สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เป้าหมายของสุขภาพที่ดีแบบโยคะ

โยคะ(Yoga)
วิธีหรือระบบการพัฒนาสรีระ ความคิด จิตใจและจิตวิญญาณแบบโยคะ เป็นการปฏิบัติโดยการนำคำสอนในคัมภีร์พระเวทของอินเดียโบราณมาประยุกต์ใช้ เทคนิคของศาสตร์และศิลป์ในการดำเนินชีวิตพยายามที่จะสร้างสมดุลให้แก่ทุกแง่มุมของบุคคล บุคคลที่มีร่างกาย ความคิดจิตใจและจิตวิญญาณที่ประสานรวมกันอย่างราบรื่นกลมกลืนเป็นบุคคลที่มีสุขภาพดีในแบบโยคะโยคะ

การรวม ประสาน การสร้างความกลมกลืน การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และการใช้ประโยชน์ เป็นความหมายของคำว่า โยคะ คำนี้ได้มาจากรากศัพท์ในภาษาสันสกฤตที่ว่า ยุจ(yuj) ซึ่งหมายถึง “การรวม” หรือ “การบรรจบเข้าด้วยกัน” ในคำว่า โยคะ ทั้งในภาษาสันสกฤตและในภาษาอื่นๆ มีความหมายที่เหมือนกันอยู่มากมาย บ่อยครั้งที่มันถูกเรียกว่า หนทาง มรรคา หรือผลงาน ซึ่งในความหมายเดิมนั้นมันหมายถึง การนำเอาปัจจัยทางสรีระ ความคิดจิตใจและจิตวิญญาณของมนุษย์มาเชื่อมเข้าด้วยกัน

โยคะมีหลายแนวหลายแบบแตกต่างกันไป ซึ่งมักเป็นที่รู้จักกันในนามของ
กริยาโยคะ(Kriya Yoga)
ภัคดีโยคะ(Bhakti Yoga)
กรรมโยคะ(Karma Yoga)
มันตราโยคะ(Mantra Yoga)
กุณฑลินีโยคะ(Kundalini Yoga)
หะธะโยคะ(Hatha Yoga)
ราชะโยคะ(Raja Yoga)
และอื่นๆ

แต่พื้นฐานของหะธะโยคะ เป็นเทคนิคที่ทำให้มีสุขภาพดีขึ้น คำว่า “หะธะ” หมายถึง “พลัง” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของโยคะแห่งร่างกายในแง่สรีระและความเป็นอยู่ที่ดีของสรีระ

เชื่อกันว่าโยคะมีกำเนิดมาจากอินเดียในราว 5,000-6,000 ปีก่อน แต่บางกระแสก็ว่ามีมานานกว่านั้นและไม่มีใครทราบว่าใครเป็นผู้ให้กำเนิดโยคะ แต่ในราว 200 ปีก่อนคริสตกาลมีตำนานเล่าว่า มีบุรุษลึกลับ ชื่อ ปาทานจาลี(Patanjali) ได้เดินทางไปยังเทือกเขาเพื่อบำเพ็ญสมาธิ และเมื่อเขากลับออกมาก็ได้เขียนระบบซึ่งในปัจจุบันเรียกกันว่า “โยคะ” ขึ้นมา

เรื่องเกี่ยวกับปาทานจาลีแทบจะไม่มีใครรู้อย่างแท้จริงแม้เขาจะได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งโยคะก็ตาม หลักโยคะได้รับการส่งทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลจากครูมายังลูกศิษย์ ซึ่งปาทานจาลีก็ได้มีผลงานที่มีชื่อว่า คัมภีร์ว่าด้วยโยคะ (Aphorism on Yoga) ขึ้นมา จากที่เขาได้เป็นคนแรกที่รวบรวมความรู้นี้มาจากโยคีอื่นๆ แล้วนำมาจัดเรียงให้สอดคล้องกับประสบการณ์ของเขาก่อนนำออกเผยแพร่ใหม่ในฐานะที่เป็นหลักการที่แน่นอน และมีเทคนิคที่แม่นยำ

