สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เนื้องอกรังไข่ในเด็กและหญิงวัยรุ่นสาว

เนื้องอกรังไข่พบได้ร้อยละ 1 ของเนื้องอกทั้งหมดในหญิงอายุน้อยกว่า 16 ปี แม้ว่าพบน้อยแต่ถ้าพบมักเป็นเนื้องอกรังไข่ชนิดร้ายพบบ่อยที่สุด ปัญหาที่สำคัญคือการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมเนื่องจากเป็นในวัยเด็กและหญิงวัยรุ่นสาว มีข้อแตกต่างจากหญิงวัยผู้ใหญ่
เนื้องอกรังไข่ชนิดร้ายและไม่ร้ายจะพบในหญิงวัยเจริญพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม สามารถพบในเด็กและหญิงวัยรุ่นสาวได้เช่นกัน ยกเว้นเนื้องอกรังไข่ชนิด Brenner ไม่มีในรายงานว่าพบในหญิงวัยรุ่นสาวที่อายุน้อยกว่า 16 ปีเลย สำหรับเนื้องอกรังไข่ในเด็กและหญิงวัยรุ่นสาวร้อยละ 30 เป็นเนื้องอกชนิด dermoids
ความสำคัญของเนื้องอกรังไข่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหญิงทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่นสาว วัยผู้ใหญ่ หรือวัยชรา
อาการ
Symptoms
อาการและอาการแสดงของเนื้องอกรังไข่ ไม่ว่าเกิดในหญิงวัยใดขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่งพยาธิสภาพว่าเป็นชนิดร้ายหรือไม่ร้าย พังผืดระหว่างเนื้องอกรังไข่กับอวัยวะใกล้เคียง ตลอดจนภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
อาการที่พบได้บ่อยประกอบด้วย ปวดท้อง หรือพบก้อนในช่องท้อง ส่วนอาการร่วมอื่นได้แก่ คลื่นไส้ ท้องผูก แน่นอึดอัดท้อง ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก หรืออาการระคายเคืองของเยื่อบุช่องท้อง เป็นต้น
อาการปวดท้อง
เป็นอาการนำที่สำคัญและพบเป็นส่วนใหญ่ ความรุนแรงของอาการปวดเป็นได้ตั้งแต่น้อยคือรู้สึกตึงในท้องไปจนถึงอาการปวดรุนแรง ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลัน
เหตุผล 3 ประการที่ทำให้อาการปวดท้องเป็นอาการนำที่พบบ่อยคือ
1. ขนาดอุ้งเชิงกรานและช่องท้องเด็กมีขนาดเล็ก แม้ว่าก้อนเนื้องอกขนาดไม่โตนักก็สามารถเบียดอวัยวะใกล้เคียง ดึงรั้งเยื่อบุช่องท้อง และเอ็นยึดในอุ้งเชิงกรานตึงตัวมากขึ้น
2. พังผืดระหว่างเนื้องอกกับอวัยวะใกล้เคียง และการแพร่กระจายของเนื้องอกชนิดร้ายไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง
3. เนื้องอกรังไข่ในเด็กมักพบร่วมกับภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลัน โดยเฉพาะการบิดขั้วเกิดบ่อยกว่าในผู้ใหญ่ เพราะตำแหน่งของเนื้องอกอยู่ในช่องท้องมากกว่าอุ้งเชิงกราน
ดังนั้นเนื้องอกรังไข่ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลัน จะมีอาการเพียงมีความรู้สึกตึงในช่องท้องเล็กน้อย เนื่องจากแรงกดของก้อนเนื้องอกบริเวณท้องน้อย การวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่เริ่มแรกทำได้ยาก เมื่อตรวจพบโรคมักลุกลามไปมากแล้ว
บางครั้งอาการปวดท้องมีลักษณะจำเพาะคือ เด็กเล็กมักปวดบริเวณรอบสะดือ ส่วนเด็กโตมักอยู่บริเวณเหนือหัวเหน่าหรือท้องน้อยด้านหนึ่งด้านใดเป็นส่วนใหญ่
ก้อนในท้อง
