สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เนื้องอกไขสันหลัง(Spinal cord tumor)

หมายถึงเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณไขสันหลัง ที่มีต้นกำเนิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อต่างๆ ที่อยู่ในและรอบๆ ไขสันหลัง ซึ่งมีทั้งชนิดไม่ร้ายและชนิดร้ายแรง เรียกว่า ชนิดปฐมภูมิ และชนิดที่พบได้บ่อยกว่าชนิดปฐมภูมิ เช่น มะเร็งที่แพร่กระจายจากที่อื่น เรียกว่า ชนิดทุติยภูมิเนื้องอกไขสันหลัง

พบโรคนี้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในวัยกลางคนและวัยสูงอายุจะพบเนื้องอกชนิดทุติยภูมิได้มากกว่าวัยอื่นๆ และเนื้องอกไขสันหลังมักพบได้น้อยกว่าเนื้องอกสมอง

สาเหตุ
เนื้องอกไขสันหลังชนิดปฐมภูมิ สาเหตุที่แน่ชัดยังไม่ทราบ แต่อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางกรรมพันธุ์ร่วมกับปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม

เนื้องอกไขสันหลังชนิดทุติยภูมิ มักเกิดจากการแพร่กระจายมาที่กระดูกสันหลังและกดถูกประสาทสันหลังของมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งไต และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

อาการ
มักมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจมีอาการปวดหลังในระยะแรกๆ ปวดเสียวบริเวณสะโพกและขาและอาการของรากประสาทถูกกดทับในบางครั้ง เนื่องจากก้อนเนื้องอกไปกดรากประสาท มักเป็นมากขึ้นเมื่อไอ หรือจาม อาจมีอาการอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ต่อมาแขนขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองขาจะอ่อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเดินไม่ได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการกลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่อยู่ และหย่อนสมรรถภาพทางเพศร่วมด้วย อาจทำให้แขนชาและอ่อนแรงได้ในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกที่ไขสันหลังในบริเวณคอเนื่องจากการกดถูกประสาทที่ควบคุมแขน

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบขามีอาการชา อ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ หรือมีอาการชาและอ่อนแรงของแขนในบางราย

การรักษา
หากสงสัยว่าเกิดจากโรคนี้ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที แพทย์อาจต้องตรวจวินิจฉัยด้วยการเอกซเรย์กระดูกสันหลัง เจาะหลัง ถ่ายภาพรังสีไขสันหลังโดยการฉีดสารทึบรังสี ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มักต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหากพบว่าเป็นเนื้องอกไขสันหลัง ในรายที่เป็นเนื้องอกชนิดร้ายหรือมะเร็งอาจต้องรักษาด้วยการฉายรังสี

ผลการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและชนิดของเนื้องอก ถ้าเป็นเนื้องอกธรรมดาอาการไม่รุนแรงก็อาจมีทางหายขาดได้ แต่ก็อาจเป็นอัมพาตครึ่งล่างหรืออัมพาตหมดทั้งแขนขาได้ถ้าประสาทสันหลังถูกทำลายมาก หรือเป็นเนื้องอกชนิดร้ายหรือมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากที่อื่น อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากแผลกดทับ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า