สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เด็กด้อยความสามารถในการเรียน (Learning Disabilities)

วัยเด็กตอนกลาง เป็นระยะที่เด็กถูกคาดหวังว่าจะต้องจริงจังกับวิชาต่างๆ ที่เด็กทั่วไปต้องเรียนรู้ และควรทราบ เด็กต้องจริงจังกับวิชาที่ต้องรู้และที่ครูสอน เด็กต้องเรียนให้จบการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมาย เด็กที่อ่านหนังสือไม่ออก ไม่รู้จักคิดเลขง่ายๆ ไม่รู้เรื่องรอบตัวพื้นฐาน อาจไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างพึ่งตัวเองได้ดีนักอีกแล้ว ส่วนการพึ่งผู้อื่นตลอดไปก็เป็นเรื่องที่อาจเป็นไปได้ยากในรูปแบบสังคมเศรษฐกิจปัจจุบัน ดังนั้นเด็กที่ไม่สามารถเรียนได้ถึงระดับมาตรฐานในโรงเรียน ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความบกพร่องทางสติปัญญา จึงเป็นปัญหาที่นักจิตวิทยา นักการศึกษา และบุคลากรทางการแพทย์ ให้ความสนใจศึกษาค้นคว้า และหาวิธีการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเด็กที่เราเรียกว่า “ด้อยความสามารถในการเรียน”Learning

เด็กด้อยความสามารถในการเรียน คือเด็กที่ทั้งครูและพ่อแม่เห็นว่าไม่มีความสามารถในการเรียน เขียน อ่าน คิดเลข ในระดับที่เด็กวัยนี้ควรเรียนได้ เรามักคาดหมายกันว่า เด็กวัยเด็กตอนกลาง ต้องมีความสามารถในการอ่าน เขียน คิดเลขได้ หรือเข้าใจเรื่องพื้นฐานในชีวิตทั่วๆ ไปได้ แต่ก็ปรากฏว่า มีเด็กจำนวนหนึ่งที่เรียนลำบาก ผิดเด็กธรรมดาทั่วๆ ไป ทั้งๆ ที่สติปัญญาไม่เลวเลย และดูเหมือนว่า เด็กก็พยายามสุดความสามารถ แต่ดูเหมือนจะเรียนไม่ไหว ในสายตาของครูและพ่อแม่หรือคนทั่วๆ ไป เด็กมีพัฒนาการปกติธรรมดาทุกๆ อย่าง แต่ความบกพร่องซ่อนอยู่ไม่มีใครมองเห็น เด็กที่ด้อยสมรรถภาพในการเรียนกลุ่มนี้ มีมาแล้วในทุกๆ โรงเรียน ตั้งแต่อดีตกาล แต่นักการศึกษา นักจิตวิทยา แพทย์ ได้พบจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันและพบได้ทุกวัย จนถึงกับมีหน่วยงานของรัฐและเอกชนได้จัดตั้งขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้อย่างจริงๆ จังๆ ในประเทศไทยยังไม่มีการสำรวจเป็นกิจลักษณะว่าเด็กที่ด้อยสมรรถภาพในการเรียนมีจำนวนมากน้อยเท่าไร เมื่อเทียบกับเด็กปกติ แต่การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า เด็กกลุ่มนี้มีจำนวน 4% ของเด็กปกติ (Lefrancois, 1990, หน้า 359) การ ศึกษาของศรีเรือน แก้วกังวาล (2536) ได้พบจำนวนและแนวโน้มของการเพิ่มจำนวนของเด็กที่มีปัญหาดังกล่าว ในกรุงเทพมหานครอย่างน่าตกใจ

คำจำกัดความ
เด็กด้อยสมรรถภาพทางการเรียน เป็นเด็กที่จริงๆ แล้ว มีความบกพร่องทางสมรรถภาพร่างกายอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน หรือบางทีก็มีความบกพร่องทางสังคม อารมณ์ ในกระสวนพัฒนาการร่วมด้วย เช่น ระบบประสาทบางอย่างไม่ทำงานตามปกติ (Cerebral dysfunction) ความผิดปกติทางสมองเล็กน้อย (Minimal brain damage) การรับรู้และการประสานงานบกพร่อง (เช่น ตา หู การรับรู้เรื่อง Space) การเรียนช้า (Slow learner) มีปัญหาเกี่ยวกับการอ่าน (Dyslexia) มีแรงเร้าสูง (Hyperactivity) ขาดสมาธิในการเรียนอย่างยิ่ง ฯลฯ

นักจิตวิทยาเชื่อว่า การด้อยสมรรถภาพในการเรียน เป็นอาการของ “ความเจ็บป่วย” ชนิดหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบไม่ใช่เฉพาะการเรียน แต่รวมทั้งด้านอารมณ์ สังคม และความคิดของเด็กด้วย ผลการศึกษาด้านนี้พบว่า เมื่อสืบประวัติเด็กเกเร ปรากฏว่า 80% เป็นเด็กด้อยความสามารถในการเรียน และเด็กที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน (ประมวญ ดิคคินสัน, 2520, หน้า 206)

