สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เด็กพิเศษ (Exceptionality)

เด็กพิเศษคือเด็กที่มีลักษณะเบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์ปกติ (Norm) อย่างมาก ในมิติต่างๆ ของพัฒนาการ เช่น สติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ สังคม ดังนั้นจึงมีทั้งเด็กที่มีความสามารถเลิศล้ำ และความสามารถด้อยสุด เด็กพิเศษวัยเด็กตอนกลางเป็นเด็กที่ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองและครู ต้องให้ความเอาใจใส่สนใจเป็นพิเศษยิ่งกว่าเด็กปกติธรรมดา ในการกล่าวถึงพัฒนาการของเด็กปกติธรรมดาทั่วๆ ไป จำเป็นต้องกล่าวถึงเด็กพิเศษกลุ่มที่ด้อยและเด่น เพื่อผู้ที่สนใจพัฒนาการเด็กจะได้รู้จักลักษณะรวมๆ ของเด็กกลุ่มนี้ สำหรับผู้ที่สนใจเด็กเหล่านี้เป็นพิเศษ อาจศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กพิเศษโดยเฉพาะ

เด็กพิเศษมีหลายกลุ่ม เช่น เด็กปัญญาเลิศ เด็กปัญญาอ่อน เด็กด้อยความสามารถทางการเรียน เด็ก Hyperactive เด็กพิการ

หนังสือจิตวิทยาพัฒนาการรุ่นใหม่ๆ ทุกเล่ม มักกล่าวถึงเด็กด้อยความสามารถทางการเรียน เด็กปัญญาเลิศ เด็กปัญญาอ่อน แต่มักเน้นเด็กด้อยความสามารถทางการเรียน หัวข้อนี้จะกล่าวถึงเฉพาะเด็กปัญญาอ่อน และเด็กปัญญาเลิศ โดยสังเขป ส่วนเด็กที่ด้อยความสามารถในการเรียน จะได้แยกไปกล่าวเป็นหัวข้อใหญ่อีก 1 หัวข้อ เพราะมีสาระน่ารู้สำหรับการพัฒนาเด็กไทยในยุคปัจจุบัน

เด็กปัญญาอ่อน
เด็กปัญญาอ่อน หมายถึงกลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการด้านต่างๆ ช้ามาก โดยเฉพาะด้านสมรรถภาพในการเรียนรู้ และการปรับตัว ถ้าเด็กกลุ่มนี้ทำแบบทดสอบเชาวน์ปัญญา Stanford-Binet จะได้คะแนนน้อยกว่า 70 ลงไป ซึ่งเป็นคะแนนต่ำกว่าระดับปกติ

เครื่องหมายที่ชี้ว่าเป็นเด็กปัญญาอ่อนประการอื่นๆ ได้แก่ ช่วยตัวเองไม่ได้ทั้งที่มีอายุตามปีปฏิทิน ถึงขั้นที่ต้องช่วยตัวเองได้แล้ว โดยเทียบกับเกณฑ์ของเด็กที่มีพัฒนาการตามปกติ ไม่สามารถมีความรับผิดชอบทางสังคมประการต่างๆ ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น เด็กอายุระหว่าง 3-7 ปี ไม่สามารถใส่เสื้อผ้าด้วยตนเองได้ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐานง่ายๆได้ หรือ/และควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ก็แน่ใจได้เลยว่า เด็กคนนั้นเป็นเด็กปัญญาอ่อน มีแบบทดสอบหลายชนิด ที่ใช้สำหรับประเมินว่าเด็กคนหนึ่งคนใด เป็นเด็กปัญญาอ่อนหรือไม่และปัญญาอ่อนระดับใด

ปัญญาอ่อนก็เช่นเดียวกับปัญญาปกติ คือมีหลายระดับ โดยทั่วๆ ไปแล้ว มักแบ่งระดับปัญญาอ่อนเป็น 3 ระดับคือ
1. ระดับอ่อน ให้การศึกษาได้ (Educable EMR)
2. ระดับฝึกได้ (Trainable)
3. ระดับที่ต้องดูแลใกล้ชิด (Custodal)

ภาพข้างล่างนี้เป็นภาพที่แสดงระดับปัญญาอ่อนระดับต่างๆ ที่วัด IQ จากแบบทดสอบ Stanford-Binet การแบ่งระดับปัญญาอ่อนได้ยึดตามเกณฑ์ของ AAMD (American Association on Mental Deficiency) อนึ่งเกณฑ์นี้ยังไม่ได้นับทักษะในการปรับตัว
health-0243 - Copy
(Lefrancois, 1990, หน้า 358)

