สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เรียนรู้จากผู้ป่วยจิตเวช

ผู้รักษาเรียนรู้
ในการรักษาระยะแรกๆ นั้น ผู้รักษาจะพยายามเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับผู้ป่วย จะปล่อยให้ผู้ป่วยเล่าทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยเสรี คือผู้รักษาจะไม่ห้ามอะไรเลย เมื่อผู้รักษาทราบการวินิจฉัยโรคทางคลีนิก และ Dynamic Diagnosis แล้ว ผู้รักษาจะพยายามฟัง เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมคือ หา Neurotic Conflicts ที่สำคัญ เมื่อทราบข้อมูลโดยละเอียดแล้ว ผู้รักษาก็จะใช้ทั้ง Interposition และ Interpretation เข้าช่วยเหลือ ให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเอง

นอกจากนี้ ผู้รักษาจะต้องพยายามเข้าใจพฤติกรรมของคนไข้ มนุษยสัมพันธ์ทั้ง ในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้ง Ego’s Functions ของผู้ป่วย ทั้งที่ยังดีอยู่ และที่ไม่สามารถทำงานได้ คือล้มเหลว

ในการฟังผู้ป่วย เล่าเรื่องราวต่างๆ ครั้งแรกๆ นั้น อาจจะรู้สึกว่าเข้าใจได้ ยากและบางครั้งก็ไม่เกี่ยวข้องกับอาการป่วยที่เขาเป็นอยู่ แต่ถ้าตั้งใจฟังให้ดีๆ จึงจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า Conflicts ต่างๆ เหล่านี้ อยู่ในระดับ “จิตไร้สำนึก” ผู้รักษาจึงจำเป็นต้องใช้เวลานานพอสมควร ที่จะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้

ในการรักษาผู้ป่วย นักจิตบำบัดจะให้ความสนใจมาก เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ในขณะผู้ป่วยเริ่มไม่สบาย เหตุการณ์ที่ทำให้อาการกำเริบขึ้น Transference จินตนาการ ความฝัน และลักษณะของ Resistances ในผู้ป่วยแต่ละคน

ถึงแม้ว่านักจิตบำบัดจะต้องพยายามเข้าใจผู้ป่วย ในทุกแง่ทุกมุมก็ตาม แต่นักจิตบำบัดกระทำการแก้ไข ในเฉพาะเรื่องที่คิดว่าจำเป็นต้องทำเท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น ก็จะไม่แตะต้องเลย

นักจิตบำบัดหัดใหม่นั้น เมื่อได้ข้อมูลมา ก็มักจะอดทนไม่ค่อยได้ อยากจะใช้ Interpretation เหลือเกิน การทำเช่นนี้ จะทำได้เมื่อคนไข้พร้อมที่จะเข้าใจเท่านั้น การที่นักจิตบำบัดได้ข้อมูลมาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าคนไข้พร้อมที่จะเข้าใจด้วย จึงขอเรียนเตือนเอาไว้ด้วย

ในระยะแรกของการรักษา นักจิตบำบัดจะใช้แค่ Interposition เท่านั้น คือ การถาม การอธิบาย การแนะทาง และช่วยเหลือผู้ป่วย ถ้าอยู่ในภาวะวิกฤต ส่วน Interpretation นั้นเป็นการเผชิญหน้ากับผู้ป่วย เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยจึงต้องพร้อมเสียก่อน จึงจะทำได้

นักจิตบำบัดหัดใหม่ มักจะประสบปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือ พยายามรวบรวมข้อมูลต่างๆ และ “ยัดเยียด” ให้คนไข้เป็นไปตามทฤษฎีต่างๆ ซึ่งคนเพิ่งเรียนรู้ หรือได้อ่านมาใหม่ๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องระวังเรื่องนี้ และต้องเตือนตนเองว่า หน้าที่ของนักจิตบำบัดในระยะแรกนี้ คือ การฟัง ถ้าไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่แน่ชัดแจ่มแจ้ง ก็ให้ถามผู้ป่วยได้ แต่ห้ามถามจนผู้ป่วยสับสน

ในบางครั้ง นักจิตบำบัดอาจจะต้องอนุโลม คือ ตอบคำถาม และให้กำลังใจบ้างเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าคนไข้รบเร้ามาก และเป็นคนต้องพึ่งผู้อื่นมาก คือ มี Dependency Need สูง ถ้าจะไม่ตอบคำถามเสียเลย อาจจะทำให้คนไข้ รู้สึกผิดหวังมาก หรือคิดว่านักจิตบำบัดไม่สนใจตน ทอดทิ้งเย็นชาเกินไป ฯลฯ อาจจะทำให้คนไข้เลิกการรักษาได้ แต่อย่างไรก็ตาม นักจิตบำบัดต้องพยายามตอบให้น้อยที่สุด และต้องตอบตามความจริงด้วยเสมอไป

ประการสุดท้าย นักจิตบำบัดจะต้องเรียนรู้ว่า คนไข้ใช้ภาษาระดับไหน สำนวนโวหารที่พูดเป็นอย่างไร เพราะว่านักจิตบำบัดจะต้อง “พูด” กับคนไข้ โดยใช้ภาษาและสำนวนโวหารระดับเดียวกับผู้ป่วย จึงจะพูดจาและเข้าใจกันได้ดี

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า