สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เวชศาสตร์ฟื้นฟูทางออร์โธปีดิคส์

Orthopaedic Rehabilitation

นิยามของคำออร์โธบีดิคส์ ได้รวมถึงการทำให้หน้าที่ของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อกลับคืนดีเหมือนเดิม ตลอดจนถึงข้อและส่วนที่สัมพันธ์กัน โดยความหมายนี้แพทย์ผู้รักษาต้องรับผิดชอบบำบัดให้คนไข้หายกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปรกติ หลังจากการเจ็บป่วยหรือภยันตราย หรือให้เด็กที่เกิดมามีความผิดปรกติในระบบกระดูกกล้ามเนื้อ ได้เติบโตพร้อมกับใช้ส่วนที่มีอยู่ทำหน้าที่ทดแทนตามความสามารถที่มีอยู่ ให้เขาเหล่านี้ดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข อย่างไรก็ตามคนที่ปรกติดีอยู่แล้วกลับไร้ความสามารถเนื่องจากภยันตรายหรือโรคก็ตาม การที่จะให้ร่างกายกลับทำหน้าที่ได้เต็มที่คืนดีดังเดิมนั้นมักจะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก

วิธีต่างๆ ที่เป็นประโยชน์และเพื่อช่วยฟื้นสภาพ ให้คนไข้เหล่านี้สามารถช่วยตัวเองได้

เวชศาสตร์ฟื้นฟูทางออร์โธปีดิคส์มีคำศัพท์ที่ใช้อยู่เสมอคือ

พิสัยการเคลื่อนไหว (Range of Motion, R.O.M.)

หมายถึงการเคลื่อนไหวหรือความสามารถที่จะเคลื่อนไหวที่ข้อตามแนวการเคลื่อนไหวที่ข้อใดข้อหนึ่ง โรคระบบกล้ามเนื้อกระดูกหลายอย่าง ทำให้หรือมีส่วนร่วมทำให้การเคลื่อนไหวข้อเสียไป ในการตรวจสอบการเคลื่อนไหวที่ข้อแพทย์ต้องเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวเป็นปรกติที่แต่ละข้อด้วยเสมอ สิ่งที่ใช้วัดพิสัยการเคลื่อนไหวที่ข้อนี้เรียกว่าโกนิโอมิเตอร์  และใช้หน่วยวัดเป็นองศา

การตรวจสอบกำลังกล้ามเนื้อ (Muscle Testing, M.T.)

การประเมินเรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อจะได้ทราบว่ากล้ามเนื้อที่ผิดปรกติเสียหน้าที่ไปเพียงใด วิธีการตรวจสอบที่ใช้กันอยู่ คือใช้มือของผู้ตรวจและตัวคนไข้ โดยใช้แรงขืนต้านกล้ามเนื้อที่องศาต่างๆ และแบ่งตามขั้น (Grade) ให้คนไข้อยู่ในท่าต่างๆ ตามความเหมาะสมในการตรวจสอบ กล้ามเนื้อแต่ละมัดหรือกลุ่มกล้ามเนื้อ ให้คนไข้ใช้กล้ามเนื้อที่ต้องการทด­สอบอย่างเต็มที่ (R.O.M.) บอกขั้นกำลังกล้ามเนื้อหรือกลุ่มกล้ามเนื้อ ตามที่ได้ผลในการตรวจ บันทึกการทำงานของกล้ามเนื้อที่ใช้กันทั่วไปนั้น มี 3 วิธี คือ

(1) เป็นขั้น 0-5

(2) เป็นร้อยละของปรกติ 0-100

(3) เป็นสเกลแบบโลเวตต์ (Lovett Scale) 0- ปรกติ

ผู้ตรวจควรฝึกหัดให้ชำนาญเพียงวิธีเดียว สเกลของโลเวตต์เป็นที่แพร่หลายมากในการบันทึกกำลังกล้ามเนื้อโดยมีความหมายดังนี้

O (zero) ไม่รู้สึกว่ามีการหดตัว หรือไม่เห็นการหดตัว

เล็กน้อย (Trace) รู้สึกว่ากล้ามเนื้อตึง แต่ไม่มีการเคลื่อนไหว

ไม่ดี (Poor) เคลื่อนไหวได้เมื่อไม่ห้อยแขนขา (Gravity is elimi­nated) แต่เมื่อห้อยแขนขา (Against Gravity) กล้ามเนื้อทำงานไม่ได้

พอใช้ (Fair) คนไข้ยกส่วนที่ห้อยนั้นขึ้นได้ แต่ต้องไม่มีแรงต้าน ภายนอก

ดี (Good) คนไข้ยกส่วนนั้นได้พอใช้ แม้มีแรงต้านอยู่ด้วย ปรกติ (Normal) กล้ามเนื้อสามารถชนะแรงต้านที่มากกว่า

กล้ามเนื้อขั้นดี และมีความแข็งแรงเหมือนกล้ามเนื้ออีกข้างที่ปรกติ

การตรวจสอบกำลังกล้ามเนื้อ (M.T.) ร่วมกับพิสัยการเคลื่อนไหว (r.o.m.) เป็นพื้นฐานในการวินิจฉัยโรค การประเมินผลและการจำแนกประเภทคนไข้ทางออร์โธปีดิคส์ที่มีความพิการ

กิจกรรมในชีวิตประจำวัน (Activities of Daily Living, A.D.L.)