1. ระดับให้การศึกษาได้ (EMR)
เด็กในกลุ่มนี้เชื่อว่า มีจำนวนมากที่สุดในบรรดาเด็กปัญญาอ่อนระดับต่างๆ เด็กเหล่านี้ พ่อแม่มักมองไม่ค่อยเห็นชัดเจนว่าปัญญาอ่อน จนกระทั่งมาเข้าโรงเรียน เพราะดูภายนอก เด็กมักจะพัฒนา ความสามารถทางภาษา และการใช้อวัยวะเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ ในระดับดีพอสมควร โดยมากเด็กกลุ่มนี้จะเรียนได้จนถึงชั้น ป.6 เป็นอย่างสูง (Lefrancois, 1990, หน้า 358)

เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่พ่อแม่ นักการศึกษา ควรให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่ต้องการความเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ เพื่อให้เขาได้พัฒนาการไปได้เต็มตามศักยภาพ ให้เขามีความสามารถในการเรียนรู้ต่างๆ พัฒนาไปตามลำดับขั้นตอนเหมือนเด็กทั่วไป แต่ต่างจากเด็กทั่วๆ ไปตรงที่เขาต้องการเวลามากกว่า เพราะเขาจำได้ช้ากว่า ช่วงความสนใจสั้นกว่า ความสามารถในการจำระยะสั้น (Short term memory) ด้อยกว่า ทั้งนี้เพราะเขาไม่ค่อยมีความสามารถในการจัดระเบียบ แห่งความจำและความรู้

ความอ้อยประการอื่นๆ ได้แก่ เขามีความด้อยด้านพัฒนาการทางภาษา ด้อยในความคล่องแคล่ว ในการใช้ภาษา อีกทั้งยังด้อยด้านพัฒนาการทางการเคลื่อนไหวและประสาทสัมผัสบางประการ

เป้าหมายของการให้การศึกษาแก่เด็กพิเศษก็คือ ให้เขาพัฒนาความสามารถจนเต็มศักยภาพของเขา (Full potentiality) ให้เขามีชีวิตทางสังคม และมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่สามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยดี เพราะเด็กๆ เหล่านี้มักมีปมด้อยเกี่ยวกับตนเอง และมักมีอารมณ์รุนแรงโดยธรรมชาติ

ต่อไปนี้คือข้อเสนอแนะบางประการ เกี่ยวกับการให้การศึกษาแก่เขาในระยะวัยเด็กตอนต้น วัยเด็กตอนกลาง และวัยผู้ใหญ่
health-0245

health-0246

health-0247

2. ระดับฝึกได้
เด็กกลุ่มนี้มีปัญญาด้อยกว่ากลุ่มที่ 1 โดยทั่วๆ ไปจะเริ่มพูดได้ในวัยเด็กตอนต้น จะมีอัตราการพัฒนาการของประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อช้ากว่าเด็กทั่วๆ ไป

3. ระดับที่ต้องดูแลใกล้ชิด
เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กด้อยสุด ที่อาจช่วยตัวเองเกือบไม่ได้ ต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิด

เด็กปัญญาอ่อนเป็นเด็กที่ต้องการดูแลเอาใจใส่พิเศษกว่าเด็กที่มีพัฒนาการตามปกติธรรมดา เด็กปัญญาอ่อนมีสมรรถภาพในการเรียนรู้ แต่ช้ากว่า ระดับน้อยกว่าเด็กทั่วๆ ไป นอกจากนั้นแล้วเขาก็มีอารมณ์ ความคิด จิตใจ ความใฝ่ฝันปรารถนา ความสนใจ ลักษณะบุคลิกภาพ แบบต่างๆ ทัศนคติต่าง ๆ ฯลฯ เยี่ยงเด็กปกติ แต่ในระดับที่ด้อยกว่าในความกว้างและความลึกของความคิด รวมทั้งความรอบรู้ ดังนั้นคนทั่วๆ ไป จึงควรให้ความเมตตา เข้าใจและเห็นอกเห็นใจเด็กกลุ่มนี้มากกว่าที่จะดูถูก หรือเหยียบยํ่าเขา เพราะเขาเป็นเด็กที่มีปมด้อยในตัวเอง รู้สึกสงสารตัวเอง อยากให้ผู้อื่นรักและสนใจมากกว่าเด็กธรรมดาอยู่แล้ว

ปัจจุบันนี้นับว่าโชคดี ที่ยังมีโรงเรียนสำหรับเด็กปัญญาอ่อน ครูที่สอนเด็กเหล่านี้มักได้รับการฝึกเป็นพิเศษ และมักจะทำงานด้วยใจรัก
การเป็นเด็กปัญญาอ่อน เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งด้านกรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม ความบกพร่อง ทางชีววิทยา เช่นสมองบางส่วนบกพร่อง โครโมโซมบกพร่อง พัฒนาการในระยะก่อนคลอดบกพร่อง (เช่น แม่รับประทานยาบางอย่าง ถูกรังสี อาหารบกพร่อง โรคบางชนิดที่ถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูก)