บ่อยๆ ที่เด็กกลุ่มนี้มักถูกเรียกเป็นอย่างอื่น เช่น เด็กสมาธิบกพร่อง เด็กที่ตาและการประสานสัมพันธ์ของการรับรู้และอวัยวะการเคลื่อนไหวพัฒนาเชื่องช้า เด็กมีปัญหาทางภาษา เด็กไม่สนใจเรียน เด็กมีปัญหาในการอ่าน เด็กหัวทึบ ฯลฯ ครูหรือพ่อแม่ที่มีเด็กอยู่ในวัยเด็กตอนกลางบางท่าน อาจต้องเริ่มเผชิญกับปัญหาด้านการเรียนของเด็กดังกล่าวมา อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายๆ อย่างปนๆ กัน ซึ่งโดยสรุปก็คือ เด็กมีความผิดปกติด้านการเรียน ไม่สามารถพัฒนาการเรียนรู้ไปได้ตามพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย ในหลายๆ ประเทศเด็กที่มีปัญหาเช่นว่านี้ มักได้รับความสนใจ และมีการจัดการศึกษาให้เป็นพิเศษ สำหรับในประเทศไทย การศึกษาที่จัดเป็นพิเศษสำหรับเด็กกลุ่มนี้ยังไม่สู้จะจริงจังมากนัก (จึงมีบ่อยๆ ที่ปรากฏว่า เด็กจบการศึกษาภาคบังคับชั้นประถมแล้ว ยังอ่านหนังสือไม่ออก และคิดเลขขั้นพื้นฐานง่ายๆ ไม่ได้)

ก่อนปี ค.ศ.1979 ความไร้สมรรถภาพในการเรียนมีความหมายเฉพาะกลุ่มเด็กในวัยเด็กตอนกลาง แต่ปัจจุบันนี้ได้หมายถึงคนทุกๆ วัย ในที่นี้จะอภิปรายเฉพาะเด็กวัยเด็กตอนกลาง และอาจรวมไปถึงวัยเด็กตอนต้นและวัยรุ่นเพียงเล็กน้อย อนึ่งหนังสือจิตวิทยาพัฒนาการรุ่นใหม่ๆ ตั้งแต่ประมาณ ค.ศ.1980 เป็นต้นมา มักจะอภิปรายถึงเรื่องเด็กด้อยสมรรถภาพในการเรียน เพราะความบกพร่องในด้านพัฒนาการทางวิชาการของเด็กมีมากขึ้นในโลกปัจจุบัน

ข้อควรระวังก่อนที่จะตีตราว่าเด็กด้อยสมรรถภาพในการเรียน
อย่างไรก็ตามก่อนที่จะตีตราเด็กว่า เป็นเด็กที่ด้อยสมรรถภาพในการเรียน พ่อแม่และครูจะต้องทำการศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนลงความเห็น ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับเกณฑ์ตัดสินในเรื่องนี้ มีเขียนไว้มากมายในหนังสือเรื่อง “เด็กพิเศษ” จึงขอให้ผู้สนใจศึกษาเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ถ้าหากพบว่า เด็กมีปัญหาในการเรียนจริงๆ แล้ว ก็จงยอมรับและหาทางแก้ไข อย่าปล่อยไว้ให้เนิ่นนานเกินไป ข้อเขียนต่อไปนี้ เป็นข้อแนะนำอย่างกว้างๆ เกี่ยวกับการสังเกตพฤติกรรมทางสังคมและจิตใจของเด็กประเภทนี้ เพื่อเป็น”แนวทาง”ให้ครูและผู้ปกครองได้รับทราบ เพื่อจัดการให้เด็กกลุ่มนี้ ได้รับการช่วยเหลือโดยพ่อแม่ ผู้ปกครองและโดยผู้เชี่ยวชาญต่อไป

เด็กที่มีแนวโน้มจะเป็นเด็กไร้สมรรถภาพในการเรียน จะมีลักษณะทางสังคมจิตวิทยาที่ปรากฏให้เห็นหลายลักษณะและหลายรูปแบบ ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า ลักษณะต่างๆ ที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นลักษณะที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กปกติ หรือแม้แต่ตัวเราเองบางครั้ง ไม่มีใครมีความเป็นปกติที่สมบูรณ์ (Absolute normalcy) ดังนั้นพึงระวังก่อนที่จะ “ตีตรา” ว่าเด็กมีปัญหาในการเรียน โดยดูจากลักษณะอาการต่างๆ ที่จะกล่าวต่อไปนี้ เพียงไม่กี่ครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเด็กแสดงอาการต่อไปนี้สมํ่าเสมอ หลายๆ อย่าง มีความถี่สูง มีผลกระทบต่อการเรียนในทางลบอย่างชัดเจน สัมพันธภาพกับผู้อื่นของเด็กไม่ดี นั่นคือสิ่งที่บ่งบอกให้ผู้ปกครองและครูทราบว่า จะต้องเริ่มเอาใจใส่ผู้นั้นเป็นพิเศษ และ “อย่าปล่อย” ให้เด็กแสดงอาการต่างๆ เหล่านั้นครบถ้วนรุนแรงเสียก่อน จึงจัดการแก้ไข

ลักษณะทางสังคมจิตวิทยาและพฤติกรรมที่ปรากฏ (เก็บความจาก Janzen et al., 1989 b)
1. ขาดการจัดระเบียบ (Disorganization)
หมายถึงขาดทักษะในการจัดระเบียบ ความคิด การกระทำ ทำอะไรๆ ยุ่งเหยิงไม่เป็นขั้นตอน

