหารแต่อย่างใด

มีมาหลายพันปีแล้วในหลักการของแม็คโครไบโอติกส์ มีการตระหนักของปราชญ์ในซีกโลกตะวันออกอยู่ว่า อาหารเป็นเครื่องมือในการสร้างสุขภาพและความผาสุกมิใช่แต่จะให้แต่สิ่งที่หล่อเลี้ยงบำรุงร่างกายเท่านั้น

แพทย์ชาวญี่ปุ่นชื่อ ซาเก็น อิชิสุกะ ได้วางทฤษฎีเกี่ยวกับโภชนาการและการแพทย์ขึ้น โดยอาศัยศาสตร์ของทางตะวันตกและอาหารแบบตะวันออกขึ้นในตอนต้นทศวรรษที่ 1900 อาหารนี้ได้รับความนิยมมาก เขาได้สั่งให้คนไข้รับประทานวันละหลายรายแบบเดียวกับสั่งยา

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงสุขภาพของตนเองจากที่เขาเกิดมาเป็นเด็กอ่อนแอและป่วยเป็นโรคมาตั้งแต่อายุยังน้อย เขาจึงได้สำรวจตรวจสอบอาหารการกินและศึกษาข้อมูลจากหนังสือทั้งทางซีกโลกตะวันออกและตะวันตก และได้เขียนเป็นหนังสือออกมาสองเล่ม คือ Chemical Theory of Longevity และ Biochemical Way to Health and Happiness เมื่อเขาได้ถึงแก่กรรมบรรดาศิษย์ของเขาก็ได้ก่อตั้งเป็นสมาคมแม็คโครไบโอติกส์ขึ้น แต่สมาคมได้เริ่มเสื่อมลงเพราะไม่มีผู้นำ และต่อมาก็ได้มีผู้เข้ารับช่วงสมคมและทำให้มันกลับมามีสถานะที่ประสบความสำเร็จอย่างที่เคยมีอีกครั้งหนึ่งจากศิษย์ของอิชิสุกะคนหนึ่งชื่อ จอร์จ โอซาวา ซึ่งตอนนั้นมีอายุเพียง 22 ปี

จอร์จ โอซาวา เป็นคนแรกที่ใช้คำว่า แม็คโครไบโอติกส์ ซึ่งเขาได้อุทิศทั้งชีวิตของเขาให้แก่การศึกษาผู้คนทั่วโลกเกี่ยวกับปรัชญาของทางตะวันออก และนำมาประยุกต์ใช้ เขาได้รักษาตัวเองให้หายจากวัณโรคได้โดยใช้อาหารเมื่อตอนที่เขายังเป็นหนุ่มและอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น โอซาวาได้เขียนหนังสือเอาไว้ประมาณ 300 เล่มในตลอดชีวิตของเขา

โอซาวาได้เดินทางจากญี่ปุ่นมาตั้งรกรากในนิวยอร์คซิตี้ สหรัฐฯ และเริ่มต้นค่ายฤดูร้อนค่ายแรกในสหรัฐฯ ที่เซาธ์แธมตัน เพื่อสอนแม็คโครไบโอติกส์ และในปี ค.ศ. 1960 เดือนกรกฎาคม ในลองก์ไอส์แลนด์ และได้ก่อตั้งมูลนิธิจอร์จ โอซาวาขึ้นในเมืองออโรวิลล์เมื่อเขาย้ายไปแคลิฟอร์เนีย

การปรับนิสัยการกินอาหารประจำวันเสียใหม่ด้วยการเลือกอาหารที่เหมาะสมเป็นการเริ่มต้นวิธีการกินอาหารแบบแม็คโครไบโอติกส์ ซึ่งอาหารนี้ต้องเป็นคุณต่อสุขภาพ และเอื้อให้เกิดความสุข โดยมีหลักแนะนำการกินอาหารนี้ด้วยการให้เปลี่ยนมารับประทานอาหารที่มีไขมันและโปรตีนต่ำ และรับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากกับอาหารคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนในปริมาณที่สูง

การกินแบบแม็คโครไบโอติคส์ หมายถึง การเข้าใจว่าอาหารต่างๆ ส่งผลกระทบถึงแต่ละบุคคลอย่างไร คำนึงถึงความชอบและสภาวการณ์แวดล้อม เนื่องจากคนเราอยู่ในภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาสิ่งที่ใช้ได้ผลในวันหนึ่งอาจจะไม่ได้ผลในวันถัดไปก็ได้ เราจึงควรปรับเปลี่ยนอาหารให้สอดคล้องกับภาวะและความจำเป็นขณะนั้นให้มากที่สุด

