สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การเลือกรับประทานอาหารในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

 

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าโรคเบาหวานเป็นอย่างไร โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากร่างกายมีปริมาณฮอร์โมนอินซูลินน้อยเกินไป หรือ ปริมาณอินซูลินมีระดับปกติแต่ร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ได้ ฮอร์โมนอินซูลินมีหน้าที่ช่วยลดระดับนํ้าตาลในร่างกาย ที่ว่านี้สร้างที่ส่วนไหนในร่างกายของเรา อินซูลินสร้างที่ตับอ่อน ถ้าตับอ่อนของเรามีความผิดปกติ เช่น เกิดการติดเชื้อ ตับอ่อนเสียหน้าที่จากยาหรือสารเคมี เป็นต้น จะมีผลทำให้อินซูลินหลั่งออกมาปริมาณน้อยจึงเป็นเหตุให้ร่างกายมีระดับนํ้าตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าปกติที่เราเรียกว่าโรคเบาหวาน ในคนที่รูปร่างอ้วนบางครั้งระดับอินซูลินหลั่งออกมาปริมาณปกติ  แต่ความอ้วนมีผลทำให้ร่างกายเกิดการดื้อต่ออินซูลิน ก็เป็นเหตุให้ระดับนํ้าตาลในเลือดสูงและเป็นโรคเบาหวานได้เช่นเดียวกัน โรคเบาหวานถึงแม้ว่าจะเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ผู้ป่วยก็สามารถ ควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ และดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลตนเองของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

การดูแลตนเองในเรื่องโรคเบาหวานนั้นประกอบด้วยกันหลายประการ

ได้แก่

1 .การรู้จักเลือกรับประทานอาหาร

2.  การใช้ยา

3.  การออกกำลังกาย

4.  การดูแลตนเองเมื่อเกิดภาวะนํ้าตาลในเลือดสูงและภาวะนํ้าตาลในเลือดตํ่า

5.  การรักษาสุขภาพอนามัยและการดูแลเท้า

6.  การจัดการกับความเครียด

การเลือกรับประทานอาหารในผู้ป่วยเบาหวาน

หัวใจสำคัญในการดูแลตนเองเรื่องโรคเบาหวานก็คือการรู้จักเลือกรับประทานอาหารหรือที่เราเรียกว่าการควบคุมอาหาร มีผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานหลายท่านเข้าใจผิดคิดว่าการควบคุมอาหารในผู้ป่วยเบาหวานคือ การอดอาหาร หรือการรับประทานอาหารให้น้อยที่สุด ซึ่งผู้ป่วยที่มีประสบการณ์อดอาหารคงจะทราบดีว่า นำความทุกข์ทรมานใจเป็นอย่างยิ่งมาสู่ผู้ป่วย เพราะอาหารที่ห้ามก็เป็นของที่ชอบรับประทานทั้งนั้น จริงๆ แล้วการควบคุมอาหารในผู้ป่วยเบาหวานก็คือการรู้จักเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับตนเอง เหมาะกับนํ้าหนักและสภาพการใช้แรงงานของตนโดยรับประทานให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ไม่รับประทานน้อยหรือมากเกินความจำเป็น ดังนั้น ผู้ป่วยแต่ละคนจะต้องเรียนรู้ว่าตนเองสามารถรับประทานได้มากน้อยแค่ไหน จึงจะเหมาะกับร่างกายและสภาพการใช้แรงงานของตนเองในแต่ละวัน

ประโยชน์ของการควบคุมอาหารก็คือ

1.  ช่วยรักษาระดับนํ้าตาลในเลือดให้ใกล้เคียงปกติได้

2.  ช่วยให้นํ้าหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ

3.  ช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

4.  ช่วยให้รูปร่างสมส่วน เกิดความสวยงาม

5.  ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง

หลักการง่ายๆ สำหรับการรับประทานอาหารในผู้ป่วยโรคเบาหวานมีดังนี้

–                                            รับประทานอาหารวันละ 3 มื้อ ตรงเวลา และรับประทานในปริมาณ ที่ใกล้เคียงกันทุกวัน ทุกมื้อ

–                                            ไม่รับประทานจุบจิบระหว่างวัน เช่น ขนมชั้น หวานเย็น ขนมกรุบกรอบ

เป็นต้น

–                                            ในแต่ละมื้อรับประทานทั้งแป้ง เนื้อสัตว์ ไขมัน และผัก ให้ครบทุกหมวด ในปริมาณที่เหมาะสม

