สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อีสุกอีใส (Chicken pox/Varicella)

ปัจจุบันนิยมเรียกว่า ไข้สุกใส หรือโรคสุกใส พบบ่อยในเด็ก พบสูงสุดในช่วงอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ 0-4 ปี 10-14 ปี 15-24 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปอาจพบได้บ้างหากไม่เคยเป็นโรคนี้หรือได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อน

พบโรคนี้ได้ตลอดทั้งปี มักเกิดสูงในเดือน มกราคมถึงเมษายน โรคนี้ระบาดได้ง่ายตามโรงเรียน สถานที่รับเลี้ยงเด็ก หรือตามที่ชุมชนอื่นๆอีสุกอีใส

สาเหตุ
เกิดจากเชื้ออีสุกอีใส-งูสวัด เป็นไวรัสชื่อว่า วาริเซลลา-ซอสเตอร์ (varicella-zoster virus) หรือ (VZV) หรือ human herpesvirus type 3

ผู้ที่ติดเชื้อครั้งแรกเชื้อนี้จะก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส จากนั้นจะหลบอยู่ในปมประสาท และจะเจริญขึ้นใหม่ทำให้เกิดโรคงูสวัดเมื่ออายุมากขึ้นและภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลง

เชื่อนี้จะอยู่ในเม็ดตุ่มน้ำ ในน้ำลายและเสมหะของผู้ที่เป็นอีสุกอีใสหรืองูสวัด

โรคนี้ติดต่อได้ง่ายโดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรง สัมผัสมือ สัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย หรือจากสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนจากการแขวนลอยในอากาศของเชื้อนี้เหมือนไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายจากระบบทางเดินหายใจเข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปทั่วร่างกายรวมทั้งผิวหนังไม่ว่าจะติดต่อโดยทางใดก็ตาม ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 10-20 วัน หรือโดยเฉลี่ย 14-17 วัน

อาการ
มีไข้ต่ำ อ่อนเพลียเบื่ออาหารเล็กน้อยในเด็ก ส่วนในผู้ใหญ่มักมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกายคล้ายไข้หวัดใหญ่

วันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังจากมีไข้จะมีผื่นขึ้น เริ่มจากเป็นผื่นราบสีแดงเล็กๆ ก่อน และจะกลายเป็นตุ่มนูนและตุ่มน้ำใสเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 มม. มีฐานสีแดงโดยรอบ ภายใน 2-3 ชั่วโมงมีอาการคัน จะกลายเป็นตุ่มน้ำขุ่นขนาดใหญ่ภายใน 24 ชั่วโมงต่อมา ตุ่มจะแตกง่ายแล้วฝ่อเป็นสะเก็ด สะเก็ดจะหลุดไปภายใน 7-10 วัน หรืออาจนานถึง 2-3 สัปดาห์ โดยไม่มีแผลเป็นเว้นแต่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งอาจกลายเป็นตุ่มหนองและมีแผลเป็น

ผื่นจะเริ่มขึ้นจากลำตัว ไปที่ใบหน้า หนังศีรษะ แขน ขา มักพบผื่นขึ้นตามลำตัวมากกว่าบริเวณอื่นๆ ในร่างกาย

ผื่นและตุ่มใหม่จะขึ้นมาใหม่เป็นเวลา 3-6 วัน หรือประมาณ 4-5 วัน แล้วจึงหยุด ผื่นที่ขึ้นก่อนจะกลายเป็นตุ่มขุ่นและตกสะเก็ดก่อน มักจะพบว่าในบริเวณเดียวกันจะมีผื่นทั้งตุ่มสุกและตุ่มใส่ จึงเรียกกันว่า อีสุกอีใส

อาจมีตุ่มลักษณะนี้ขึ้นตามเพดานปาก ลิ้น คอหอย เมื่อแตกเป็นแผลตื้นๆทำให้มีอาการเจ็บปาก เจ็บลิ้น เจ็บคอ บางรายอาจขึ้นที่เบื่อบุตา กล่องเสียง ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ ช่องคลอด เป็นต้น

อาการมักไม่รุนแรงในเด็ก มีไข้ต่ำๆ หรืออาจไม่มีไข้ อาจมีเพียงตุ่มขึ้นเล็กน้อย บางครั้งอาจคิดว่าเป็นเริม เพราะวินิจฉัยได้ไม่ชัดเจน และมักจะหายได้ใน 7-10 วัน แต่ในผู้ใหญ่มักมีไข้สูง ปวดเมื่อย มีตุ่มจำนวนมากและมักหายช้า บางรายติดเชื้อแบบไม่มีอาการแสดง ทำให้ไม่รู้ว่าเคยเป็นโรคนี้มาก่อน

สิ่งตรวจพบ
จะพบผื่นแดง ตุ่มนูน ตุ่มน้ำใสขนาดเล็กกระจายตามใบหน้า หน้าอก แผ่นหลังในวันแรกๆ  แต่จะพบผื่นและตุ่มหลายลักษณะในบริเวณใกล้เคียงกันในวันหลังๆ
อาจพบแผลเปื่อยที่เพดานปาก ลิ้น คอหอย หรือที่หนังศีรษะ
ในเด็กอาจไม่มีไข้ หรือมีไข้ต่ำๆ ประมาณ 37.5-38.5 องศาเซลเซียส
ในผู้ใหญ่มีไข้สูงประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส

ภาวะแทรกซ้อน
เด็กที่สุขภาพดีและแข็งแรงจะพบได้น้อย แต่จะมีภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยและรุนแรงในผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง เอดส์ ปลูกถ่ายอวัยวะ ใช้ยารักษามะเร็งหรือสตีรอยด์ เป็นต้น

ที่พบบ่อยจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เพราะการรักษาความสะอาดไม่ดีพอ เช่นเกาจนเกิดแผลพุพอง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังอักเสบ หรือไฟลามทุ่ง ซึ่งทำเป็นเกิดแผลเป็นได้

ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง เช่น ปอดอักเสบ มักพบอายุมากกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมักเกิดจากเชื้อไวรัสอีสุกอีใส บางรายเกิดจากการติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส มักมีอาการรุนแรงถึงตายได้

พบว่าอาจเกิดสมองอักเสบประมาณ 1 ใน 1,000 พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ในอัตราร้อยละ 5-30 ที่เหลือมักหายได้ตามปกติ

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยแต่รุนแรง คือ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ มักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้มีเลือดออกในตุ่มน้ำใส เลือดออกตามปากปากและจมูก

หากมีการติดเชื้อนี้ในหญิงตั้งครรภ์ในระยะไตรมาสที่ 1-2 อาจทำให้ทารกน้ำหนักตัวน้อยในตอนแรกคลอดหรือพิการ เรียกว่า กลุ่มอาการอีสุกอีใสแต่กำเนิด (congenital varicella syndrome)  ลักษณะคือมีแผลเป็นตามตัว แขนขาลีบ ต้อกระจก ตาเล็ก ศีรษะเล็ก ปัญญาอ่อน เป็นต้น ความพิการของทารกพบได้ร้อยละ 2 ของทารกที่แม่เป็นอีสุกอีใสในไตรมาสแรก

ทารกที่เกิดมาอาจเป็นอีสุกอีใสชนิดรุนแรงและมีอัตราตายสูงหากแม่ตั้งครรภ์เป็นอีสุกอีใสภายใน 5 วันก่อนคลอด หรือภายหลัง 48 ชั่วโมงหลังคลอด

ส่วนภาวะอื่นๆ ที่พบได้น้อยมาก เช่น โรคเรย์ซินโดรม ข้ออักเสบ ตับอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จอประสาทตาอักเสบ หน่วยไตอักเสบ อัณฑะอักเสบ เป็นต้น

การรักษา
1. ให้ผู้ป่วยพักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ อาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด เช็ดตัวเมื่อมีไข้สูง ให้ใช้น้ำแข็งประคบหรืออาบน้ำบ่อยๆ เมื่อเกิดอาการคัน อยู่ในที่อากาศเย็นสบาย ใช้น้ำเกลือเย็นๆ กลั่วปากและคอเมื่อเจ็บปากหรือปากและลิ้นเปื่อย หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หรือกินอาหารเหลว
หลีกเลี่ยงการแกะเกาตุ่มที่คันเพราะอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียทำให้กลายเป็นแผลเป็นได้ ควรตัดเล็บให้สั้น

2. ให้ยาพาราเซตามอลเมื่อมีไข้สูง ควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพรินในผู้ที่อายุต่ำกว่า 19 ปี เพราะเสี่ยงการเกิดโรคเรย์ซินโดรม

ให้ใช้ยาแก้แพ้ หรือไดอะซีแพม ยาทาแก้ผดผื่นคันหากมีอาการคันมาก

3. หากเป็นแผลพุพองจากการติดเชื้อแบคทีเรียให้ทาด้วยขี้ผึ้งเตตราไซคลีน หรือเจนเชียนไวโอเลต หากมีการติดเชื้อและมีอาการมากให้ใช้ยา
ยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน อีริโทรไมซิน หรือร็อกซิโทรไมซิน

4. ควรส่งโรงพยาบาลโดยด่วนถ้าผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น หอบ ชัก ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว เลือดออก เป็นต้น ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำหรือหญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

5. เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีและมีสุขภาพแข็งแรงไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส แพทย์จะให้เฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง เช่น ผู้ป่วยอายุ 12 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคเรื้อรังทางผิวหนังหรือทางปอด เช่น ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ หรือผู้ที่ได้รับยาแอสไพรินหรือสตีรอยด์เป็นประจำ  สำหรับผู้ใหญ่ให้ยาอะไซโคลเวียร์ ขนาด 800 มก. วันละ 5 ครั้ง เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ให้ขนาด 20 มก./กก/ครั้ง สูงสุด 800 มก. ทุก 6 ชม. นาน 5 วัน ควรให้ภายใน 24 ชม.หลังผื่นขึ้น จะช่วยลดความรุนแรงได้ ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำร่วมด้วย จะใช้อะไซโคลเวียร์ฉีดเข้าหลอดเลือด เด็กใช้ขนาด 1,500 กม/ตร.ม./วัน ผู้ใหญ่ขนาด 30 มก./กก./วัน ให้ 3 ครั้ง นาน 7-10 วัน