พฤติกรรมที่ปรากฏ
1. มีความลำบากในการจัดระบบการรับรู้ในสิ่งที่ได้ยิน ได้เห็น หรือได้สัมผัส
2. ไม่สามารถจัดระเบียบ แบ่งเวลาในการทำงาน ให้สำเร็จตามเวลาที่ได้รับมอบหมาย
3. อาจมีความคิดเป็นรูปธรรมเด่นชัด แต่จัดระบบลำดับความคิดไม่ค่อยได้
4. โต๊ะทำงานเลอะเทอะ ไม่มีระเบียบ ทำงานไม่ถูกต้อง
5. หาหนังสือ ดินสอ กระดาษ การบ้านไม่พบ
6. พฤติกรรมดูเหมือนไม่มีจุดหมาย เดินพล่านไปรอบๆ ห้อง
7. การเคลื่อนไหวไร้ระบบ ไม่รู้จักตัวเอง
8. ใช้เวลานานกว่าจะตอบคำถาม ตอบคำถามไม่ตรงจุด
9. ระเบิดอารมณ์รุนแรงโดยไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์
10. ไม่สามารถประเมินความพยายามของตนเองได้
11. ตั้งความหวัง เป้าหมายอย่างไม่มีทางเป็นจริง
12. ต้องการความช่วยเหลือเฉพาะตัวบ่อยๆ
13. วิจารณ์งานของตนเองมากเกินเหตุ
14. ยอมแพ้ง่ายๆ หรือเปลี่ยนไปทำงานที่ง่ายกว่าเดิม
15. มีภาพที่ไม่ดีต่อตนเอง มีความรู้สึกทางลบต่อตนเอง (เช่น “ฉันทำไม่ได้หรอก”)

2. คุมความสนใจมั่นไม่ได้ (Distractibility)
หมายถึงลักษณะที่ขาดความตั้งใจแน่วแน่ ถูกเร่งให้สนใจอะไรๆ ได้ง่ายดาย สมาธิไม่ตั้งมั่น

พฤติกรรมที่ปรากฏ
1. ใจคอเลื่อนลอย โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นสิ่งเร้าภายนอก เช่น เห็นคนเดินผ่าน เสียงรถยนต์ข้างโรงเรียน ฯลฯ ก็ต้องมองตาม
2. ความสนใจช่วงสั้น
3. เปลี่ยนความสนใจบ่อยๆ เมื่อเริ่มงานได้แล้วมักทำไม่จบ
4. หงุดหงิด รำคาญต่อความเป็นไปทางกาย เช่น ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย ร้อน หนาว ง่วง หนวกหู กระหายน้ำ ฯลฯ
5. สายตาหลุกหลิก มองโน่นมองนี่
6. ตอบคำถามด้วยคำตอบประหลาดๆ หรือคำตอบผิดๆ
7. ไม่ถูกใจอะไรๆ ไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง
8. คอยอะไรนานๆ ก็ทนไม่ค่อยจะได้
9. ความคิดกระจัดกระจาย เมื่อตอบคำถามหรือเขียนหนังสือ
10. ความสนใจน้อยลงเมื่อใกล้พัก หรือใกล้เวลาอาหารกลางวัน หรือเมื่อโรงเรียนจวนเลิก
11. ความจำทางตาและหูไม่ดี ลืมง่าย
12. ไม่มีนิสัยในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ
13. การเรียนรู้ไม่คงเส้นคงวา
14. เข้ากับเพื่อนไม่ค่อยได้ ชอบพึ่งพิง ไม่รับผิดชอบต่องานส่วนรวม
15. สนใจเสียงดังนอกห้องเรียน

3. การพัฒนาการทางนิสัยไม่ค่อยพัฒนา (Weak habit development)
หมายถึงนิสัยจำเป็นในการเรียนรู้ ที่อาศัยสายตาและหู ไม่ค่อยพัฒนา สิ่งที่เรียนรู้มาแล้วจำไม่ได้

พฤติกรรมที่ปรากฏ
1. วิชาที่ต้องใช้ความเร็ว ความเที่ยงตรง ความจำ จะทำไม่ค่อยได้
2. เรียนรู้อะไรได้ช้า เช่น กฎเกณฑ์ใหม่ กติกาในการเล่น
3. จำอะไรๆ ที่เป็นตัวเลขไม่ค่อยได้ เช่น เลขบ้าน เบอร์โทรศัพท์
4. เรียนเรื่องภาษา อักษร การออกเสียงสระ พยัญชนะ ทำไม่ค่อยได้
5. เห็นตัวอักษร คำ อ่านไม่ออก
6. อ่านเอาเรื่องทำได้ แต่พอให้นึกรายละเอียดจำไม่ได้
7. อ่านได้คล่องแต่เขียนหนังสือผิดพลาด
8. เขียนไม่ค่อยถูกไวยากรณ์
9. ไม่มีความคิดรวบยอดเรื่องเวลาและสถานที่
10. อะไรที่ทำซ้ำๆ หลายหน จะเรียนไม่ได้
11. ทำกิจวัตรประจำวันได้ไม่สม่ำเสมอ
12. สอนยาก บอกอะไรไม่ใคร่ฟัง ทำตามไม่ได้
13. ไม่รู้จักมารยาททางสังคม หรือมีแต่ไม่แน่นอน
14. ต้องสอนใหม่ในวิชาที่เรียนรู้แล้วเสมอ

4. ไฮเปอร์แอกถีฟ (Hyperactivity)
หมายถึงการเคลื่อนไหวไม่หยุดหย่อน มีการกระโดดโลดเต้น เดิน วิ่งตลอดเวลา หรือเด็กที่รู้สกว่า ถ้าอยู่นิ่งๆ แล้วไม่เป็นสุข หมายรวมถึงเด็กที่ทำอะไรด้วยความว่องไวมาก ตัดสินใจเร็ว

