สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การเยียวยาที่จุดทริกเกอร์(Trigger Point Therapy)

เป็นการสยบ หรือลดความอ่อนไหว หรือเพื่อกำจัดจุดทริกเกอร์ ด้วยการใช้เทคนิคต่างๆ

บริเวณที่มีความอ่อนไหวมากเป็นพิเศษในกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน คือ จุดทริกเกอร์ เมื่อไปโดนเข้าก็จะรู้สึกเจ็บมาก การส่งความรู้สึกเจ็บปวดไปถึงส่วนอื่นของร่างกายกระทำได้ด้วยการกระตุ้นหรือสร้างแรงกระทบที่จุดนี้

กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันหรือพังผืดจะผ่อนคลายลงเมื่อสยบความเจ็บปวดหรือความอ่อนไหวที่จุดทริกเกอร์ลงไปได้ ทำให้บริเวณที่สัมพันธ์หรือเชื่อมโยงอยู่กับจุดทริกเกอร์กลับคืนสู่ภาวะปกติ สามารถหยุดยั้งความเจ็บปวดในบริเวณดังกล่าวด้วย

ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน นักกายภาพบำบัด หมอนวด ผู้ให้การบำบัดอาการป่วยที่กล้ามเนื้อโดยใช้จุดทริกเกอร์ และผู้เยียวยารักษาด้วยวิธีของการแพทย์นอกระบบ ต่างก็ใช้ประโยชน์จากการรักษาเยียวยาที่จุดทริกเกอร์นี้ด้วยกันทั้งนั้น

ผู้ที่ได้พัฒนาวิธีการเยียวยาที่จุดทริกเกอร์ ขึ้นมา คือ บอนนี่ พรุดเดน(Bonnie Prudden) โดยใช้ชื่อวิธีนี้ว่า การบำบัดรักษากล้ามเนื้อ หรือMyotherapy

การเยียวยาที่จุดทริกเกอร์ หรือ Trigger Point Therapy เป็นฝีมือของ ดร.แจเน็ต แทรเวล(Janet Travel) ที่ได้พัฒนาการสืบต่อมาจาก Myotherapy โดยที่ ดร.แทรเวลได้ทำแผนภูมิของความเจ็บปวดในร่างกายว่ามีความเกี่ยวโยงกับจุดทริกเกอร์บริเวณใดบ้าง และด้วยเหตุนี้ นายแพทย์ ดับบลิว เอส ซี โคปแมน(W.S.C. Copeman) ผู้เชี่ยวชาญด้านไขข้อชาวอังกฤษจึงขนานนามให้เธอว่า “ราชินีทริกเกอร์”

ดร.แทรเวลมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในนามของแพทย์ประจำตัวของจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ทั้งในสมัยที่เป็นวุฒิสมาชิก และได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าการทำแผนภูมิของความเจ็บปวดในร่างกายจะเป็นส่วนสำคัญของงานในชีวิตของเธอก็ตาม

ดร.แทรเวลเกิดในปี ค.ศ.1901 อยู่ในครอบครัวแพทย์ในนิวยอร์คซิตี้ นายแพทย์วิลลาร์ด แทรเวล(Willard Travel) บิดาของเธอเป็นผู้บุกเบิกในด้านการแพทย์แผนธรรมชาติ หรือแผนฟิสิคส์ มีทักษะเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการรักษาอาการปวดที่กระดูก-กล้ามเนื้อและประสาท ได้รับรักษาผู้ป่วยอยู่จนกระทั่งอายุ 85 ปี ส่วนเวอร์จิเนีย แทรเวล วีคส์(Virginia Travel Weeks)อาของ ดร.แจเน็ต แทรเวล ก็เป็นหมอด้านกุมารแพทย์

ดร.แจเน็ต แทรเวล เรียนจบจากวิทยาลัยเวลส์ลีย์และได้เข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยแพทย์ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลในปี ค.ศ.1922 และได้รับปริญญาแพทย์ศาสตร์พร้อมกับได้รับรางวัลโพล์ค เมโมเรียล(Polk Memorial Prize)ในปี ค.ศ.1926 ในฐานะที่มีผลการศึกษาดีเด่น

