สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ(Hypokalemia)

อัมพาตครั้งคราว(Periodic paralysis)
ถ้าหากร่างกายขาดโพแทสเซียมจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ลำไส้ไม่ทำงาน หัวใจทำงานผิดปกติ ดังนั้น โพแทสเซียมจึงเป็นเกลือแร่ชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายรวมทั้งหัวใจและลำไส้อัมพาตครั้งคราว

สาเหตุ
1. ขณะที่มีอาการท้องเดินหรืออาเจียนมาก หรือใช้ยาขับปัสสาวะนานๆ ทำให้ขับเอาโพแทสเซียมออกไปมาก การกินน้อยหรืออดอาหารนานๆ ก็อาจเกิดการสูญเสียโพแทสเซียมได้เช่นกัน

2. ในผู้ป่วยโรคอัมพาตชั่วคราวอาจพบภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำเป็นพักๆ ได้ ที่พบบ่อยมี 3 ประเภท คือ

ก. อัมพาตครั้งคราวที่เกิดร่วมกับคอพอกเป็นพิษ มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงในช่วงอายุ 20-40 ปี

ข. อัมพาตครั้งคราวชนิดไม่ทราบสาเหตุ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พบได้ในคนอายุ 20-40 ปีเช่นเดียวกัน

ค. อัมพาตครั้งคราวที่อาจพบร่วมกับโรคไตบางชนิด

อัมพาตครั้งคราวที่เกิดจากกรรมพันธุ์ เรียกว่า อัมพาตครั้งคราวโดยกรรมพันธุ์ ซึ่งพบได้น้อยกว่าที่กล่าวมาแล้วทุกประเภท

อาการ
1. ผู้ป่วยที่มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ มักพบอาการอ่อนเพลีย ท้องอืด ท้องผูก อาจมีอาการแขนขาอ่อนแรงเดินไม่ได้ถ้าเป็นมาก

2. ผู้ป่วยอัมพาตครั้งคราว ขณะตื่นนอนตอนเช้ามักมีอาการแขนขาอ่อนแรง ขยับเขยื้อนไม่ได้ทั้งที่ตอนก่อนเข้านอนกลางคืนยังเป็นปกติดีอยู่ แต่ยังหายใจ พูด และกลืนได้ตามปกติ อาการอ่อนแรงนี้จะเป็นอยู่ 6-24 ชั่วโมง หรืออาจนานถึง 3 วันหรือมากกว่านั้น อาการมักเกิดหลังจากพักผ่อนที่ในวันนั้นได้ใช้แรงออกกำลังกายมากเกินไป หรือกินอาหารมื้อหนักโดยเฉพาะอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมาก

สิ่งตรวจพบ
อาจตรวจพบว่ารีเฟล็กซ์ของข้อน้อยกว่าปกติหรือไม่มีเลย และเมื่อตรวจเลือดจะพบว่าระดับของโพแทสเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ ในขณะที่มีอาการอัมพาตเกิดขึ้น แต่จะตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใดถ้าไม่มีอาการอัมพาต

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้กล้ามเนื้อช่วยหายใจเป็นอัมพาต หยุดหายใจ และตายได้ถ้าเป็นขั้นรุนแรง

การรักษา
1. หากมีสาเหตุของโรคไม่ชัดเจน หรืออาการไม่รุนแรง เช่น ถ้าเกิดจาการกินยาขับปัสสาวะก็ให้กินเกลือโพแทสเซียม เช่น ยาน้ำมิสต์พอตชิต หรือยาน้ำโพแทสเซียมคลอไรด์ วันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ จนกว่าอาการจะดีขึ้น

2. ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วนหากมีอาการหายใจลำบาก อัมพาตนานเกิน 24 ชั่วโมง อาจต้องตรวจเลือดเพื่อหาระดับโพแทสเซียม ถ้าโพแทสเซียมในเลือดต่ำแพทย์จะให้การรักษาโดยให้เกลือโพแทสเซียมคลอไรด์ผสมกับน้ำเกลือหยดเข้าทางหลอดเลือดดำช้าๆ

3. ควรไปตรวจหาสาเหตุที่โรงพยาบาลหากสงสัยหรือเป็นอัมพาตบางครั้งบางคราว อาจต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ เพื่อจะได้รักษาให้ถูกต้องตามสาเหตุต่อไป

ควรให้ โพรพราโนลอล(propranolol) วันละ 60 มก.ทุกวัน ในรายที่มีสาเหตุจากคอพอกเป็นพิษ เพื่อป้องกันการเป็นอัมพาต อาการอัมพาตจะไม่เกิดขึ้นอีกหากรักษาโรคคอพอกเป็นพิษให้หายดีแล้ว

ข้อแนะนำ
1. ควรกินกล้วยหรือส้มซึ่งมีโพแทสเซียมให้มากๆ ทุกวันในผู้ป่วยที่กินยาขับปัสสาวะเป็นประจำ เพื่อป้องกันภาวะขาดโพแทสเซียม หรืออาจให้กินยาที่มีเกลือแร่ชนิดนี้ควบคู่ไปด้วยก็ได้

2. แพทย์อาจสั่งให้กินเกลือโพแทสเซียมเป็นประจำในผู้ป่วยที่เคยเป็นอัมพาตครั้งคราว เพื่อป้องกันการกำเริบซ้ำ ผู้ป่วยควรลดอาหารพวกแป้งและน้ำตาล ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและไม่หักโหมเป็นประจำ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า