พฤติกรรมที่ปรากฏ
1. เคลื่อนไหวไปมาไม่หยุดหย่อน หลุกหลิก แตะต้องโน่นนี่ ชนนั่นชนนี่
2. เคลื่อนไหวงุ่มง่าม ขาดการวางแผนที่รัดกุม
3. ก่อกวนในชั้นเรียน พูดโพล่งในโอกาสและเวลาไม่ควรพูด
4. ขาดสมาธิในบทเรียน หรือแบบฝึกหัดที่ต้องทำ
5. พฤติกรรมไม่แน่นอนในแต่ละวัน
6. ลืมคำสั่งครูบ่อยๆ ทำการบ้านไม่ค่อยได้
7. ทำข้อสอบไม่ค่อยได้ หรือถ้าเป็นการเรียนรู้ที่ต้องตั้งใจทำก็ทำไม่ค่อยได้
8. มีความตั้งใจดีกับบุคคลอื่น แต่การปฏิสัมพันธ์ไม่ดี
9. คุมตัวเองไม่ค่อยได้ ขาดความพยายามคงที่
10. ตอบและเขียน อย่างขาดการจัดลำดับขั้นตอน
11. สนใจเรื่องอื่นๆ ขณะกำลังเรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
12. หุนหันพลันแล่น ไม่รอบคอบ
13. เปลี่ยนความสนใจรวดเร็วบ่อยๆ
14. เล่นอะไรๆ นานๆ ไม่ได้

5. ทำอะไรเร็วๆ ลวกๆ เร่งๆ ลุกลี้ลุกลน (Impulsivity)
คือแนวโน้มที่จะทำอะไรเร็วๆ อย่างไม่คิดหน้าหลัง ขี้ตื่น โต้ตอบต่ออะไรๆ อย่างทันทีทันใด โดยไม่ยั้งคิดเลย

พฤติกรรมที่ปรากฏ
1. พูดโพล่ง โดยไม่ยั้งคิด
2. มักเสียใจ กับสิ่งที่ตัวทำลงไปแล้วบ่อยๆ
3. ทำการบ้านและแบบฝึกหัดด้วยความรวดเร็ว
4. เมื่อต้องรอคอยอะไรๆ มักแสดงความไม่พอใจออกนอกหน้า
5. พูดก่อนคิด
6. มักชอบพูดอะไรๆ ที่ทำให้เด็กและผู้ใหญ่เจ็บชํ้าเพราะไม่ได้คิด
7. นั่งนิ่งๆ ในช่วงที่ต้องเรียนจนจบช่วงเวลาเรียนไม่ค่อยได้
8. บ้าระห่ำ ไม่กลัวอะไรๆ ทะลึ่งตึงตัง
9. เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่นล้มลุกคลุกคลาน ฟกช้ำดำเขียว เป็นแผลตรงนั้นตรงนี้อยู่เรื่อยๆ
10. ตอบก่อนผู้อื่นพูดจบหรือถามจบ ชอบพูดแซง
11. ไม่ค่อยทำตามกฎระเบียบ ถ้าต้องทำแบบสอบถามที่เกี่ยวข้องกับเวลา มักทำผิดพลาด

12. คุมอารมณ์ไม่อยู่ ถ้าถูกแหย่จะโกรธและจะต้องลงไม้ลงมือกัน
13. สมุดแบบฝึกหัดเลอะเทอะ ขาดระเบียบ
14. ขณะอ่านหนังสือ นั่งนิ่งไม่ได้ เคลื่อนไหวบางส่วนของร่างกาย เช่น มือไม้ แขนขา ปาก นิ้ว กัดเล็บ ดึงผม ฯลฯ
15. ความสนใจเปลี่ยนบ่อยๆ จึงนั่งดูการสาธิตหรือฟังการสาธิตต่างๆ ไม่ค่อยได้

6. ไม่ยืดหยุ่น (Inflexibility)
หมายถึงแนวโน้มที่จะมีแนวทางเดียวในการกระทำกิจกรรมต่างๆ ควบคุมตนเองให้อยู่ในกรอบแบบแผนที่ตนเองตีไว้อย่างแน่นหนามาก ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยแบบแผนที่ไม่เปลี่ยนแปลง

พฤติกรรมที่ปรากฏ
1. มุ่งความสมบูรณ์แบบ พากเพียรในการทำกิจกรรมต่างๆ แต่เชื่องช้ามาก
2. ต้องการเวลาเพื่อทำงานหรือเรียนอะไรๆ อย่างมาก
3. หาจุดเริ่มต้นทำอะไรๆ ยาก
4. เมื่อมีการบ้าน จะจัดลำดับขั้นตอนต่างๆ เป็นอย่างดี แต่มักทำไม่ค่อยเสร็จ
5. อยากรู้เรื่องที่รู้แล้วซ้ำๆ ซากๆ
6. ไม่อยากรู้อะไรใหม่ๆ หรือไม่อยากเปลี่ยนกิจวัตรที่ทำทุกๆ วัน
7. คบเพื่อนใหม่ๆ ไม่ค่อยได้
8. ความสนใจคับแคบ เรื่องอื่นๆ นอกห้องเรียนเกือบไม่รู้
9. ตาหูไม่ค่อยตื่นตัว ต้องเห็นและได้ยินซ้ำๆ
10. อาจแสดงความก้าวร้าวได้ เพราะแก้ไขสถานการณ์ทางสังคมได้เพียงแบบใดแบบหนึ่ง
11. ขี้ตื่น ชอบวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองและคนอื่นเกินจริง
12. ชอบนั่งเงียบๆ คนเดียว
13. ไม่ชอบให้ใครชื่นชมตน หรือไม่อยากให้ใครยกย่อง
14. ไม่เข้าใจเรื่องขำขัน หรือตีความหมายจากสีหน้าของผู้อื่นไม่ได้
15. มีพฤติกรรมซ้ำๆ เช่นพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ แสดงอะไรๆ ซ้ำๆ