6. การวินิจฉัยโรคจะดูจากลักษณะอาการเป็นสำคัญ หากจะวินิจฉัยให้แน่ชัดจะทำการทดสอบน้ำเหลืองหาระดับสารภูมิต้านทานต่อไวรัสอีสุกอีใส หรือเชื้อจากตุ่มน้ำ

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้ส่วนใหญ่จะหายได้เองและอาการไม่รุนแรง ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี จะมีไข้เพียงไม่กี่วัน ตุ่มจะตกสะเก็ดหายใน 7-10 วัน แต่ผู้ใหญ่จะมีความรุนแรงของโรคมากกว่า
2. เมื่อเป็นโรคนี้แล้วจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิตไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก ยกเว้นผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ แต่เมื่อตุ่มยุบหายแล้วเชื้อมักหลบซ่อนอยู่ในปมประสาท และอาจเป็นงูสวัดในภายหลังได้
3. ไม่ควรใช้ยากินยาทาที่มีส่วนผสมของสตีรอยด์ เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้โรคลุกลามได้
4. ควรแยกผู้ป่วยจนพ้นระยะติดต่อคือ 24 ชั่วโมงก่อนมีผื่นขึ้น จนตุ่มตกสะเก็ดประมาณ 6 วันหลังตุ่มขึ้น
5. ไม่ควรงดของแสลง ควรให้ผู้ป่วยกินอาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่างๆ ให้มากเพื่อให้มีภูมิต้านทานโรคดีขึ้น

การป้องกัน
1. ป้องกันโรคนี้ได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส ควรฉีดในเด็กอายุ 12-18 เดือน ส่วนเด็กที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อนหรือยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้จะฉีดในอายุใดก็ได้  ในผู้ใหญ่ควรฉีดเฉพาะที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ดูแลเด็กในสถานรับเลี้ยง ครูอนุบาลหรือประถมศึกษา หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ต้องการตั้งครรภ์ในอนาคต  อาจต้องตรวจเลือดว่าเคยเป็นโรคนี้มาก่อนหรือไม่ก่อนฉีดวัคซีน ถ้าเคยเป็นแล้วก็ไม่จำเป็นต้องฉีด เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ฉีดเพียงครั้งเดียว อายุ 13 ปีขึ้นไป ฉีด 2 ครั้ง ระยะห่างกันประมาณ 4-8 สัปดาห์  ห้ามฉีดวัคซีนนี้ในผู้ที่มีไข้สูง มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง กินยากดภูมิคุ้มกัน และยาสตีรอยด์ ในขนาดเพร็ดนิโซโลนตั้งแต่ 2 มก./กก./วัน นาน 14 วันขึ้นไป ควรให้หลังหยุดสตีรอย์อย่างน้อย 1 เดือน  ไม่ควรใช้วัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ได้รับวัคซีนนี้แล้วควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อป้องกันอันตรายต่อทารกในครรภ์ หากได้รับวัคซีนขณะตั้งครรภ์ก็ไม่ต้องวิตกกังวล เพราะยังไม่มีรายงานว่าทารกได้รับอันตรายจากการฉีดวัคซีนในมารดา หลังได้รับวัคซีนควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพรินเป็นเวลา 6 สัปดาห์

2. ในช่วงเกิดการระบาด หรือมีผู้ใกล้ชิดป่วยให้ปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับไข้หวัด

3. มักไม่แนะนำให้ยาป้องกันถ้าผู้สัมผัสโรคเป็นเด็กที่แข็งแรงปกติเพราะโรคไม่รุนแรงและไม่มีอันตราย แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส 1 ครั้งหากไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ใช้ฉีดภายใน 3 วันหลังจากที่ได้สัมผัสโรค เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรค

ผู้ที่มีความเสี่ยงเมื่อสัมผัสโรคได้แก่ หญิงตั้งครรภ์หรือผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น มะเร็ง เอดส์ เป็นต้น ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน ทารกที่คลอดจากแม่ที่เป็นโรคนี้ภายใน 5 วันก่อนคลอดหรือภายใน 48 ชั่วโมงหลังคลอด คลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย ตั้งแต่ 1,000 กรัมลงไป จำเป็นต้องฉีดสารภูมิต้านทานและรักษาตัวในโรงพยาบาล สารภูมิต้านทานนี้ได้แก varicella-zoster immune globulin (VZIG) ใน 96 ชม.หลังสัมผัสโรค หรือให้กินอะไซโคลเวียร์ ขนาด 40-80 มก./กก./วัน ภายใน 7-9 วันหลังสัมผัสโรค หรือฉีดวัคซีน 1 ครั้งหลังสัมผัสโรคภายใน 3 วัน วิธีเหล่านี้จะลดความรุนแรงของโรคได้ถ้ามีการติดเชื้อในระยะต่อมา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า