สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแค(Seborrheic dermatitis)

เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มักเป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น หนังศีรษะ ใบหน้า หู หน้าอก หลัง สะดือ รักแร้ ขาหนีบ เป็นต้น มักมีลักษณะเป็นผื่นแดงคันร่วมกับเป็นเกล็ดรังแค พบโรคนี้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบบ่อยในทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือน และผู้ใหญ่ที่มีอายุ 30-50 ปี

สาเหตุ
ยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอย่างแท้จริง แต่เชื่อว่ามีปัจจัยหลายอย่างรวมทั้งปฏิกิริยาของร่างกายต่อเชื้อราที่มีชื่อว่า มาลัสซีเซียเฟอร์เฟอร์(Malassezia furfur)

มักพบว่าปัจจัยทางกรรมพันธุ์ ความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ สภาพอากาศ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดอาการและความรุนแรงของโรค ในผู้ที่เป็นโรคระบบประสาท เช่น พาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง ศีรษะได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น ก็อาจพบเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน และมักมีอาการแสดงของโรคแบบรุนแรงในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี

อาการ
บริเวณหน้าผาก ข้างแก้ม คิ้ว ร่องจมูก แนวไรผม รูหู หลังหู สะดือ หน้าอก รักแร้ ขาหนีบ หัวหน่าว ของผู้ป่วยมักมีลักษณะเป็นผื่นแดง คัน และมีขุย และจะมีรังแคมากร่วมกับมีผื่นแดงที่หนังศีรษะในรายที่เป็นที่หนังศีรษะ อาจพบการอักเสบของหนังตาเป็นสะเก็ดสีเหลืองและมีการระคายเคืองต่อเยื่อตาขาวได้

ในทารก ที่หนังศีรษะมักมีอาการเป็นสะเก็ดหนาสีเหลือง แต่มักจะไม่คัน บางรายที่หลังหูอาจมีร่องแตกหรือเป็นขุยสีเหลือง มีผื่นแดงที่ใบหน้า หรือผื่นผ้าอ้อมได้

ในเด็กโต ที่หนังศีรษะอาจมีอาการเป็นแผ่นเกล็ดหนาๆ เหนียวๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 ซม.

ผู้ป่วยมักมีอาการแบบเป็นๆ หายๆ และเมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่พอ ร่างกายอ่อนล้า อยู่ในห้องปรับอากาศนานๆ ถูกแสงแดดจัด ดื่มแอลกอฮอล์ ก็อาจทำให้มีอาการกำเริบขึ้นได้

การรักษา
1. ควรสระผมด้วยแชมพูที่มีตัวยารักษารังแค เช่น ซิลิเนียมซัลไฟต์ ซิงค์ไพริไทโอน คีโตโคนาโซล น้ำมันดิน เป็นต้น วันละครั้งหรือวันเว้นวัน ขณะสระผมควรทิ้งไว้นาน 5-15 นาที จนกว่าอาการจะดีขึ้น หลังจากนั้นให้ใช้สระผมสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งในรายที่มีรังแคและผื่นแดงที่หนังศีรษะ

ส่วนรอยโรคที่บริเวณอื่น เช่น ใบหน้า หู หน้าอก รักแร้ ขาหนีบ เป็นต้น ให้ทาด้วยครีมคีโตโคนาโซล ชนิด 2% วันละ 2-3 ครั้ง หรือให้ทาด้วยสตีรอยด์ถ้ารักษาด้วยวิธีแรกแล้วไม่ได้ผล หรือทาด้วยโลชั่นไตรแอมซิโนโลนชนิด 0.01% วันละ 2 ครั้งจนกว่าจะดีขึ้น ในรายที่เป็นที่หนังศีรษะและบริเวณที่มีขน

ให้ทาด้วยสตีรอยด์ที่ออกฤทธิ์อ่อน ได้แก่ ครีมไฮโดรคอร์ติโซนชนิด 1% วันละ 2-3 ครั้ง ถ้าเป็นที่บริเวณใบหน้า เมื่ออาการดีขึ้นให้ทาต่อไปวันละครั้ง

2. ใช้แชมพูชนิดอ่อนสระผมวันละครั้ง และทาด้วยครีมไฮโดรคอร์ติโซนชนิด 1% วันละ 2 ครั้งในเด็กทารกและเด็กเล็ก และให้ใช้ยาละลายขุย เช่น โลชั่นกรดไซลิไซลิก ทาก่อนนอนทุกวันจนกว่าจะดีขึ้นในรายที่มีแผ่นเกล็ดหนาที่หนังศีรษะ

3. ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นหลังจากให้การรักษาไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ หรือสงสัยเป็นโรคอื่น เช่น โซริอาซิส เอดส์ เป็นต้น โดยแพทย์จะให้กินคีโตโคนาโซล 400 มก. วันละครั้ง นาน 2 สัปดาห์ ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้ในผู้ป่วยเอดส์ ก็จะได้ให้การรักษาควบคู่กันไปด้วย

ข้อแนะนำ
1. ส่วนใหญ่มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนในโรคนี้ แต่ก็อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนจากการเกา หรือมีเลือดออกได้ ในรายที่มีอาการคันมากๆ เมื่อได้รับการรักษาอาการก็จะทุเลาหรือหายไปได้เอง แต่มักมีอาการเป็นๆ หายๆ ได้บ่อย ผู้ป่วยจึงควรสังเกตและหาทางหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการกำเริบขึ้น

ทารก 3 เดือนแรกที่เป็นโรคนี้ อาการมักจะหายไปได้เองเมื่ออายุได้ 8-12 ปี

2. โรคนี้อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเป็นปมด้อยเนื่องจากมีลักษณะไม่น่าดู โดยเฉพาะถ้าเป็นที่บริเวณศีรษะและใบหน้า ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง ไม่ใช่โรคติดต่อ เป็นโรคที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ และเมื่อได้รับการรักษาอาการก็จะทุเลาลงได้

3. โรคนี้อาจมีอาการคล้ายโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ รังแค และโซริอาซิส และอาจเป็นอาการที่พบร่วมกันในผู้ป่วยเอดส์ จึงควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจให้แน่ชัด หากให้การรักษาแล้วไม่ดีขึ้น หรือสงสัยว่าเป็นโซริอาซิส หรือโรคเอดส์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า