สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อาการปวดระดูแบบปฐมภูมิ

อาการปวดระดูและอาการร่วมก่อนมีระดู
อาการปวดระดูแบบปฐมภูมิ
Primary dysmenorrheal
อาการปวดระดูในหญิงวัยรุ่นสาวส่วนใหญ่มักเป็นแบบปฐมภูมิคือ มีอาการแสดงแต่ไม่พบพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน เกิดจากความแปรปรวนเกี่ยวกับหน้าที่การทำงาน (functional disturbance) ส่วนอาการปวดระดูแบบทุติยภูมิเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด หรือพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน ผู้ป่วยที่ปวดระดูแบบทุติยภูมิพบว่าเป็นภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ผิดที่ (endometriosis ค่อนข้างบ่อย และพบในผู้ใหญ่มากกว่าหญิงวัยรุ่นสาว
อาการปวดระดูในหญิงวัยรุ่นสาวพบบ่อยและมักมีอาการรุนแรงจนทนไม่ได้ เกิดระหว่างตามรอบระดู อาการปวดระดูทำให้หญิงวัยรุ่นสาวไม่สบายใจ และเข้าใจว่าการคลอดบุตรหรือการเปลี่ยนแปลงโดยปกติอย่างอื่นจะยิ่งปวดมากขึ้น ทำให้รู้สึกกลัว  อีกประการหนึ่งมักพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างอาการปวดระดูในมารดาและบุตรสาว Kantero และ Widholme (1971) พบว่ามารดาผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเข้าใจว่า อาการปวดระดูเป็นิส่งที่ถ่ายทอดจากตนไปยังบุตรสาว คิดว่าเมื่อตัวเองมีอาการปวดระดูบุตรสาวของตนจะต้องมีอาการปวดระดูเช่นกัน จึงมีความวิตกกังวลมากจนเกิดปัญหาทางจิตใจ
ลักษณะทางคลินิค
Clinical features
อาการปวดระดูแบบปฐมภูมิเป็นอาการแสดงสืบเนื่องมาจากการตกไข่ ปกติระดูครั้งแรกเริ่มเมื่ออายุเฉลี่ย 12.8 ปี ในช่วง 6-12 เดือนแรกไม่มีไข่ตกและไม่ปวดระดู การตกไข่มักเกิดระหว่าง 1-2 ปี หลังระดูครั้งแรก
เป็นที่แน่ชัดว่าจะไม่เกิดความรู้สึกไม่สบายขณะมีระดูภายใน 1-2 ปี หรือมากกว่านั้นหลังมีระดูครั้งแรก เนื่องจากหลังมีระดูครั้งแรกใหม่ๆ ยังไม่มีไข่ตก รอบระดูที่ไม่มีไข่ตกมักไม่ปวดระดู โดยเฉลี่ยระหว่างมีระดูครั้งแรกจนถึงจุดเริ่มต้นของอาการปวดระดู จะมีระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 22 เดือน ซึ่งตรงกับการสังเกตของ Fluhmann (1956) และอีกหลายคนว่าจุดเริ่มต้นของอาการปวดระดูแบบปฐมภูมิมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาซึ่งยังไม่พร้อมสำหรับเจริญพันธุ์ในวัยรุ่นสาว Montagu (1978) ก็ยืนยันความเห็นตรงกับรายงานอื่นว่าหลังระดูครั้งแรกระยะหนึ่งจะไม่มีไข่ตก และระดูที่ไม่มีไข่ตกจะไม่ปวดระดู ดังนั้นอาการปวดระดูเป็นตัวสะท้อนให้อย่างหนึ่งถึงความพร้อมสำหรับการเจริญพันธุ์
Kantero  และ Widholm (1971) ศึกษาในหญิงวัยรุ่นสาวชาวฟินแลนด์กลุ่มใหญ่ พบว่ามีน้อยกว่าร้อยละ 10 ที่มีอาการปวดระดูในปีแรกหลังมีระดูครั้งแรก อุบัติการนี้จะเพิ่มเป็นร้อยละ 20  ในปีที่ห้าหลังจากระดูครั้งแรก อุบัติการเฉลี่ยร้อยละ 30-50
