สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ(Cellulitis)

เป็นภาวะที่ผิวหนังชั้นหนังแท้และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกเกิดการอักเสบ ส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอซึ่งติดมาจากทางเดินหายใจ และสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มอื่น แต่ที่เกิดจากเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส นิวโมค็อกคัส เชื้อแบคทีเรียแกรมลบ พบได้เป็นส่วนน้อย เข้ามักเข้าไปทางบาดแผล รอยถลอก หรือรอยแยก มักจะสังเกตได้ชัดเจนจากกรณีที่ถูกแมลงกัด หนามตำ หรือผิวหนังมีรอยขีดข่วน เป็นต้น

อาการ
มักเกิดขึ้นตามแขนขาหรือใบหน้า โดยผิวหนังจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงจัด ลามออกอย่างรวดเร็ว กดเจ็บ คลำดูจะร้อน ขอบผื่นไม่ชัดเจนและไม่ยกนูนจากผิวหนังปกติ ผู้ป่วยอาจมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงอาจโตและกดเจ็บ มีท่อน้ำเหลืองอักเสบเห็นเป็นเส้นสีแดง หรืออาจมีตุ่มน้ำหรือฝีร่วมด้วยในบางราย และจะมีเนื้อตายเกิดขึ้นเมื่อฝีแตกออก

ภาวะแทรกซ้อน
อาจกลายเป็นโลหิตเป็นพิษได้จากเชื้อที่ลุกลามเข้ากระแสเลือด โดยเฉพาะในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำจากสาเหตุอื่น ผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่กินยาสตีรอยด์มานาน

การรักษา
1. ไม่ควรเคลื่อนไหวส่วนที่อักเสบ ผู้ป่วยควรยกแขนหรือขาส่วนที่อักเสบให้สูง และใช้น้ำอุ่นจัดๆ ประคบ และควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่มีของแสดงใดๆ ในโรคนี้ ผู้ป่วยควรกินอาหารพวกโปรตีน เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่างๆ ให้มากๆ เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ถ้ามีอาการปวดหรือมีไข้ก็ให้ยาแก้ปวดลดไข้

2. ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี อีริโทรไมซิน หรือโคอะม็อกซิคราฟ และถ้าอาการดีขึ้นควรให้ยาปฏิชีวนะต่อไปอีกจนครบ 10 วัน

3. ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล หากพบว่าภายใน 3-5 วัน อาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรง หรือสงสัยมีภาวะแทรกซ้อนจากโลหิตเป็นพิษ หรือพบในผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ แพทย์มักรับตัวไว้รักษาที่โรงพยาบาลและฉีดเพนิซิลลินจี ขนาด 1-2 ล้านยูนิตเข้าหลอดเลือดดำทุก 4-6 ชั่วโมง หรืออาจต้องฉีดยาปฏิชีวนะ เช่น นัฟซิลลิน เซฟาโลทิน เข้าหลอดเลือดดำในรายที่สงสัยว่าเกิดจากเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า