สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ(Meningitis)

หมายถึงแผ่นเยื่อบางๆ ที่ห่อหุ้มเนื้อสมองและไขสันหลังเกิดการติดเชื้ออักเสบ ทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า เยื่อหุ้มสมองอักเสบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย เป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรงอาจพิการหรือตายได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องแต่เนิ่นๆ

สาเหตุ
สาเหตุและความรุนแรงของเยื่อหุ้มสมองอักเสบแบ่งออกได้หลายชนิด เช่น

1. เยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลันชนิดมีหนอง อาการมักเกิดขึ้นฉับพลันทันที มีความรุนแรง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อนิวโมค็อกคัส สเตรปโตค็อกคัส อีโคไล เมนิงโกค็อกคัส สแตฟีโลค็อกคัส เคล็บซิลลา ฮีโมฟีลุสอินฟลูเอนเซ เป็นต้น เชื้อโรคอาจแพร่กระจายจากแหล่งติดเชื้อจากส่วนอื่นของร่างกายผ่านกระแสเลือดไปที่เยื่อหุ้มสมอง เช่น ปอดอักเสบ กระดูกอักเสบเป็นหนอง คออักเสบ ฝีที่ผิวหนัง โรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น หรือเชื้ออาจลุกลามโดยตรง เช่น อาจมีเชื้อลุกลามจากภายนอกในกรณีผู้ป่วยมีกะโหลกศีรษะแตก หรือภาวะหูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ ทำให้เชื้อโรคจากบริเวณดังกล่าวลุกลามไปสู่สมองโดยตรง

2. เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรค เชื้อวัณโรคจะแพร่กระจายผ่านทางกระแสเลือดไปสู่เยื่อหุ้มสมอง โรคนี้จะมีอาการค่อยๆ เกิดอย่างช้าๆ เป็นสัปดาห์ อัตราการตายหรือพิการที่ค่อนข้างสูงในโรคนี้เนื่องจากผู้ป่วยมักมาพบแพทย์มีอาการรุนแรงแล้ว พบโรคนี้มากในเด็กอายุประมาณ 1-5 ปี

3. เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส เชื้อจะแพร่กระจายทางกระแสเลือดทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ บางรายอาจมีการอักเสบของเนื้อสมองร่วมด้วย ซึ่งสาเหตุของโรคนี้อาจเกิดจากเชื้อคางทูม เชื้อไวรัสเอนเทอโร เชื้อค็อกแซกกี ไวรัสเฮอร์ปีส์ เชื้อเอชไอวี เป็นต้น

4. เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา พบได้บ่อยจากเชื้อคริปโตค็อกคัส ซึ่งอยู่ในอุจจาระของนกพิราบ ไก่ ตามพื้นดิน เชื้อเข้าสู่ร่างกายด้วยการหายใจเข้าทางปอดผ่านกระแสเลือดไปที่เยื่อหุ้มสมอง อาการของโรคจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ มักพบเป็นมากในผู้สูงอายุ และผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอจากโรคเอดส์ มะเร็ง เบาหวาน เอสแอลอี ไตวาย ตับแข็ง หรือมีประวัติกินยาสตีรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลานานๆ เป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรงชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อคริปโตค็อกคัส(cryptococcal meningitis)

5. เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากพยาธิ ที่พบได้บ่อยคือเกิดจากพยาธิตัวจี๊ด และพยาธิแองจิโอ ความรุนแรงมักขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสมอง ถ้ามีเลือดคั่งหรือสมองส่วนสำคัญถูกทำลายก็อาจทำให้พิการหรือตายได้ มักจะหายได้เองหากอาการไม่รุนแรง

พยาธิแองจิโอ ผู้ป่วยมักมีประวัติกินหอยโข่งดิบและจะแสดงอาการใน 1-2 เดือนต่อมา เมื่อพยาธิเข้าสู่กระเพาะลำไส้และไชเข้าสู่กระแสเลือดขึ้นไปที่สมอง มักพบโรคนี้ช่วงปลายฤดูฝน

6. เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา เกิดจากเชื้ออะมีบาชื่อ Naegleria fowleri มักอาศัยในบ่อน้ำหรือที่มีน้ำไหลช้าๆ หรือดินโคลน เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายทางจมูกจากการเล่นน้ำ ถูกสาดน้ำ หรือสูดน้ำจากแหล่งที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ เชื้อจะไชผ่านเยื่อบุจมูก และเส้นประสาทการรู้กลิ่นเข้าบริเวณฐานสมอง แล้วแพร่กระจายไปตามส่วนต่างๆ ของสมองและเยื่อหุ้มสมอง โรคนี้มีความร้ายแรงจนถึงชีวิตเป็นส่วนใหญ่ ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-7 วัน หรืออาจนานถึง 2 สัปดาห์

7. เยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น ไทฟอยด์ สครับไทฟัส เล็ปโตสไปโรซิส ซิฟิลิส เมลิออยโดซิส บรูเซลโลซิส เป็นต้น

8. ที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น เอสแอลอี มะเร็งบางชนิด ผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ โคไตรม็อกซาโซล เป็นต้น

อาการ
มีไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง คอแข็งโดยคอจะแอ่นไปข้างหลังและก้มไม่ลง ผู้ป่วยมักจะปวดศีรษะโดยเฉพาะเวลาก้มศีรษะ จะปวดติดต่อกันหลายวัน อาการปวดคล้ายๆ ศีรษะจะระเบิดอาการไม่ทุเลาแม้จะกินยาแก้ปวด อาจมีไข้สูงตลอดเวลาหรือไข้ต่ำๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิด เช่น ถ้ามีสาเหตุจากพยาธิอาจไม่มีไข้ หรือมีไข้ต่ำๆ เท่านั้น ในเวลาต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการกลัวแสง กระสับกระส่าย สับสน ซึม และหมดสติ หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา หรืออาจเกิดอาการเห็นภาพซ้อน กลืนลำบาก แขนขาเป็นอัมพาตหรือชักติดๆ กันนานๆ

ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจมีไข้สูง กระสับกระส่าย ร้องไห้เสียงแหลม อาเจียน ชัก เบื่ออาหาร ซึ่งอาการอาจไม่ค่อยชัดเจน

ในผู้ป่วยที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลันชนิดเป็นหนอง อาจมีอาการเจ็บคอคล้ายไข้หวัดนำมาก่อนประมาณ 12-14 ชั่วโมง แล้วจะมีอาการปวดศีรษะ อาเจียน คอแข็ง ตามมา

ในรายที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อเมนิงโกค็อกคัส หรือเรียกโรคนี้ว่า ไข้กาฬหลังแอ่น พบมีการระบาดและสามารถติดต่อได้ทางระบบทางเดินหายใจ อาจมีผื่นแดง จ้ำเขียวขึ้นตามผิวหนังร่วมด้วย อาจเกิดภาวะช็อกอย่างรวดเร็ว

ในรายที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส เกิดโรคแทรกซ้อนได้น้อย มักมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน คอแข็ง ซึม หรือชัก เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน มักมีอาการอยู่ราวๆ 2 วันถึง 2 สัปดาห์ แล้วจะค่อยๆ หายไปเอง

ถ้ามีสาเหตุจากเชื้อวัณโรคหรือเชื้อรา มักเกิดอาการนำมาก่อนด้วยอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้ อาเจียน ประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วจึงมีอาการคอแข็ง ปวดศีรษะรุนแรง หรือชักตามมา

ถ้ามีสาเหตุจากพยาธิ อาการที่มักเกิดขึ้นคือ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็ง อาจมีอัมพาตของใบหน้าหรือแขนขาในบางราย

ถ้ามีสาเหตุจากตัวจี๊ด อาจมีประวัติของโรคพยาธิตัวจี๊ดมาก่อน

ถ้ามีสาเหตุจากเชื้ออะมีบา จะมีอาการคัดจมูก การรับรู้กลิ่นเสียไปในระยะเริ่มแรก และต่อมาจะเกิดอาการปวดศีรษะบริเวณหน้าผากมาก มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ซึม และชัก

สิ่งตรวจพบ
มีไข้สูง บางรายอาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้เลยก็ได้
มักตรวจพบมีอาการคอแข็ง ในเด็กมักพบกระหม่อมโป่งตึง
มีอาการซึม ไม่ค่อยรู้ตัว สับสน แขนขาเป็นอัมพาต ชัก และหมดสติ

ภาวะแทรกซ้อน
มักพบภาวะแทรกซ้อนจากผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค เชื้อเมนิงโกค็อกคัส เชื้อรา และพยาธิ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาช้าไป หรือมีอาการรุนแรงแล้ว
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ เช่น โรคลมชัก แขนขาเป็นอัมพาต หูหนวก ตาบอด ตาเหล่ ปากเบี้ยว พูดไม่ได้ สมองพิการ ปัญญาอ่อน ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ ฝีสมอง เป็นต้น