Widholm (1979) สำรวจผลของอาการปวดระดูแบบปฐมภูมิในหญิงวัยรุ่นสาวที่มีต่อการเรียนพบว่า ขาดโรงเรียนเป็นบางครั้งร้อยละ 20.7 ขาดโรงเรียนบ่อยร้อยละ 2.7 และในส่วนที่เกี่ยวกับการรักษาพบว่าต้องปรึกษาแพทย์ร้อยละ 27 ใช้ยาระงับปวดร้อยละ 20
ในสมัยก่อนแพทย์เข้าใจพยาธิสรีรวิทยาเกี่ยวกับการปวดระดูน้อย การรักษาจึงมีตั้งแต่จิตบำบัด กายบริหาร ให้ไวตามินและผ่าตัด ในระยะหลังการศึกษาอย่างจริงจังช่วยให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับอาการปวดระดูมากขึ้น แพทย์จึงสามารถประเมินและรักษาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนมากหญิงวัยรุ่นสาวผู้ที่มีระดูครั้งแรกเร็วจะมีช่วงเวลาระหว่างระดูครั้งแรกจนถึงจุดเริ่มต้นของปวดระดูยาวนานกว่าผู้ที่มีระดูครั้งแรกช้า กรณีที่พบน้อยคือปวดระดูที่เกิดในรอบระดูแรกหรือตั้งครรภ์ก่อนมีระดูครั้งแรก
อาการปวดระดูมีลักษณะคือปวดเป็นระยะ ปวดบีบ ปวดแรงหรือคล้ายมีการบีบตัว ตำแหน่งที่ปวดพบที่ท้องน้อยส่วนล่างบริเวณกลางตัวหรือเหนือหัวเหน่า ส่วนใหญ่เริ่มปวดภายใน 1 หรือ 2 ชั่วโมงหลังมีระดู แต่บางรายปวดก่อนมีระดู 1-2 วัน พร้อมระดูหรือหลังหมดระดู ความรุนแรงแปรผันมากตั้งแต่ปวดมากจนทำงานไม่ได้หรือไปโรงเรียนไม่ได้ จนถึงปวดน้อยสามารถทำกิจกรรมประจำวันได้อย่างปกติ ผู้ป่วยอาจมีอาการร่วม เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดขาและคลื่นไส้อาเจียน ในบางรายอาการปัสสาวะบ่อย ท้องผูก น้ำหนักเพิ่ม ปวดถ่วง นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิในการเรียน บุคคลิกภาพเปลี่ยน เป็นต้น โดยทั่วไปการนอนราบไม่ช่วยให้หายปวดระดูแต่การประคบด้วยความร้อนที่ท้องทำให้รู้สึกสบายขึ้น
มีผู้เรียกอาการปวดระดูที่ปวดเป็นพักๆ ความรุนแรงอาจคงที่อยู่ไม่กี่ชั่วโมงแล้วเริ่มลดลง หรืออาจเกิดขึ้นใหม่แบบลูกคลื่นว่า spasmodic dysmenorrheal ส่วนอีกแบบหนึ่งอาจมีปวดท้องน้อยและปวดหลังบ้างก่อนมีระดูแต่เป็นไม่นานว่า congestive dysmenorrheal
ผู้ที่มีประวัติปวดท้องน้อยทั้งสองข้างโดยไม่ปวดบริเวณท้องน้อยส่วนล่างบริเวณกลางตัวหรือเหนือหัวเหน่า ให้นึกถึงพยาธิสภาพของรังไข่มากกว่าอาการปวดระดูแบบปฐมภูมิ ปวดท้องน้อยข้างหนึ่งข้างใดทุกเดือนควรนึกถึงความผิดปกติแต่กำเนิด ปวดเหนือหัวเหน่าทุกเดือนโดยไม่มีเลือดระดูควรนึกถึงภาวะเลือดระดูสะสมในช่องคลอด (hematocolpos)
ส่วนใหญ่ผู้ที่มีปวดระดูจะไม่มีประวัติระดูไม่สม่ำเสมอ มักมีประวัติระดูอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ว่าจะเป็นอายุที่มีระดูครั้งแรก ระยะเวลาของการมีระดูหรือลักษณะของระดู
การตรวจ
Examinaton
ผลการตรวจภายในในผู้ที่มีอาการปวดระดูมักไม่พบสิ่งผิดปกติอย่างน้อยร้อยละ 95 แต่กระนั้นการตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจภายในก็ยังมีความจำเป็น เพราะมีความผิดปกติหลายอย่างอาจพบได้จากการตรวจ เช่น มดลูกอยู่ในตำแหน่งที่คว่ำหน้ามาก (acute anteversion) มดลูกเล็กมาก (uterine hypoplasia) มดลูกรูปร่างผิดปกติ และปากมดลูกตีบ (cervical stenosis) เป็นต้น