7. ซ้ำซาก (Perseveration)
คือแนวโน้มที่จะคิด พูด รู้สึก ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งๆ ที่ควรจะหยุดได้แล้ว พฤติกรรมนี้ คล้ายๆ กับพฤติกรรมไม่ยืดหยุ่น แต่ความซ้ำซากเป็นกลุ่มทัศนคติหรือกลุ่มพฤติกรรม

พฤติกรรมที่ปรากฏ
1. เปลี่ยนกิจกรรม หรือเปลี่ยนความคิดได้ยาก
2. ลอกเลียนงานซํ้าๆ เดิมๆ ของตนเองและบุคคลอื่น
3. ทำกิจกรรมทางสังคม (เจตนาจะให้ผู้อื่นชอบ) ซ้ำๆ เช่น ซื้อขนมหวานให้เพื่อนกินชนิดเดียวกันทุกๆ วัน อาจหัวเราะในเรื่องที่ไม่ควรจะต้องหัวเราะ
4. เขียนจนตกขอบกระดาษ
5. สร้างกฏเกณฑ์ในการเรียนรู้ขึ้น และกล่าวถึงกฎเกณฑ์นั้นอย่างพออกพอใจให้ผู้อื่นทำ
6. เชื่อมโยงการเรียนรู้เก่าเข้ากับใหม่ไม่ได้
7. ปรับตัวเข้ากับครูคนใหม่ หรือเมื่อเปลี่ยนชั้นเรียนไม่ได้
8. เคลื่อนไหวซ้ำๆ เช่น โยกตัวไปมาซ้ำๆ ซากๆ
9. ถามคำถามซํ้าแล้วซ้ำอีกเมื่อคุยกัน (ไม่แปลกสำหรับเด็กอายุ 3 ขวบ แต่ผิดปกติสำหรับเด็กที่อายุมากกว่านี้)

8. อารมณ์ไม่คงเส้นคงวา
หมายถึงลักษณะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ และเร็ว รวมทั้งการแสดงออกของอารมณ์ที่ไม่ค่อยตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้คนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ ทำให้การเรียนไม่ค่อยก้าวหน้า และไม่ค่อยมีใครอยากคบหาสมาคมด้วย

พฤติกรรมที่ปรากฏ
1. พอรู้สึกว่ามีความสุขสบายใจ ประเดี๋ยวก็โมโห ร้องไห้ กระทืบเท้า ขว้างปาข้าวของ
2. เมื่อไม่สบายใจ กังวล จะหนีคน นั่งเงียบๆ อยู่เฉยๆ ไม่ยอมทำอะไร ไม่พูด ไม่ตอบคำถาม
3. เมื่อมีความกังวลใจ จะพูดโพล่ง ทำอะไรเร็วๆ และไม่ระมัดระวัง
4. ถดถอยไปทำพฤติกรรมเหมือนเด็กอายุน้อย เช่นดูดนิ้ว กัดเล็บ ปัสสาวะรดที่นอน
5. เมื่อขมขื่นกับตัวเอง หรือเมื่อถูกตำหนิ จะไม่ฟังคำแนะนำสั่งสอน เดินออกจากห้องร้องไห้
6. แสดงอาการโอ้อวดเกินความเป็นจริงในห้องเรียน
7. อาจระเบิดอารมณ์ เมื่อรู้สึกตึงเครียด คุมอารมณ์ไม่ค่อยได้
8. รู้สึกเหนื่อยหน่าย หลับคาโต๊ะบ่อยๆ
9. ถ้าอายุน้อยจะพูดเหมือนเด็กๆ (Baby talk)
10. เรียนได้ดีเลิศบางวัน บางวันเรียนไม่ได้เลย
11. ถ้าอยู่ในวัยเด็กตอนต้น จะร้องไห้เมื่อต้องไปโรงเรียน
12. มีแนวโน้มที่จะมีกิจกรรมนอกหลักสูตรมากมาย
13. ชอบเล่นกับเด็กที่เด็กกว่าตน
14. ชอบฟังหรือบ่นกับครูและพ่อแม่ว่า เพื่อนคนโน้นคนนี้เกลียดตน หรือแกล้งตน
15. ไม่ค่อยรู้สึกหิว เบื่ออาหาร

9. ความสัมพันธ์กับผู้อื่น
หมายถึงความสามารถในการคบหาสมาคมกับผู้ใหญ่กว่า หรือเด็กกว่า หรือเพื่อนร่วมรุ่น รู้สึกมีความสุขที่ได้คบหาสมาคม แต่ก็ไม่ใช่การติดพันที่มากเกินไป เด็กที่มีปัญหาในการสัมพันธ์กับผู้อื่น จะมีลักษณะต่างๆ ต่อไปนี้อย่างใดหนึ่งหรือหลายๆ อย่างรวมกัน

