สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

องค์การและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านโภชนาการ

องค์การและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านอาหารและโภชนาการมีมากมาย ทั้งในและนอกสถานศึกษา ทั้งในระดับโลก ระดับชาติและระดับท้องถิ่น กล่าวคือ

1. หน่วยงานที่เป็นสถานศึกษา ได้แก่การสอนโภชนาการในสถานศึกษาต่างๆ ตั้งแต่ระดับประถม มัธยม อาชีวะ และอุดมศึกษา มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ระดับและหน่วยงานที่เห็นความสำคัญ

ในระดับประถม วิชาโภชนาการรวมอยู่ในกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและกลุ่มการงานและพื้นฐานอาชีพ

ในระดับมัธยมศึกษา วิชาโภชนาการรวมอยู่กับกลุ่มเสริมสร้างบุคลิกภาพ คือ วิชาสุขศึกษา และกลุ่มวิชาการงานอาชีพ

ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเรียนวิชาโภชนาการโดยเฉพาะ

ในวิทยาลัยครูระดับ ป.กศ. มีวิชาโภชนาการเป็นวิชาบังคับในหมวด
คหกรรมศาสตร์ ในวิทยาลัยพยาบาล ผดุงครรภ์และอนามัย เรียนวิชาโภชนาการหนึ่งวิชา

ในระดับอุดมศึกษามีสอนดังนี้

ต่ำกว่าปริญญาตรีมีสอนโภชนาการในวิทยาลัยครู วิทยาลัยพลศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษา และวิทยาลัยเทคโนโลยีฝ่ายคหกรรมศาสตร์ อนุปริญญาสุขาภิบาล และพยาบาลสาธารณสุข

ในระดับปริญญาตรี มีสอนที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

แผนกวิชาโภชนวิทยา สุขศึกษา สุขาภิบาล อาชีวอนามัย พยาบาลสาธารณสุข สาธารณสุขมหาบัณฑิต ของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เน้นหนักการสอนโภชนาการเป็นพิเศษ

นอกนี้ก็มีสอนในคณะอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลเช่นกัน

2. หน่วยงานที่ไม่ใช่สถานศึกษา เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการ ได้แก่

2.1 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ด้วยองค์การสหประชาชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญของอาหาร และโภชนาการที่จะบังเกิดแก่ประชากรของโลก จึงได้ตั้งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ขึ้น โดยให้มีหน้าที่ดังนี้
2.11 เร่งรัดให้มีการเพิ่มผลผลิตของอาหาร
2.12 กระจายอาหารออกไปให้แก่ประชากรของโลกอย่างทั่วถึง
2.13 ให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องการบริโภคอาหาร
2.14 ให้ประชาชนรู้จักเลือกอาหารที่มีคุณค่าแต่ราคาถูกมารับประทาน

2.2 กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ประวัติ ในปี 2481 กรมสาธารณสุขได้ตั้งองค์การส่งเสริมอาหารขึ้น ครั้นถึง พ.ศ. 2482 ได้ยกฐานะเป็นกองส่งเสริมอาหาร พ.ศ. 2483 กระทรวงมหาดไทยได้ตั้งกรมประชาสงเคราะห์ขึ้นจึงได้โอนกองส่งเสริมอาหารไปสังกัดกรมประชาสงเคราะห์ โดยใช้ชื่อใหม่ว่า กองบริโภคสงเคราะห์ ในพ.ศ. 2485 โอนกองบริโภคสงเคราะห์มารวมกับแผนกอาหารและยา ของกรมสาธารณสุข โดยให้ชื่อว่ากองอาหารและยา ต่อมาได้ไปสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แล้วจัดตั้งกองส่งเสริมอาหารขึ้นใหม่ สังกัดกรมอนามัย มาเปลี่ยนเป็นกองโภชนาการใน พ.ศ. 2496 สังกัดกรมอนามัยจนถึงปัจจุบัน

