สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หัวใจวาย/หัวใจล้มเหลว(Congestive heart failure/CHF)

หมายถึงภาวะที่หัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่ได้หรือได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดเลือดคั่งในปอด ตับ แขนขา และอวัยวะต่างๆ อาการของโรคแล้วแต่สาเหตุที่พบว่าจะทำให้เกิดขึ้นฉับพลันทันที หรือค่อยเป็นค่อยไปอย่างเรื้อรัง โรคนี้เป็นภาวะร้ายแรงอาจเสียชีวิตได้หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที และอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคตับแข็งได้หัวใจวาย

สาเหตุ
มักเกิดจากภาวะแทรกซ้อนในโรคหัวใจจากสาเหตุต่างๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหัวใจรูมาติก โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย จากโรคเอสแอลอี โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ จากโรคเบาหวาน หรือการดื่มแอลกอฮอล์จัด และยังเกิดจากโรคความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง เช่น ถุงลมปอดโป่งพอง หลอดลมพอง หืด หรือเกิดจากภาวะไตวายเรื้อรัง คอพอกเป็นพิษ ภาวะโลหิตจางรุนแรง โรคเหน็บชาที่มีความผิดปกติของหัวใจร่วมด้วย การให้น้ำเกลือหรือให้เลือดเร็วเกินไป

อาการ
ในช่วงแรกๆ อาจมีอาการหอบเหนื่อยเมื่อต้องออกแรงมากๆ ในตอนดึกๆ หลังเข้านอนแล้วอาจมีอาการไอ หายใจลำบาก จนต้องลุกขึ้นนั่ง หรืออาจมีอาการหอบคล้ายเป็นหืดจนต้องลุกไปสูดหายใจริมหน้าต่างจึงจะรู้สึกดีขึ้น หรืออาจรู้สึกจุกแน่นอึดอัดในท้องหรือลิ้นปี่ ปวดบริเวณชายโครงด้านขวา ที่ข้อเท้าบวม ในบางราย ต่อมาแม้ทำงานเพียงเล็กน้อยก็จะมีอาการหอบมากขึ้น หายใจลำบาก อ่อนเพลีย นอนราบไม่ได้ ต้องนอนหรือนั่งพิงหมอนสูงๆ ปัสสาวะออกน้อย หรือปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน เท้าบวม ท้องบวม แต่มักจะไม่บวมที่หน้าหรือหนังตาเหมือนผู้ป่วยโรคไต เมื่ออาการรุนแรงขึ้นจะมีอาการไอรุนแรง ไอมีเสมหะเป็นฟองสีแดงอ่อนๆ ตัวเขียว ริมฝีปากเขียว กระสับกระส่าย ใจสั่น อาจทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบมีอาการหอบ นอนราบไม่ได้ หลอดเลือดที่คอโป่ง เท้าบวม กดมีรอยบุ๋ม หรืออาจมีท้องมานในบางราย

บางครั้งอาจตรวจพบชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ หรือเต้นเร็วผิดปกติ เมื่อใช้เครื่องตรวจฟังปอดได้ยินเสียงกรอบแกรบทั้ง 2 ข้างมักฟังได้ยินชัดเจนบริเวณใต้สะบัก หรืออาจได้ยินเสียงวี้ดคล้ายหืดร่วมด้วยในบางราย มักคลำพบว่าตับโต ได้ยินเสียงหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอหรือมีเสียงฟู่เมื่อใช้เครื่องตรวจฟังหัวใจ อาจพบความดันโลหิตสูงหรืออื่นๆ แล้วแต่สาเหตุที่ทำให้เกิด

ภาวะแทรกซ้อน

อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากตับแข็ง หรือเป็นหืดจากโรคหัวใจได้ในรายที่เป็นเรื้อรัง

การรักษา
ควรรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที่หากสงสัยว่าจะเกิดโรค
ให้ยาขับปัสสาวะ เช่น ฟูโตซีไมด์ 1-2 หลอดฉีดเข้าหลอดเลือดดำถ้ามีอาการบวมและหอบมาก ให้ฉีดวิตามินบี 1 ร่วมด้วยถ้าสงสัยเกิดจากโรคเหน็บชาในเด็กเล็ก แพทย์มักจะรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล อาจมีการตรวจเลือดดูภาวะซีด ทดสอบการทำงานของไตอิเล็กโทรไลต์ ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นหัวใจ ถ่ายภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นต้น

ในการรักษามักให้ออกซิเจน จำกัดปริมาณน้ำดื่ม ให้ยาขับปัสสาวะร่วมกับยาต้านเอช เชน อีนาลาพริล หรือแคปโทพริล ควรใช้ยาต้านเอชด้วยความระมัดระวังเพราะอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำ โพแทสเซียมในเลือดสูง และภาวะไตวายได้ หรืออาจให้ยาช่วยให้หัวใจทำงานเพิ่มเติม เช่น ไดจอกซิน ถ้ารักษาในวิธีขั้นต้นแล้วไม่ได้ผลและให้ยารักษาโรคที่เป็นสาเหตุร่วมด้วย เช่น ให้ยาลดความดันให้โรคความดันโลหิตสูง ให้วิตามินบี1 ถ้าเกิดจากโรคเหน็บชา ให้เลือดหรือยาบำรุงโลหิตถ้ามีอาการซีด หรืออาจต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดหากเกิดจากโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือโรคหัวใจรูมาติก

ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยโรคหัวใจเมื่อใช้เครื่องฟังตรวจปอดอาจได้ยินเสียงวี้ดคล้ายโรคหืด เรียกว่า อาการหืดจากโรคหัวใจ ดังนั้นจึงต้องตรวจให้แน่ใจก่อนว่าเป็นหืดแน่ เพราะผู้ป่วยโรคหืดจะไม่มีอาการบวม ตับโต หรือประวัติของโรคหัวใจ

2. ผู้ที่กินยาไดจอกซินเพื่อช่วยให้หัวใจทำงานต้องระวังไม่กินเกินขนาดหรือภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำอาจเกิดพิษกับหัวใจได้ อาการเป็นพิษ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่าตาลาย ชีพจรเต้นช้ากว่า 60 ครั้ง/นาที ผู้ที่กินยาขับปัสสาวะที่ทำให้ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำจึงต้องกินยาน้ำโพแทสเซียมคลอไรด์ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 2-3 ครั้งร่วมด้วย

3. ผู้ป่วยควรติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง และกินยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ ไม่ทำงานหนัก เพื่อลดบวมและป้องกันอาการกำเริบจึงควรงดอาหารเค็ม

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า