มารดาผู้ป่วยหรือแพทย์อาจคลำพบโดยบังเอิญหรือขณะตรวจร่างกาย เพราะอุ้งเชิงกรานของเด็กก่อนมีระดูครั้งแรกมีขนาดเล็ก แม้ว่าเนื้องอกรังไข่ขนาดไม่โตแต่มักถูกดันสูงขึ้นและอยู่ในช่องท้องมากกว่าอุ้งเชิงกราน แตกต่างจากผู้ใหญ่ซึ่งเมื่อคลำเนื้องอกรังไข่ได้ทางหน้าท้อง ก้อนเนื้องอกมักมีขนาดโตมากแล้ว
อาการอื่น
อาการคลื่นไส้อาเจียนอาจพบร่วมกับอาการปวดท้องจากเนื้องอกรังไข่บิดขั้ว หรือก้อนเนื้องอกแตกทำให้มีเลือดหรือส่วนประกอบของเนื้องอกกระจายในช่องท้อง ยังผลให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุช่องท้อง บางรายอาจเกิดอุจจาระเหลวร่วมด้วยก็ได้ มีส่วนน้อยที่อาการคลื่นไส้อาเจียนเกิดจากภาวะลำไส้อุดตัน
มูกลักษณะคล้ายหนองไหลออกทางทวารหนัก อาจพบได้หากเกิดจากการแตกของเนื้องอกรังไข่ชนิด dermoid หรือเนื้องอกชนิดอื่นซึ่งแตกทะลุเข้าไปในลำไส้
ปัสสาวะบ่อยและปัสสาวะลำบากเกิดจากเนื้องอกกดระบบทางเดินปัสสาวะ หรือเกิดจากการหดเกร็งของหลอดไตอันเป็นผลจากหลอดไตถูกเบียดออกไปด้านข้าง โดยเฉพาะในรายที่ก้อนเนื้องอกโตมาก และมักเกิดจาก parovarian cyst
อาการปวดบั้นเอวพบน้อย เป็นผลจากการแพร่กระจายของเนื้องอกชนิดร้ายมายังหลอดไตโดยตรง ทำให้เกิดการอุดตันและเกิดภาวะ hydronephrosis ตามมา
สิ่งตรวจพบจากการตรวจร่างกาย
ต้องคำนึงถึงสภาพทั่วไปของผู้ป่วย ดูและคลำหน้าท้อง ตรวจดูอวัยวะเพศภายนอก ส่องตรวจช่องคลอด และตรวจทางทวารหนักร่วมกับคลำหน้าท้อง
การตรวจทางห้องปฏิบัติการเช่น การตรวจนับเม็ดเลือด ตรวจปัสสาวะ การถ่ายภาพรังสี การตรวจทางเซลล์วิทยาจากช่องคลอด การตรวจหาระดับฮอร์โมน
ลักษณะของก้อนที่พบจากการตรวจ
ในรายที่เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้าย ก้อนมักมีขนาดไม่โตมาก (สม่ำเสมอ) เป็นก้อนเดี่ยว ผิวเรียบ ทั้งนี้แตกต่างจากเนื้องอกชนิดร้ายที่มีผิวขรุขระ เมื่อเคลื่อนไหวก้อนหรือดันก้อนให้เลื่อนสูงขึ้นมักมีอาการปวดเนื่องจากเอ็นยืดซึ่งตึงตัวมาก หรือมีอาการปวดจากก้อนเนื้องอกบิดขั้ว เลือดออกในก้อน ควรตรวจอย่างนุ่มนวลมิฉะนั้นกล้ามเนื้อหน้าท้องอาจเกร็งตัวทำให้ตรวจยาก หากก้อนเนื้องอกแตกจะตรวจพบอาการระคายเคืองของเยื่อบุช่องท้องร่วมด้วย
การตรวจทางทวารหนักร่วมกับการคลำหน้าท้องช่วยในการวินิจฉัยก้อนเนื้องอกที่ขนาดไม่โตและตรวจไม่พบจากการคลำหน้าท้องอย่างเดียว  นอกจากนี้การตรวจทางทวารหนักยังช่วยบ่งถึงพยาธิสภาพบริเวณ cul de sac หากคลำได้ก้อนแข็งต้องนึกถึงการแพร่กระจายของเนื้องอกร้ายในช่องท้อง
ก้อนเนื้องอกขนาดเล็กกว่า 4 ซม. มักตรวจไม่พบจากการคลำหน้าท้องโดยเฉพาะในเด็กอ่อนและเด็กเล็ก อย่างไรก็ตามเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเด็กและหญิงวัยรุ่นสาวจะไม่สามารถคลำรังไข่ซึ่งมีขนาดปกติได้จากการตรวจทางทวารหนักร่วมกับการคลำหน้าท้อง เว้นแต่ตรวจภายใต้การให้ยาระงับความรู้สึกเท่านั้น ดังนั้นเมื่อคลำได้ก้อนบริเวณปีกมดลูกต้องนึกถึงก้อนเนื้องอกรังไข่เสมอจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่