งานของกองโภชนาการ กองโภชนาการได้รับความสนใจและสนับสนุนทั้งทางด้านวิชาการและทุนการศึกษาจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก ตลอดจนได้สิ่งของ เช่น หางนมผง และนมผงมาแจกจ่ายแก่มารดา ทารก นักเรียนและประชาชน สร้างโรงงานผลิตน้ำมันตับปลาขึ้นที่ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ซึ่งปัจจุบันได้ย้ายมาอยู่ที่หลังโรงพยาบาลโรคปอด จังหวัดนนทบุรี

งานของกองโภชนาการเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการมากมาย พอสรุป
ได้ดังนี้
1. ทำการวิเคราะห์อาหาร และได้รวบรวมผลการวิเคราะห์อาหารจาก หน่วยราชการอื่นและที่วิเคราะห์ในประเทศใกล้เคียงจัดพิมพ์เป็นเล่ม
2. ทำการคำนวณและจัดพิมพ์เอกสาร สารอาหารที่คนไทยควรได้รับ
ประจำวัน
3. พิมพ์เอกสารแจก เช่น คู่มือโภชนาการ เกษตรและอนามัย อาหาร ดีราคาถูก กินดีมีสุข คู่มือศูนย์โภชนาการเด็ก ฯลฯ
4. ดำเนินงานโครงการโภชนาการชนบท โดยส่งบุคลากรออกไปอบรม ผู้ที่จะทำงานนี้ในท้องที่ ฯลฯ และให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งศูนย์โภชนาการเด็ก
5. ผลิตเกลืออนามัย เพื่อใช้ควบคุมป้องกันโรคคอพอก
6. ทำโครงการเสริมไลซีนในข้าวร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาด
7. ช่วยสอนวิชาโภชนาการตามสถานศึกษาที่ต้องการ และออกราย การโภชนาการทางวิทยุและโทรทัศน์
8. ทำวารสารโภชนาการและช่วยดำเนินงานของสมาคมโภชนาการแห่ง
ประเทศไทย

2.3 ศูนย์โภชนาการเด็ก
ก. ความมุ่งหมาย
1. ช่วยให้เด็กวัยก่อนเรียนได้รับอาหารเสริมที่ถูกต้อง และเพียงพอ
โดยเฉพาะโปรตีน
2. สร้างนิสัยที่ดีให้แก่เด็ก พร้อมทั้งฝึกสุขวิทยาส่วนบุคคล ให้
ภูมิคุ้มกันโรคแก่เด็ก
3. ถ้าเจ็บป่วยก็จะได้ตรวจพบโรคและรักษาได้ทันการ
4. ให้ความรู้แก่แม่ในเรื่องการอนามัยแม่และเด็ก

ข. เด็กที่ได้รับเลือก
1. เด็กวัย 1-5 ขวบ จากครอบครัวผู้มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 3,000 บาท ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 70 ของครอบครัวทั้งหมด ในท้องที่ซึ่งศูนย์โภชนาการเด็กมีเขตปฏิบัติการครอบคลุมอยู่
2. เด็กมีปัญหาโภชนาการจากการตรวจของแพทย์

ค. สถานที่ ใช้ส่วนหนึ่งของสถานีอนามัยหรือสำนักงานผดุงครรภ์ หรืออาคารที่ประชาชนจัดสร้างขึ้น

ง. เจ้าหน้าที่ มี
1. ผดุงครรภ์ หรือพยาบาลประจำสำนักงานนั้นๆ
2. แม่ของเด็ก
3. พี่เลี้ยง (1 คน ต่อเด็ก 30 คน)

จ. กิจกรรม
1. จัดเลี้ยงอาหารกลางวัน และอาหารว่างตอนเช้า 10.00 น. และบ่าย 15.00 น.
2. ให้เด็กได้เรียนอ่านบ้างเล็กน้อย
3. ให้เด็กได้เล่นและพักผ่อนหลับนอน
4. ชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงเด็กทุก 3-6 เดือน
5. สอนวิชาคหกรรมศาสตร์เบื้องต้นแก่แม่เด็กและผู้ปกครอง

