สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การแพทย์แผนแนชเชอโรพาธิค(Naturopathic Medicine)

เป็นระบบการรักษาตามแนวธรรมชาติมากมายหลายแบบเพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาสุขภาพที่สมบูรณ์

ในปลายทศวรรษที่ 1800 ผู้เชี่ยวชาญในการบำบัดรักษาโรคตามแบบโฮมีโอพาธี ที่ชื่อ จอห์น เอช. สชีล(Jonh H. Scheel) เป็นคนแรกที่ใช้คำว่า “แนชเชอโรพาธี” เพื่อบอกถึงรูปแบบของการบำรุงรักษาสุขภาพที่ใช้วิธีการแนวธรรมชาติในการรักษาเยียวยาคนทั้งคน

ในปลายศตวรรษที่ 19 เบเนดิคต์ ลัสต์(Benedict Lust) ได้นำเอาแนชเชอโรพาธีเข้ามาในสหรัฐฯ เพื่อสอนและรับรักษาโรคโดยใช้เทคนิควารีบำบัด หรือการรักษาโรคโดยใช้น้ำ กับวิธีการเยียวยารักษาโรคอื่นๆ ตามแนวของหลวงพ่อเซบาสเตียน ไนป์(Sebastian Kneipp) วารีแพทย์ หรือ “หมอน้ำ” หรือ water doctor ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งทำให้วิธีการรักษาโรคด้วยน้ำเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากในยุโรป

ผู้ให้การบำบัดรักษาโรคตามวิธีการของบาทหลวงไนป์กลุ่มหนึ่งได้ตัดสินใจที่จะขยายขอบข่ายในการรักษาของตนออกไปในปี ค.ศ.1900 เพื่อนำวิธีการรักษาตามแนวธรรมชาติที่มีอยู่ในสมัยนั้นมาประกอบเข้ากันด้วย และแนชเชอโรพาธีก็ได้ถือกำเนิดออกมาเป็นแนวทางใหม่ที่แยกออกมาต่างหากเมื่อมีการพบปะประชุมของบุคคลเหล่านี้ ซึ่งแนชเชอโรพาธีในตอนนั้น ประกอบไปด้วยการแพทย์แผนพฤกษศาสตร์(botanical medicines) โฮมีโอพาธี โภชนบำบัด การใช้ไฟฟ้าในการแพทย์ จิตวิทยาและการนวดในแบบต่างๆ

สถาบันแนชเชอโรพาธีของอเมริกัน ที่ก่อตั้งขึ้นในนิวยอร์คซิตี้ โดยเบเนดิคต์ ในปี 1902 มีผู้จบการศึกษาครั้งแรก และแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแรกที่ออกกฎหมายกำหนดระเบียบการรักษาโรคด้วยการแพทย์แนวธรรมชาติแบบแนชเชอโรพาธีขึ้นในปี ค.ศ.1909 วิชาชีพนี้ได้เติบโตแพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีวิทยาลัยแพทย์แนวแนชเชอโรพาธีที่มีใบอนุญาตในการรักษาโรคในรัฐต่างๆ ส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ มากกว่า 20 แห่งในช่วงนั้น

ในช่วงทศวรรษที่ 1920 มีการประชุมแพทย์แนวแนชเชอโรพาธี โดยมีแพทย์เข้าร่วมกว่า 10,000 คน ในช่วงทศวรรษที่ 1940 และ 1950 ตัวยาที่สังเคราะห์ขึ้นในห้องแล็บจากเภสัชกรรม กับการแพทย์แนวที่ใช้เทคโนโลยีได้รับความนิยมขึ้นมา พร้อมกับความคิดที่ว่ายาชนิดต่างๆ จะสามารถรักษาโรคได้ทุกชนิด จึงทำให้การแพทย์แนวแนชเชอโรพาธีประสบกับความตกต่ำลง

การแพทย์แนวแนชเชอโรพาธี ได้ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่อีกหนนับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา เมื่อมีคนที่มีจิตสำนึกในแนวใฝ่สุขภาพเริ่มแสวงหาทางเลือกในการบำรุงรักษาร่างกายในแนวที่ต่างไปจากการแพทย์แผนปัจจุบันที่ใช้กันอยู่

การแพทย์แนวแนชเชอโรพาธีในปัจจุบันนี้ จะใช้ศาสตร์ที่ได้จากโภชนาการคลินิกสมุนไพร โฮมีโอพาธี การรักษาโรคด้วยการออกกำลังกาย การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่รบกวนจิตใจ การฝังเข็ม การคลอดบุตรด้วยวิธีธรรมชาติ วารีบำบัด การนวด และกายภาพบำบัดในแบบต่างๆ เพื่อรักษาโรคและดำเนินงานฟื้นฟูสุขภาพ

แพทย์แนวแนชเชอโรพาธีที่ได้รับใบอนุญาตให้รักษาโรคได้ ในมลรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา จะให้การรักษาเบื้องต้นและตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยโรค โดยดำเนินงานทดสอบในห้องแล็บ ตรวจร่างกายตามหลักสูตินรีเวช ประเมินภาวะโภชนาการและอาหารการกิน วิเคราะห์สภาพการทำงานเผาผลาญอาหารของร่างกาย ตรวจสอบอาการแพ้ ตรวจร่างกายโดยใช้เอ็กซ์เรย์ และดำเนินงานทดสอบอื่นๆ ด้วย