ในปี ค.ศ.1936 เมื่อ ดร.แทรเวลได้อ่านบทความทางวิชาการเกี่ยวกับ “เขตทริกเกอร์” หรือทริกเกอร์โซน ที่ได้บรรยายถึงทริกเกอร์โซนที่บริเวณไหปลาร้าของผู้ป่วย 2 ราย ซึ่งเมื่อกดลงที่บริเวณนี้ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บแผ่ซ่านไปถึงไหล่ คอ และเรื่อยไปถึงแขนของผู้ป่วย จากคำบรรยายได้บอกว่าอาการปวดที่ทำให้เกิดขึ้นได้นี้ไม่มีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

ต่อมาใน ค.ศ.1939 ดร.แทรเวล เกิดมีอาการปวดที่ไหล่ขวาและแขนขวามากเนื่องจากการใช้กล้ามเนื้อในการเขียนหนังสือและการทำงานที่ต้องใช้ความแม่นยำในห้องแล็บมากเกินไป เธอพยายามนวดกล้ามเนื้อที่ไหล่ข้างนั้นด้วยตัวเอง และได้เกิดความเจ็บปวดขึ้นที่แขนแบบเดียวกับที่เคยปวดมาก่อนแล้ว จากความรู้สึกนี้ทำให้เธอคิดว่า ความเจ็บปวดสามารถส่งผลเกี่ยวโยงไปที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้จริงๆ ด้วยเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้เธอเกิดความสนใจในปรากฏการณ์ที่บริเวณทริกเกอร์ และเริ่มต้นทำงานเกี่ยวกับ “จุดทริกเกอร์”

ระหว่างที่รับรักษาผู้ป่วย เธอได้ตระหนักว่า การรู้ถึงลักษณะความเจ็บปวดน่าจะช่วยให้หาจุด หรือบริเวณทริกเกอร์ได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากได้รู้ว่าความรู้สึกปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง หรือที่เขตเกี่ยวโยงของคนไข้ มีจุดกำเนิดของความเจ็บปวดที่แท้จริงอยู่ไกลออกไปมาก

เธอได้สังเกตผู้ป่วยบางคนที่เป็นโรคปอดชนิดที่คุกคามชีวิตในระหว่างที่ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลวัณโรคแห่งหนึ่งที่เกาะสเทแทน ผู้ป่วยมักจะบ่นถึงอาการปวดที่คอและไหล่กันมากกว่าอาการปวดที่อื่นๆ และเธอก็ได้ค้นพบบริเวณทริกเกอร์ของผู้ป่วยด้วยการลูบคลำในการตรวจ

หลังจากที่ ดร.แทรเวล ได้อ่านบทความเกี่ยวกับการใช้ยาโปรเคน(procaine) หรือโนโวเคน(Novocain) เพื่อใช้บรรเทาอาการปวดด้วยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต่างๆ เธอจึงขออนุญาตลองเทคนิคนี้กับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวไหล่ ผลจากการทดลองปรากฏว่าอาการปวดของผู้ป่วยหายในทันทีและถาวร และข้อต่อตรงไหล่ก็กลับมาเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ

ดร.แทรเวลเริ่มศึกษาถึงการปวดกล้ามเนื้อ-กระดูก ส่วนที่โยงมาจากบริเวณทริกเกอร์ในปี ค.ศ.1941 โดยมี ดร.ซีมัวร์ เอช. รินซเลอร์(Seymour H. Rinzler) เข้ามาร่วมสมทบด้วย การทำงานก็ดำเนินมาถึง 20 ปี โดยในช่วงเวลานั้น ทั้งสองก็ได้ตีพิมพ์เผยแพร่เอกสารต่างๆ มากมายลงในวารสารที่มีชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานด้านนี้

เธอได้ตั้งต้นหาทางทำความเข้าใจเพราะสงสัยว่ายาชาหรือยาระงับอาการปวดในระยะเวลาสั้นๆ ก่อให้เกิดผลอย่างถาวรได้อย่างไรด้วยการทดลองและสังเกต ดร.แทรเวลมั่นใจว่าการกระตุ้นพังผืด หรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน รวมทั้งกล้ามเนื้อในบริเวณทริกเกอร์ จะก่อให้เกิดอาการปวดในบริเวณที่โยงไปถึง เธอจึงใช้คำที่บ่งบอกถึงภาวะนี้ ว่า เป็นอาการปวดที่กล้ามเนื้อและพังผืด หรือ ไมโอฟาสเซียล เพน(myofascial pain)