ฉ. โครงการร่วม
1. โครงการพัฒนาอาหารโปรตีนร่วมกับองค์การยูซอม ซึ่งสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการ
2. กรมการฝึกหัดครูดำเนินงานทำนองเดียวกัน เรียกว่าโครงการเด็กเล็ก เริ่มงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2510
3. กรมพัฒนาชุมชน ทำงานเดียวกันนี้ด้วย ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 ปัจจุบันนี้ศูนย์โภชนาการเด็ก ซึ่งจัดโดยกรมทั้งสามมีอยู่ทั้งหมด 174 แห่ง

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2520-2524 จะตั้งศูนย์โภชนาการขึ้น 480 แห่ง ซึ่งจะรับเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไปได้ประมาณ 24,000 คน ทั่วประเทศ

2.4 สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (institute of Food Research and Product Development)
องค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป (อ.ส.ร.) สังกัดกระทรวงกลาโหม เป็นรัฐวิสาหกิจ มีความมุ่งหมายหลักเพื่อผลิตอาหารสำเร็จรูปซึ่งจำเป็นจะต้องมีฝ่ายศึกษาทดลองและวิจัยเพื่อให้การผลิตอาหารได้ผลดี อ.ส.ร. ทำการผลิตเสบียงสนามที่ผู้ปฏิบัติการรบจะติดตัวไปได้มาก และให้มีคุณภาพดี พอเพียงกับความต้องการของผู้บริโภค และประกอบได้ง่ายไม่ต้องเสียเวลาหุงต้ม ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร หน่วยงานนี้ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมีโรงงานอีกแห่งหนึ่งที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

ด้วยเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ประชากรของไทยส่วนใหญ่ได้รับอาหารโปรตีนไม่พอรายได้ของประชาชาติอยู่ระหว่าง 2,500-3,000 บาทต่อปี ยากที่จะอาศัยโปรตีนจากสัตว์ จึงจำต้องพยายามให้พลเมืองได้รับอาหารโปรตีนจากพืชให้มากขึ้น และเพื่อจะให้ได้ขยายหน่วยงานให้เป็นประโยชน์กว้างขวางแก่ประเทศชาติยิ่งขึ้น นายอมร ภูมิรัตน์ผู้อำนวยการฝ่ายศึกษาทดลองและวิจัย จึงได้ขอแปรหน่วยงานวิจัยขององค์การอาหารสำเร็จรูปเป็นสถาบันค้นคว้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ขึ้นตรงต่อมหาวิทยาลัยเกษตร และคณะรัฐมนตรีมีมติให้โอนเมื่อเดือนกันยายน 2511 สถาบันนี้มีหน้าที่หลัก 3 อย่าง คือ ค้นคว้าวิจัย พัฒนาเทคนิควิธีการผลิต อาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป เพื่อให้ผลิตผลการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้การศึกษาและสาธิตแก่นิสิตนักศึกษาทั้งระดับอุดมศึกษาและมัธยมศึกษา และกลุ่มนอกโรงเรียน เช่น แม่บ้าน

สถาบันมีโครงการเฉพาะเรียกโครงการโปรตีน (Protein Project) ซึ่งยูซอมให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินและเครื่องมือ นับเป็นโครงการที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เพราะคนไทยสามารถดำเนินงานเองได้

สถาบันนี้ได้ทำงานร่วมมือกับกองโภชนาการ และรวมกับคณะกรรมการต่อต้านความอดอยากและขาดอาหาร (ต.อ.ข.อ.) โดยผลิตอาหารโปรตีนจากพืช ส่งอาหารไปให้ทดลองเลี้ยงเด็กตามศูนย์โภชนาการ และได้จัดให้มีการเลี้ยงอาหารกลางวันแก่เด็กในโรงเรียนทดลอง ตลอดปีการศึกษา ได้ทำการทดลองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2511 ในระยะเริ่มการทดลองได้ใช้เงินของ ต.อ.ข.อ. ปรากฏว่าน้ำหนักของเด็กที่กินอาหารทดลองเพิ่มขึ้นกว่าเด็กที่ไม่ได้กินถึง 30 เท่า