สาเหตุ
Etiology
มีหลายทฤษฏีที่อธิบายสาเหตุของอาการปวดระดูแบบปฐมภูมิ คือ
1. เยื่อบุโพรงมดลูกสร้างพรอสตาเกลนดินมากขึ้น
(increased prostaglandin production in the endometrium)
เป็นทฤษฎีที่เชื่อถือกันมากที่สุด เชื่อว่าการมีพรอสตาเกลนดินมากขึ้นสืบเนื่องมาจากการตอบสนองต่อโปรเจสเตอโรนในช่วง secretory phase และปริมาณพรอสตาเกลนดินยิ่งมีมากขึ้นเมื่อใกล้มีระดู Bydgeman พบว่าเมื่อให้พรอสตาเกลนดิน เอฟ ทู อัลฟ่า ทางหลอดเลือดดำพร้อมกับวัดการบีบรัดตัวของมดลูก มดลูกจะมีแรงดึงตัวพื้นฐานและการบีบรัดตัวเพิ่มขึ้นทั้งด้านความแรงและความบ่อย ส่วนผู้ที่มดลูกไวต่อการกระตุ้นในช่วงหลังไข่ตกหากให้พรอสตาเกลนดิน อี ทู แรงตึงตัวพื้นฐานของมดลูกจะลดลง จึงให้ข้อชี้แนะว่าสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างพรอสตาเกลนดิน เอฟ ทู อัลฟ่า และพรอสตาเกลนดิน อี ทู ต่างหากที่มีความสำคัญในการควบคุมการบีบรัดตัวของมดลูก
Pickles (1957) แสดงให้เห็นว่า เลือดระดูของผู้ที่มีอาการปวดระดูจะมีระดับของพรอสตาเกลนดินมากกว่าผู้ที่ไม่มีอาการปวดระดู ผู้วิจัยหลายคนพบว่าพรอสตาเกลนดินสัมพันธ์กับมดลูกบีบรัดตัวมากเกินไป ในผู้ที่มีอาการปวดระดูแบบปฐมภูมิพบว่ามีระดับของ 13,14 ดีไฮโตรพรอสตาเกลนดิน (ซึ่งเป็น metabolite ของพรอสตาเกลนดิน เอฟ ทู อัลฟ่า ) ในซีรั่มเพิ่มขึ้น และยังพบระดับของพรอสตาเกลนดิน เอฟ ทู อัลฟ่า ในซีรั่มเพิ่มขึ้นด้วย ในทางตรงกันข้าม Wilks, Wentz และ Jones (1973) พบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของพรอสตาเกลนดิน เอฟ ทู อัลฟ่า ในระยะต่างๆ ของรอบระดู และไม่มีพรอสตาเกลนดินเพิ่มขึ้นก่อนหรือหลังปวดระดู
สมมุติฐานอื่นเชื่อว่าพรอสตาเกลนดินสัมพันธ์กับโปรเจสเตอโรน เพราะเมื่อมีไข่ตกคือมีโปรเจสเตอโรนสูงจะไม่ปวดระดู บางสมมุติฐานเชื่อว่าโปรเจสเตอโรนช่วยเปลี่ยนความไวของตัวรับพรอสตาเกลนดิน
Jones และ Wentz (1972) พบว่าการให้พรอสตาเกลนดินทำให้มีอาการปวดระดูเกิดขึ้น 18 ใน 22 ราย และพบอาการร่วมอื่นที่สัมพันธ์กับระดู เช่น ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน Hillier (1972) ก็พบเช่นเดียวกันแต่กลุ่มศึกษาเล็กกว่า จึงสรุปว่ายาต่อต้านการสร้างพรอสตาเกลนดิน (prostaglandin synthetase inhibitors) น่าจะได้ผลในผู้ที่มีอาการปวดระดู จนมีผู้ศึกษาต่อจนพบว่าหากให้ยาต่อต้านการสร้างพรอสตาเกลนดินสามารถลดอาการปวดระดูได้
นอกจากนี้แนวความคิดที่ว่าพรอสตาเกลนดินเพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุของอาการปวดระดู ยังช่วยอธิบายปรากฎการณ์อื่นอีกหลายอย่างได้ เช่น ทำไมการทำงานแปรปรวนของเยื่อบุโพรงมดลูกหรือภาวะกล้ามเนื้อมดลูกขาดเลือดอาจเป็นสาเหตุของอาการปวดระดู เป็นต้น
2. การบีบรัดตัวของมดลูกผิดปกติ (abnormalities of uterine contraction)