ลักษณะพฤติกรรม
1. มักเห็นว่าตนคบกับใครๆ ก็ไม่ได้ ไม่มีใครชอบตน
2. อ่านอารมณ์จากสีหน้าของผู้อื่นไม่ได้ เช่น โกรธ เกลียด เศร้าโศก
3. อ่านอารมณ์ของตนเองไม่ออก
4. อยู่คนเดียวก็ไม่มีความสุข อยู่กับเพื่อนก็ทนไม่ค่อยได้
5. ชอบอยู่คนเดียวมากกว่าคบกับคนอื่น
6. ขี้อาย หลบหน้าคน ไม่ชอบเข้ากลุ่ม
7. ไม่เข้าใจอารมณ์ขันของผู้อื่น หรือไม่หัวเราะในเรื่องที่ใครๆ ขบขัน
8. เป็นตัวตลกขบขันในสายตาผู้อื่น
9. ไม่ทำงานให้กลุ่ม ไม่อ่านหรือตอบคำถามในห้องเรียน
10. มีเพื่อนสนิท 1 หรือ 2 คน และกลัวการสูญเสียเพื่อนสนิท
11. ถ้ายังอยู่ในวัยเด็กเล็ก มักเกาะแม่หรือครูอยู่ติดแจ ในเวลาที่ไม่เหมาะสม
12. กอดรัด จูบ จับไม้จับมือถือแขนอย่างไม่ค่อยเหมาะสม เพื่อแสดงความรักใคร่ผูกพัน
13. ทำเรื่องตลก ล้อเพื่อน เพื่อเรียกร้องความสนใจหรือเพื่อสร้างมิตรภาพ
14. ขาดโรงเรียนบ่อยๆ โดยไม่มีเหตุที่สมควร
15. สอบตก โดยไม่มีเหตุที่เหมาะสม

อาการ Dyslexia
อาการ Dyslexia เป็นอาการที่โดดเด่นในกลุ่มเด็กที่ด้อยสมรรถภาพในการเรียน เนื่องจากมีลักษณะเฉพาะเห็นชัดเจน จึงแยกเป็นหัวข้อหนึ่งต่างหาก

อาการ Dyslexia เป็นพฤติกรรมที่มีความบกพร่องในการอ่าน คำ ประโยค หรือย่อหน้า รู้สาเหตุ ต้นตอส่วนมากมักเกิดจากความบกพร่องทางกาย จึงต้องได้รับการแก้ไขจากแพทย์และนักประสาทวิทยา เพราะมีปัญหาทางสมอง ประสาทสัมผัสและการรับรู้บกพร่อง

อาการนี้จะแสดงออกคือ อ่านหนังสือข้ามตัว ซึ่งเป็นเพราะเขามองไม่เห็นตัวหนังสือจริงๆ บางคนแสดงอาการไม่เข้าใจเรื่องที่อ่าน บางคนขาดความสนใจในการเรียนรู้และแบบฝึกหัดที่ต้องทำ บางคนไม่มีการประสานงานกันของการเห็นและการได้ยิน

อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหานี้ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาความบกพร่องทางชีววิทยา แต่บางส่วนอาจเกิดจากความบกพร่องในด้านพัฒนาการทางอารมณ์ สังคม ของเด็ก เช่นความซึมเศร้า ความหวาดกลัว Hyperactive ผิดปกติ มีภาพพจน์ตนเองในทางลบ ปัญหาเหล่านี้อาจต้องทำการแก้ไขด้วยความช่วยเหลือจากครู ผู้ปกครอง และนักจิตวิทยา

เด็ก Hyperactive
เด็ก Hyperactive เป็นเด็กกลุ่มที่มีปัญหาในการเรียนกลุ่มหนึ่ง แต่มีอาการที่ค่อนข้างเด่นชัด เช่นเดียวกับอาการ Dyslexia จึงได้แยกนำมากล่าวเป็นหัวข้อหนึ่งต่างหาก เด็กกลุ่มนี้ได้พบมากขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน (ศรีเรือน แก้วกังวาล, 2536) สำหรับเด็กไทยที่มีลักษณะ Hyperactive มีคลีนิครักษาโดยเฉพาะที่โรงพยาบาลจุฬาฯ กรุงเทพมหานคร

พฤติกรรมที่ปรากฏเด่นๆ คือ กระวนกระวาย ทำอะไรๆ อย่างไร้เป้าหมาย ไม่มีระเบียบ จับจด ไม่มีสมาธิ มีความสนใจสิ่งใดๆ ช่วงสั้นๆ เบนความสนใจจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่งรวดเร็ว ชอบปีนป่าย วิ่ง ขี้ลืม คอยอะไรๆ ไม่ค่อยได้ พูดไม่หยุด วิ่งข้ามถนนโดยไม่ดูรถยนต์ ชอบพูดขัดจังหวะผู้อื่น ทำสิ่งของหายบ่อยๆ (เช่น สตางค์ ดินสอ ปากกา) นั่งนิ่งๆ ไม่ได้ อาการต่างๆ ที่กล่าวนี้มักแสดงให้ปรากฏก่อนอายุ 7 ขวบ (Lefrancois, 1990, หน้า 403)

