สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

แผลอักเสบ(Infected wound)

เป็นภาวะที่มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในบาดแผลจนทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนอง เช่น จากแผลถลอก มีบาด ตะปูตำ หนามเกี่ยว สัตว์กัด เป็นต้น

อาการ
บาดแผลของผู้ป่วยจะมีลักษณะปวด บวม แดง ร้อน หรือเป็นหนอง อาจมีไข้หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงโตร่วมด้วยในบางราย

ภาวะแทรกซ้อน
เชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือดจนทำให้โลหิตเป็นพิษถ้าเกิดการอักเสบรุนแรง

การรักษา
1. ใช้น้ำเกลือหรือน้ำเกลือนอร์มัลชะล้างแผล แต่ควรชะล้างด้วยไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ แล้วล้างด้วยน้ำเกลือ และใช้น้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมเข้มข้นใส่แผล แล้วปิดด้วยผ้าก๊อซที่สะอาดถ้าแผลเป็นหนองเฟะ ให้ทำแผลวันละ 1-2 ครั้ง เป็นอย่างน้อย และให้ชำระล้างแผลด้วยน้ำเกลืออย่างเดียวเมื่อเนื้อแผลแดงและไม่มีหนองแล้ว และไม่ควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ รวมทั้งไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ชะตรงเนื้อแผล

2. ให้ยาแก้ปวดลดไข้และยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี ไดคล็อกซาซิลลิน อีริโทรไมซิน หรือโคอะม็อกซิคลาฟ นาน 5-7 วัน ถ้ามีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือแผลอักเสบมาก

3. ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ถ้าภายใน 3 วันไข้ยังไม่ลด มีอาการซีดเหลือง หรือสงสัยว่าเป็นโลหิตเป็นพิษ หรือบาดแผลมีลักษณะอักเสบรุนแรงในผู้ที่เป็นเบาหวานอยู่ก่อน ซึ่งแพทย์มักรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล

ข้อแนะนำ
1. ไม่ควรใช้งานแขนขาส่วนที่มีบาดแผล และยกส่วนนั้นให้สูง ควรนอนพักและใช้หมอนรองเท้าให้สูงกว่าระดับหน้าอกถ้ามีบาดแผลที่เท้า หรือใช้ผ้าคล้องแขนกับลำคอให้บาดแผลอยู่สูงกว่าระดับหัวใจถ้ามีบาดแผลที่มือ

2. ควรบำรุงด้วยอาหารพวกโปรตีน เช่น เนื้อ นม ไข่ และถั่วต่างๆ ให้มาก เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และไม่มีอาหารใดๆ แสลงต่อบาดแผล ไม่ว่าจะเป็น ไข่ เนื้อ ส้ม ที่ชาวบ้านมักจะมีความเชื่อกันอย่างผิดๆ

3. ไม่ควรทาแผลด้วยเพนิซิลลิน หรือซัลฟา ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม เพราะยาเหล่านี้จะทำให้เกิดการแพ้ มีอาการบวมคัน และแผลเฟะได้ แม้ว่าจะทำให้แผลแห้งในระยะแรกๆ ที่ใช้ แต่ควรใช้ยาทาขี้ผึ้งเตตราไซคลีนหรือครีมเจนตาไมซิน น้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมแทน

4. ควรบำรุงด้วยอาหารโปรตีนในผู้ที่เป็นแผลเรื้อรังไม่หายขาด อาจเป็นเพราะมีภาวะซีดหรือขาดอาหารได้ หรืออาจมีสาเหตุจากเบาหวาน หากผู้ป่วยไม่แน่ใจหรือสงสัยควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจดูระดับน้ำตาลในปัสสาวะ หรือในเลือด เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัด

5. การดูแลบาดแผลสดที่ไม่ถูกต้องมักทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนองของบาดแผลได้ จึงควรให้ดูแลบาดแผลสดดังนี้

-ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันที เพื่อชะล้างเอาสิ่งสกปรกออกไปเมื่อมีบาดแผลสดขึ้น

-ควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน ทิงเจอร์ใส่แผลสด ทารอบบาดแผล ไม่ควรทาหรือฟอกตรงเนื้อแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อรวมทั้งไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อถูกทำลายและแผลหายได้ช้า

-ไม่ควรพอกแผลด้วยน้ำหมากน้ำลาย หรือสิ่งสกปรกอื่นๆ และระวังอย่าให้แผลถูกน้ำ

-ควรพักส่วนที่เป็นบาดแผลให้มากๆ

-ควรกินอาหารพวกโปรตีน ผักและผลไม้ให้มากๆ

-ควรให้ยาปฏิชีวนะถ้าบาดแผลสกปรก

-ในรายที่มีความจำเป็นควรแนะนำให้ฉีดยาป้องกันบาดทะยัก

-ควรให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำการเย็บแผลถ้ามีแผลกว้างจนไม่สามารถใช้ปลาสเตอร์ปิดให้ชิดกันได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า