สำหรับผู้สนใจพัฒนาการเด็กปัญญาอ่อนในรายละเอียด อาจหาอ่านเพิ่มเติมจากหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้โดยตรง)

เด็กปัญญาเลิศ (Intellectual giftedness)
เด็กพิเศษอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ชัดเจนแล้วในวัยเด็กตอนกลางคือ เด็กปัญญาเลิศ เด็กกลุ่มนี้มีสมรรถภาพด้านต่างๆ อยู่คนละขั้วกับเด็กปัญญาอ่อน ลักษณะที่พึงสังเกตว่าเด็กปัญญาเลิศ หรือไม่ควรดูจาก 3 ลักษณะ คือ
1. สติปัญญา
2. ความคิดสร้างสรรค์
3. สมรรถภาพในการปรับตัว

การศึกษาเกี่ยวกับเด็กปัญญาเลิศ ยังมีการค้นคว้าไม่มากนัก แต่การให้การศึกษาเป็นพิเศษแก่เด็กกลุ่มนี้ จะช่วยทำให้เขาสามารถใช้ศักยภาพเป็นประโยชน์แก่สังคมได้อย่างมากมาย เด็กปัญญาเลิศ มักเป็นกลุ่มเด็กที่บ่อยครั้งไม่ค่อยมีผู้เข้าใจในตัวเขา ถ้าหากไม่ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับสมรรถภาพของเขา เด็กปัญญาเลิศก็มักมีปัญหาทางอารมณ์ มีการสังคมบกพร่อง และบางทีอาจไม่สนใจเรียน เบื่อการเรียน กลายเป็นเด็กที่ด้อยความสามารถในการเรียน

เด็กปัญญาเลิศไม่ต้องการเนื้อหาและคำสอนที่ซ้ำซาก เด็กพวกนี้อาจแสดงสมรรถภาพทางวิชาการเหมือนเด็กปกติธรรมดาได้ หรือเหมือนเด็กเรียนช้าได้ แต่เด็กธรรมดาๆ หรือเด็กช้า จะแสดงสมรรถภาพเหมือนเด็กปัญญาเลิศไม่ได้ เด็กปัญญาเลิศต้องการอะไรที่ท้าทายมากกว่าอะไรที่ธรรมดาๆ ง่าย ๆ เขาสนุกที่จะทำงานยากๆ

สิ่งที่มีอยู่ในตัวเด็กปัญญาเลิศเหนือเด็กธรรมดาๆ คือ ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ซึ่งบางครั้งอาจจะถูกเข้าใจผิดว่าเด็กพวกนี้เป็นเด็กที่แผลงๆ ออกนอกเรื่องนอกราว แต่อารยธรรมของโลกนี้จะก้าวหน้าไปได้ช้ามากหรือไม่ได้เลย ถ้าไม่มีคนที่คิดอะไรใหม่ๆ แตกต่างจากผู้อื่น พ่อแม่และครู มักให้คุณค่าของสมรรถภาพทางการเรียนและทางวิชาการแก่เด็กที่สามารถลอกเรียนได้ดี ทำเหมือนที่ตำรา หรือครูบอก จำเก่ง แต่มักไม่เอาใจใส่หรือบางครั้ง อาจทำโทษเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ทางวิชาการแปลกๆ

ถึงแม้ความสามารถในการปรับตัว จะเป็นเครื่องหมายที่บ่งชี้ความเป็นปัญญาเลิศ แต่เมื่อเด็กยังอยู่ในวัยเด็ก บางครั้งการปรับตัวของเด็กต้องอยู่ในกรอบที่จำกัด อันเด็กไม่สามารถจัดแจงเองได้ เช่น ระบบการเรียน ตำรา สิ่งแวดล้อม ดังนั้นเด็กพวกนี้จึงมีปัญหาทางอารมณ์ได้เช่นกัน เช่นอาจเป็นเด็กเก็บตัว ขี้โมโห ชอบท้าทายเพื่อนและครู หรือเซื่องซึม ปัจจุบันนี้มีนักจิตวิทยาและนักการศึกษาได้ให้ความสนใจเด็กกลุ่มนี้มากเช่นกัน เพื่อจัดการการศึกษาให้เหมาะแก่พวกเขา เพื่อว่าสังคมจะไม่ต้องสูญเสียบุคคลที่สามารถคิดอ่านแก้ปัญหา หรือสร้างสรรค์ สิ่งอันจะเป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติและสังคม ในปัจจุบันและอนาคต

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า