ตามระเบียบของธรรมชาติแม้ว่าบนโลกนี้จะมีอาหารนับพันๆ ก็ไม่ได้เหมาะกับการบริโภคของมนุษย์ทั้งหมด แม็คโครไบโอติคส์ได้แบ่งอาหารออกเป็นอาหารที่ได้จากสัตว์และพืช โดยให้รับประทานอาหารจากพืชเป็นหลัก

ธัญพืชเป็นสิ่งที่มีมากที่สุดในโลกในแวดวงของอาหารจากพืช ธัญพืชจึงเป็นทางเลือกอันดับแรกในการปรุงอาหารแบบแม็คโครไบโอติคส์ ซึ่งโดยทั่วไปความสำคัญของอาหารมนุษย์สามารถเรียงตามลำดับได้ดังนี้คือ พืช-ผัก-เกลือ-น้ำมัน-ถั่ว-ผลไม้และปลา และปรัชญาแม็คโครไบโอติคส์ที่สำคัญมีอยู่ว่า พืชผลที่ปลูกในท้องถิ่นตามฤดูกาลเท่านั้นที่ควรนำมาใช้บริโภค เช่น หากอยู่ในนิวยอร์คก็ไม่ควรรับประทานสควอชที่ปลูกในฤดูหนาวเพราะปกติแล้วพืชนี้จะเติบโตในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น แม้ว่าจะมีสควอชจากแหล่งอื่นมาขายก็ตาม

ความเชื่อของคนทั่วไปจะขัดกับหลักการของแม็คโครไบโอติคส์ คือ อาหารแม็คโครไบโอติคส์ไม่ได้จำกัดการบริโภคเพียงอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง ไม่ได้มีเฉพาะข้าวกล้อง แต่ยังรวมไปถึงธัญพืชที่ไม่ได้ขัดขาวหรือปรุงแต่งอีกหลายชนิด รวมถึงผักต่างๆ แกงจืด ถั่วและผักทะเล สามารถรับประทานเนื้อ ผลไม้และถั่วได้บ้าง

ตามแบบฉบับในทุกๆ มือของอาหารแม็คโครไบโอติคส์จะประกอบไปด้วยธัญพืชประมาณครึ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อย ซึ่งอาจรวมถึงข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ข้าวไรย์ ข้าวสาลีและข้าวเจ้าข้าวกล้องที่ปรุงในแบบต่างๆ กัน

อาหารประจำวันที่บริโภคอาจมีส่วนของแกงจืดที่ทำจากผัก ธัญพืช สาหร่ายทะเลหรือถั่วชนิดต่างๆ และปรุงรสด้วยซีอิ๊วทามาริหรือมิโสะ อยู่ราว 5-10%

ผักที่ใช้ควรเป็นผักที่ปลูกในท้องถิ่นโดยไม่ใช้สารเคมี ประมาณ 20-30%ของอาหารทั้งหมดที่รับประทาน ผักเหล่านี้เช่น บร็อคคอรี่ กะหล่ำปลี ผักกวางตุ้ง ผักกาด น้ำเต้า ฟักทอง แครอท กับผักตามฤดูกาลชนิดอื่นอีกมากมาย ซึ่งนำมาปรุงได้หลายวิธี เช่น ต้ม ผัด นึ่ง หรือทานดิบๆ คราวละน้อยๆ ก็ได้

ถั่วกับผักทะเลควรประกอบอยู่ประมาณ 5-10%ของอาหารที่บริโภคประจำวัน ถั่วที่ควรรับประทาน เช่น ถั่วลูกไก่(ชิคพี) ถั่วแดงเล็ก ถั่วเลนทิล ส่วนถั่วอื่นๆ รับประทานได้เป็นครั้งคราว ส่วนผักทะเลต่างๆ และไอริชมอส สามารถนำมาปรุงในแกงจืด หรือปรุงในอาหารชนิดอื่น หรือใช้เป็นของแกล้มกับอาหารอื่นก็ได้

