สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อาการตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด (Jaundice in the newborn)

ตัวเหลืองในทารก
อาการตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดเป็นปัญหาที่แพทย์ประสบอยู่บ่อยๆ จะปรากฏให้เห็นเมื่อระดับบิลิรูบินในเลือดสูงกว่า 5-7 มก./ดล. เด็กส่วนใหญ่จะมีอาการตัวเหลือง ให้เห็นภายใน 2-3 วันหลังคลอด โดยที่ระดับบิลิรูบินในเลือดไม่สูงมาก และหายไปได้เอง ที่เรียกว่า physiologic jaundice  ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติ

สิ่งที่พึงปฏิบัติเมื่อพบเด็กแรกเกิดที่มีอาการตัวเหลือง
1. แยกว่าอาการตัวเหลืองนั้นเป็นภาวะปกติหรือผิดปกติ อาการตัวเหลืองที่ผิดปกติ และต้องหาสาเหตุมีดังนี้

1.1 ตัวเหลืองภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด
1.2 ระดับบิลิรูบินเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 มก./ดล./วัน
1.3 ระดับบิลิรูบินมากกว่า 12 มก./ดล. ในเด็กคลอดครบกำหนด หรือ มากกว่า 15 มก./ดล.ในเด็กคลอดก่อนกำหนด
1.4  ระดับ direct bilirubin มากกว่า 1-2 มก./ดล.
1.5 ตัวเหลืองมากกว่า 1 สัปดาห์ในเด็กคลอดครบกำหนด หรือเกิน 2 สัปดาห์ในเด็กคลอดก่อนกำหนด

2. ซักประวัติ : การเจ็บป่วยของมารดา การใช้ยาในมารดา หรือทารก อาการผิดปกติในเด็ก เช่น ซีด, อาเจียน, ซึม, ไม่ดูดนม เวลาที่เริ่มเห็นเด็กตัวเหลือง

3. การตรวจร่างกาย : ดูลักษณะ และความรุนแรงของความเหลือง ตับม้ามโตหรือไม่ มีผื่นหรือจุดเลือดออกไหม และความผิดปกติอื่นที่อาจพบร่วม

4. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ที่จำเป็นและควรทำทุกราย ได้แก่
-CBC, การดูรูปร่างของเม็ดเลือดแดง โดยเฉพาะ spherocyte เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก reticulocyte count
-Urine analysis
-Direct bilirubin และ indirect bilirubin
-หมู่เลือดของแม่และลูก และ Coombs’ test
-ระดับ G-6-PD ในเด็กผู้ชาย

สาเหตุ
สาเหตุสำคัญที่ทำให้มี indirect bilirubin สูงในบ้านเราคือ เรื่องของ isoimmunization (ABO incompatibility), G-6-PD deficiency, extravascular blood เช่น cephalhematoma และ breast milk jaundice เป็นต้น พวกที่มี direct bilirubin สูงนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ hepatitis (intra¬uterine infection และ sepsis) และ biliary atresia

การรักษา : เด็กตัวเหลืองที่ต้องรับไว้ในโรงพยาบาลได้แก่
1. เด็กคลอดครบกำหนดที่ระดับบิลิรูบินมากกว่า 15 มก./ดล. หรือมากกว่า 12 มก./ดล.ในเด็กคลอดก่อนกำหนด เพื่อจะให้การรักษาโดย phototherapy หรือการถ่ายเปลี่ยนเลือด เมื่อมีข้อบ่งชี้

2. มีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น sepsis, hypothyroidism เป็นต้น

3. ผู้ป่วยที่ควรรับการตรวจและทดสอบทางห้องปฏิบัติการอย่างละเอียด เพื่อให้การรักษาจำเพาะต่อไป

ที่มา:ประสิน  จันทร์วิทัน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า