สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เยื่อบุหัวใจอักเสบ(Bacterial endocarditis)

หมายถึงเยื่อบุผนังด้านในของหัวใจเกิดการอักเสบ เป็นภาวะที่ร้ายแรง พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก อาจทำให้เสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเยื่อบุหัวใจอักเสบ

สาเหตุ
ที่พบได้บ่อยคือการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส และสแตฟีโลค็อกคัส ซึ่งผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติของลิ้นหัวใจอยู่ก่อนแล้ว เช่น ลิ้นหัวใจพิการมาแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจพิการจากโรคหัวใจรูมาติก เป็นต้น เมื่อร่างกายติดเชื้อ เชื้อโรคก็จะผ่านกระแสเลือดเข้าไปทำให้เยื่อบุหัวใจและลิ้นหัวใจเกิดการอักเสบและแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ผู้ป่วยอาจรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายขณะถอนฟันหรือสอดใส่เครื่องมือในทางเดินหายใจหรือทางเดินปัสสาวะ หรือเป็นโรคเหงือกอักเสบ การทำแท้ง ใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด การผ่าตัด เป็นต้น

อาการ
ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด กล้ามเนื้อและข้อมีอาการปวดเมื่อย อาจมีเลือดกำเดาไหล หรือจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว และอาการซีดจากภาวะโลหิตจางจะมากขึ้นเรื่อยๆ อาจมีภาวะหัวใจวาย อัมพาตครึ่งซีก ภาวะไตวายร่วมด้วยในรายที่เป็นแบบรุนแรง

ในรายที่เป็นชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและอาการจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที มักไม่มีประวัติความพิการของลิ้นหัวใจมาก่อน ซึ่งมักจะเกิดจากการติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส

ในรายที่เป็นชนิดเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีอาการเรื้อรังแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจมีไข้นานเป็นเดือน ซีด และผอมลงเรื่อยๆ มักเกิดจากการติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัสซึ่งความรุนแรงจะน้อยกว่าเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส

สิ่งตรวจพบ
ตรวจพบผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ซีด ตามผิวหนัง เยื่อบุตา กระพุ้งแก้ม และที่ใต้เล็กจะมีจุดแดงขนาดเท่าหัวเข็มหมุด หัวใจเต้นเร็ว ม้ามโต มักได้ยินเสียงฟู่เมื่อใช้เครื่องตรวจฟังหัวใจ

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เลือดออกง่าย เกิดภาวะโลหิตจาง หัวใจวาย ไตวาย อัมพาต โลหิตเป็นพิษ เกิดขึ้นได้

การรักษา
ควรส่งผู้ป่วยให้ถึงมือแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมงหากสงสัยว่าจะเกิดโรค แพทย์มักจะวินิจฉัยด้วยการเจาะเลือดเพาะเชื้อ ตรวจเอกซเรย์ ตรวจคลื่นหัวใจ หรือตรวจพิเศษเพิ่มเติมอื่นๆ ให้ยาปฏิชีวนะให้การรักษาตามสาเหตุที่ค้นพบ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะให้เพนิซิลลินชนิดฉีดในขนาดสูง ให้นาน 4-8 สัปดาห์ ร่วมกับรักษาภาวะแทรกซ้อนที่พบ เช่น โลหิตจาง ภาวะหัวใจวาย ภาวะไตวาย อัมพาต เป็นต้น

การป้องกัน
ก่อนจะถอนฟันหรือให้แพทย์ตรวจรักษาโดยการสอดใส่เครื่องมือหรือสายสวนในทางเดินหายใจ หรือทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจพิการมาแต่กำเนิดหรือโรคหัวใจรูมาติก หรือเคยผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียม หรือเคยเป็นโรคนี้มาก่อนแพทย์ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ เช่น

1. ในกรณีถอนฟันหรือสอดใส่เครื่องมือในทางเดินหายใจ ก่อนทำ 1 ชั่วโมงแพทย์มักจะให้อะม็อกซีซิลลิน ขนาด 50 มก./กก.ในผู้ใหญ่ใช้ขนาด 3 กรัม และให้อีก 1 ครั้งโดยลดยาเหลือครึ่งหนึ่งหลังจาก 6 ชั่วโมง หรือก่อนทำ 2 ชั่วโมง ให้อีริโทรไมซิน ขนาด 20 มก./กก. ในผู้ใหญ่ใช้ 1 กรัม และให้อีก 1 ครั้งโดยลดขนาดยาลงเหลือครึ่งหนึ่ง หลังจาก 6 ชั่วโมง

2. ให้อะม็อกซีซิลลินตามขนาดที่กล่าวไว้ข้างต้นร่วมกับฉีดเจนตาไมซินเข้ากล้ามหรือหลอดเลือดดำ ขนาด 1.5 มก./กก. ในกรณีสอดใส่เครื่องมือหรือสายสวนทางเดินปัสสาวะก่อนทำ 30 นาที และฉีดซ้ำอีก 1 ครั้งใน 8 ชั่วโมงต่อมา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า