การบริบาลร่างกายของมนุษย์อย่างถี่ถ้วน รวมทั้งการทำงานทุกอย่างของร่างกายคือความมุ่งหมายของหะธะโยคะ ซึ่งเป้าหมายอันดับแรกของหะธะโยคะ คือ การกำจัดแหล่งหรือต้นตอของสุขภาพที่เลวเสีย ก่อนที่มันจะสร้างความผิดปกติขึ้นมา ซึ่งเชื่อกันว่าสาเหตุของโรคเกิดจาก การได้ออกซิเจนไม่เพียงพอ ได้รับอาหารและโภชนาการที่เลว การออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ และการขจัดของเสียที่ไม่ดีพอ

เป้าหมายของสุขภาพที่ดีในแบบโยคะ จะบรรลุได้ด้วยการประสานเทคนิคด้วยการออกกำลังกายแบบที่เรียกว่า “อาสนะ” ซึ่งเป็นท่าการทรงตัวต่างๆ การควบคุมการหายใจ การผ่อนคลาย การทำสมาธิ และอาหารกับโภชนาการ มาประกอบเข้าด้วยกัน

ท่าโยคะหรืออาสนะ มีการเหยียดและกระตุ้นกล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกายเป็นจุดมุ่งหมาย และในระหว่างอยู่ในท่าเหล่านี้เทคนิคการหายใจลึกๆ ยังมีแนวโน้มที่จะสร้างความสมดุลให้แก่การทำงานของร่างกายทั้งหมด รวมทั้งการหมุนเวียนโลหิต การหายใจ การย่อยอาหาร เมตาโบลิซึ่ม การกำจัดของเสีย และการทำงานของระบบประสาท อวัยวะและต่อมต่างๆ ด้วย

สำหรับโยคะ เทคนิคการหายใจเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โยคะจะเป็นเพียงการออกกำลังกายประเภทหนึ่งเท่านั้นถ้าปราศจากเทคนิคการหายใจ ผู้ฝึกโยคะสามารถควบคุมทั้งร่างกายและความคิดจิตใจได้จากเทคนิคการหายใจแบบพิเศษนี้ การควบคุมการหายใจสามารถทำให้ความเครียดผ่อนคลายไปได้ และยังกำจัดความโกรธ ความหงุดหงิดและความกระวนกระวาย ซึ่งเป็นอารมณ์ทางลบออกไปได้ด้วย ทำให้ผู้ฝึกรู้สึกผ่อนคลาย มีสมาธิดีขึ้น และมีออกซิเจนในโลหิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย

แม้จุดมุ่งหมายของโยคะจะไม่ใช่เพื่อรักษาโรคหรือความเจ็บไข้ได้ป่วยโดยตรง แต่พบว่ามันมีประสิทธิภาพในการบำบัดปัญหาทางสรีระมากมาย เป็นการสร้างสุขภาพที่ดีเนื่องจากมีการกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่คอยขัดขวางการทำงานตามปกติของร่างกายออกไป และช่วยให้ร่างกายรักษาตัวเองได้ด้วย

โดยปกติ ก่อนอายุ 6 ขวบ หรือหลังจากวัย 65 ปีไปแล้ว จะไม่มีการเริ่มฝึกโยคะกัน แต่ก็อาจมีบางคนที่เริ่มฝึกโยคะเมื่อเลยวัย 65 ปีไปแล้ว ผลปรากฏว่าเกิดประสิทธิภาพ เมื่อได้เรียนรู้ท่าโยคะต่างๆ ก็นำมาใช้ประโยชน์ไปจนชั่วชีวิต

ตามร้านขายหนังสือ ร้านขายอาหารสุขภาพและห้องสมุดต่างๆ มีตำราบอกวิธีการฝึกท่าโยคะด้วยตนเองอยู่มากมาย มีครูและชั้นเรียนที่เปิดสอนในหลายๆ แห่งเนื่องจากมีการฝึกโยคะกันมาเป็นเวลานานแล้ว

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า