เด็กอ่อนและเด็กเล็กแตกต่างจากหญิงวัยรุ่นสาวคือ มักคลำก้อนทางหน้าท้องได้ชัดเจน ขณะที่ไม่พบจากการตรวจทางทวารหนัก เพราะก้อนอยู่ในช่องท้องมากกว่าอุ้งเชิงกราน และสูงเกินกว่าที่จะคลำได้ทางทวารหนัก อย่างไรก็ตามอาจคลำได้เพียงส่วนล่างของก้อนได้บ้าง
ก้อนเนื้องอกที่เป็นถุงน้ำขนาดใหญ่มากและผนังบาง อาจทำให้การตรวจทางหน้าท้องมีลักษณะคล้ายภาวะมีน้ำในช่องท้อง (ascites) และก้อนที่มีผนังค่อนข้างหนา ผิวเรียบในหญิงวัยรุ่นสาวอาจตรวจพบว่ามีลักษณะคล้ายมดลูกของสตรีตั้งครรภ์ได้
ขนาดของก้อนเนื้องอกพอที่จะช่วยบ่งถึงชนิดของเนื้องอกรังไข่ได้ระดับหนึ่ง เช่น เนื้องอกรังไข่ชนิด benign pseudomucinous กับ mucinous cystadenocarcinoma อาจมีขนาดโตมากๆ ในขณะที่ retention cysts, benign cystic teratoma (dermoid), serous cystadenoma และ dysgerminoma มักมีขนาดไม่เกิน 15 ซม.
ลักษณะของก้อนพอที่จะช่วยบ่งถึงชนิดของก้อนเนื้องอกรังไข่ได้เช่น benign cystic teratoma มักมีลักษณะค่อนข้างกลม ผิวเรียบ และ consistency ค่อนข้างตึงแน่นมากกว่าจะมีลักษณะแบบถุงน้ำ ส่วนตำแหน่งมักอยู่ส่วนล่างของอุ้งเชิงกรานในหญิงวัยรุ่นสาว จนบางครั้งอาจเข้าใจผิดว่าเป็นมดลูกที่อยู่ในตำแหน่งคว่ำหลังได้
เนื้องอกรังไข่ชนิด dysgerminomas, embryonal teratomas และเนื้องอกรังไข่ชนิดร้ายมักมีลักษระเป็นก้อนแข็ง ผิวขรุขระ และเคลื่อนไหวได้น้อย เนื่องจากมีพังผืดยึดติดกับอวัยวะใกล้เคียง อย่างไรก็ตามก้อนเนื้องอกรังไข่ที่มีการอักเสบอาจเคลื่อนไหวได้น้อยเช่นกันและอีกประการหนึ่งที่ไม่ควรลืมคือ การเคลื่อนไหวได้น้อยของก้อนเนื้องอกรังไข่ในเด็กไม่จำเป็นต้องเป็นเนื้องอกชนิดร้ายเสมอไป เพราะอุ้งเชิงกรานและช่องท้องของเด็กยังเจริญไม่เต็มที่และมีขนาดเล็ก จึงมีที่ว่างให้เคลื่อนไหวได้น้อยกว่าผู้ใหญ่
เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า อย่างน้อยร้อยละ 30 ของก้อนเนื้องอกรังไข่ในเด็กเป็นเนื้องอกรังไข่ชนิดร้าย ซึ่งต่างกับเนื้องอกรังไข่ชนิดร้ายในวัยอื่นที่มีอุบัติการเพียงร้อยละ 15 อย่างไรก็ตามหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี มีเนื้องอกรังไข่ชนิดร้ายเพียงร้อยละ 3 ของเนื้องอกรังไข่ชนิดร้ายทั้งหมด และเป็นเนื้องอกชนิดร้ายลักษณะแข็งมากกว่าเป็นถุงน้ำ อธิบายว่าก้อนเนื้องอกที่เป็นถุงน้ำ เช่น papillary serous และ pseudomucinous ในเด็กไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้องอกชนิดร้ายเหมือนในผู้ใหญ่ ในเด็กก้อนเนื้องอกรังไข่ชนิดร้าย ลักษณะแข็งมักเป็นเนื้องอกรังไข่ชนิด germ cell มากกว่ากลุ่มอายุอื่น
ภาวะแทรกซ้อนของก้อนเนื้องอกรังไข่ชนิดร้าย
ภาวะแทรกซ้อนของก้อนเนื้องอกรังไข่ชนิดร้ายอาจเกิดขึ้นได้ แม้ว่าขนาดของก้อนไม่โตมากนัก แต่ส่วนใหญ่มักพบในก้อนขนาดใหญ่ เนื้องอกชนิดร้ายที่แพร่กระจายขอบเขตมักอยู่ในช่องท้องมากกว่าอยู่นอกช่องท้อง
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบมีดังนี้
