สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

แผลพุพอง(Impetigo/Ecthyma)

เป็นภาวะที่ผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟีโลค็อกคัสออเรียสหรือสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

1. แผลพุพองชนิดตื้น เป็นภาวะที่หนังกำพร้าชั้นนอกสุดเกิดการติดเชื้อ มักพบได้บ่อยในเด็กที่ไม่รักษาความสะอาด หรือเมื่อมีบาดแผลเล็กน้อยๆ เกิดขึ้นก็ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะรักษา โรคนี้ติดต่อได้ง่ายและรวดเร็ว เชื้อจะเข้าสู่ผิวหนังทางรอยถลอกโดยการสัมผัสถูกผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่ก่อน

2. แผลพุพองชนิดลึก เป็นภาวะติดเชื้อลึกถึงชั้นหนังแท้ มักพบได้ในผู้ที่ไม่รักษาความสะอาด ผิวหนังสกปรก ไว้เล็บยาว ไม่สนใจดูแลรักษาบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ เช่น รอยถลอก รอยขีดข่วน รอยแผลจากยุง แมลงกัด หรืออาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคผิวหนังชนิดอื่นๆ เช่น หิด เหา อีสุกอีใส เริม งูสวัด ผื่นแพ้ หรือผื่นคัน เป็นต้น

อาการ
1. แผลพุพองชนิดตื้น
มักจะเป็นผื่นแดงและคันในระยะเริ่มแรก และจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสเล็กๆ มีฐานสีแดงในระยะต่อมา จนกลายเป็นตุ่มหนอง มักแตกได้ง่าย และกลายเป็นสีแดงมีน้ำเหลืองเหนียวๆ ติดเยิ้ม กลายเป็นสะเก็ดเหลืองกรังติดอยู่ และมักจะมีผื่นบริวารขึ้นตามในบริเวณข้างเคียงหลายๆ อันเมื่อผื่นอันแรกแตก และลุกลามได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อเกา

อาจมีไข้ต่ำๆ หรือต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วยตามใบหน้า ใบหู จมูก ปาก ศีรษะ ก้น มือ ขา หัวเข่า ในผู้ป่วยบางราย และถ้าเกิดเป็นแผลพุพองที่ศีรษะ ชาวบ้านมักเรียกกันว่า ชันนะตุ

2. แผลพุพองชนิดลึก
จะมีตุ่มแดง ตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนองเล็กๆ มีฐานสีแดง เกิดขึ้นในระยะแรกๆ แล้วค่อยๆ โตขึ้นอย่างช้าๆ มีขนาด 1-3 ซม. และจะมีสะเก็ดแข็งหนาสีคล้ำปกคลุมและติดแน่นในระยะต่อมา ข้างในตุ่มนั้นจะเป็นน้ำหนอง ถ้าเป็นอยู่นานๆ ขอบแผลจะยกนูนขึ้น และกลายเป็นแผลเป็นเมื่อหายแล้ว มักพบได้บ่อยบริเวณขา

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษถ้าเชื้อลุกลามเข้ากระแสเลือด และอาจมีอันตรายร้ายแรงได้ถ้าเกิดกับทารก หรืออาจทำให้เป็นหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันได้ในรายที่เกิดจากเชื้อบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ

การรักษา
1. ควรอาบน้ำฟอกสบู่วันละ 2 ครั้ง และชะล้างเอาคราบสะเก็ดออกไปด้วยน้ำด่างทับทิม

ควรประคบด้วยน้ำอุ่นจัดๆ และชุ่มๆ สำหรับแผลพุพองที่มีสะเก็ดแข็ง เพื่อช่วยให้สะเก็ดนุ่มและหลุดออกเร็ว

2. ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน ถ้ามีอาการคันมาก

3. หลังอาบน้ำทุกครั้งควรทาแผลด้วยขี้ผึ้งเตตราไซคลีน หรือครีมเจนตาไมซิน หรือเจนเชียนไวโอเลต

4. ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี อีริโทรไมซิน หรือโคอะม็อกซิคลาฟ

ใน 3-5 วันถ้าอาการดีขึ้นควรให้กินยาต่อไปจนครบ 10 วัน ในรายที่เกิดจากเชื้อบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ เพื่อป้องกันโรคหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน

ควรให้กินยานาน 2-3 สัปดาห์ในผู้ที่มีแผลพุพองชนิดลึก

ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลถ้าผู้ป่วยอาการยังไม่ดีขึ้นหรือพบในทารก แพทย์อาจต้องทำการย้อมเชื้อหรือเพาะเชื้อเพื่อหาสาเหตุของโรคและให้ยาปฏิชีวนะและรักษาตามชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุต่อไป

การป้องกัน
ควรหมั่นรักษาความสะอาดของผิวหนัง ตัดเล็บให้สั้น ควรให้การดูแลรักษาเมื่อเกิดบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ หรือโรคผิวหนัง เช่น หิด เหา เริม งูสวัด อีสุกอีใส อย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการเกิดแผลพุพองขึ้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า