โดยทั่วไปการบีบรัดตัวของมดลูกจะไม่รุนแรง มีลักษณะเป็นจังหวะ การบีบรัดตัวนี้มีแรงดันสูงสุดที่ตำแหน่งยอดมดลูก แรงดันจะลดหลั่นลงมาตามลำดับจนไม่มีการบีบรัดตัวเลยที่บริเวณปากมดลูก Bickers (1960) ชี้ให้เห็นว่าการบีบรัดตัวของมดลูกมีความสำคัญต่อการลอกหลุดของเยื่อบุโพรงมดลูกและการขับเลือดระดู และการบีบรัดตัวของมดลูกสัมพันธ์กับการทำงานของรังไข่ ดังนั้นหากกลไกการบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกผิดเพี้ยนไปจะมีอาการปวดระดู
อาการปวดแบบปวดบีบเข้าใจว่าเกิดจากการบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก และมีโปรเจสเตอโรนมากขึ้น การบีบรัดตัวทำให้มดลูกขาดเลือดชั่วคราว หากให้เอสโตรเจนหรือยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานจะไม่มีไข่ตก ทำให้ไม่ปวดระดู
แม้ว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดระดูแบบปฐมภูมิ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากมดลูกบีบรัดตัวมาก เพราะโดยทั่วไปหญิงที่ไม่ตั้งครรภ์มดลูกจะมีการบีบรัดตัวซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตามรอบระดูคือ ก่อนไข่ตกการบีบตัวจะไม่แรงแต่บีบตัวบ่อยๆ ส่วนหลังตกไข่แล้วการบีบตัวจะแรงแต่บีบตัวไม่บ่อย ลักษณะการบีบตัวแบบนี้เข้าใจว่าเป็นการเสิรมหนุนการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิ
3. หลอดเลือดมดลูกหดตัว (uterine vascular spasm)
ภาวะกล้ามเนื้อมดลูกขาดเลือดหล่อเลี้ยง เกิดจากหลอดเลือดในกล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัวอย่างรุนแรง จะทำให้เกิดอาการปวดระดูได้ Moir (1936) พบว่าแรงดันที่วัดได้จากมดลูกบีบรัดตัวอาจสูงถึง 150 มม.ปรอท หรือมากกว่า แรงดันขนาดสูงนี้ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อมดลูกขาดเลือดได้
4. ความไม่สมดุลย์ของฮอร์โมนต่อมไร้ท่อ (endocrine imbalance)
ความไม่สมดุลย์ของฮอร์โมนรังไข่ทำให้เกิดการทำงานผิดปกติของมดลูก เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดระดู
5. ขบวนการรับรู้ต่ออาการปวด (sensory conditioning process)
สันนิษฐานว่าอาการปวดระดูจะรุนแรงมากหรือน้อย ขึ้นกับขบวนการรับรู้ต่ออาการปวดแตกต่างกัน ผู้ที่มีความทนทานของการเจ็บปวดต่ำจะมีอาการปวดระดูมากกว่าผู้ที่มีความทนทานต่อการเจ็บปวดสูง
6. ปัจจัยทางอารมณ์ (emotional factors)
แม้ว่าความกดดันทางอารมณ์จะทำให้อาการปวดระดูมีความรุนแรงมากขึ้นแต่ไม่ใช่สาเหตุพื้นฐานของอาการปวดระดู
ปัจจัยทางด้านจิตใจอาจมีส่วนสัมพันธ์กับอาการปวดระดู แต่ยังไม่มีข้อสนับสนุนชัดเจน Coppen และ Kessel (1963) พบว่าปวดระดูไม่มีความสัมพันธ์กับปัญหาด้านจิตใจ ดังนั้นควรยกเลิกความคิดว่าอาการปวดระดูเป็นปัญหาด้านจิตใจอย่างเดียว เพราะไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นและผู้ป่วยก็ยิ่งกังวลจนกลัวการมีระดู
7. สาเหตุอื่น (other theory regarding)
