สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อาหารสำหรับผู้สูงอายุ

อาหารสำหรับผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงภาวะโภชนาการของผู้สูงอายุ เช่น ความสามารถในการเลือกและการรับอาหาร การทำงานของระบบทางเดินอาหาร การเผาผลาญของร่างกายที่ลดลง ภาวะทาง จิตใจหรือความเสื่อมของร่างกาย ทำให้เกิดปัญหาทางโภชนาการในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อย เช่น การได้รับอาหารน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย การได้รับอาหารไม่ครบส่วน การไต้รับอาหารปริมาณมากเกินไป หรือการได้รับอาหารบางชนิดมากเกินไป เป็นต้น จึงมีความจำเป็นที่ควรจะดูแลให้ผู้สูงอายุได้รับอาหารอย่างครบถ้วน ถูกต้องและเพียงพอกับความต้องการของร่างกายผู้สูงอายุมีความต้องการสารอาหารประเภทโปรตีนพอๆ กับวัยผู้ใหญ่ คือในแต่ละวันจะมีความต้องการ โปรตีน 1 กรัมต่อนํ้าหนักตัว 1 กิโลกรัม สำหรับพลังงานต้องการตํ่ากว่าวัยอื่นๆ คือ ต้องการประมาณวันละ 1,600 – 1,800 กิโลแคลอรี่ ทั้งนี้เพราะในวัยสูงอายุมีกิจกรรมต่างๆ ลดลง ส่วนความต้องการเกลือแร่ วิตามิน ใยอาหารและนํ้า มีความต้องการพอๆ กับวัยผู้ใหญ่ การจัดอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุจึงได้แก่

 

1.  การลดอาหารไขมัน โดยเฉพาะนํ้ามันที่มีไขมันประเภทอิ่มตัว ซึ่งเป็นนํ้ามันที่มาจากสัตว์ เช่น นํ้ามันหมู นํ้ามันไก่ เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันติดมากๆ เช่น หนังไก่ หนังเป็ด หมูย่างที่มีนํ้ามันมาก ขาหมูและหมูสามชั้น เป็นต้น ควรจะใช้นํ้ามันจากพืชแทนจากสัตว์ซี่งมีไขมันประเภทไม่อิ่มตัว เช่น นํ้ามันข้าวโพด ซึ่งสามารถลดอันตรายของระดับโคเลสเตอรอลชนิดที่เป็นอันตราย และยังช่วยเพิ่มโคเลสเตอรอลชนิดที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีน้ำมันถั่วเหลือง นํ้ามันรำข้าว แต่ก็ไม่ควรใช้เป็นปริมาณมาก สำหรับนํ้ามันมะพร้าวหรือ กะทิเป็นนํ้ามันที่มีไขมันประเภทอิ่มตัวเช่นเดียวกับนํ้ามันจากสัตว์จึงควรหลีกเลี่ยง ด้วยวิธีการลดอาหารไขมันควรลดให้เหลือประมาณ 10 – 25% ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมด โดยลดอาหารเนื้อสัตว์ไม่ให้มากกว่า 3 ครั้งใน 1 สัปดาห์ พยายามใช้เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ลดการใช้เนย ครีม นํ้ามันทุกชนิด เมื่อจำเป็นต้องใช้นํ้ามันควรเลือกนํ้ามันจากพืชแทน สำหรับนมควรเป็นชนิดที่มีไขมันตํ่า และลดการรับประทานไข่ลงไปให้น้อยกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์

 

2.  การลดนํ้าตาล      เมื่อร่างกายได้รับนํ้าตาลมากจะทำให้ได้รับพลังงานสูง ในขณะที่ยู้สูงอายุมีการใช้พลังงานตํ่า ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นโรคอ้วนได้ นอกจากนี้ นํ้าตาลจะทำให้ฟันผุง่าย และการได้รับนํ้าตาลมากๆ ยังจะมีผลต่อการทำงานของตับอ่อน ทำให้ร่างกายสร้างอินซูลินเพิ่มขึ้นทำให้เกิดสภาวะของระดับนํ้าตาลในเลือดตํ่าตามมา เกิดอาการเมื่อยล้า ง่วงซึม ทำให้ต้องการนํ้าตาลเพื่อเพิ่มพลังงานอีก ทำให้เกิดเป็นโรคเบาหวานได้ หรือผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วจะทำให้อาการของโรคเลวลงได้

3.  การลดเกลือโซเดียม      การได้รับอาหารที่มีเกลือโซเดียมมากเกินไป ทำให้ ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นจนอาจเป็นอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ ดังนั้น ควรลดเกลือโซเดียมโดยการลดการเติมเกลือหรือนํ้าปลาลงในอาหาร ทั้งนี้เพราะเกลือโซเดียมมีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติหลายอย่างแล้ว และเมื่อเติมเข้าไปจะทำให้เกินความต้องการและอาจเกิดอันตรายได้ ควรเลือกอาหารที่มีความเค็มน้อย และอาหารกระป๋องหลายอย่างมีปริมาณเกลือโซเดียมอยู่มากด้วย

4.  การเพิ่มอาหารประเภทเส้นใยอาหาร  อาหารประเภทเส้นใยอาหารเป็นส่วนของพืชที่เหลือจากการย่อยและดูดซึมโดยทางเดินอาหารของมนุษย์ เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะไม่ถูกย่อยและถูกขับถ่ายออกมาภายนอก        ช่วยลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งของลำไล้ใหญ่และทวารหนัก อีกทั้งยังป้องกันโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และช่วยให้การขับถ่ายอุจจาระดีขึ้นด้วยอาหารที่มีเส้นใยอาหารจะช่วยลดระดับนํ้าตาลและไขมันในเลือด ช่วยทำให้การดูดซึมอาหารอื่นช้าลง และช่วยนำของเสียต่างๆ ให้ผ่านลำไส้เพื่อขับถ่ายออกเร็วขึ้น อาหารประเภทนี้จะมีในอาหารคาร์โบไฮเดรทตามธรรมชาติ เช่น ข้าวตามธรรมชาติที่ไม่ได้ขัดสี และขัดจนขาว ถั่วลิสง ข้าวโพด ผักและผลไม้ต่างๆ แต่การได้รับอาหารเส้นใยมากเกินไปก็อาจจะมีผลเสียเพราะทำให้เกิดแก๊สในทางเดินอาหาร มีอาการแน่น อึดอัดและเกิดท้องเสียได้

5.  การได้รับแคลเซียมให้เพียงพอ            เนื่องจากแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ สำคัญของกระดูกและฟัน ถ้าการได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอควรเพิ่มแคลเซียมในรูปแคลเซียมกลูโคเนตวันละ 500 มิลลิกรัม

การที่ผู้สูงอายุได้รับอาหารที่เหมาะสมจะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง และยังลดปัญหาที่เกิดจากการได้รับอาหารที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม

วชิราภรณ์  สุมนวงศ์

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า