สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เหา(Pediculosis capitis/Head louse)

มักพบได้บ่อยในผู้ที่ไม่รักษาความสะอาด และมักพบในเด็ก ส่วนใหญ่จะพบในนักเรียนหญิงผมยาวที่ไม่ค่อยสระผม และมักเป็นกันหลายๆ คนในโรงเรียนตามชนบท หรือตามแหล่งชุมชนแออัดเหา

สาเหตุ
ตัวเหาเป็นสาเหตุของการติดต่อ ส่วนใหญ่มักติดต่อกันด้วยการสัมผัสใกล้ชิด การนอนร่วมกัน การใช้หวีแปรงผม หรือหมวกร่วมกับผู้ที่เป็นโรคนี้ โดยเหาจะไปวางไข่ที่โคนผมและไข่เหาจะห่างโคนผมออกมาเรื่อยๆ เมื่อผมยาวขึ้น ใช้เวลาประมาณ 3-14 วันไข่เหาก็จะฟักออกมาเป็นตัว

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการคันศีรษะมาก บริเวณโคนผมและเส้นผมจะพบตัวเหาและไข่เหาซึ่งเป็นเป็นจุดขาวๆ ติดอยู่ บริเวณเหนือใบหูและที่ท้ายทอยมักพบได้เป็นส่วนใหญ่ บางรายอาจนอนหลับพักผ่อนได้ไม่เพียงพอเพราะมีอาการคันศีรษะมากในตอนกลางคืน

ภาวะแทรกซ้อน
บางรายอาจกลายเป็นตุ่มฝีหรือพุพองและมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตจากการเกาจนมีเชื้อแบคทีเรียอักเสบแทรกซ้อน

การรักษา
1. ใช้ยาเบนซิลเบนโซเอตชนิด 25% ชโลมศีรษะแล้วโพกผ้าทิ้งไว้ประมาณ 12-20 ชั่วโมง เพื่อฆ่าเหา เพื่อความสะดวกควรใส่ยาตอนเย็นทิ้งไว้ค้างคืนแล้วจึงสระผมให้สะอาด ใช้หวีเสนียดสางเอาไข่เหาออก ควรทำซ้ำอีกครั้งใน 1 สัปดาห์ต่อมา เพราะเป็นระยะฟักตัวอีกครั้งหนึ่งของไข่เหาที่หลงเหลืออยู่ ควรใช้หวีเสนียดจุ่มในน้ำร้อนผสมน้ำส้มสายชูสางผมทุกวันเพื่อเป็นการกำจัดไข่เหาไปด้วย

2. ควรใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน นาน 10 วัน ถ้ามีตุ่มฝีหรือพุพองเกิดขึ้น

ข้อแนะนำ
1. เพื่อป้องกันการติดเหาจากคนข้างเคียงซ้ำอีก ควรรักษาเหาไปพร้อมๆ กันทุกคน หากมีคนเป็นเหาหลายคนในบ้านหรือในชั้นเรียน

2. ผู้ที่เป็นเหาไม่ควรคลุกคลีกับผู้อื่น ควรแยกนอนต่างหาก

3. ที่นอนและหมอนควรนำออกผึ่งแดดทุกวัน

4. ควรป้องกันการเป็นเหาด้วยการไม่คลุกคลีหรือใช้ของร่วมกับคนที่เป็นเหา ตัดผมให้สั้น และสระผมบ่อยๆ

5. โลน (Pediculosis pubis) เป็นแมลงตัวเล็กๆ แบบเดียวกับเหา จะอยู่ตามขนที่หัวหน่าว ติดต่อโดยการใช้เครื่องสุขภัณฑ์ในห้องส้วมหรือใช้เสื้อผ้าร่วมกัน หรือโดยการร่วมเพศ ทำให้บริเวณนั้นมีตุ่มแดงเป็นรอยบุ๋มตรงกลาง คันมาก เมื่อเกามากๆ อาจกลายเป็นตุ่มหนองพุพอง และอาจมีการลุกลามไปที่ต้นขา ลำตัว รักแร้ หนวด ขนตา ขนคิ้ว แต่ไม่ลามไปที่ผม พบเป็นโรคนี้ได้มากในวัยรุ่น การรักษาควรใช้เบนซิลเบนโซเอต ทาแล้วทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง และในอีก 1 สัปดาห์ต่อมาควรทำซ้ำอีกครั้ง

6. สามารถใช้สมุนไพรรักษาได้ทั้งหิดและเหา โดยใช้เมล็ดน้อยหน่าตำละเอียดผสมกับน้ำมะพร้าวในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 ชโลมทิ้งไว้ 2 ชั่วโมง แล้วล้างออก ให้ทำซ้ำทุกสัปดาห์จนกว่าจะหาย ถ้าน้ำยาเข้าตาอาจทำให้เยื่อตาขาวอักเสบได้ ควรใช้ยาหยอดตาที่เข้าสตีรอยด์หากมีผลข้างเคียงดังกล่าวเกิดขึ้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า