การรักษา
ให้ไดอะซีแพมโดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือเหน็บทวารหนักเพื่อลดอาการชักเกร็งถ้ามีอาการชัก ให้น้ำเกลือไประหว่างทางถ้ามีภาวะขาดน้ำหรือช็อก แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล

แพทย์มักวินิจฉัยด้วยการเจาะหลังดูความผิดปกติของน้ำไขสันหลัง เช่น ความดันน้ำไขสันหลังสูง น้ำไขสันหลังขุ่นเพราะเกิดเป็นหนองจากเชื้อแบคทีเรีย เม็ดเลือดขาวมีการเปลี่ยนแปลงทั้งชนิดและปริมาณ ระดับน้ำตาลและโปรตีนมีการเปลี่ยนแปลง ตรวจหาเชื้อก่อโรคด้วยการนำน้ำไขสันหลังไปตรวจย้อมสีหรือเพาะเชื้อ เป็นต้น ลักษณะจำเพาะของน้ำไขสันหลังจะนำมาแยกแยะหาสาเหตุของโรคได้

เพื่อค้นหาสาเหตุและประเมินความรุนแรงของโรคอาจต้องทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ ถ่ายภาพรังสีปอดและไซนัส ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัส เป็นต้น

แพทย์มักจะให้การรักษาตามอาการเช่น ให้ยาลดไข้ ยากันชัก ปรับดุลสารน้ำและอิเล็กโทรไลต์ เจาะหลังเพื่อลดความดันน้ำไขสันหลัง เจาะคอช่วยหายใจถ้าหมดสติ ให้อาหารทางสายยางหากกินไม่ได้ และให้ยารักษาตามสาเหตุเฉพาะ เช่น ให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อต้นเหตุถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ให้ยารักษาวัณโรคนาน 6 เดือนหากเกิดจากเชื้อวัณโรค ให้ยาฆ่าเชื้อรา เช่น แอมโฟเทอริซินบี ฟลูโคนาโซล ไอทราโคนาโซล ถ้าเกิดจากเชื้อรา ให้การรักษาตามอาการหากเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมักจะมีอาการดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ ถ้าเกิดจากพยาธิให้รักษาตามอาการ ให้เจาะสันหลังเพื่อลดความดันน้ำไขสันหลังให้เป็นปกติบ่อยๆ แพทย์อาจจะลดระยะเวลาของการปวดศีรษะและจำนวนครั้งของการเจาะหลังลงด้วยการให้เพร็ดนิโซโลน ขนาด 60 มก./วัน นาน 2 สัปดาห์ ในผู้ใหญ่ และมักให้ยาแอมโฟเทอริซินบีร่วมกับยาอื่นๆ เช่น ไมโคนาโซล ไรแฟมพิซิน เตตราไซคลีน ถ้าเกิดจากเชื้ออะมีบา

หากได้รับการรักษาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ อาการมักจะดีขึ้นและหายเป็นปกติภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่หากได้รับการรักษาช้าไป หรือพบในทารกแรกเกิดหรือผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงก็อาจมีความพิการทางสมองหรือเสียชีวิตได้ จำเป็นต้องให้ยากันชัก เช่น ฟีโนบาร์บิทาล เฟนิโทอิน รักษาอาการอย่างต่อเนื่องจากการเกิดภาวะโรคลมชักแทรกซ้อน

ข้อแนะนำ
โรคนี้เป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่ง ถ้าพบผู้ที่มีอาการปวดศีรษะ หรืออาเจียนอย่างรุนแรง ที่สงสัยหรือไม่แน่ใจว่าจะเป็นโรคนี้ ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที เพราะถ้าให้การรักษาช้าก็จะยิ่งมีอันตรายมากขึ้น

การป้องกัน
1. ฉีดวัคซีนบีซีจีตั้งแต่แรกเกิดเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นวัณโรค หากเป็นวัณโรคก็ควรรักษาให้หายขาดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

2. ไม่กินอาหารดิบๆ เช่น กุ้ง ปลา หอยโข่ง เป็นต้น เพื่อป้องกันมิให้เป็นโรคพยาธิตัวจี๊ดและพยาธิแองจิโอ

3. ควรรีบรักษาหากพบว่าเป็นโรคหูน้ำหนวกหรือหูชั้นกลางอักเสบ หรือไซนัสอักเสบ อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรังจนเชื้อเข้าสู่สมอง

4. ควรให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น ไรแฟมพิซิน เพื่อป้องกัน ในกรณีเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคไข้กาฬหลังแอ่น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า