สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อาการเส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อมือ

กลุ่มอาการเส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อมือ หรือทางการแพทย์จะเรียกว่า คาร์ปอล ทันเนล ชินโดรม (Carpal Tunnel Syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อย ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ อายุเฉลี่ยที่ประมาณ 54 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ถึง 2 เท่า ผู้ที่มีอาการเส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อมือ มักจะมีอาการชา โดยเฉพาะที่นิ้วชี้และนิ้วกลาง รู้สึกเสียวคล้ายถูกไฟฟ้าช็อต หรือรู้สึกร้อนไปที่ปลายนิ้ว จะปวดบริเวณนิ้วมือ และข้อมือ อาจจะปวดขึ้นไปจนถึงไหล่ รู้สึกว่ามือไม่ค่อยมีแรง กำมือได้ไม่แน่น ทำของตกบ่อยๆ ใช้มือข้างนั้นทำงานไม่ถนัด ถ้ามีอาการมานาน อาจจะพบว่ามีกล้ามเนี้อฝ่ามือลีบเล็กลง ฝ่ามือแบนราบลงกว่าปกติ กลุ่มอาการเหล่านิ้ อาจจะเกิดขึ้นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเกิดขึ้นหลายอย่างร่วมกัน และอาจจะเกิดที่มือข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ โดยมากจะเริ่มจากมีอาการน้อยๆ ก่อนและอาการจะมากขึ้นเรื่อยๆ อาการมักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ ในตอนกลางคืน ทำให้ต้องตื่นกลางดึก และเมื่อสะบัดมือ กำมือ ขยับนิ้วสักพักอาการก็จะดีขึ้น นอนหลับต่อได้ แต่ถ้าเป็นมากขึ้นก็จะมีอาการเมื่อทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การถือหนังสือ การเขียนหนังสือ การทำงานบ้าน ผู้ป่วยบางคนจะรู้สึกดีขึ้น เมื่อห้อยแขนลงและสะบัดข้อมือ ขยับนิ้วมือ กำนิ้ว สลับเหยียดนิ้วสักพัก หรือพักข้อมืออยู่ในท่าปกติสักพักจะหาย แต่อีกสักพักก็จะเริ่มมีอาการขึ้นมาอีก เป็นๆ หายๆ สลับไปมา

กลุ่มอาการดังกล่าวนิ้มีสาเหตุมาจาก

1.  การใช้มือท่าเดียวนานๆ       เช่น การกำมือ การบีบ การกด โดยเฉพาะ เมื่อข้อมืออยู่ในตำแหน่งที่กระดกขึ้นหรืองอลงมากๆ เช่น การพิมพ์ดีด ใช้มือเย็บผ้า เล่นเครื่องดนตรี การใส่เฝือกที่ข้อมือ ถือหนังสือ ถือพวงมาลัยรถยนต์ การจับแฮนด์ของรถจักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น

2.  ภาวะผิดปกติหรือโรคที่เป็นอยู่แล้ว         เช่นโรคเบาหวาน พิษสุราเรื้อรัง ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกาต์ กระดูกข้อมือหัก หรือกระดูกข้อมือที่ติดผิดรูป เส้นเอ็น อักเสบ เป็นต้น

3.  สภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลง เช่น อ้วนขึ้น ตั้งครรภ์ หลังคลอดบุตร หรือ ได้รับยาคุมกำเนิด การรักษาในปัจจุบันนิยมเลือกการรักษาอยู่ 3 วิธี คือ

1.  การรักษาตามอาการโดยไม่ผ่าตัด โดยให้ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ให้กินวิตามีนบี 6 แนะนำให้ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการออกแรงของมือ ในท่าเดียวนานๆ และลดท่าทางที่ทำให้ข้อมือกระดกขึ้น หรืองอลงมากเกินไป กรณีที่ปวดมากแพทย์อาจพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์ เข้าไปในบริเวณข้อมือ เพื่อลดอาการบวมของเส้นเอ็นและเส้นประสาท ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นชั่วคราว แต่ส่วนใหญ่จะกลับมีอาการเช่นเดิมในเวลา 2 – 4 เดือนหลังการฉีดครั้งแรก แพทย์มักจะฉีดยาให้แค่ 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรกประมาณ 2 – 3 สัปดาห์

การฉีดยาครั้งที่ 2 จะได้ผลการรักษาไม่ดีเท่าครั้งแรก จึงไม่ควรฉีดซ้ำบ่อยๆ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรรักษาด้วยการผ่าตัด จะได้ผลดีกว่า

นอกจากนี้อาจช่วยได้โดยการใส่เฝือกชั่วคราว ตั้งแต่ฝ่ามือถึงข้อศอก โดยจัดท่าให้ข้อมืออยู่ตรงๆ ให้ใส่เฝือกไว้ในช่วงที่มีอาการ เช่น ขณะทำงาน

2.  การบริหารข้อมือ       สำหรับผู้ที่ทำงานโดยใช้ข้อมือมากๆ ควรบริหารข้อมือก่อนเริ่มทำงาน ประมาณ 5 – 10 นาที โดยประกอบด้วยท่าการบริหาร ดังนี้

ขั้นที่ 1 ยกแขนสูงขึ้นจนเสมอไหล่ เหยียดแขนตรงไปข้างหน้า กระดกข้อมือและนิ้วมือขึ้นจนข้อมือตั้งฉาก ค้างไว้ 5 วินาทีโดยนับ 1 ถึง 5

ขั้นที่ 2 ปล่อยข้อมือตามสบายและเหยียดนิ้วตรง ไม่ต้องเกร็ง นับ 1 ถึง 5 (5 วินาที)

ขั้นที่ 3กำมือแน่น แล้วงอข้อมือลงให้มากที่สุด ค้างไว้ 5 วินาที

นับ 1 ถึง 5

ขั้นที่ 4 ปล่อยข้อมือตามสบาย นิ้วเหยียดตรง ไม่ต้องเกร็ง นับ 1

ถึง 5 (5 วินาที)

3.  การรักษาโดยการผ่าตัด       แพทย์จะผ่าตัดบริเวณข้อมือ โดยฉีดยาชาเฉพาะที่ หลังผ่าตัดสามารถกลับบ้านได้เลยไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล หลังผ่าตัดแพทย์อาจจะให้ใส่เฝือกชั่วคราวให้ข้อมือกระดกขึ้นเล็กน้อยและอยู่นิ่ง ประมาณ 2 สัปดาห์จึงเอาเฝือกออก และอาจนัดมาตัดไหมเมื่อครบ 1 สัปดาห์

หากท่านมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อวางแผนในการรักษาร่วมกันและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

นิภาวรรณ  สามารถกิจ

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า