เป็นกิจกรรมพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิตวันหนึ่งๆ รวมทั้งการเคลื่อนย้าย และการทำงานที่เป็นประโยชน์ จึดหมายของกิจกรรมในชีวิตประจำวัน (A.DL.) ก็เพื่อให้คนไข้ช่วยตัวเองได้ การฝึกหัด (Exercise) และกิจกรรมในชีวิตประจำวัน มีความสัมพันธ์กันใกล้ชิดมาก จุดหมายที่จะได้รับขึ้นอยู่กับประเภทคนไข้ เช่นคนไข้นอนกับที่ (Bed Patient) คนไข้นั่งเก้าอี้ล้อ หรือคนไข้เดินได้ ส่วนใหญ่ทางออร์โธปีดิคส์ทำงานเกี่ยวข้องกับคนไข้ที่เดินได้ และจุดมุ่งหมายควรจะบำบัดรักษาให้คนไข้เหล่านี้กลับไปมีชีวิตอยู่เหมือนเดิมอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่จะทำได้

กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy, O.T.)

เป็นศิลปและวิทยาศาสตร์ในการบำบัดอย่างหนึ่งที่ส่งเสริม บำรุงสุขภาพ ป้องกันการไร้สมรรถภาพ และรักษาหรือฝึกหัดคนไข้ที่ร่างกายพิการ ฉะนั้นนักกิจกรรมบำบัดเป็นผู้รับผิดชอบในการสอนและแนะนำคนไข้ในกิจกรรมต่างๆ ให้สอคคล้องกับความสามารถ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ที่คนไข้เป็นอยู่ โดยกระตุ้นให้คนไข้ใช้ความสามารถของร่างกายที่เหลืออยู่ ให้เป็นประโยชน์และช่วยตัวเองได้

ท่าเดิน (Gait)

การตรวจร่างกายด้านระบบการเคลื่อนที่ (Locomotor System) จะครบถ้วนก็ต่อเมื่อได้วิเคราะห์ท่าเดินของคนไข้ การเดินกะเผลก (Limp) ถือเป็นท่าเดินที่มีพยาธิสภาพ

ปรกติวงจรท่าเดิน (Gait Cycle) ประกอบด้วย 2 ระยะ คือระยะตั้งท่า (stance Phase) และระยะแกว่ง (swing Phase) ระยะทั้ง 2 นี้ซ้ำๆ กันและเป็นจังหวะสลับกันเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ตามปรกติ เมื่อการเคลื่อนที่ดังกล่าวนี้ไม่สม่ำเสมอ ถือว่าท่าเดินมีพยาธิสภาพ

ระยะตั้งท่า ตั้งต้นโดยเท้าเบนไปข้างหน้าและส้นเท้าแตะพื้น สิ้นสุด ระยะนี้โดยนิ้วเท้าดันพื้นขึ้นและยกเท้าสูงจากพื้น ระยะตั้งท่ากินเวลานาน กว่าระยะแกว่ง ระยะแกว่งตั้งต้นเมื่อเท้าสูงจากพื้นจนถึงตอนส้นเท้าแตะพื้น อย่างไรก็ตามจะมีระยะสั้นๆ เมื่อเท้าทั้ง 2 อยู่บนพื้นพร้อมกัน ซึ่ง เรียกว่า Double Support

ท่าเดินเป็นการทำหน้าที่ 3 มิติ (Three Dimension) ในการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าหรือถอยหลัง แรงจากส่วนอื่นของร่างกายมีส่วนช่วยทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวแบบ 3 มิติ แม้ว่าขาจะเป็นส่วนที่มีบทบาทเด่นชัดในการเคลื่อนที่ แต่ร่างกายส่วนอื่น เช่น เชิงกราน ลำตัว และส่วนแขน (upper Extremities) ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการเคลื่อนที่ด้วย ฉะนั้น จะต้องสังเกตส่วนต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมดไว้ด้วยในการวิเคราะห์ท่าเดิน

ออร์โธติคส์ (Orthotics)

คือการดามกระดูกภายนอกด้วยสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อจำกัดหรือช่วยการเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้เรียกว่า ออร์โธซิส (Orthosis) โดยใช้กับคนไข้ที่มีความผิดปรกติทางกระดูกและทางประสาท-กล้ามเนื้อ

การใส่อวัยวะเทียม (Prosthetics)

คือการใส่สิ่งประดิษฐ์เป็นอวัยวะเทียม (prosthesis) เพื่อแทนแขนขา หรืออวัยวะที่เสียไปบางส่วนหรือทั้งหมด

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า