1. ภาวะอุดตันของลำไส้ หรือมีการแพร่กระจายของเนื้อร้ายไปยังลำไส้จนเกิดลำไส้ทะลุ และเกิดการระคายของเยื่อบุช่องท้องโดยทั่วไป
2. การกดหลอดไตและกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อย ตลอดจนการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ง่าย
3. ภาวะมีน้ำในเยื่อหุ้มปอด (hydrothorax) ร่วมกับภาวะมีน้ำในช่องท้อง แสดงว่ามีการแพร่กระจายของเนื้อร้ายไปยังเยื่อหุ้มปอด แต่ก็อาจพบในเนื้องอกรังไข่ชนิดไม่ร้ายได้เช่นกัน
4. การแตกของก้อนเนื้อร้าย พบได้บ่อยและเกิดอาการระคายเคืองของเยื่อบุช่องท้องแบบเฉียบพลัน หรือมีภาวะเลือดออกในช่องท้องมากจนผู้ป่วยหมดสติได้ การแตกของก้อนเนื้องอกรังไข่ชนิดร้ายเป็นภาวะฉุกเฉินทางนรีเวชวิทยาอย่างหนึ่ง จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดทันที อันตรายจากการแตกของก้อนเนื้องอกรังไข่ชนิดร้ายยังทำให้เนื้อร้ายแพร่กระจายในช่องท้อง อนึ่งการบิดขั้วของก้อนเนื้องอกรังไข่ชนิดร้ายพบไม่มาก เพราะก้อนมักมีพังผืดยึดติดกับอวัยวะใกล้เคียง การบิดขั้วของเนื้องอกรังไข่จึงเกิดได้ยาก
5. การแพร่กระจายของเนื้อร้าย มักไปที่เยื่อบุช่องท้อง ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานและด้านข้างของหลอดเลือดแดงใหญ่ ตลอดจนแพร่กระจายไปยังอวัยวะเพศภายในเช่น มดลูก ท่อนำไข่ หรืออวัยวะอื่นในช่องท้อง การแพร่กระจายไปยังลำไส้อาจทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด หรือถ่ายเหลวสลับกับท้องผูกได้
ผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกรังไข่ชนิดร้ายในระยะลุกลามนั้นสภาพน่าสงสาร มักผอมแห้ง มีความวิตกกังวล ความหวาดกลัว บางรายซีด ผิวหนังแห้ง ไข้สูง เนื่องจากรับประทานอาหารได้น้อยและมีการเผาผลาญพลังงานมากเพราะเซลลืเนื้อร้ายเจริญอย่างรวดเร็ว บางรายหายใจลำบาก เหนื่อย และหอบ อาจเป็นมากจนนอนราบไม่ได้ เพราะมีน้ำในช่องท้องทำให้ท้องโตและตึงมาก ทำให้กดกระบังลมจนหายใจลำบาก นอกจากนี้ความดันในอุ้งเชิงกรานซึ่งเพิ่มขึ้นมีผลต่อหลอดเลือดและหลอดน้ำเหลือง จนเกิดการอุดตันของหลอดเลือดบริเวณขา เกิดก้อนเลือดในหลอดเลือดและหลุดเข้าไปในระบบไหลเวียนโลหิต ในบางรายมีการลุกลามเข้าไปยังระบบทางเดินปัสสาวะหรือทางเดินอาหารทำให้เกิด fistula ได้ บางครั้งพบการแพร่กระจายมายังแผลผ่าตัด ภาวะอุดตันของทางเดินอาหารและการอุดตันของหลอดไตทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญในผู้ป่วยเหล่านี้
การวินิจฉัยโรค
สิ่งจำเป็นคือการวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่เริ่มแรกร่วมกับการให้การรักษาทันที เพราะในเด็กอุบัติการของเนื้องอกรังไข่ชนิดร้ายสูงเมื่อเทียบกัยวัยอื่น และมีภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่า แต่ปัญหาคือเด็กมักไม่ได้รับการตรวจทางทวารหนักนอกจากมีอาการสงสัยว่าเป็นเนื้องอกรังไข่ เช่น อาการปวดท้อง คลำพบก้อนในท้อง หรือสงสัยว่าจะมีพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน ทำให้วินิจฉัยได้ต่อเมื่อก้อนมีขนาดใหญ่หรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้ว