ยังมีทฤษฎีอื่นที่อธิบายสาเหตุของอาการปวดระดู เช่น การอุดตันเกี่ยวกับการไหลออกของเลือดระดู ความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดระดู มดลูกเล็กมาก การอักเสบของเส้นประสาทซิมพาเทติก และตัวเตี้ย เป็นต้น แต่ยังไม่มีข้อสนับสนุนชัดเจนว่าเป็นสาเหตุพื้นฐานของอาการปวดระดู
การวินิจฉัย
Diagnosis
อาการปวดระดูเป็นเพียงอาการแสดงไม่ใช่โรค ดังนั้นเป็นหน้าที่ของนรีแพทย์ที่ต้องสืบหาโรค วินิจแยแยกโรคที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดระดูอย่างถี่ถ้วน
การตรวจร่างกายทั่วไปมีประโยชน์ในการประเมินสภาพทั่วไปของผู้ป่วย การตรวจทางนรีเวชวิทยาจะช่วยวินิจฉัยแยกโรคที่เป็นสาเหตุของอาการปวดระดูแบบทุติยภูมิ
อาการปวดระดูแบบปฐมภูมิหากไม่นับอาการปวดระดูที่มีสาเหตุจากทางจิตใจ แบ่งตามความรุนแรงเป็น 3 กลุ่ม คือ
อาการปวดระดูแบบปฐมภูมิแบ่งตามความรุนแรง
Type I
Mild discomfort
Not incapacitating
Lasts less than one-half day
Controlled by analgesics
Tyep II
Moderate discomfort
Incapacitating
Lasts not more than one day
Controlled by analgesics
Type III
Severe discomfort
Agonizing pain
Lasts more than one day
Not controlled by analgesics
ควรซักประวัติแยกกันระหว่างผู้ป่วยและมารดา เพื่อให้ผู้ป่วยคลายกังวลและกล้าพูดมากขึ้น สำหรับมารดาผู้ป่วยสามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ป่วยในเรื่องอื่นๆ ได้ ที่สำคัญคือถามว่าผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการรับประทานยาเองหรือตามแพทย์อื่นสั่งหรือไม่ เป็นไปได้ที่ผู้ป่วยบางรายอาจอาศัยยาเสพติดเพื่อบรรเทาการปวดระดู หรือรับประทานยาบรรเทาปวดที่สามารถหาได้โดยทั่วไป ทำให้ช่วยในการประเมินความรุนแรงของการปวดระดูได้
หญิงวัยรุ่นสาวที่ปวดระดูมักเป็นแบบปฐมภูมิ ควรซักประวัติถึง ระยะเวลา รูปแบบ และลักษณะการปวด หากปวดข้างเดียวและเป็นเรื้อรังควรนึกถึงพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน ประวัติมารดาที่ปวดระดูไม่ช่วยในการแยกพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานออกไป การทำปฏิทินระดูและบันทึกระดับของการปวดจะมีประโยชน์ในการวางแผนรักษา
ผู้ป่วยที่ให้ความร่วมมือถ้าตรวจภายในไม่พบสิ่งผิดปกติแสดงว่าเป็นปวดระดูแบบปฐมภูมิ แต่ผู้ที่ตรวจภายในแล้วสงสัยพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานให้พิจารณาตรวจทางทวารหนัก การตรวจทางทวารหนักเพื่อคลำ uterosacral ligament ช่วนในการวินิจฉัยภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ผิดที่ ในรายที่ประวัติชัดเจนว่าเป็นปวดระดูแบบปฐมภูมิ ผู้ที่ไม่อยากตรวจทางนรีเวชวิทยาอาจตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasonography) แทนได้
การรักษาเพื่อแยกโรค (therapeutic diagnosis) โดยให้ฮอร์โมนห้ามการตกไข่ หรือยาต่อต้านการสร้างพรอสตาเกลนดินจะช่วยได้มาก หากไม่ตอบสนองดีต่อการรักษาให้พิจารณาส่องกล้องตรวจในอุ้งเชิงกรานหรือโพรงมดลูกเพื่อหาพยาธิสภาพ
