สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตแพทย์จะเลือกผู้ใดบ้างเพื่อทำจิตบำบัด?

จิตแพทย์และนักจิตบำบัดที่ทำจิตบำบัดชั้นสูง ชนิดอิงทฤษฎีจิตวิเคราะห์นี้ จะเลือกทำจิตบำบัดให้คนไข้บางคนที่เห็นว่าเหมาะสมเท่านั้น สำนวนภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า ‘‘psychotherapy is not for everyone.” (อันนี้หมายถึงจิตบำบัดชั้นสูง ส่วนจิตบำบัดชั้นต้น และชั้นกลางนั้น ทำได้เกือบทุกกรณี ถ้ามีโอกาส) ปรัชญาของจิตแพทย์และนักจิตบำบัดที่ตั้งไว้เช่นนี้ ทำให้ขัดต่อความรู้สึกของแพทย์ และนักจิตบำบัดหัดใหม่เป็นอย่างยิ่ง เพราะแพทย์จบใหม่ และนักจิตบำบัดหัดใหม่เหล่านี้ มีความกระตือรือร้น และความปรารถนาต้องการให้ผู้ป่วยทุกคนหายจากโรค การเลือกที่รักมักที่ชังเช่นนี้ ขัดต่ออุดมคติของแพทย์จบใหม่ และนักจิตบำบัดหัดใหม่เป็นอย่างยิ่ง

เหตุผลของนักจิตบำบัดชั้นสูง ที่ตั้งเป้าหมายไว้เช่นนี้ เนื่องมาจาก ซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาของนักจิตวิเคราะห์และนักจิตบำบัดสมัยปัจจุบัน กล่าวว่า ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ จากการทำจิตบำบัดชนิดนี้ จะต้องเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้ มีการศึกษาพอสมควรและเป็นบุคคลที่สามารถเข้าใจปัญหาทางจิตใจ หรือ เรียกว่า Psychological Minded

เพื่อเป็นการง่ายแก่การอธิบาย จึงขอแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 จำพวก การแบ่งชนิดนี้ เป็นการแบ่งตามอุดมคติ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว จะหาคนในอุดมคติเช่นนี้ได้ยาก แต่อย่างไรก็ตาม การแบ่งชนิดนี้ ก็ยังนับว่ามีประโยชน์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักจิตบำบัดหัดใหม่ ผู้ป่วยประเภทแรก เรียกว่า Most Suitable Type คือ ผู้ป่วยที่มีอายุระหว่าง 16-45 ปี (ผู้เขียนไม่รวมการทำจิตบำบัด ในผู้ป่วยกุมารจิตเวช ซึ่งเป็นวิชาการเฉพาะทางอีกชนิดหนึ่ง) มีความเฉลียวฉลาดตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไป (ผู้ป่วยปัญญาอ่อน ทำการรักษาโดยวิธีจิตบำบัดชนิดนี้ไม่ได้) ผู้ป่วยต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการพูดถึงความรู้สึกของตนเอง และเข้าใจการพูดจาโต้ตอบได้ดี หรือเรียกว่า เข้าใจ Verbal Communication ได้ดี ผู้ป่วยประสบความสำเร็จในอาชีพการงานตามสมควร สามารถแข่งขันกับบุคคลอื่นๆ ในสังคมเดียวกันได้ ผู้ป่วยต้องไม่ใช่อาชญากร หรืออันธพาล อาการป่วยของผู้ป่วยไม่มากจนถึงกับไม่ สามารถทำงานได้ Ego ของผู้ป่วยยังทำหน้าที่ได้ดีตามสมควร สามารถสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยเขาใจสาเหตุของการเจ็บป่วยว่า เกิดจากเรื่องอารมณ์และจิตใจดี และไม่โทษคนอื่นหรือสิ่งภายนอกว่าเป็นตัวการ ทำให้ผู้ป่วยไม่สบาย ผู้ป่วยมีความกล้าเผชิญหน้ากับปัญหาของตนเอง ชีวิตจริงของผู้ป่วยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีพอใช้ และไม่ได้รับผลประโยชน์ หรือ Secondary Gain จากการเจ็บป่วย ผู้ป่วยสามารถเข้าใจผู้รักษาในความพยายามของผู้รักษา ที่จะช่วยเหลือผู้ป่วย ประการสุดท้าย คือ ผู้ป่วยมีความต้องการอย่างน้อยก็ในระดับที่ “รู้สึกตัว” ที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในทางสร้างสรรค์ และให้ความร่วมมือกับผู้รักษาอย่างจริงใจ และมานะพยายาม