วัตถุดิบที่สถาบันนี้ใช้ คือ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง งา ปลาน้ำเค็มและหอย ผลิตขึ้นเป็นอาหารรูปต่างๆ เช่น คุ๊กกี้เกษตร นม (ข้น) ถั่วเหลือง เนื้อเทียม ซึ่งมีทั้งที่ผสมปลา และที่เป็นโปรตีนจากพืชล้วนๆ เติมกรดอะมิโนบางตัวและแคลเซียมฟอสเฟต ซึ่งปรากฏว่าเป็นที่ยอมรับอย่างดีได้นำไปเลี้ยงนักเรียน 2,500 คน ในจังหวัดเชียงใหม่ แพร่ ร้อยเอ็ดและอุบลราชธานี 2 ปีติดต่อกัน จากการทดลองให้นักเรียนบริโภค ปรากฏว่าความเจริญเติบโตทางน้ำหนักและส่วนสูงดีขึ้น แต่ยังไม่มีการวัดทางด้านสติปัญญา

2.5 คณะกรรมการประสานงานโครงการส่งเสริมโภชนาการ
ในเดือนมิถุนายน 2512 กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งกรรมการคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ประสานงานเกี่ยวกับการส่งเสริมโภชนาการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกับกองทุนสังเคราะห์เด็กแห่งประชาชาติ (UNECEF) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชชาติ (FAO) มีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วยอธิบดีกรมการฝึกหัดครู กรมอาชีวศึกษา กรมสามัญศึกษา กรมการปกครอง กรมพัฒนาการชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (อธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษาเดิม) เลขาธิการองค์การอาหารและเกษตรแห่งชาติ ผู้อำนวยการกองโภชนาการ กรมอนามัย และผู้แทนจากส่วนการปกครองท้องถิ่น กรมการปกครอง ผู้แทนกรมวิสามัญศึกษา (กรมสามัญศึกษาในปัจจุบัน) ผู้แทนสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ผู้แทน UNECEF, FAO และรวมอีก 2 บุคคล ซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการ และกรรมการผู้ช่วยเลขานุการ

คณะกรรมการนี้นอกจากประสานงานแล้วยังให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหา ศึกษาวิธีการปรับปรุงส่งเสริมด้านโภชนาการของชาติ ตลอดจนศึกษาประเมินผล ศูนย์อบรมโภชนาการ การจัดเลี้ยงอาหารกลางวันแก่เด็ก และหาวิธีดำเนินการให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

2.6  สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย (ส.ภ.ท.)
ได้เริ่มก่อตั้งโดยศาสตราจารย์นายแพทย์กำธร สุวรรณกิจ อดีตอธิบดีกรมอนามัย และข้าราชการในกองโภชนาการ ซึ่งได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเมื่อเดือนกันยายน 2507

วัตถุประสงค์ใหญ่ของสมาคม ก็เพื่อที่จะรวบรวมบุคคลที่มีกำลังสติปัญญาความสามารถและได้ศึกษามาทางโภชนาการ ตลอดจนบุคคลอื่นๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับโภชนาการ ให้ช่วยกันส่งเสริมวิชานี้ด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งเผยแพร่วิชาโภชนาการให้ถึงประชาชน เพื่อยกระดับสุขภาพของประชาชนให้สูงขึ้น

สำนักงานของสมาคม สมาคมตั้งอยู่ที่กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข วังเทวเวศน์ กรุงเทพมหานคร

งานของสมาคม เผยแพร่ความรู้และความเคลื่อนไหวทางด้านโภชนาการ จัดออกโภชนาการสารปีละ 4 ฉบับ ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกประเภทสามัญและวิสามัญของสมาคมจะต้องเสียค่ารับวารสารเป็นรายปี

องค์การและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการ นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทำหน้าที่ควบคุมการผลิตอาหารให้ได้คุณภาพ และปลอดภัยกับผู้บริโภค

คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ควบคุมการผลิต จำหน่าย ราคา และปริมาณของอุปโภคบริโภคทุกชนิดไม่ให้เดือดร้อนแก่ผู้บริโภค

ที่มา:ค้วน  ขาวหนู
วท.บ.(สุขศึกษา).ค.ม.

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า