สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เบื่ออาหารเป็นอาการของโรคใด

เบื่ออาหาร

เบื่ออาหาร (Anorexia)
อาการเบื่ออาหารเป็นอาการของโรคเกือบทุกชนิด เป็นการยากที่จะครอบคลุมสาเหตุทั้งหมดได้ ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะสาเหตุใหญ่ๆ คือ

1. Local lesions ได้แก่ กลุ่มอาการอักเสบหรือ trauma ของปาก ลิ้น และฟัน เช่น gingivostomatitis, glossitis, dental caries, aphthous ulcer เป็นต้น ทำให้เด็กไม่อยากกินอาหาร

2. โรคติดเชื้อของทุกระบบทุกส่วนในร่างกายทำให้เกิดเบื่ออาหารได้ทั้งสิ้น

3. การขาดสารอาหาร (nutritional deficiency) ทุกตัว ทำให้เบื่ออาหารได้ ซึ่งทำให้ภาวะขาดสารอาหารรุนแรงยิ่งขึ้น สารอาหารที่ควรคำนึงถึงเป็นพิเศษคือ เหล็ก และสังกะสี การขาดไวตามินบีสอง บีหก และไนอาซิน ทำให้เกิด glossitis, stomatitis ร่วมด้วยทำให้ไม่อยากกินอาหาร

4. . โรคมะเร็งของทุกระบบ

5. Psychogenic ความกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจ การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ความกังวลของผู้ปกครองเกี่ยวกับการกินของเด็กมากเกินไป มีผลทั้งสิ้น ที่รุนแรงมากคือ anorexia nervosa ซึ่งมักจะเกิดในเด็กผู้หญิงที่เข้าวัยรุ่นมีลักษณะเฉพาะคือ จะอดอาหารจนน้ำหนักลดลงมาก เหลือแต่กระดูก บ่อยครั้งจะเริ่มมาจากที่ต้องการลดน้ำหนัก โดยการอดอาหารแล้วเกินเลยจนน้ำหนักลดมากกว่าปกติ

6. Physiologic ในเด็กอายุระหว่าง 1-2 ขวบ เด็กเหล่านี้เริ่มหัดเดิน และวิ่ง จะสนใจที่จะสำรวจสิ่งแวดล้อมมากกว่าจะกินอาหาร

การรักษา
เมื่อผู้ปกครองให้ประวัติว่าเด็กเบื่ออาหารไม่กินข้าวนั้น ต้องซักถามประวัติ อาหารให้แน่ชัดว่ากินอาหารอย่างอื่นหรือไม่ โดยเฉพาะในเด็กที่มีน้ำหนักปกติหรือมากกว่าปกติ และไม่พบสาเหตุทางกายหรือทางจิตใจที่ชัดเจน เพราะบางครั้งเด็กไม่กินข้าวแต่ยอมกินขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเป็นอาหารจำพวกเดียวกับข้าวและได้อาหารอื่นเพียงพอ หรือเป็นเพราะผู้ปกครองคิดว่าเด็กควรจะกินอาหารปริมาณมากกว่านี้ ก็เพียงแต่ให้ความมั่นใจแก่ผู้ปกครองเท่านั้น อีกกรณีหนึ่งเด็กไม่ยอมกินข้าว กินแต่พวกขนม เช่น ขนมกรอบๆ ท้อฟฟี่ โดยไม่ให้สารอาหารจำพวกอื่นเลยนั้น ไม่ใช่เพราะเบื่ออาหารเป็นเพราะได้รับการฝึกฝน บริโภคนิสัย (bad food habit) มาไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องมาเท่าที่ควร หรือจำแบบอย่างมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัว การเลือกกินอาหารบางอย่าง ไม่กินอาหารบางอย่างก็เป็นผลจากเหตุข้างต้นเช่นเดียวกัน ในกรณีนี้ต้องอธิบายให้ผู้ปกครอง เข้าใจจิตวิทยา และพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย และต้องค่อยๆ แก้ไข ไม่มียาใดที่จะรักษาได้

ยากระตุ้นให้อยากอาหารที่ใช้กันอยู่ได้แก่ Cyproheptadine และ Pizotifen มีการศึกษาพบว่าเมื่อใช้ Cyproheptadine ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดการหยุดชะงักของการเจริญเติบโตได้ จึงไม่ควรใช้หรือถ้าจะใช้ควรใช้ในระยะเวลาสั้น เพียง 1-2 สัปดาห์ อีกประการหนึ่งการเบื่ออาหารเป็นเพียงอาการหนึ่งของโรคเท่านั้น ถ้าไม่รักษาต้นเหตุอาการนี้จะไม่หายไป ในบางกรณีการใช้ไวตามินรวมอาจช่วยได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมี marginal nutritional deficiency ทำให้แก้การขาดไวตามินนั้น และทำให้เด็กมีความอยากอาหารมากขึ้น

รับไว้ในโรงพยาบาลในกรณีที่เป็น anorexia nervosa หรือมีภาวะ
ทุพโภชนาการร่วมด้วย เพื่อตรวจค้นหาสาเหตุ

ที่มา:ลัดดา  เหมาะสุวรรณ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า