การช่วยเหลือเด็กด้อยสมรรถภาพในการเรียน
เด็กด้อยสมรรถภาพในการเรียน ไม่ใช่เด็กผิดปกติ แต่เป็นเด็กที่มีความบกพร่องบางประการ ทางด้านชีววิทยา หรือทางพัฒนาการทางสังคม อารมณ์ ซึ่งสามารถ”ช่วย”ให้เขากลับฟื้นคืนดี เรียนได้โดยปกติ หรือมีความสำเร็จในการเรียนอย่างสูง แต่การที่จะช่วยให้เขาเรียนได้เหมือนเด็กทั่วๆ ไปนั้น ต้องช่วยเด็กหลายๆ ทาง และจากบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะทางหลายๆ ฝ่าย เช่น นักประสาทวิทยา จักษุแพทย์ ครู กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญทางหูและการได้ยิน นักสังคมสังเคราะห์ นักจิตวิทยา จิตแพทย์ รวมทั้งวิทยาการทางแพทย์ด้านป้องกัน (Preventive medicine) ความรู้เรื่องจิตวิทยา พัฒนาการวัยก่อนเกิด และวัยทารกที่ลึกซึ้ง

สังคมปัจจุบันคาดหวังว่าเด็กทุกๆ คนต้องเรียนรู้วิชาพื้นฐานต่างๆ ในโรงเรียนให้ได้ถึงระดับที่สังคมแต่ละสังคมตั้งมาตรฐาน อีกทั้งยังปรากฏว่าเด็กเหล่านี้มักมีปัญหาทางความประพฤติเมื่อโตขึ้น วงการแพทย์ วงการศึกษา และวงการจิตวิทยาในสังคมตะวันตกจึงแสวงหาหนทางต่างๆ โดยการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างจริงๆ จังๆ เพื่อเข้าใจ เพื่อป้องกันและเพื่อช่วยเด็กกลุ่มนี้ด้วยเหตุที่สังคมไทยได้ลอกเลียนแบบการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจจากประเทศตะวันตก จึงน่าจะเชื่อได้ว่าจำนวนเด็กที่มี ปัญหาทางการเรียน ก็น่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ หัวข้อนี้จึงได้เขียนขึ้นอย่างค่อนข้างยาว ด้วยความหวังว่า พ่อแม่และครูหรือผู้ใหญ่อื่นๆ ที่ได้พบลักษณะที่อาจส่อความบกพร่องทางการเรียนของเด็ก จะได้เข้าใจและให้ความช่วยเหลือเขาได้ทันการ พร้อมทั้งหวังว่า ในภายภาคหน้าคงมีหน่วยงานที่ให้การดูแลช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะในประเทศไทย

ขอย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่ผู้ใหญ่จะต้องสำนึกเสมอๆ ในการให้ความช่วยเหลือหรือเข้าใจเด็กที่มีปัญหาด้อยในการเรียนก็คือ ก่อนที่จะตีตราเด็กว่า ด้อยสมรรถภาพในการเรียน ต้องตรวจเช็คให้ละเอียดถี่ถ้วน เมื่อผู้ใหญ่มีอาการ “ไม่ใส่ใจการเรียน” เรามักจะกล่าวว่าเขา “ใจลอย” แต่ถ้าเด็กไม่เอาใจใส่เราตีตราว่า “ไม่สามารถเรียนรู้ได้ดี” เราคงเคยทราบว่า มีบุคคลสำคัญมากมายหลายคนที่เคยถูกตีตราว่า ไม่สามารถเรียนรู้ได้ดี เช่น ไอน์สไตน์, เอดิสัน, รอคกี้เฟล-เลอร์, ลีโอนาโด ดาวินซี, คริสเตียน แอนเดอร์สัน เป็นต้น เอดิสันในวัยเด็กไม่สามารถสะกดคำได้ และถูกเรียกว่าเป็นเด็กมีอาการ dyslexia ไอน์สไตน์ ไม่พูดจนอายุ 4 ขวบ และอ่านไม่ได้จนอายุ 9 ขวบ เขาถูกตีตราว่าเป็นคนที่มีความจำเลวมาก

ตัวอย่างกรณีศึกษาเด็กด้อยความสามารถทางการเรียน
เด็กชาย โจ้ อายุ 7 ขวบ มีปัญหาเรื่องการเรียน สอบตกชั้น ป.2 ครูเรียกแม่มาพบ บอกแม่ว่าโจ้ เรียนอ่อนมากทุกวิชา ขอให้แม่ช่วยกวดขันเรื่องการเรียนของโจ้ด้วย

แม่โจ้คิดว่า โจ้สอบตกบ่อยๆ อ่านหนังสือไม่แตก คิดเลขบวกลบง่ายๆ ไม่ได้ เนื่องมาจากโจ้ขี้เกียจ ไม่เอาถ่าน จึงบอกว่าถ้าโจ้ขี้เกียจ แม่ก็ไม่อยากเป็น “คุณแม่คนดี” ของโจ้ จึงงดสตางค์สำหรับ ซื้อขนม ไม่ให้ดูทีวี ไม่ให้ออกไปวิ่งเล่น ไม่ให้ไปเที่ยว ต้องอ่านเขียนทำเลขมากขึ้น แม้แม่จ้างครูมาสอนพิเศษให้ แต่โจ้ก็ยังเรียนเลวลงเรื่อยๆ ทั้งแม่ทั้งโจ้เสียใจ โจ้คิดว่าตนเองเป็นเด็กโง่ ทำให้แม่เสียใจ ทั้งๆ ที่โจ้ก็พยายามสุดความสามารถยังเรียนไม่ได้เหมือนที่แม่และครูต้องการ