ผู้ที่ผ่านการศึกษาในวิชาแพทย์ศาสตร์ระดับปริญญาเป็นเวลา 4 ปี ควบคู่ไปกับการฝึกการรักษาตามแนวแนชเชอโรพาธี จะได้รับปริญญาแพทย์ศาสตร์แนวแนชเชอโรพาธี(มีตัวย่อของปริญญาว่า เอ็นดี ND)

ปัจจุบันในสหรัฐฯ มีวิทยาลัยแพทย์แนวแนชเชอโรพาธีอยู่ 2 แห่ง ซึ่งเป็นสถาบันระดับปริญญาโท มีหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นเวลา 4 ปี ผู้เข้าเรียนจะต้องมีคุณวุฒิเทียบได้กับคนที่จบสถาบันแพทย์ศาสตร์ของการแพทย์แผนปัจจุบันมาแล้ว คือ ที่วิทยาลัยจอห์น บาสทีร์(John Bastyr College) ที่ซีแอ็ทเทิ้ล รัฐวอชิงตัน และวิทยาลัยการแพทย์แนชเชอโรพาธีแห่งชาติ(National College of Naturopathic Medicine) ในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออเรกอน

ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามีให้ใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์แก่แพทย์แนวแนชเชอโรพาธี อยู่ 7 รัฐ คือ วอชิงตัน ออเรกอน อาริโซน่า มอนตาน่า อลาสก้า และฮาวาย มีกฎหมายชื่อว่า “ซันเซ็ท ลอส์” ซึ่งรับรองใบประกอบโรคศิลป์ที่แต่ก่อนเคยให้กับผู้ให้การบำบัดรักษาแบบ “ไม่ใช้ยา” ในรัฐยูท่าห์ และฟลอริดา และยังไม่มีกฎระเบียบในเรื่องนี้หรือไม่ก็มีกฎระเบียบเรื่องการให้การบำบัดรักษาโรคซึ่งกำหนดเอาไว้อย่างจำเพาะเจาะจงมากในรัฐอื่นๆ

หลักการที่เป็นรากฐานของการให้การรักษาตามแนวแนชเชอโรพาธี มีดังนี้
1. อำนาจในการเยียวยาของธรรมชาติ
ธรรมชาติกระทำการอย่างทรงพลังโดยผ่านกลไกการเยียวยาในร่างกายและจิตใจเพื่อการบำรุงรักษาและฟื้นฟูสุขภาพ ในยามที่ระบบนี้เกิดเสียไปแพทย์แนวแนชเชอโรพาธี ก็จะใช้วิธีการและเทคนิคต่างๆ อย่างสอดคล้องกับกระบวนการตามธรรมชาติเพื่อรื้อฟื้นและสนับสนุนระบบการเยียวยารักษาตัวที่มีมาแต่กำเนิดของคนเรา

2. ไม่สร้างความเสียหาย
แพทย์แนวแนชเชอโรพาธีจะถูกฝึกมาให้รู้ว่าคนไข้คนไหนที่จะรักษาได้โดยปลอดภัย และคนไหนที่จำเป็นที่จะต้องส่งตัวไปรับการรักษาที่อื่น โดยแพทย์แนวนี้จะใช้วิธีการบำบัดรักษาชนิดที่ไม่ให้ร่างกายบอบช้ำ ลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายให้เหลือน้อยที่สุด

3. หาสาเหตุ
แพทย์แนวแนชเชอโรพาธีได้รับการฝึกฝนมาให้หาและกำจัดสาเหตุของโรคที่ซุกซ่อนอยู่ เนื่องจากโรคทุกโรคล้วนมีสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น มีบ่อยครั้งที่แอบแฝงอยู่ในแง่มุมต่างๆ ของการดำเนินชีวิต อาหารที่รับประทานหรือนิสัยของคนๆ นั้น

4. รักษาทั้งคน
แพทย์แนวแนชเชอโรพาธี จะรักษาคนทั้งคนไม่ใช่เฉพาะแค่เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสรีระ อารมณ์ อาหาร พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม สไตล์การดำเนินชีวิต และอื่นๆ ซึ่งมีการปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของสุขภาพจนทำให้เกิดโรคขึ้น

5. การแพทย์แนวป้องกัน
วิธีการบำรุงรักษาสุขภาพแนวแนชเชอโรพาธี คนไข้จะได้รับการสอนถึงหลักการต่างๆ ในการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาพดี เพื่อป้องกันมิให้ความเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ลุกลามไปเป็นโรคร้ายแรง หรือโรคที่สร้างความเสื่อมของสังขารอย่างเรื้อรังยิ่งขึ้น ด้วยการปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้ โดยคนไข้ต้องมีบทบาทอย่างแข็งขันในกระบวนการรักษา

การแพทย์แนวแนชเชอโรพาธี มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาสุขภาพชนิดต่างๆ กว้างขวาง ด้วยวิธีการรักษาโรคให้หายตามธรรมชาติ วิธีการเหล่านี้ถูกนำมาใช้บำบัดรักษาโรคที่พบกันเป็นประจำ เช่น หวัด เจ็บคอ หลอดลมอักเสบและปัญหาเรื่องการย่อยอาหาร และยังรักษาโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของสังขารอย่างเรื้อรังด้วย เช่น โรคข้ออักเสบ โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันโดยอัตโนมัติอย่างอื่นๆ และโรคมะเร็ง และโรคเรื้อรังที่เกิดมาจากปัญหาด้านโครงสร้างของร่างกายด้วย

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า