–                                            หลีกเลี่ยงหรืองดการรับประทานนํ้าตาล นํ้าผึ้ง นํ้าหวาน นํ้าอัดลม ขนมหวาน ขนมเชื่อมน้ำตาล นมข้นหวาน นํ้าเชื่อม ถ้าชอบรสหวานจริงๆ สามารถใช้นํ้าตาลเทียมแทนได้

–                                            หลีกเลี่ยงหรืองดการดื่มเหล้า เบียร์ ยาดองเหล้า เครื่องดื่มบำรุงกำลัง เพราะทำให้ระดับนํ้าตาลสูงขึ้นได้

–                                            หลีกเลี่ยงการรับประทานเครื่องในสัตว์ ไขมันสัตว์ นํ้ามันหมู มันหมู เนื้อติดมัน หมูสามชั้น ครีม กะทิ นํ้ามันมะพร้าว นํ้ามันปาล์ม ไข่แดง หอยนางรม อาหารทอด เช่น กล้วยทอด ปาท่องโก๋ เป็นต้น เพราะทำให้ได้พลังงานส่วนเกินและเกิดปัญหาไขมันในเลือดสูงตามมาได้

–                                            หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด

–                                            รับประทานอาหารประเภทเเป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ถั่ว ขนมปัง ในปริมาณที่พอเหมาะไม่มากหรือน้อยจนเกินไป

–                                            รับประทานผักให้มากขึ้น เพื่อให้รู้สึกอิ่ม และไม่อยากรับประทานอาหารอย่างอื่นเพิ่มเติม

จากที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นหลักการง่ายๆ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานนำไปปฏิบัติ สิ่งสำคัญอยู่ที่กำลังใจและความตั้งใจจริงของผู้ป่วย ที่จะพยาบาลปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เคยปฏิบัติมาเป็นระยะเวลานานให้เหมาะสมต่อไป ซึ่งถ้าผู้ป่วยตั้งใจจริง ก็เชื่อแน่ว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกท่านจะสามารถควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไปได้แน่นอน

โรคเบาหวานเป็นโรคที่สามารถควบคุมได้ โดยเป้าหมายสำคัญในการดูแลและควบคุมโรคเบาหวานก็คือ ทำอย่างไรเราจึงจะควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือดในอยู่ในค่าปกติ หรือใกล้เคียงค่าปกติให้มากที่สุดคือ 126 มิลิกรัมเปอร์เซนต์ เพราะถ้าเราปล่อยให้ระดับนํ้าตาลในกระแสเลือดสูง เป็นเวลานาน เป็นเดือน เป็นปี จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายตามมาได้

การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นการดูแลตนเองที่สำคัญที่สุด   ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะต้องเลือกรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับรูปร่างของตนเองและการใช้แรงงานในแต่ละวัน โดยผู้ป่วย จะต้องทราบก่อนว่ารูปร่างของตนเองนั้นเป็นอย่างไร คือเป็นคนผอม คนอ้วน หรือ คนนํ้าหนักปกติ โดยมีวิธีคิดง่ายๆ ดังนี้

สำหรับผู้ชายให้นำส่วนสูง ลบด้วย 100 เช่น สูง 170 ควรมีนํ้าหนักเท่ากับ 170- 100 = 70 กิโลกรัม

ถ้าเป็นผู้หญิงให้นำส่วนสูง ลบด้วย 110 เช่น สูง 160 ควรมีน้ำหนักเท่ากับ 160 – 110 = 50 กิโลกรัม นํ้าหนักที่เหมาะสมนี้จะบวกเพิ่มและลบได้อีก 3 – 5 กิโลกรัม

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีนํ้าหนักน้อยเกินไป สามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้นเพื่อเพิ่มนํ้าหนัก สำหรับคนที่อ้วนเกินไปควรลดปริมาณอาหาร ลงเพื่อลดนํ้าหนัก และสำหรับคนนํ้าหนักปกติสามารถรับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ นอกจากนี้ปริมาณการรับประทานอาหารยังต้องคำนึงถึงการใช้แรงงานในแต่ละวันด้วย คือ ผู้ที่ใช้แรงงานน้อยได้แก่ แม่บ้าน ผู้ที่ทำงานเย็บปักถักร้อย อยู่กับบ้าน เป็นต้น ควรรับประทานให้น้อย ผู้ที่ใช้แรงงานระดับปานกลาง เช่น ค้าขาย แม่บ้านที่ทำงานบ้านต่อเนื่องตลอดวัน สามารถรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นได้ และผู้ที่ใช้แรงงานมาก เช่น กรรมกรแบกหาม งานก่อสร้าง สามารถรับประทานอาหารได้มากกว่าผู้ที่ใช้แรงงานปานกลางและแรงงานน้อย เมื่อผู้ป่วยมีนํ้าหนักตัวเท่ากัน