การรักษา
Treatment
โดยทั่วไปอย่างน้อยร้อยละ 90 ของผู้ที่มีอาการปวดระดูแบบปฐมภูมิอาการดีขึ้นหากวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม
1. การป้องกัน
ถ้าทำได้ควรให้ความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษา มีประโยชน์มากหากให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสรีรวิทยาของอวัยวะเพศและการมีระดู มีความตระหนักว่าการมีระดูเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติของหญิงสาว การมีระดูไม่ได้ทำให้เจ็บปวดจนรบกวนการดำเนินชีวิต การมีระดูไม่เป็นข้อจำกัดต่อการทำกิจกรรมประจำวัน ทั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างครู บิดามารดาและแพทย์ อาจพิจารณาทำได้ทั้งในและนอกสถานศึกษาตามความเหมาะสม เพื่อให้หญิงวัยรุ่นสาวมีความเข้าใจและทัศนคติอย่างถูกต้อง แทนที่จะได้รับการบอกเล่าอย่างผิดๆ
2. อาการปวดระดูที่มีสาเหตุจากทางจิตใจ
แม้ว่าพบได้น้อย แต่ควรให้คำแนะนำและรักษาเพื่อประคับประคองด้านจิตใจ อธิบายสรีรวิทยา กลไกการมีระดู สาเหตุของอาการปวดระดู แก่มารดาและผู้ป่วย หลังการตรวจทางนรีเวชวิทยาแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติควรให้ความเชื่อมั่นว่าอวัยวะเพศปกติ
3. อาการปวดระดูที่มีความรุนแรงน้อย (แบบที่ 1)
กลุ่มนี้มีความรุนแรงน้อย ส่วนใหญ่มีอาการปวดระดูเพียง 1-2 ชั่วโมง ไม่เกินครึ่งวัน
3.1 อธิบายสรีรวิทยา กลไกการมีระดู และสาเหตุของอาการปวดระดู แก่มารดาและผู้ป่วย
3.2 ไปโรงเรียนหรือทำงานได้ตามปกติ แต่แนะนำให้ผักผ่อนมากขึ้น
3.3 หากมีภาวะน้ำคั่งในอุ้งเชิงกรานร่วมด้วย ควรให้ยาขับปัสสาวะ (diuretics) ก่อนมีระดู 1 สัปดาห์
3.4 หากมีภาวะท้องผูกร่วมด้วย ควรให้ยาระบายอ่อนๆ เพื่อป้องกัน
3.5 ถ้าจำเป็นให้ยาระงับปวดเช่น โคเดอิน (codeine) ขนาด 15 มก. รับประทานเป็นครั้งคราว
4. อาการปวดระดูที่มีความรุนแรงปานกลาง (แบบที่ 2)
กลุ่มนี้มีความรุนแรงปานกลาง มีอาการปวดระดูนานกว่าครึ่งวันแต่ไม่เกินหนึ่งวัน
4.1 อธิบายสรีรวิทยา กลไกการมีระดู และสาเหตุของอาการปวดระดู แก่มารดาและผู้ป่วย
4.2 แนะนำให้ผักผ่อนมากขึ้น หยุดโรงเรียนหรือหยุดทำงาน 1 วัน
4.3 หากมีภาวะน้ำคั่งในอุ้งเชิงกรานร่วมด้วย ควรให้ยาขับปัสสาวะ (diuretics) ก่อนมีระดู 1 สัปดาห์
4.4 หากมีภาวะท้องผูกร่วมด้วย ควรให้ยาระบายอ่อนๆ เพื่อป้องกัน
4.5 การรักษาโดยเฉพาะมีข้อแตกต่างจากกลุ่มที่มีความรุนแรงน้อยหลายประการ แพทย์ควรพิจารณาโดยใช้ดุลย์พินิจเพื่อให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนดังต่อไปนี้
4.5.1 ในรายที่มีอาการร่วมก่อนมีระดู ควรให้ยาขับปัสสาวะและ ataractics
4.5.2 .ใหยาระงับปวดหลายตัวร่วมกัน เช่น แอสไพริน (aspirin) ขนาด 500 มก. และโคเดอินขนาด 15 มก. รับประทานเมื่อเริ่มปวดระดู หลังจากนั้นให้โคเดอินขนาด 15 มก. รับประทานทุกชั่วโมง อย่างไรก็ตามขนาดของโคเดอินต้องไม่เกินวันละ 120 มก.ต่อวัน วิธีนี้ดีกว่าการให้ยาระงับปวดเพียงตัวเดียว
