สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อายุรเวท(Ayurveda)

เป็นศาสตร์และศิลป์ในการรักษาโรคและทำให้มีร่างกายแข็งแรงสวยงามเหมือนกลับเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมาใหม่ของอินเดีย เป็นการแพทย์ในแบบป้องกันโรคในแนวธรรมชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อมีภาวะจิตใจที่สมดุล การมีสุขภาพที่ดี และความสุขสบายตามธรรมชาติ อายุรเวทเข้าจัดการกับร่างกายและจิตใจเพื่อให้เกิดระเบียบในการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์ โดยผ่านทางศาสตร์การดำเนินชีวิตที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยผสานเข้ากับการใช้สมุนไพร รากไม้ และแร่ธาตุต่างๆ

อายุรเวทเป็นการแพทย์ของธรรมชาติและของชีวิต ซึ่งมีปรัชญาอยู่ว่า เป็นการนำเอาหลักการและอำนาจของธรรมชาติเข้าไปอยู่ในจิตใจของคน แล้วสอนให้คนๆ นั้นรู้ถึงวิธีการนำเอาหลักการและอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของสุขภาพและการดำรงชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาตินั้นมาปฏิบัติ

อายุรเวทให้ความรู้เกี่ยวกับอาหารและยา เพื่อบำรุงรักษาร่างกาย ซึ่งเป็นแง่มุมหนึ่งของโยคะ และเข้ากันได้ดีที่สุดกับหะธะโยคะ ซึ่งกำหนดให้มีการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพทางกาย เพื่อความยืดหยุ่นและขจัดความตึงเครียด

คำว่าอายุรเวท เป็นคำในภาษาสันสกฤต แปลว่า “ศาสตร์เกี่ยวกับชีวิต” มาจากคำว่า อายุร ซึ่งแปลว่า “ชีวิต” “การดำเนินชีวิตประจำวัน” หรือ “ความมีอายุยืนยาว” กับคำว่า เวท ซึ่งแปลว่า “การรู้” “ความรู้” “ปัญญา” หรือ “ศาสตร์”

อายุรเวท เป็นคำสอนที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณที่เก่าแก่ที่สุด มีลักษณะครอบคลุมรอบด้านที่สุดในโลก และเป็นระบบการแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยรู้จักมา นานกว่า 4,000 ปีมาแล้วที่ในอินเดียมีผู้ปฏิบัติตามคำสอนนี้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีบันทึกอยู่ใน “พระเวท” ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีอยู่ในโลก พื้นฐานของข้อเขียนที่เกี่ยวกับอายุรเวททั้งหมดมาจากปรัชญาการสร้างที่เรียกว่า สัมคยา(Samkhya) สัมคยามาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤตสองคำ คือ คำว่า สัจ ซึ่งหมายถึง “ความจริง” กับคำว่า คยา(khya) ซึ่งแปลว่า “รู้”

อายุรเวท เป็นระบบความรู้ที่ได้มาจากความรู้แจ้งในทางปรัชญา ศาสนา และในแนวทางปฏิบัติจากฤาษี หรือผู้มองเห็นความจริง ในอินเดียยุคโบราณ เป็นศาสตร์ในการดำรงชีวิตประจำวัน

ฤาษีมีความหยั่งรู้ โดยผ่านการทำสมาธิและเข้าถึงอำนาจลึกลับ รู้ถึงระบบของมนุษย์ และวิธีบำรุงรักษาสุขภาพกาย รวมทั้งการดำรงชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ คำสอนของฤาษีได้รับการส่งผ่านจากปากต่อปาก จากครูให้แก่ลูกศิษย์ เป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว ในท้ายที่สุดก็มีการบันทึกลงในภาษาสันสกฤต เป็นบทกวีโบราณของอินเดีย ทุกวันนี้มีความรู้มากมายเกี่ยวกับอายุรเวท แม้ว่าตำราจะสูญหายไปกับกาลเวลาที่ยาวนานมากมายแล้วก็ตาม

ธาตุพื้นฐานของอายุรเวทมีอยู่ 5 อย่าง คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศธาตุ หรือความว่างเปล่า มันสำแดงออกมาที่ร่างกายของมนุษย์ โดยควบรวมกันเข้าเป็นธาตุอันเป็นพื้นฐาน 3 อย่างคือ วาตะ(ลมและอากาศธาตุ) ปิฏฐะ(ไฟและน้ำ) และคัพภะ(น้ำและดิน) พลังชีวิตที่สำคัญทั้ง 3 นี้จะควบคุมบงการร่างกายของมนุษย์อยู่ พลังชีวิตหรือน้ำหล่อเลี้ยงภาวะของชีวิตทั้ง 3 นี้ เรียกว่า โทษะ ซึ่งในภาษาสันสกฤต หมายถึง “สิ่งที่ทำให้เสียหรือก่อให้เกิดการเน่า”