ในเด็กเนื้องอกรังไข่เป็นข้างขวามากกว่าข้างซ้าย จึงต้องวินิจฉัยแยกโรคจากภาวะไส้ติ่งอักเสบแบบเฉียบพลัน การบิดขั้วของเนื้องอกรังไข่ หรือถุงหนองที่ไส้ติ่ง ในรายที่คลำได้กับบริเวณท้องน้อยร่วมกับมีไข้และมีเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น ต้องนึกถึงภาวะไส้ติ่งอักเสบแบบเฉียบพลันหรือถุงหนองที่ไส้ติ่งก่อนอื่น อย่างไรก็ตามจะสับสนกับภาวะแทรกซ้อนของก้อนเนื้องอกรังไข่มากที่สุด ส่วนการวินิจฉัยแยกโรคอื่นที่ควรนึกถึงร่วมด้วยได้แก่ ภาวะต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำไส้อักเสบ (mesenteric adenitis) การอุดตันและอักเสบของ Meckel’s diverticulum อาการระคายเคืองของเยื่อบุช่องท้องแบบทั่วไป การทะลุของลำไส้ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
โรคทางนรีเวชวิทยาอื่นที่ควรนึกถึงร่วมด้วย เช่น การติดเชื้อของปีกมดลูก ภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก โดยที่การติดเชื้อของปีกมดลูกมักมีอาการปวดท้องน้อยทั้งสองข้างร่วมกับมีไข้และมีเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น ส่วนภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกจะมีประวัติขาดระดูร่วมกับมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดและปวดท้องน้อยข้างหนึ่งข้างใดเท่านั้น ยกเว้นว่ามีภาวะตกเลือดในช่องท้องจึงมีอาการปวดท้องทั่วไปเนื่องจากการระคายเคืองของเยื่อบุช่องท้อง ในรายที่มีภาวะตกเลือดในช่องท้องมากผู้ป่วยอาจหมดสติได้
หากคลำได้ก้อนในช่องท้องโดยไม่ปวดท้อง ให้นึกถึงถุงน้ำของขั้วลำไส้ ภาวะมูกสะสมในช่องคลอด ภาวะเลือดสะสมในมดลูกและท่อนำไข่ ถุงน้ำของ urachus ถุงน้ำรังไข่ ถุงน้ำหรือเนื้องอกของไตและตับ
ภาวะมีน้ำในช่องท้องร่วมด้วย ควรนึกถึง large hydronephrosis, ถุงน้ำรังไข่ขนาดใหญ่ซึ่งผนังบางและนุ่ม แม้ว่ามีภาวะน้ำในช่องท้องร่วมด้วยก็ไม่ควรเจาะท้องดูดน้ำในช่องท้อง (paracentesis) เพราะถ้าเป็นเนื้องอกรังไข่ชนิดร้ายการเจาะท้องเพื่อดูดน้ำจะทำให้เซลล์ชนิดร้ายแพร่กระจายไปทั่วช่องท้อง เปลี่ยนระยะของโรคไปสู่ระยะรุนแรงทันที
การตรวจร่างกายโดยละเอียดเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ตรวจพบภาวะเยื่อพรหมจารีไม่มีรูเปิดช่วยให้นึกถึงภาวะมูกสะสมในช่องคลอด ภาวะเลือดสะสมในช่องคลอดและมดลูก
ถ้าไม่แน่ใจว่าก้อนเนื้องอกที่คลำได้อาจสับสนกับกระเพาะปัสสาวะที่โป่งตึง การสวนปัสสาวะจะช่วยได้
บางครั้งการวินิจฉัยแยกโรคให้ได้แน่นอนก่อนผ่าตัดเป็นเรื่องยาก เช่น การแยกถุงน้ำของขั้วลำไส้และถุงน้ำรังไข่ อาจต้องใช้การตรวจพิเศษเพิ่มเติมคือ ตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ถ่ายภาพรังสีของระบบทางเดินอาหาร