4.5.3 ให้ยาต่อต้านการสร้างพรอสตาเกลนดิน เช่น indomethacin, ibuprofen, mefenamic acid หรือ naproxen sodium เป็นต้น ยากลุ่มนี้ควรให้รับประทานก่อนมีระดูแลให้ต่ออีก 1-2 วัน ตามความจำเป็น
Ibuprofen ขนาด 400 มก. รับประทานวันละ 4 ครั้ง
Indomethacin ขนาด 50 มก. รับประทานวันละ 3 ครั้ง
Mefenamic acid ขนาด 500 มก. รับประทานครั้งแรกตามด้วยขนาด 250 มก. ทุก 6-8 ชั่วโมง
Naproxyn sodium ขนาด 550 มก. รับประทานครั้งแรก ตามด้วยขนาด 275 มก. ทุก 6-9 ชั่วโมง
4.5.4 antispasmodis และ myovascular relaxing agents ให้ผลดีในบางรายเท่านั้น จึงไม่นิยมใช้
4.5.5 demeral และยากลุ่มอนุพันธุ์ของมอร์ฟิน (morphine) ห้ามใช้เด็ดขาดเพราอาจเสพติดได้
4.5.6 การให้เอสโตรเจนร่วมกับโปรเจสเตอโรนในช่วงหลังของรอบระดู มีข้อดีเพราะช่วยแก้ไขความไม่สมดุลย์ของฮอร์โมนรังไข่ และลดการบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก รายงานส่วนใหญ่พบว่าได้ผลดี ยกเว้น Huffman สังเกตว่าลดอาการปวดระดูน้อยกว่าร้อยละ 50 และพบว่ามีภาวะเลือดออกกระปริบกระปรอยหรือเลือดออกมากได้บ่อย
4.5.7 หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ควรให้ยาระงับอาการคลื่นไส้อาเจียน
5. อาการปวดระดูที่มีความรุนแรงมาก
กลุ่มนี้มีประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยที่มีอาการปวดระดูแบบปฐมภูมิ จำเป็นต้องรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนเพราะไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น
5.1 ให้ methyltestoterone ขนาด 5 มก. รับประทานทุกวัน แม้ว่าไม่ค่อยเกิดลักษณะกระเดียดไปทางเพศชาย แต่ไม่นิยมเพราะเกิดสิวได้ง่าย
5.2 ให้ medroxyprogesterone ขนาด 5 มก. รับประทานทุกวัน ในวันที่ 5-25 ของรอบระดู แต่มีภาวะเลือดออกกระปริบกระปรอยได้ง่ายจึงไม่นิยม
5.3 ให้เอสโตรเจนร่วมกับโปรเจสเตอโรน แบบเดียวกับการรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติในหญิงวัยรุ่นสาวกลุ่มที่มีความรุนแรงปานกลาง วิธีนี้นิยมใช้กันมากและ Huffman รายงานว่าได้ผลดีร้อยละ 86.2 แต่บางรายอาจมีผลข้างเคียงจากยาได้เช่น คลื่นไส้อาเจียน น้ำหนักเพิ่ม เต้านมคัดตึง เจ็บเต้านม เลือดออกกระปริบกระปรอย ระดูมาช้ากว่าปกติ มีฝ้า และมีมูกในช่องคลอดเพิ่มขึ้น เป็นต้น
เป็นกฎเกณฑ์ว่าผู้ที่ตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยฮอร์โมน หลังให้ฮอร์โมนไประยะหนึ่งแล้ว เมื่อหยุดยาประมาณ 4 รอบระดู อาการปวดระดูมักหายไปแม้ว่าจะมีไข่ตกตามปกติ
ร้อยละ 90 ของผู้ที่มีอาการปวดระดูแบบปฐมภูมิ เมื่อตั้งครรภ์และคลอดบุตรแล้ว จะไม่มีอาการปวดระดูแบบปฐมภูมิอีกเลย
6. การรักษาด้วยการผ่าตัด
ไม่มีข้อบ่งในหญิงวัยรุ่นสาวที่มีอาการปวดระดูแบบปฐมภูมิ
ที่มา:วีระพล  จันทร์ดียิ่ง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า