หลังจากนั้นเพื่อกำจัดบริเวณทริกเกอร์ จึงได้มีการทดสอบใช้วิธีการในแบบต่างๆ ที่ประกอบไปด้วยการฉีดโปรเคน การฉีดน้ำเกลือ และการใช้เข็มเจาะลงหลายๆ หน และดูเหมือนว่าการฉีดโปรเคนจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดด้วยเหตุผลหลายประการ

จากนั้น ดร.แทรเวล จึงได้เริ่มต้นทำแผนภูมิระบุจุดทริกเกอร์ กับลักษณะที่มันโยงไปถึง นั่นคือ ระบุบริเวณที่กดลงไปแล้วทำให้เกิดอาการปวดขึ้นอีกบริเวณหนึ่งของร่างกาย เช่น การกดจุดทริกเกอร์ที่สะโพกแล้วจะทำให้มีอาการปวดที่ขา เป็นต้น

ทั้ง ดร.แทรเวล และ ดร.รินซเลอร์ ได้มีการพัฒนาแผนการรักษาสำหรับแพทย์ที่ต้องการจะใช้เทคนี้เพื่อทำให้จุดทริกเกอร์หมดความรู้สึกลงไป หรือทำให้มันสามารถผ่อนคลายลงได้ ด้วยการฉีดยาชาแบบใช้เฉพาะที่ เช่น โปรเคน หรือยาแก้อาการระคายเคืองอย่างอื่นๆ เช่น ไลโดเคน(lydocaine) ซึ่งจะส่งผลทำให้วงจรการกระตุกของกล้ามเนื้อในบริเวณทริกเกอร์สลายไป ทำให้บริเวณที่โยงไปถึงก็จะหายเจ็บปวดไปด้วย

ต่อมาก็ได้ค้นพบว่าการกดด้วยนิ้ว ก็ส่งผลกระทบถึงจุดเหล่านี้ได้มากอย่างเดียวกับการนวดแบบกดจุด สัมผัสอย่างเบาๆ หรือหนักๆ จะทำให้อาการปวดที่จุดทริกเกอร์สงบลง และช่วยขจัดความเจ็บปวดในบริเวณที่ตรงกันหรือโยงไปถึง เช่นเดียวกับการรักษาด้วยวิธีฉีดยาชาที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว

ในบริเวณที่กำจัดจุดทริกเกอร์ลงไปได้แล้วจะสามารถใช้เทคนิคการนวดแบบต่างๆ เพื่อทำให้น้ำเหลืองและโลหิตที่มีการคั่งอยู่ได้เคลื่อนไหล ป้องกันจุดทริกเกอร์มิให้กลับมาอีกได้

ในกรณีของผู้ป่วยที่มีปัญหาที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูกอย่างรุนแรง เช่น เอ็นอักเสบ หรือข้ออักเสบ ปัญหาทางสรีระต่างๆ ที่ไม่อาจรักษาได้ หรือยากที่จะรักษา ซึ่งไม่ได้เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะแต่มีสาเหตุมาจากจุดทริกเกอร์เสียมากว่า สามารถใช้การบำบัดที่จุดทริกเกอร์รักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นพิเศษ

ได้มีการค้นพบว่า บางครั้งต้นตอของอาการข้ออักเสบไม่ได้มาจากบริเวณที่ปวด เมื่อขจัดจุดทริกเกอร์ไปแล้วอาการก็ทุเลาลง บริเวณดังกล่าวก็มีการตอบสนองต่อการรักษาเมื่อมีการนวดซ้ำ และทำให้หายปวดได้

จุดทริกเกอร์บางจุดที่เกี่ยวข้องกับอาการเอ็นอักเสบอาจส่งความเจ็บปวดของมันไปถึงอวัยวะภายใน การขจัดจุดทริกเกอร์ที่ผนังช่องท้องหรือที่หลังจะสามารถบรรเทาอาการลงได้ บางครั้งการกดจุดทริกเกอร์ที่คออาจทุเลาอาการเจ็บคอที่เป็นกันทั่วไปได้

สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้จากสมาคมผู้บำบัดอาการป่วยที่กล้ามเนื้อด้วยจุดทริกเกอร์ของสหรัฐอเมริกา ตามที่อยู่ดังนี้
National Association fo Trigger Point Myotherapists
2600 South Parker Road, Suite 1-214,
Aurora, CO 80014,
USA.

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า