การตรวจหาภาวะไตอยู่ผิดที่ (ectopic kidney) หรือ hydronephrosis อาจใช้ intravenous pyelography (IVP) ช่วย แม้ภาวะไตอยู่ผิดที่เมื่อตรวจจะคลำได้ก้อนแข็งขนาดไม่โตอยู่ในอุ้งเชิงกราน ควรนึกถึงโรคอื่นด้วย เช่น ภาวะต่อมน้ำเหลืองบริเวณหลังเยื่อบุช่องท้องโต (retroperitoneal lymphadenopathy) ก้อนเนื้องอกบริเวณหลังเยื่อบุช่องท้อง (retroperitoneal tumor) และภาวะเนื้องอกชนิดร้ายซึ่งแพร่กระจายมายัง cul de sac
วิธีการตรวจค้นเพิ่มเติม
1. การถ่ายภาพรังสีช่องท้อง นอกจากพอที่จะบ่งถึงการมีก้อนเนื้องอกแล้ว ยังช่วยวินิจฉัยแยกโรคบางอย่าง เช่น ภาวะลำไส้ทะลุ (พบอากาศใต้กระบังลม) ก้อนเนื้องอกรังไข่ (พบ calcification ในก้อน) เป็นต้น
2. การฉีดอากาศเข้าในช่องท้องร่วมกับการถ่ายภาพรังสี (pneumoperitoneum roentgenoraphy) ช่วยระบุถึงเนื้องอกรังไข่ขนาดเล็กได้ง่ายขึ้น
แต่ในปัจจุบันนิยมตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือถ่ายภาพรังสีระบบคอมพิวเตอร์ (computer tomography) มากกว่า เพราะผู้ป่วยไม่เจ็บปวดและมีความแม่นยำสูงกว่า
3. การส่องตรวจในอุ้งเชิงกราน (laparoscopy) มีประโยชน์ในก้อนเนื้องอกขนาดเล็กหรือต้องการทราบพยาธิสภาพที่แท้จริง และตัดสินว่าควรรักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่
4. การถ่ายภาพรังสีพิเศษเพื่อตรวจในระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ จำเป็นหากสงสัยว่ามีความผิดปกติของระบบอวัยวะดังกล่าว
5. การตรวจหาอายุที่แท้จริงโดยการถ่ายภาพรังสี การตรวจดูผลของฮอร์โมนโดยการตรวจทางเซลล์วิทยาจากช่องคลอด การตรวจหาระดับฮอร์โมน มีประโยชน์ในรายที่สงสัยว่าเป็นเนื้องอกรังไข่ชนิดสร้างฮอร์โมน
หลักการรักษา
การรักษาด้วยการผ่าตัดมีความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กซึ่งเนื้องอกรังไข่มักวินิจฉัยได้ช้า และเมื่อวินิจฉัยได้ขนาดของก้อนเนื้องอกมักโตจนคลำได้ทางหน้าท้องหรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้ว วิธีการผ่าตัดก็ขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วยและพยาธิสภาพของเนื้องอกรังไข่ หากเป็นเนื้องอกชนิดร้ายการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่นในอุ้งเชิงกรานและช่องท้องค่อนข้างสูง มีหลักการว่าการผ่าตัดจะทำมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นกับลักษณะของพยาธิสภาพที่พบระหว่างการผ่าตัดร่วมกับพยาธิสภาพของอวัยวะอื่นในช่องท้องเป็นสำคัญ
ลงแผลผ่าตัดในแนวกลางตัว (vertical midline incision) ขนาดของแผลจะต้องใหญ่พอที่จะเอาก้อนเนื้องอกผ่านแผลผ่าตัดได้โดยไม่ต้องเจาะเพื่อให้ก้อนเนื้องอกเล็กลง หรือไม่ทำให้ก้อนเนื้องอกแตกเพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์แพร่กระจายไปทั่วท้อง
