สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อายุสมุฏฐานทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

อายุสมุฏฐาน ตามคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยมีดังนี้
1. ผู้คลอดจากครรภ์มารดามีอายุได้ 1 วันขึ้นไปถึง 16 ปี เป็นกำหนด ถ้าเป็นโทษในสมุฏฐานอันใดอันหนึ่ง เสมหะเป็นเจ้าเรือนเจือในสมุฏฐานทั้งปวง ถ้าให้โทษจะมีกำลังมากกว่าสมุฏฐานทั้งหลาย

2. ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจนถึงอายุ 30 ปี เป็นกำหนด ถ้าเป็นโทษในสมุฏฐานอันใด ปิตตะเจ้าสมุฏฐานจะเจือไปในกองสมุฏฐานทั้งปวง ถ้าให้โทษจะมีกำลังกว่าสมุฏฐานทั้งปวง

3. ผู้มีอายุ 30 ปีขึ้นไป จนถึงอายุขัย เป็นกำหนด ถ้าเป็นโทษในสมุฏฐานอันใด วาตะเป็นเจ้าสมุฏฐานจะเจือไปในสมุฏฐานทั้งปวง ถ้าให้โทษจะมีกำลังกว่าสมุฏฐานทั้งหลาย

1. กำลังสมุฏฐาน
หน่วยนับของกำลังสมุฏฐานจะเป็นองศา หมายถึง วัน กล่าวคือ โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ 1 องศา คือ 1 วัน ระยะเวลากระทำโทษของธาตุทั้ง 4 ที่โบราณสังเกตจะมีระยะเวลาตายตัว เช่น ธาตุไฟใช้เวลากระทำโทษต่อร่างกาย 7 วันต่อเนื่อง ธาตุที่จะผิดปกติตามมาหากไม่รักษาคือ ธาตุน้ำ กระทำโทษต่อ 12 แล้วต่อด้วยลม 10 วัน รวม 29 วัน พอย่างเข้าวันที่ 30 ครบเดือน ยังมีอาการทำโทษครบทั้งสามธาตุ เรียกว่า สันนิบาต หากเป็นมากจนกระทบธาตุดิน โครงสร้างสำคัญถูกทำลายทั้ง 4 ธาตุ เรียกว่า มหาสันนิบาต

2. โรคที่เกิดประจำอายุต่างๆ
-อายุ 16 ปีลงมา เป็นอายุเสมหะ ถ้าบังเกิดพยาธิมีกำลัง 12 องศาเป็นกำหนด ให้ตั้งเสมหะ เป็นต้น

-อายุ 30 ปีลงมา เป็นอายุปิตตะ มีกำลัง 7 องศาเป็นกำหนด ถ้าเกิดโรคใดๆ ให้ตั้งปิตตะ เป็นต้น

-อายุขัยลงมา เป็นอายุวาตะ มีกำลัง 10 องศาเป็นกำหนด ถ้าเกิดโรคใดๆ ให้ตั้งวาตะ เป็นต้น

3. ลำดับการเกิดโรคในอายุต่างๆ

-ผู้ใดไข้ลงอายุอยู่ในระหว่างเสมหะสมุฏฐาน ให้ตั้งเสมหะเป็นอาทิวาตะเป็นที่สุด

-ถ้าผู้ใดไข้ลงอายุอยู่ในระหว่างวาตะสมุฏฐาน ให้ตั้งวาตะเป็นต้นปิตตะเป็นที่สุด

-ถ้าผู้ใดไข้ลงอายุอยู่ในระหว่างปิตตะสมุฏฐาน ให้ตั้งปิตตะเป็นต้นเสมหะเป็นที่สุด

ถ้าไม่รู้ว่าอะไรเกิดก่อนในกำลังทั้ง 3 นี้ ให้ตั้งปิตตะสมุฏฐาน เป็นต้น

วาตะสมุฏฐานที่สุด ก็คือการนับตั้งแต่วันแรกที่ล้มไข้ นับเป็นปิตตะกำลัง 7 องศา เสมหะกำลัง 12 องศา วาตะกำลัง 10 องศา ทั้ง 3 สมุฏฐานผสมเข้าด้วยกันเป็น 29 องศา เมื่อล่วงเข้า 30 องศา คือ 1 เดือน จะเข้ากองสันนิบาต กล่าวคือ กำลังสมุฏฐานทั้ง 3 นี้ระคนกันเข้าเมื่อใด จะได้ชื่อว่า พิกัดกองสันนิบาต ถ้ายังไปไม่พร้อมกันทั้งสามขณะใด ก็ยังมิได้ชื่อว่า พิกัดแห่งกองสันนิบาต

4. จำนวนธาตุที่กระทำโทษ
การเจ็บไข้ได้ป่วยย่อมมีสาเหตุเริ่มต้นที่โบราณเรียกว่า ชาติ เมื่อดำเนินไปเรียกว่า จลนะ เมื่อแตกดับเรียกว่า ภินนะ และย่อมมีความแตกต่างกันของธาตุเมื่อเริ่มต้น ซึ่งบางครั้งก็เกิดธาตุไฟก่อน หรือเกิดธาตุลมก่อน หรืออาจเกิดธาตุน้ำก่อน แต่ลำดับของการดำเนินโรคมีการเกิดที่ตายตัว เช่น เมื่อเกิดธาตุไฟขึ้น ก็จะตามมาด้วยธาตุน้ำและลม ถ้าเริ่มด้วยธาตุลม จะตามมาด้วยธาตุน้ำ และจบที่ธาตุไฟ แต่ถ้าเริ่มต้นด้วยธาตุน้ำ ก็จะตามด้วยธาตุไฟ และจบที่ธาตุลม ถ้าไม่ทราบว่าอะไรเกิดก่อนให้ตั้งธาตุไฟเริ่มก่อนเสมอ และโรคที่เกิดขึ้นก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องหนักหนาสาหัสเป็นสันนิบาตเสมอไป

หากเกิดโทษจากธาตุเดียว จะเรียกว่า เอกโทษ ถ้าเกิดโทษจาก 2 ธาตุ เรียกว่า ทุวันโทษ ถ้าเกิดโทษจาก 3 ธาตุ เรียกว่า ตรีโทษ และถ้าเกิดโทษจากทั้ง 4 ธาตุ เรียกว่า จตุโทษ

หากไม่มีการเกิดเป็นลำดับเรื้อรังครบ 30 วัน จะไม่เรียก สันนิบาต และมหาสันนิบาตเลย

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า