สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อีดำอีแดง(Scarlet fever)

ไข้อีดำอีแดงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดผื่นแดงร่วมกับทอนซิลอักเสบ มักพบในเด็กอายุ 5-15 ปี ปัจจุบันพบได้น้อยเนื่องจากการได้รับยาปฏิชีวนะในระยะแรกๆ แล้วไข้อีดำอีแดง

สาเหตุ
โรคอีดำอีแดงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (group A beta-hemolytic Streptococcus) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่สร้างสารพิษทำให้เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง เชื้อนี้จะอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการสัมผัสมือผู้ป่วย จากสิ่งของเครื่องใช้ และเชื้อที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมโดยทางเดินหายใจจากการไอหรือจามของผู้ป่วย ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-7 วัน โรคนี้อาจเกิดร่วมกับการติดเชื้อที่ผิวหนัง แผลผ่าตัด มดลูก เป็นต้น แต่มักพบเกิดร่วมกับทอนซิลอักเสบ

อาการ
มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย เจ็บคอมาก ปวดท้อง อาเจียน

หลังมีไข้ 1-2 วัน จะมีเกิดผื่นแดงที่คอ หน้าอก รักแร้ ภายใน 24 ชม. จะกระจายไปตามแขนขา ลักษณะผื่นคล้ายกระดาษทราย คัน ผื่นจะเข้มขึ้นในบริเวณคอ รักแร้ ข้อพับแขน ขาหนีบ ข้อพับขา และจะเป็นจุดเลือดออกใต้ผิวหนังในเวลาต่อมา ลักษณะจะเรียงเป็นเส้นจากการแตกของหลอดเลือดฝอย เรียกว่า “เส้นพาสเตีย(Pastia’s lines)”

ประมาณ 3-4 วันผื่นจะเริ่มจางหาย และจะมีการลอกของผิวหนังในประมาณ 1 สัปดาห์ ที่เห็นได้ชัดคือบริเวณรักแร้ ขาหนีบ ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าจะลอกเป็นแผ่น ส่วนตามตัวจะลอกเป็นขุย อาการลอกของผิวหนังนี้อาจลอกติดต่อกันนานถึง 6 สัปดาห์ในผู้ป่วยบางราย

สิ่งตรวจพบ
มีไข้ 38.39 องศาเซลเซียส ขึ้นไป บริเวณทอนซิลจะบวมแดงมีแผ่นหรือจุดหนองขาวๆ เหลืองๆ ต่อมน้ำเหลืองข้างคอด้านหน้า ใต้ขากรรไกรบวมโตและเจ็บ หน้าแดง รอบปากซีด อาจพบลิ้นเป็นฝ้าขาวและมีตุ่มสีแดงยื่นสลับกันคล้ายผลสตรอเบอร์รี่ เรียกว่า ลิ้นสตรอเบอร์รี่ขาว ในช่วง 2 วันแรกของการมีไข้

ฝ้าขาวที่ลิ้นจะลอกเป็นสีแดง(red strawberry tongue) ในช่วงหลังวันที่ 4 ของการมีไข้

ผิวหนังมีผื่นแดงคล้ายกระดาษทราย ในสัปดาห์แรกจะเกิดเส้นพาสเตีย ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 2 ไปแล้วก็จะเกิดการลอกของผิวหนัง

ภาวะแทรกซ้อน
หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ ฝีทอนซิล ข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไข้รูมาติก หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น

การรักษา
ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน นาน 10 วัน ร่วมกับการรักษาตามอาการอื่นๆ เป็นสำคัญ

หากมีอาการไม่เด่นชัด ควรตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี rapid strep test การเพาะเชื้อ เป็นต้น

ข้อแนะนำ
1. กินยาปฏิชีวนะให้ครบตามที่กำหนด
2. แยกผู้ป่วย จนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ คือหลังจากให้ยาปฏิชีวนะไปแล้วอย่างน้อย 24 ชม.

การป้องกัน
ผู้ป่วยไม่ควรไอหรือจามรดผู้อื่น ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า