หลังจากเข้าสู่ช่องท้องแล้ว่ควรสำรวจอวัยวะต่างๆ ในช่องท้อง ถ้าเนื้องอกรังไข่ข้างที่มีพยาธิสภาพยังมีเนื้อรังไข่ส่วนที่เป็นเนื้อดีอยู่ เป็นต้นว่ามีก้อนยื่นออกมาหรือเป็นก้อนเนื้องอกที่ขนาดไม่โตนัก ควรทำการผ่าตัดแบบประคับประคอง (copservative) ทั้งนี้เพื่อรักษาเนื้องอกรังไข่ส่วนที่เป็นเนื้อดีไว้ วิธีนี้เหมาะในรายที่เป็นเนื้องอกรังไข่ชนิดไม่ร้าย (แบบถุงน้ำ) หรือเป็นเนื้องอกรังไข่ชนิด dermoid ซึ่งมีขนาดเล็ก แต่ถ้าขนาดของเนื้องอกรังไข่โตมากหรือตรวจดูแล้วพบว่าไม่มีเนื้อรังไข่ส่วนที่เป็นเนื้อดีหลงเหลืออยู่เลย จำเป็นต้องตัดรังไข่ข้างนั้นออก ส่วนท่อนำไข่หากสามารถรักษาไว้ได้ก็ควรเก็บไว้ ไม่จำเป็นต้องตัดออกไปพร้อมกับรังไข่ ทั้งนี้เพราะในอนาคตท่อนำไข่อีกข้างหนึ่งอาจมีพยาธิสภาพเกิดขึ้นและจำเป็นต้องตัดออกไป จะมีผลให้ผู้ป่วยตั้งครรภ์ไม่ได้ นอกจากนี้ยังพบว่าถึงแม้จะเหลือรังไข่และหลอดมดลูกเพียงข้างเดียวโดยที่อยู่คนละข้างก็ยังสามารถตั้งครรภ์ได้
รังไข่อีกข้างหนึ่งควรตรวจอย่างละเอียด เพราะพบพยาธิสภาพที่รังไข่อีกข้างหนึ่งพร้อมกันได้บ่อย ตัวอย่างเช่น รังไข่ข้างหนึ่งเป็นเนื้องอกรังไข่ชนิด dermoid พบว่ารังไข่อีกข้างหนึ่งเป็นเนื้องอกรังไข่ชนิด dermoid ร่วมด้วยถึงร้อยละ 10 และรังไข่ข้างหนึ่งเป็นเนื้องอกรังไข่ชนิด papillary serous cystadenoma หรือเป็น psuedomucinous cystadenoma พบว่ารังไข่อีกข้างหนึ่งมีโอกาสจะมีพยาธิสภาพด้วยสูงถึงร้อยละ 25-30 ดังนั้นจำเป็นต้องตรวจรังไข่ด้านตรงข้ามเสมอ การตรวจรังไข่อีกข้างหนึ่งด้วยการดูและคลำเพียงพอที่จะบอกถึงพยาธิสภาพได้ระดับหนึ่ง
บางกรณีพบพยาธิสภาพเกิดขึ้นกับรังไข่ทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นปัญหาในการเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสม เพราะต้องการรักษาเนื้อรังไข่ส่วนที่เป็นเนื้อดีไว้ให้มากที่สุด เพื่อหวังผลของการสร้างฮอร์โมนและการตั้งครรภ์ ดังนั้นการตัดรังไข่ทั้งสองข้างออกเป็นสิ่งที่แพทย์ควรหลีกเลี่ยงอย่างที่สุด ซึ่งแตกต่างกับผู้ป่วยที่มีอายุมากหรือมีบุตรเพียงพอแล้ว ความจำเป็นของการเก็บรังไข่เพื่อตั้งครรภ์มีน้อยลงมาก โดยทั่วไปหากสามารถเก็บเนื้อรังไข่ส่วนที่เป็นเนื้อดีไว้ได้แม้ว่าเหลือเพียงส่วนน้อยเช่น 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 10 ของเนื้อรังไข่ปกติ พบว่าสามารถสร้างฮอร์โมนทำให้มีลักษณะทางเพศเป็นปกติ มีการเจริญของร่างกายสมส่วน มีการตกไข่ มีระดู และตั้งครรภ์ได้
อย่างไรก็ตามการดูพยาธิสภาพด้วยตาอาจผิดพลาดได้ง่าย เช่น พยาธิสภาพที่ดูเหมือนว่าเป็นเนื้องอกรังไข่ชนิดร้าย เพราะมีพังผืดติดกับอวัยวะข้างเคียง มีเลือดออกในก้อน มี papillary projection ที่ผิว หรือมีต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานโต อาจเป็นเนื้องอกรังไข่ชนิดไม่ร้ายก็ได้ ในทำนองเดียวกันเนื้องอกรังไข่ที่มีลักษณะเป็นถุงน้ำ เคลื่อนไหวได้ดี ผิวเรียบ อาจเป็นเนื้องอกรังไข่ที่มีแนวโน้มจะเป็นเนื้องอกชนิดร้ายต่อไป (potentially malignancy) เป็นต้น ดังนั้นการดูพยาธิสภาพจึงไม่เพียงพอ แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่าเนื้องอกรังไข่ที่มี papillary growth ที่ผิว ไม่ว่าจะเป็นผิวด้านนอกหรือผิวด้านในจัดเป็นพวกที่มีแนวโน้มจะเป็นเนื้องอกชนิดร้าย แต่ถ้าหากว่า  papillary growth อยู่ที่ผิวในและการผ่าตัดสามารถเอาเนื้องอกรังไข่ออกได้โดยไม่มีการแตกทะลุ โอกาสที่จะเป็นเนื้อร้ายจะมีน้อยมาก อนึ่งการทำ frozen section จากบางส่วนของเนื้องอกหรือสุ่มจากบริเวณที่สงสัยนั้นมีความแม่นยำต่ำ ฉะนั้นในทางปฏิบัติหากผู้ป่วยอายุน้อยต้องพยายามทำการผ่าตัดแบบประคับประคองก่อนเสมอ เมื่อทราบผลการตรวจทางพยาธิวิทยาที่แน่นอนแล้วค่อยพิจารณาให้การรักษาเพิ่มเติมในภายหลัง