ท่านคงจะสามารถประเมินตนเองได้แล้วว่าตนเอง เป็นคนผอม คนอ้วน หรือนํ้าหนักปกติ และมีการใช้แรงงานในแต่ละวันอยู่ในระดับใด

จะขอยกตัวอย่างปริมาณอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นคนอ้วน และทำงานเบาว่าควรจะรับประทานอาหารอย่างไรให้เป็นตัวอย่าง สำหรับผู้ป่วยที่มีนํ้าหนักและการใช้แรงงานต่างออกไป สามารถปรับได้ตามความเหมาะสม ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อ้วนและใช้แรงงานน้อยควรจะได้รับพลังงานในแต่ละวันประมาณ 1500 แคลอรี่ โดยควรรับประทานอาหารดังนี้

อาหารประเภทข้าวหรือแป้ง รันประทานวันละประมาณ 8 – 9 ทัพพี ตักพอเต็มทัพพี ถ้าเป็นไปได้รับประทานข้าวไม่ขัดสีก็จะดีมาก เพราะช่วยชะลอการดูดซึมนํ้าตาลและมีวิตามินสูง

อาหารประเภทเนื้อสัตว์ ประมาณ 6 ช้อนโต๊ะต่อวัน

 

อาหารประเภทไขมัน ประมาณ 6 ช้อนชาต่อวัน

ผักรับประทานได้เติมที่ไม่จำกัด มีเพียงผักบางชนิดที่ต้องระมัดระวังบ้าง เพราะมีนํ้าตาลมาก ได้แก่ เผือก มัน ฟักทอง หัวหอมใหญ่ ใบขี้เหล็ก ดอกขี้เหล็ก ใบย่านาง ผักหวาน

ผลไม้รับประทานได้วันละประมาณ 3 – 4 ส่วน เช่น รับประทาน

เงาะ 1 ส่วน               เท่ากับ            4          ผล

องุ่น                            เท่ากับ                       10        ผล

มะม่วงสุก                  เท่ากับ                       1/2      ผล

ชมพู่                           เท่ากับ                        2          ผล

ผลไม้ทั้ง 4 ชนิดดังกล่าวรับประทานได้ใน 1 วัน ผู้ป่วยสามารถเลือกรับประทานผลไม้ได้หลากหลายชนิด แต่จะต้องเรียนรู้ว่าผลไม้แต่ละส่วนนั้นมีปริมาณเท่าใดและในหนึ่งวันรับประทานไม่เกิน 3 – 4 ส่วน

นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวานควรเรียนรู้เรื่องหมวดการแลกเปลี่ยนอาหาร เพื่อลดความจำเจในการรับประทานอาหารซ้ำ ๆ แบบเดิม โดยระดับนํ้าตาลไม่เพิ่มสูงขึ้นดังนี้

ข้าว 1 ทัพพี จะเท่ากับ ขนมปัง 1 แผ่น หรือ ข้าวเหนียว 1 ปั้นขนาดเท่าไข่ไก่หรือเท่ากับก๋วยเตี๋ยว 1 ทัพพี หรือขนมปังกรอบจืด 3 แผ่น หรือเท่ากับขนมจีน 1 จับเล็ก ดังนั้นผู้ป่วยสามารถดัดแปลงการรับประทานอาหารให้หลากหลายขึ้น โดยยังคงควบคุมไม่ให้เกินปริมาณที่รับประทานได้ในแต่ละวัน

ผู้ป่วยที่สนใจเรียนรู้เรื่องปริมาณผลไม้ 1 ส่วน หรือการแลกเปลี่ยนอาหาร ประเภทอื่นสามารถหาหนังสือเกี่ยวกับโรคเบาหวานอ่านเพิ่มเติมได้ตามร้านขายหนังสือทั่วไป

ภาวนา    กีรติยุตวงศ์

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า