ผู้ป่วยประเภทหลังเรียกว่า Least Suitable Type
หมายถึงผู้ป่วย ที่มีอายุมากเกิน 50 ปีขึ้นไป มีสติปัญญาต่ำ หรือเป็นพวกปัญญาอ่อน ไม่สามารถเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสิ่งแวดล้อมได้ ในรายที่มีสติปัญญาดี แต่มีความจงใจเชื่อว่า โรคที่เขาป่วยอยู่เป็นเรื่องทางร่างกาย ไม่ยอมรับว่าเป็นเรื่องทางอารมณ์และจิตใจ ผู้ป่วยได้รับผลประโยชน์ หรือ Secondary Gain จากการเจ็บป่วยเป็นอันมาก ผู้ป่วยมีความคิดไม่พัฒนา โดยเป็นแบบ Magical Thinking และมี Reality Testing เสีย  ผู้ป่วยเป็นคนหูหนวก มีความยากลำบากในเรื่องการเข้าใจภาษา มีวัฒนธรรมแตกต่างจากบุคคลในสังคมทั่วไปเป็นอย่างมาก จนไม่อาจพูดจากันได้รู้เรื่อง ผู้ป่วยที่กำลังมีอาการหนักมาก หรือ อยู่ในระยะ Acute Stage ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าใจหรือ “ทน” ต่อการที่ผู้รักษาใช้ Interpretation ผู้ป่วย ที่มีบุคลิกภาพแบบ Infantile มากๆ และเป็นคนที่ไม่สามารถระงับอารมณ์ของตนได้ ผู้ป่วย เป็นอาชญากร หรือบุคคลอันธพาล เชื่อถือไม่ได้

จากการแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 ประเภทนี้ ก็โดยมีวัตถุประสงค์จะช่วยนักจิตบำบัดหัดใหม่ คือ ถ้าผู้ป่วยอยู่ใกล้เคียงกับประเภทแรกมากเท่าใด ผลของการรักษาก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้ป่วยอยู่ใกล้เคียงกับประเภทหลังมาก ความล้มเหลวก็ย่อมจะมีมากด้วย แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ นั้น ผู้ป่วยส่วนมาก มักจะอยู่ “ใกล้เคียง” กับประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น หาได้เป็นไปตามอุดมคติ หรือผิดจากอุดมคติอย่างสมบูรณ์ไม่ เพราะฉะนั้น จึงขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้รักษาด้วย นักจิตบำบัดรุ่นหลังบางท่าน เช่น Chessick (1969) กล่าวว่า “ควรจะให้โอกาสแก่ผู้ป่วยทุกคน เพื่อ ทดลองดูว่าจะทำจิตบำบัดชั้นสูงได้หรือไม่ โดยทดลองทำดูประมาณไม่เกิน 6 เดือน ถ้าผู้ป่วยสามารถรับการรักษาชั้นสูงได้ ก็ควรจะทำต่อไป ในทางกลับกัน ถ้าเห็นว่าผู้ป่วยไปไม่ได้แน่ๆ จึงค่อยลดระดับลงมา ทำจิตบำบัดชั้นต้นหรือชั้นกลาง”

การที่ผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์นี้ ผู้ป่วยทุกคนย่อมจะมีความหวาดกลัวอยู่บ้างไม่มากก็น้อย และความหวาดกลัวนี้ มีได้ทั้งระดับที่ “รู้สึกตัว” และระดับที่ “ไม่รู้สึกตัว” จากประสบการณ์พบว่า สิ่งแรกที่ผู้ป่วยส่วนมากมักจะกลัว คือ กลัวการถูกค้นพบว่าเป็น “บ้า” หรือวิกลจริต ผู้ป่วยบางรายอาจกลัวว่าตนเองจะเป็นผู้มีความผิดปกติทางเพศ เช่น Homosexual เป็นต้น บางรายอาจคาดคะเนเอาว่า สักวันหนึ่ง นักจิตบำบัดคงจะโจมตีผู้ป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือกลัวจะถูกค้นพบว่า ตนเองมีความชั่วร้าย และสิ่งที่น่ารังเกียจมากมาย ผู้ป่วยบางคนกลัวว่า จะต้องพึ่งนักจิตบำบัดไปจนตลอดชีวิต และต้องยอมเป็น “ทาสทางใจ” ของนักจิตบำบัดตลอดไป ผู้ป่วยบางคนอาจกลัวว่า จะถูกนักจิตบำบัดดูถูกดูหมิ่น อาจจะกลัวเลยเถิดไปถึงกับว่า ตนจะต้องรักนักจิตบำบัดรวมทั้งอาจถูกลวนลามทางเพศด้วย

ในระดับจิตไร้สำนึกนั้น ผู้ป่วยกลัวจะถูกเปลี่ยนแปลง Neurotic Structure ของตนเอง ทั้งนี้ เพราะว่า ผู้ป่วยชินต่อความเป็นอย่างนี้มาเป็นเวลาหลายสิบปี ฟรอยด์ กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนไม่อยากเปลี่ยนแปลงสิ่งดั้งเดิมของตน เว้นไว้เสียแต่ว่า สิ่งดั้งเดิมนั้น จะสร้าง ปัญหาและความไม่สบายใจให้ การที่ต้องเปลี่ยนแปลง หรือ “สลัดทิ้ง” สิ่งดั้งเดิมนี้ เป็นภัยคุกคามต่อ Narcissism ของตนเอง ทำให้เรารู้สึกหมดหวังท้อแท้ และช่วยตนเองไม่ได้ แบบเดียวกับตอนที่เรายังเป็นเด็กเล็กๆ

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า