เนื้องอกรังไข่บางชนิดถึงแม้ว่าโดยพยาธิสภาพไม่ใช่เนื้องอกรังไข่ชนิดร้าย แต่อาจมีอาการแสดงเสมือนเป็นเนื้องอกรังไข่ชนิดร้ายได้ อาทิเช่น psuedomucinous cystadenoma ถ้าเกิดการแตกของก้อนเนื้องอกระหว่างการผ่าตัดหรือแตกอยู่ก่อนแล้ว จะยังผลให้สารมิวซิน (mucin) ซึ่งอยู่ในก้อนกระจายไปในช่องท้อง เกิดภาวะ psuedomyxoma peritonei คือมีสารมิวซินสะสมมากจนทำให้ท้องโตขึ้น และเกิดการอุดตันของทางเดินอาหารหลังผ่าตัดได้ ดังนั้นการผ่าตัดเนื้องอกชนิดนี้ต้องระมัดระวังไม่ให้ก้อนเนื้องอกแตก ส่วนเนื้องอกรังไข่ที่เป็นเนื้อตัน (solid) นั้น พบได้น้อยในวัยเด็ก แต่ถ้าพบต้องนึกว่าเป็นเนื้องอกชนิดร้ายไว้ก่อนจนกว่าพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่ แนะนำให้ตัดรังไข่ข้างที่เป็นเนื้อตันออก พร้อมกับตรวจดูรังไข่อีกข้างหนึ่งอย่างละเอียด หากสงสัยว่าจะมีพยาธิสภาพร่วมด้วย ต้องตัดเนื้อบางส่วนเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยาเสียก่อน
ระยะต่างๆ ของเนื้องอกรังไข่ชนิดร้าย
เนื้องอกรังไข่ชนิดร้ายแบ่งเป็นระยะต่างๆ โดย International Federation of Gynecolgy abd Obstetrics
Clinicial staging of malignant ovarian tumors
I. Growth limited to the ovary
Ia. Limited to one ovary, No ascites
Ib. Limited to both ovaries, No ascites
Ic. Limted to one or both ovaries, Ascites present containing malignant cells
II. Growth involving one or both ovaries with pelvic extension
IIa. Extension or metastases to uterus and tube only
IIb. Extension to other pelvic tissues
III. Growth involving one or both ovaries with wide spread intraperitoneal metastases to the abdomen (omentum, small intestines, and mensentery)
IV. Growth involving one or both ovaries with wide spread
Metastases outside the peritoneal cavity
ชนิดของเนื้องอกรังไข่
ชนิดของเนื้องอกรังไข่แบ่งตามลักษณะทางพยาธิวิทยาดังนี้
Histologic classification of ovarian tumors
I. Common “epithelium” tumors
II. Sexcord stromal tumors
III. Lipid (lipoid) cell tumors
IV. Germ cell tumors
V. Gonadoblastoma
VI. Soft tissue tumors not specific to ovary
VII. Unclassified tumors
VIII. Secondary (metastatic) tumors
IX. Tumorlike conditions
รายละเอียดของการให้รังสีรักษา การให้สารต่อต้านมะเร็ง ซึ่งเป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด อ่านรายละเอียดได้จากวารสารทางการแพทย์
ที่มา:ศยาม  เวศกิจกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า