สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การออกกำลังกายแบบแคลแลเนติคส์(Callanetics)

การออกกำลังกายแบบแคลแลเนติคส์เป็นโปรแกรมชนิดที่กระตุ้นกล้ามเนื้อใหญ่ที่สุดและลึกที่สุดในร่างกายด้วยการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยและเบาๆ

ในแต่ละชุดของการออกกำลังกายแบบนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ส่งผลกับร่างกายเฉพาะส่วน ไม่ว่าร่างกายจะมีสภาพเช่นไรสามารถใช้แคลแลเนติคส์ได้อย่างปลอดภัย สามารถกระทำได้กับคนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงอายุ 80 ปี

ผู้พัฒนาแคลแลเนติคส์ แคลแลน พิงค์นีย์(Callan Pinckney) เติบโตในทุ่งหญ้าแบบซาวานนาห์ และบริเวณใกล้เคียง ในรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา เธอมีความสนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและดินแดนต่างชาติมานานแล้ว และในปี ค.ศ.1961 เธอก็ได้ลงเรือบรรทุกสินค้าไปเยอรมนี ซึ่งการเดินทางผจญภัยไปทั่วโลกของเธอก็ได้เริ่มต้นขึ้น เธอได้ไปใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในส่วนต่างๆ ของโลกที่ห่างไกลบ้านเกิดเมืองนอนของเธอทั้งในอังกฤษ ญี่ปุ่น อินเดีย แอฟริกา และศรีลังกา เป็นระยะเวลา 10 ปี

ร่างกายของเธอทรุดโทรมลงมากจากสภาพการดำรงชีวิตที่ต้องทำงานแบบคนรับใช้นานาประเภท รวมทั้งต้องแบกสัมภาระหนักๆมาเป็นเวลานานหลาย และจากโรคภัยไข้เจ็บของเธอด้วย ซึ่งมีความจำเป็นมากที่เธอจะต้องได้รับการดูแลอย่างจริงจัง

ในปี ค.ศ.1972 หลังจากที่กลับมายังสหรัฐ เธอก็ได้เริ่มทำงานที่สถานที่สำหรับการออกกำลังกายแห่งหนึ่งในนิวยอร์คซิตี้ เธอได้พบว่าอาการปวดหลังของเธอเกิดจากการออกกำลังกายในบางแบบ และเธอก็ได้ลาออกจากสถานบริการแห่งนี้ไปเนื่องจากเกิดความขัดแย้งกับนโยบายของสถานที่แห่งนี้ และจากการประจันหน้ากับฝ่ายบริหารเกี่ยวกับเรื่องชนิดของการออกกำลังกายด้วย

พิงค์นีย์มีปัญหาที่เกิดกับหลังมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งหลังของเธอมีสภาพสโคลิโอซิส(scoliosis) หรือกระดูกสันหลังโค้งตามแนวตั้ง และลอร์โดซิส(lordosis)หรือชายโครงด้านหลังยุบ และในช่วงวัยเด็กเท้าของเธอยังบิดเบี้ยวจนต้องสวมเหล็กดามค้ำท่อนขาอยู่หลายปี หลังจากนั้นเป็นเรื่องที่น่าทึ่งจากการที่เธอสามารถไปเรียนบัลเล่ต์คลาสสิคอยู่ได้นานถึง 12 ปี

พิงค์นีย์ได้เริ่มทดลองเทคนิคและลักษณะการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายอย่างที่เคยเรียนบัลเล่ต์กับตัวเอง เธอระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดหลัง และเธอก็ได้พบว่า การปรับท่าเพียงเล็กน้อยสามารถทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างความปวดกับไม่ปวดขึ้นมาได้

หลังจากที่เธอได้ออกท่าทางอย่างค่อยเป็นค่อยไป และตรงตามแบบอย่างที่เธอได้พัฒนาขึ้นมาในเวลาสั้นๆ จะสังเกตได้ว่าอาการปวดหลังก็หายไปและร่างกายก็กระชับดีด้วย เธอรู้สึกแจ่มใสขึ้นมากและรู้สึกว่าตัวเองสวยขึ้น เธอจึงได้ข้อสรุปว่า การเคลื่อนไหวเหล่านี้ คือกุญแจที่ไขไปสู่การออกกำลังกายที่ทำให้ประสบความสำเร็จ

ผลลัพธ์ที่เห็นได้อย่างรวดเร็วของแคลแลเนติคส์ คือข้อแตกต่างจากการออกกำลังกายในแบบอื่นๆ ในหนังสือของแคลแลน พิงค์นีย์ ชื่อ Callanetics: 10 Years Younger in 10 Hours(แคลแลเนติคส์:เป็นหนุ่มสาวเยาว์วัยยิ่งขึ้น 10 ปี ภายในเวลา 10 ชั่วโมง) ได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับหลักของแคลแลเนติคส์เอาไว้ โดยเธอได้ประกาศไว้ว่า “ถ้าหากว่าพิจารณาเรื่องการทำให้ทรวงทรงกระชับแล้ว การออกกำลังกายแบบนี้ 1 ชั่วโมงมีค่าเท่ากับการออกกำลังกายแบบเก่าประมาณ 7 ชั่วโมง และเท่ากับการเต้นแอโรบิคประมาณ 20 ชั่วโมง”

การออกกำลังกายช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นในร่างกาย แต่สำหรับการออกกำลังกายแบบแคลแลเนติคส์นี้จะช่วยเพิ่มคุณประโยชน์ให้อีกหลายอย่าง ได้แก่ การประสานการทำงานระหว่างอวัยวะส่วนต่างๆ การทรงตัว ความรู้สึกระวังตัว วินัย ความเร็ว การผ่อนคลายทางสรีระและความคิดจิตใจ และยังช่วยเพิ่มพลัง ลดความอยากอาหารได้ด้วย

ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ในการออกกำลังกายแบบแคลแลเนติคส์ ซึ่งการออกกำลังกายแต่ละเซ็ทจะกำหนดมาให้เฉพาะส่วนหนึ่งๆ มีการเคลื่อนไหวอย่างประณีตและมีการเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างเต็มที่ทำให้เกิดพลังสำหรับการออกกำลังกายแบบนี้ ช่วยลดส่วนเกิน และยังเสริมทรวดทรงให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันมีการสอนการออกกำลังกายแบบแคลแลเนติคส์อยู่ทั่วสหรัฐอเมริกา

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า