วันหนึ่งแม่กับโจ้ไปเที่ยวงานนิทรรศการทางวิชาการของโรงเรียน แม่ไปลองเล่นเครื่องมืออย่างหนึ่ง (Maze drawing) ประกอบด้วยกระจกเงา มีรูปวางขวางหน้ากระจก ต้องเอาดินสอวาดไป ตามเส้นของรูปหน้ากระจก โดยมองจากเงาในกระจก มีที่กำบังมิให้มองเห็นมือและกระดานที่วาดโดยตรง ต้องมองกระจกเท่านั้น เมื่อแม่ลองทำแล้วก็ให้โจ้ลองทำบ้าง จึงเข้าใจปัญหาการรับรู้ (Perception) และการทำงานประสานกันของตาและมือของโจ้ ได้พบว่า “มีความบกพร่อง”

แม่ของโจ้ถึงกับน้ำตาคลอ เข้าใจได้ทันทีว่า ปัญหาการเรียนของโจ้เกิดจากการรับรู้เรื่อง Space และการทำงานประสานกันของตาและมือบกพร่อง แม่เข้าใจผิด ไปตำหนิดุว่าทำโทษโจ้เสียนาน จึงจัดการแก้ไขโดยผู้เชี่ยวชาญ ต่อมาโจ้ก็เรียนได้ดีตั้งแต่นั้นมา

โชคดีที่โจ้มีแม่ที่เข้าใจปัญหาของลูก และช่วยโจ้ได้ทันก่อนที่จะสายเกินไป

สรุป
ช่วงวัยเด็กตอนกลางเป็นช่วงอายุระหว่าง 6-12 หรือ 13 ปี พัฒนาการทางสังคมที่เป็นจุดเด่น ได้แก่ การเริ่มรู้จักรวมกันเป็นกลุ่มในการเรียน เล่น ทำกิจกรรมดียิ่งกว่าวัยเด็กตอนต้น เด็กรู้จักเคารพ กฎ กติกาในการเล่น การเรียน และการเข้าสังคม กลุ่มมีอิทธิพลต่อเด็กในด้านพัฒนาการทางบุคลิกภาพ ในแง่มุมต่างๆ อย่างกว้างขวาง เด็กที่ไม่มีกลุ่ม ควรได้รับการช่วยเหลือ เพราะจะทำให้มีความด้อยในด้านความคิด อารมณ์ และการศึกษาเล่าเรียน การเล่นยังมีความสำคัญต่อการพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก การเล่นในช่วงนี้ เป็นการเลนเชิงสังคม พัฒนาการทางสังคมที่สำคัญในระยะนี้อีกประการหนึ่งคือ การเรียนและเลียนบทบาททางเพศ โดยเด็กจะเรียนและเลียนจากการเข้าสังคมกับเพื่อนร่วมวัยเพศเดียวกัน และจากผู้ใหญ่ที่เด็กรักนับถือผูกพันนอกบ้าน

ระยะนี้เด็กพัฒนาการทางอารมณ์หลายประการ รู้จักควบคุมอารมณ์และแสดงออกทางอารมณ์ อย่างมีเหตุผลขึ้น รู้จักสังเกตอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น การเข้ากลุ่มทำให้เด็กพัฒนาการทางอารมณ์ ทั้งแง่บวกและแง่ลบ อนึ่ง การดำรงชีวิตในโลกปัจจุบันทำให้เด็กมีอารมณ์เครียด สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เด็กเครียด คือการเร่งรัดเด็กในด้านการเรียนรู้/การมุ่งผลสำเร็จทางวิชาความรู้ทักษะต่างๆ การแข่งขัน ความรับผิดชอบ การตั้งความคาดหวัง ซึ่งมากเกินกำลังของเด็ก

พัฒนาการทางกายในระยะนี้เป็นไปอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป พัฒนากล้ามเนื้อและประสาท สัมผัสละเอียดอ่อนดีขึ้นอย่างมาก จึงทำกิจกรรมที่ใช้ความละเอียดถี่ถ้วนได้ดีขึ้น เช่นงานฝีมือที่ประณีต ฟันแท้ขึ้นแทนฟันน้ำนม ระยะนี้เด็กหญิงจะโตเร็วกว่าเด็กชายอย่างเห็นได้ชัดเจนมาก

ช่วงวัยเด็กตอนกลาง เป็นช่วงที่เด็กถูกคาดหวังว่าจะต้องพัฒนาทักษะต่างๆ ในด้านการเรียนวิชาต่างๆ ขั้นพื้นฐาน เช่นการอ่าน เขียน ทำเลขง่ายๆ และรู้เรื่องทางสังคมทั่วๆ ไป ช่วงนี้เด็กพัฒนาการทางความคิดก้าวหน้าไปมาก โดยสามารถคิดเหตุ-ผลได้ มีความคิดเรื่องเหตุผลทางศีลธรรมจรรยาอีกด้วย แม้เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เด็กบางกลุ่ม อาจไม่สามารถพัฒนาการการเรียนได้ ตามมาตรฐานที่พ่อแม่และสังคมคาดหวัง เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กกลุ่มด้อย สมรรถภาพทางการเรียนและเด็กปัญญาอ่อน นักจิตวิทยาและนักวิชาการหลายสาขา ให้ความสนใจ ศึกษาค้นคว้าหาวิธีการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือให้เด็กเหล่านี้ได้มีพัฒนาการทางวิชาการ และทักษะต่างๆ ที่สำคัญและจำเป็นในการดำรงชีวิต ในระดับอย่างน้อยที่เป็นปกติธรรมดา สมรรถภาพในการคิด และการเข้ากลุ่ม ทำให้เด็กรู้จักตนเองดีขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานการหาตนเองในวัยรุ่นต่อไป

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า