สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การบำบัดรักษาโรคด้วยการออกกำลังกาย(Exercise Therapy)

เป็นการปรับปรุง แก้ไข หรือบรรเทาปัญหา หรืออาการป่วยทางสรีระต่างๆ ด้วยการออกกำลังกาย มีประโยชน์มากมายจากการออกกำลังกายเพื่อบำบัดรักษาโรค การออกกำลังกายสามารถแยกออกเป็นประเภทและชั้นต่างๆ ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน คือ

-ไอโซเมทริคส์(Isometrics) เป็นการออกกำลังกายโดยการออกแรงชนิดที่ไม่มีการเคลื่อนไหว การออกกำลังกายแบบนี้จะมีประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ จะมีลักษณะของการเกร็งกล้ามเนื้อโดยที่ร่างกายเคลื่อนไหวน้อยที่สุด ตัวอย่างเช่น การยกน้ำหนัก การบีบลูกเทนนิส

-ไอโซโทนิคส์(Isotonics) เป็นการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย รวมทั้งแขนและขา การออกกำลังกายแบบนี้มีประโยชน์แก่หัวใจและระบบการหมุนเวียนโลหิต ตัวอย่างการออกกำลังแบบนี้ เช่น การเดิน การวิ่ง การวิ่งเหยาะ

-โลว์-อิมแพ็ค แอโรบิค(Low-Impact Aerobic) เป็นการออกกำลังกายแบบเบาๆ ที่ส่งเสริมความสมบูรณ์ของร่างกายโดยใช้หลักการแอโรบิค การออกกำลังกายแบบนี้มีประโยชน์จากการที่ร่างกายหายใจเอาอากาศเข้าไปเลี้ยงร่างกายมากขึ้น เป็นการออกกำลังกายชนิดที่ร่างกายทำงานหนักขึ้นกว่าปกติ แต่หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับบาดเจ็บ เช่นในกรณีที่เจ็บเข่าและข้อเท้า ทำให้เส้นตึง เอ็นชำรุด หรือปวดหลัง ซึ่งเป็นความบาดเจ็บที่เกี่ยวเนื่องกับการออกกำลังกายชนิดที่ออกแรงหนักขึ้น การออกกำลังกายแบบนี้ ได้แก่ การเดิน การว่ายน้ำและการขี่จักรยาน

-ไฮจ์-อิมแพ็ค แอโรบิค(High-Impact Aerobic) เป็นการออกกำลังกายอย่างหนักที่สร้างความตึงเครียดให้แก่ร่างกาย ซึ่งประกอบด้วยการวิ่งเหยาะ การวิ่งเร็ว และการเต้นแอโรบิค

ปัจจุบันแพทย์มากมายได้ใช้วิธีการออกกำลังกายแทนการบำบัดรักษาโรคแบบเดิม เช่น การใช้ยาและศัลยกรรม ซึ่งการออกกำลังกายที่มีการควบคุมดูแลที่ดีจะสามารถลดปัญหาและปรับปรุงสภาพร่างกายได้หลายประการ เช่น สามารถลดความดันโลหิตได้ถ้าใช้การออกกำลังกายแทนการรักษาด้วยยาหรือเคมีบำบัด สามารถช่วยผู้ป่วยทางจิตบางกรณีด้วยการลดการใช้ยาแก้อาการหดหู่ซึมเศร้าลง ช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญอาหารของร่างกาย และเผาไขมันส่วนเกินสำหรับคนอ้วน ทำให้ควบคุมน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางกรณีก็ช่วยป้องกันไม่ให้ต้องเข้ารับการผ่าตัดบายพาสหัวใจ ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองในผู้สูงอายุแทนการใช้ยา ช่วยลดความสับสนงุ่นง่านจากความเครียดเรื้อรังจนรู้สึกสงบและผ่อนคลายได้ ซึ่งดีกว่าการใช้ยากล่อมประสาท

ในทศวรรษที่ 1980 จากการศึกษาทางคลินิกที่มหาวิทยาลัยเยล ได้มีการทดสอบผลกระทบจากการเหยียดยืดตัว แขน ขา และออกกำลังกายกับคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีปัญหาที่หลัง แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าต้องผ่าตัดแก้ไขอาการในคนกลุ่มนี้ ได้แบ่งคนเหล่านี้เป็นกลุ่มควบคุม คือ ไม่ให้มีส่วนร่วมในการออกกำลังกาย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็ให้ยืดแข้งขาและออกกำลังกายตามระยะเวลาที่กำหนด เมื่อสิ้นสุดการทดสอบก็ได้ทำการตรวจร่างกาย ปรากฏว่า กลุ่มที่ออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องเข้าผ่าตัด ส่วนในกลุ่มที่ควบคุมจำเป็นต้องทำการผ่าตัด

นักวิจัยได้กล่าวไว้ว่า การออกกำลังกายแม้น้อยนิดที่สุดก็สามารถช่วยชีวิตคนให้ยืนยาวได้อย่างมีคุณภาพ และยังเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการรักษาโรคในแบบอื่นๆ เช่น วิธีการกินอาหารแบบพริทิคิน(Pritikin Diet) ช่วยเพิ่มความอดทน ช่วยบรรเทาปัญหาด้านโครงสร้างและช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายให้แก่ผู้จำเป็นต้องรับกายภาพบำบัดและอยู่ในระยะพักฟื้น ช่วยป้องกันโรคด้วยการหลั่งฮอร์โมนต่างๆ เช่น Growth hormone จากต่อมพิทูอิทารี(pituitary gland) เพื่อช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า