สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อัมพาตเบลล์/เบลล์พัลซี(Bell’s palsy/Idiopathic facial paralysis)

เป็นอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าเพียงซีกใดซีกหนึ่งโดยไม่ปรากฏสาเหตุให้เห็นชัดเจน หญิงตั้งครรภ์ในระยะไตรมาสที่ 3 มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป และยังอาจพบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำอัมพาตเบลล์

สาเหตุ
เกิดจากเส้นประสาทสมองเส้นที่7 ที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้าไม่ทำงาน ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก ซึ่งปัจจุบันเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสเริมชนิด 1 และเชื้อไวรัสงูสวัด

อาการ
อาการมักเกิดขึ้นฉับพลัน เช่น สังเกตเห็นปากเบี้ยวข้างหนึ่ง กลืนน้ำหรือบ้วนปากจะมีน้ำลายไหลที่มุมปาก เวลายิ้มมุมปากจะตกอยู่ข้างหนึ่ง ตาข้างนั้นจะปิดไม่มิด คิ้วข้างนั้นจะยักไม่ได้ ลิ้นข้างเดียวกันจะชาและรับรสไม่ได้ หูข้างนั้นจะปวดและอื้อ โดยที่ผู้ป่วยเป็นปกติและแข็งแรงดี รู้สึกตัวดี ทำงานได้ตามปกติทุกอย่าง ถ้าไม่พูด ไม่ยิ้ม ไม่หลับตา ไม่ยักคิ้ว ก็จะดูไม่ออกว่ามีความผิดปกติ อาจมีอาการปวดบริเวณหน้าหรือหลังใบหูข้างที่เป็นอัมพาตก่อนมีอาการอัมพาตปากเบี้ยว 2-3 วัน ในบางราย แต่ในบางรายอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดนำมาก่อนแล้วประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะมีอาการอัมพาตของใบหน้า

สิ่งตรวจพบ
ตาข้างที่เป็นปิดไม่มิด มุกปากตก ยักคิ้วไม่ได้

ภาวะแทรกซ้อน
อาจพบภาวะกระจกตาอักเสบจากผิวกระจกตาแห้งเนื่องจากการปิดตาไม่สนิท

การรักษา

1. ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วนหากมีอาการอัมพาตของแขนขาซีกใดซีกหนึ่งเกิดขึ้นฉับพลันร่วมด้วย

2. ควรส่งผู้ป่วยให้ถึงโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อมีอาการอัมพาตของใบหน้าครึ่งซีกฉับพลัน ไม่ว่าจะมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม เพื่อจะได้หาสาเหตุของโรคให้แน่ชัด อาจจะต้องตรวจพิเศษด้วยการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจคลื่นไฟฟ้าประสาท ตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ตรวจหาเชื้อไวรัสเริมหรืองูสวัด เป็นต้น

แพทย์มักให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ มักให้ยาลดการอักเสบและการบวมของเส้นประสาทใบหน้าถ้าพบเป็นอัมพาตเบลล์ ยาที่ใช้ได้แก่ เพร็ดนิโซโลน ขนาด 1 มก./กก./วัน วันละครั้งให้นาน 5 วัน หรือ 10 วัน แล้วแต่อาการของผู้ป่วย ค่อยๆ ลดขนาดยาลงทีละน้อยจนหยุดยาภายใน 5 วัน ไม่ควรหยุดยาทันทีเพราะอาจทำให้เส้นประสาทบวมเกิดอาการกำเริบขึ้นมาได้

แพทย์อาจให้ยาต้านไวรัสร่วมด้วยในรายที่ตรวจพบว่ามีการติเชื้อไวรัสเริมหรืองูสวัด ยาที่ใช้ คือ อะไซโคลเวียร์ ครั้งละ 400 มก. วันละ 5 ครั้ง หรือวาลาไซโคลเวียร์ ครั้งละ 500 มก. วันละ 3 ครั้ง ให้นาน 7 วัน การใช้ยานี้จะได้ผลดีเมื่อให้ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ

ป้องกันกระจกตาอักเสบในรายที่ปิดตาไม่สนิท เช่น ให้น้ำตาเทียม น้ำตาเกลือนอร์มัลหยอดตา เพื่อป้องกันตาแห้งเป็นแผล ให้ยาป้ายตาที่เข้ายาปฏิชีวนะวันละ 2-3 ครั้ง ป้องกันฝุ่นหรือแมลงเข้าตาด้วยการใช้ผ้าก๊อซปิดตาไว้ เป็นต้น หรืออาจรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น การนวด การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าในบางราย

ส่วนใหญ่เมื่อมีการรักษาจะฟื้นตัวได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ และหายสนิทภายใน 4-6 เดือน อาจมีร่องรอยความผิดปกติให้เห็นซึ่งแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัด ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาการมักไม่ดีขึ้นใน 3 สัปดาห์ และเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าอย่างเต็มที่ มีอายุมากกว่า 60 ปี มีอาการปวดรุนแรง ซึ่งมักพบในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูงหรือหญิงตั้งครรภ์ หรือทดสอบพบความเสื่อมของเส้นประสาทใบหน้าอย่างรุนแรง การกำเริบซ้ำอาจพบได้เป็นส่วนน้อยแต่ก็ควรจะตรวจให้แน่ชัดเสียก่อนว่าไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่นแทรกซ้อน

ข้อแนะนำ
1. โรคอัมพาตเบลล์หรือเบลล์พัลซีมักจะหายได้เองตามธรรมชาติในเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ถึงแม้จะไม่ได้ใช้ยารักษา แต่บางรายอาจเป็นอยู่นานตั้งแต่ 2 เดือนถึง 2 ปี ซึ่งถ้าอายุมากก็จะยิ่งหายช้า มักจะหายได้เป็นปกติในคนส่วนใหญ่ หากมีร่องรอยให้เห็นอาจแก้ไขด้วยการผ่าตัด จึงควรให้ผู้ป่วยเข้าใจและหายกังวล

2. ผู้ป่วยควรบริหารกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยการแยกเขี้ยว ยิงฟัน ใช้มือยกมุมปากข้างที่เป็นอัมพาตตามไปด้วย ทำวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 5-10 นาที

3. ผู้ป่วยมักจะยักคิ้วและปิดตาได้ก่อนที่จะหายปากเบี้ยวซึ่งแสดงว่ากล้ามเนื้อใบหน้าตอนบนฟื้นตัวได้ก่อนตอนล่าง ควรให้ผู้ป่วยฝึกยักคิ้วและหลับตาทุกวัน ถ้าผู้ป่วยทำได้ก็แสดงว่ามีโอกาสหายได้เร็ว

4. ผู้ป่วยโรคนี้แตกต่างกับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตครึ่งซีก ตรงที่อาการปากเบี้ยวในผู้ที่เป็นอัมพาตครึ่งซีกมักจะหลับตาและยักคิ้วได้และมีการอัมพาตของแขนขาร่วมด้วย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า