อาหารบางอย่าง เช่น ปลาเนื้อสีขาว ผลไม้พวกแอปเปิ้ล เบอรี่พรุน ท้อ แตงโม ถั่วและเมล็ดพืชที่อบโดยใช้ความร้อนอ่อนๆ เช่น ถั่วลิสง เมล็ดฟักทองหรือเมล็ดทานตะวัน ให้รับประทานได้เป็นครั้งคราว ซึ่งปกติแล้วจะให้รับประทานได้เพียง 1-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และไม่ควรมีส่วนประกอบอยู่เกิน 5-10%ของอาหารทั้งหมดที่รับประทานในวันนั้น

อาหารพวกเนื้อวัว สัตว์ปีก ไข่ ผลิตภัณฑ์นม ไขมันจากสัตว์ น้ำตาลทราย ผลไม้เมืองร้อนและกึ่งร้อน น้ำผลไม้ อาหารกระป๋องหรืออาหารแช่แข็ง ชา กาแฟ ผักตระกูลไนท์เฉด เช่น มะเขือเทศ มันฝรั่ง พริกและมะเขือ และอื่นๆ เหล่านี้เป็นอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

ส่วนสำคัญของการปรุงอาหารแบบแม็คโครไบโอติคส์คือการเตรียมอาหาร เพราะสามารถเปลี่ยนผลกระทบในการปรุงอาหารได้ เช่น จะช่วยให้ผู้รับประทานมีการผ่อนคลายในด้านร่างกายและอารมณ์ จากการกินอาหารที่นึ่งหรือต้มในน้ำมากๆ และใส่เกลือน้อยๆ ได้

ผักเป็นอาหารที่มีชีวิต เพื่อให้ได้สารอาหารทั้งหมดจึงควรใช้แบบครบรูปไม่ควรปอกเปลือก และในบางกรณีก็ไม่ควรตัดใบหรือรากทิ้ง แม้แต่การหั่นผักก็จะส่งอิทธิพลต่อความสมดุลตามลักษณะ หยิน-หยาง ด้วย เพื่อให้ผักแต่ละชนิดคงคุณสมบัติเด่นของตัวมันเองเอาไว้ควรล้างมีดและเขียงหลังจากที่หั่นผักแต่ละชนิดแล้วด้วย เครื่องปรุงหรือส่วนประกอบพื้นฐานของการปรุงอาหารแบบแม็คโครไบโอติคส์คือ ความรัก ความเมตตาและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

มีรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างกว้างขวางในการรับประทานอาหารแบบแม็คโครไบโอติคส์ นับตั้งแต่อาหารที่เรียบง่ายไปจนถึงอาหารมากชนิดในแบบต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับความจำเป็นและสภาวการณ์แวดล้อมของแต่ละคน ที่สำคัญอีกแง่มุมหนึ่งในการรับประทานอาหารแม็คโครไบโอติคส์ก็คือ การเคี้ยวอาหารแต่ละคำอย่างละเอียดอย่างน้อย 50-100 ครั้ง และการกินอาหารยังสามารถมองซึ้งเข้าไปทราบด้วยว่าอาหารชนิดต่างๆ ที่กินเข้าไปส่งผลกระทบกับตัวเองอย่างไรบ้าง

อาหารแม็คโครไบโอติคส์สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้แม้ว่าจะไม่ใช่โปรแกรมการกินอาหารในแบบที่จะรักษาโรคโดยเฉพาะ ซึ่งมิชิโอะ คูชิ ได้บรรยายไว้โดยละเอียดในหนังสือเรื่อง The Macrobotic Approach to Cancer: Towards Preventing & Controlling Cancer with Diet and Lifestyle ว่า อาหารและสไตล์การดำเนินชีวิตแบบแม็คโครไบโอติคส์ ได้ช่วยให้คนจำนวนมากมายหายจากโรค ช่วยป้องกันโรคและหาความสมดุลในชีวิต โดยผ่านความสงบในจิตใจและสุขภาพที่ดีขึ้น

ชื่อที่เด่นที่สุดในสาขาของแม็คโครไบโอติคส์ทุกวันนี้มีสองชื่อ คือ มิชิโอะ และอาเวลีน คูชิ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิคูชิ และได้สอนหลักการดำเนินชีวิตแบบแม็คโครไบโอติคส์ เพื่อให้บรรลุถึงความมีสุขภาพและการรักษาสุขภาพที่ดี รวมทั้งความสันติของโลกมากยิ่งขึ้นด้วยการกินและใช้ชีวิตอย่างธรรมชาติมากขึ้น เขาทั้งคู่ได้ไปบรรยายในที่ประชุมเกี่ยวกับสุขภาพทั่วสหรัฐฯ รวมทั้งในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วย

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า