วาตะ ปิฏฐะ และคัพภะ ในคำสอนของอายุรเวทนั้น ยังมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ไตรโทษะ คือ พลังงานที่ควบคุมการปฏิบัติงานทุกอย่างของร่างกาย ความคิดและจิตใจ เมื่อโทษะสมดุล มันก็จะบำรุงรักษาร่างกาย และเมื่อเสียสมดุลก็จะเข้าทำลาย ดังนั้นสุขภาพในร่างกายจึงประกอบไปด้วยสมดุลที่ถูกต้องของพลังสร้างสรรค์และทำลายของโทษะทั้ง 3 นี้

อายุรเวทมีศาสตร์ในการเยียวยาตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้เกี่ยวกับประกฤติ หรือองค์ประกอบของแต่ละบุคคล องค์ประกอบพื้นฐานของแต่ละบุคคลทราบได้จากผังที่เขียนขึ้นโดยใช้ลักษณะทางร่างกายและอารมณ์ของบุคคล เช่น โครงร่างของร่างกาย น้ำหนัก สีผิว ลักษณะผิว ผม เล็บ ตา ปาก เหงื่อ ความนิยมชมชอบ สภาพดินฟ้าอากาศอย่างใดอย่างหนึ่ง ความฝันและลักษณะบุคลิก ถูกนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานสำหรับการประเมินชนิดขององค์ประกอบของร่างกาย ไม่มีองค์ประกอบของร่างกายใครที่สร้างขึ้นมาจากธาตุประเภทเดียว ทุกคนล้วนมาจากการประสานกันของธาตุทั้ง 3 นี้ โดยมีธาตุหนึ่ง หรือมากกว่านั้นโดดเด่นขึ้นมา

อายุรเวทมีวิธีการบำบัดรักษาโรคอยู่ 2 วิธี คือ การรักษาองค์ประกอบของร่างกาย และการรักษาโรค การสร้างสมดุลให้แก่ธาตุทั้ง 3 จะทำให้การรักษาได้ผลอย่างถาวร

การรักษาที่องค์ประกอบของร่างกาย ประกอบด้วยการใช้อาหาร สมุนไพรอย่างอ่อน ตัวยาที่ปรุงขึ้นเป็นพิเศษ การปรับสไตล์การดำเนินชีวิตเพื่อสร้างสมดุลแก่พลังชีวิต และการทำให้ร่างกายกลับคืนสู่ภาวะที่ประสานกลมกลืนกันดี

การรักษาโรค ประกอบด้วยการใช้สมุนไพรและตัวยาอย่างแรง และการชำระล้าง หรือสร้างความสะอาดบริสุทธิ์ การชำระล้างประกอบด้วยการถ่ายท้อง การใช้ยาสวนทวาร การทำให้อาเจียน การใช้ยาใส่จมูกและการคัดเลือดออกเพื่อการบำบัดรักษา

การแพทย์แบบอายุรเวท มีจิตวิญญาณเป็นหลักพื้นฐานและที่สำคัญเป็นระบบการรักษาด้วยตัวเอง มีบางคนกล่าวว่า การรักษาแบบอายุรเวทจะให้ผลช้า แต่ความช้านี้มีบ่อยครั้งที่เป็นส่วนหนึ่งในการรักษา โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ที่คนมากมายป่วยเพราะความรีบร้อน การสร้างสมดุลและทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวยเป็นหนุ่มเป็นสาว และเพิ่มภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันมิให้เกิดโรคใหม่ๆ ขึ้นมา คือเป้าหมายของอายุรเวท

อายุรเวทมีปรัชญาอยู่ว่า คนเราไม่สามารถจะคาดหวังว่าจะใช้ธรรมชาติรักษาตัวให้สบายดีได้ หากชีวิตประจำวันมิได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น

แพทย์ที่ให้การบำบัดรักษาโดยอายุรเวทในปัจจุบันนี้หลายคนมาจากอินเดีย หนังสือดีๆ เกี่ยวกับอายุรเวท สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมอ่านได้จากร้านจำหน่ายอาหารสุขภาพ หรือร้านหนังสือทั่วไป

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า